Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

อนุรักษ์นิยมแบบอัตตานิยมในเรื่องการปฏิรูปกฎหมายเพื่อไร้รัฐคนไร้สัญชาติทำให้ อ.แหววท้อใจค่ะ


ขอโทษด้วยนะคะที่ ตอนนี้ หายใจเข้าหายใจออกเป็นการแก้กฎหมายเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ ...เริ่มต้น รณรงค์แล้วในมติชน ชวนสังคมไทยคุยเรื่องความจำเป็นในการแก้ไขกฎหมายเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ อ่านแล้วยังคะ ไม่ทราบว่า สังคมไทยได้ยินเสียง อ.แหววไหมหนอ

           อ.แหววหายหน้าไปจากการเขียนในโกทูโนเสียนาน เคยตั้งใจว่า จะเขียนถึงเรื่องรายวันของเราทุกวัน อย่างน้อยวันละ ๕ บรรทัด แต่ก็ทำไม่ได้ อารมณ์อยากเขียนหายไปดื้อๆ แม้การเขียนลงสื่อดังที่ทำเป็นประจำ ก็หายไป ความท้อถอยบานเบ่งในหัวใจ สาเหตุก็มาจากการตระหนักว่า คนในสังคมไทยใช้อารมณ์ในการจัดการชีวิตมากกว่าที่จะใช้เหตุผล เวลาทำงานในแต่ละที่ พบตรงกันว่า การใช้อัตตานิยมต่อกันมากมาย และสิ่งที่ตามมาก็คือ การไม่ลงรอยกัน และงานที่ทำก็ต้องล้มเหลว

             อนุรักษ์นิยมอาจจะน่ากลัวสำหรับคนที่อยากเห็นสิ่งใหม่ๆ ในสังคมไทย แต่เมื่อมนุษย์ต้องเผชิญปัญหา หากคนที่เป็นอนุรักษ์นิยมมีแนวคิดแบบเหตุผลนิยมอยู่ด้วย การยอมรับแนวคิดใหม่ที่แก้ไขปัญหาได้ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในพวกเหตุผลนิยม

               แต่ถ้าอนุรักษ์นิยมบวกกับอัตตานิยมนะคะ จะน่ากลัวที่สุด การยอมรับทั้งข้อเท็จจริงและองค์ความรู้จะเป็นไปไม่ได้เลย

              อาทิ มีคนในแนวคิดอนุรักษ์นิยมคนหนึ่งที่เชื่อว่า การให้สัญชาติไทยแก่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่จริงในประเทศไทยเป็นภัยต่อความมั่นคง คนๆ หนึ่งก็พร้อมที่จะเปลี่ยนความคิดที่จะยอมรับสิทธิในสัญชาติไทยของชาวบ้าน ทันทีที่เราอธิบายข้อเท็จจริงอีกด้าน กล่าวคือ เราทำวิจัย เราพบว่า  การเพิ่มจำนวนของคนต่างด้าวที่มีความกลมกลืนกับสังคมไทยจนมีความเป็นไทยทั้งในทางวัฒนธรรมและสังคม อันทำให้มนุษย์กลุ่มนี้มีความรู้สึกนึกคิดแบบคนไทย และความเป็นคนต่างด้าว จึงถูกปฏิเสธสิทธิที่ดีในลักษณะเดียวกับคนที่มีสัญชาติไทย การเลือกปฏิบัตินี้เองที่อาจนำไปสู่ความเจ็บปวดและเกลียดชังรัฐไทย ดังที่เป็นอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอาจนำมาซึ่งความรุนแรงต่อกันในไม่ช้าไม่นาน ประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ และ ๖ ไม่ได้ปฏิเสธความเป็นคนสัญชาติไทยของคนที่มีเชื่อสายต่างประเทศที่เข้ามาอาศัยอย่างกลมกลืนกับประเทศไทย ผลก็คือ เมืองไทยจึงไม่แตกเป็นเสี่ยงๆ ทะเลาะกันแบบญาติดีกันไม่ได้แบบที่เกิดในประเทศพม่าในวันนี้ ความเป็นเอกภาพทางสัญชาติเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการอยู่กับอย่างสันติท่ามกลางความหลกหลายเชิงชาติพันธุ์ ภาษา และศาสนา

               ขอเน้น อีกที เราพบว่า คนที่เป็นอนุรักษ์นิยมที่แสนจะหวงแหนสัญชาติไทย แต่เมื่อฟังการวิจัยของเราแล้ว รีบเปลี่ยนแนวคิดเลยที่จะมองคนแม่อายเสียใหม่ คนในลักษณะนี้ล่ะที่เราเรียกว่า "เหตุผลนิยม" คือรู้จักฟังคนอื่น รู้จักคิดแบบอื่น

                 แต่มีคนจำนวนมากกว่าที่มีแนวคิดแบบอัตตานิยม โดยเฉพาะคนที่มีอายุมาก อัตตานิยม ก็คือ ไม่ฟังใครเลย เริ่มต้นพูดด้วย ก็ไม่พูดด้วย เวลาถูกบังคับให้ฟัง ก็ดูเหมือนหูหนวก ส่งให้อ่าน ก็ดูเหมือนตาบอด สิ่งที่ถูก ก็คือ สิ่งที่ตนคิดว่าถูก เป็นที่น่าท้อแท้ ก็คือ ในระดับบริหารประเทศไทย มีคนดังกล่าวนี้มากทีเดียว ดังนั้น ข้อเท็จจริงว่า ชาวบ้านแม่อายคนหนึ่งเป็นคนดั้งเดิมของแผ่นดินไทย จึงควรยอมรับว่า มีสัญชาติโดยการเกิดนั้น ไม่มีโอกาสได้รับการยอมรับในทัศนคติของคนในอนุรักษ์นิยมแบบอัตตานิยม เป็นที่น่ากังวลใจว่า ถ้าคนดังกล่าวมีมากๆ ในวงการเมืองและวงราชการไทย คนไร้สัญชาติทั้งที่มีความเป็นไทยในทางสังคมและวัฒนธรรม จะเพิ่มขึ้นอีกอย่างมากมายในสังคมไทย สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวดชายแดนภาคใต้ดูไม่ได้ให้บทเรียนแก่คนเหล่านี้เลย น่าสงสัยว่า ทำไมคนในจิตนิยมแบบนี้จึงได้รับการวางตัวใมทำงานในระดับบนๆ ของประเทศไทย ทั้งๆ ที่เราอยากสร้างสันติสุขในบ้านเมือง

           ทั้งหมดที่เล่ามา ก็คือ ความทุกข์ของอาจารย์แหววในขณะนี้

           พยายามหยิบบทความเก่าที่ทำไว้มาเขียนต่อ แต่เขีบนไม่ออก ไม่ค่อยสบายใจ

          ช่วงนี้ การผลักดันกฎหมายเข้าสภาดูยังมีปัญหามาก แต่คนที่จะช่วยกันดันมีไม่มาก และยังมีคนที่ช่วยได้ แต่ดูมีเรื่องหมองใจมากมาย จนอาจทำให้การแก้ไขปัญหาไม่อาจดำเนินไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

            เหตุผลนิยมในหัวบอกว่า เราควรจะต้องพูดและบอกคนในสังคมถึงการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ให้มาก ตอนนี้ กำลังจะเขียนเรื่องการแจ้งเกิดให้เด็กที่ถูกทอดทิ้ง จะพยายามเขียนให้เสร็จวันนี้พรุ่งนี้ ถ้าทำสำเร็จจริง จะเอามาให้ได้อ่านกันค่ะ 

                เขียนเกี่ยวกับ "เด็กไร้รากเหง้า" มาหลายครั้งแล้ว อ่านกันแล้วยังคะ อาทิ เรื่องของน้องขัวญและน้องวิน  มีความจำเป็นที่จะต้องให้สัญชาติไทยแก้เด็กไร้รากเหง้า

                  ขอโทษด้วยนะคะที่ ตอนนี้ หายใจเข้าหายใจออกเป็นการแก้กฎหมายเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ
                 เริ่มต้น รณรงค์แล้วในมติชน ชวนสังคมไทยคุยเรื่องความจำเป็นในการแก้ไขกฎหมายเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ อ่านแล้วยังคะ ไม่ทราบว่า สังคมไทยได้ยินเสียง อ.แหววไหมหนอ
 
                 เลยคุยเสียยาว แล้วคุยต่อค่ะ
 

หมายเลขบันทึก: 113242เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2007 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

รู้สึกเศร้าใจกับคนกลุ่มที่อาจารย์เล่าให้ฟังเหมือนกันครับที่พวกเขาเป็นอย่างนั้น แต่ก็ยังคงยืนยันให้กำลังใจเหมือนเดิมครับ เพราะผมเชื่อมั่นตลอดมาว่าสิ่งที่อาจารย์ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องและจำเป็นที่สุดสำหรับมนุษย์ที่กำลังลำบากเพราะความเป็นรัฐชาติแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมั่นคงแห่งรัฐที่ไร้สำนึกของความมั่นคงของมนุษย์

 

แหววคะ   บ่น classic เกินไป อาจไม่มีคนได้ยิน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท