วันเกิดของหนู
ครูภาวิณีครูยุคปฏิรูปการศึกษาเริ่มคุ้นเคยกับคำว่า “การประกันคุณภาพการศึกษา“ อย่างน้อยก็ได้ยิน สมศ. ให้ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ มาสามปีแล้ว มาตรฐานที่ครูต้องเป็นฝ่ายปฏิบัติและนำเสนอให้เห็นเป็นรูปธรรม คือ ผลการพัฒนาของเด็กๆ ที่ตนรับผิดชอบนั่นเอง อย่างเช่นมาตรฐานที่ 1 ผู้เรียนมีคุณธรรมจริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ ซึ่งมีตัวบ่งชี้ 4 ตัว : (1) ผู้เรียนมีวินัย มีความรับผิดชอบ (2) ผู้เรียนมีความประหยัด (3) ผู้เรียนมีความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเสียสละเพื่อส่วนรวม และ (4) ผู้เรียนมีความซื่อสัตย์สุจริต สิ่งที่กล่าวไว้ในมาตรฐานและตัวบ่งชี้มีลักษณะเป็นนามธรรม หลักฐานที่ตรวจสอบได้ส่วนหนึ่งเป็นผลงานที่ต้องมีคำอธิบายประกอบ เช่น เกียรติบัตรแสดงถึงการบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม ในประกาศผลการประกวดมารยาท เป็นต้น ไม่ใช่ผลผลิตที่จับต้องได้อย่างเช่นสิ่งประดิษฐ์จากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ หรือ เรียงความชนะเลิศในหัวข้อต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีหลักฐานสำคัญที่ผู้ประเมินภายนอกมองหา คือปรากฏการณ์ในชีวิตประจำวันที่สัมผัสรับรู้ได้เมื่อเข้าไปในโรงเรียน เป็นหลักฐานและมีร่องรอยที่เป็นรูปธรรมของการพัฒนาที่เป็นนามธรรม อย่างเช่น ภาพชีวิตเด็กๆ เดินเข้าโรงเรียนยามเช้า ครูทักทายนักเรียน นักเรียนสวัสดีครู ในห้องเรียนมีการทำเวร ดูแล จัดระเบียบของโต๊ะเก้าอี้ ในสนามมีเด็กเดินเล่นออกกำลังบ้าง เป็นภาพที่สื่อถึงชีวิตที่เป็นปกติ ทุกคนมีส่วนสร้างบรรยากาศ และรับรู้ได้ นักประเมินก็เช่นกัน ก็สามารถสัมผัส รับรู้ และตีความได้ว่า ภาพที่เห็นนั้นเป็นความจริง ที่มีการสั่งสมวิถีการปฏิบัติจนเป็นแบบแผน เป็นเอกลักษณ์ของสังคมโรงเรียน เช่น โรงเรียนหนึ่งได้ชื่อว่าเป็นแบบอย่างโรงเรียนที่รักษาสิ่งแวดล้อม เป็นแบบอย่างของสังคมประชาธิปไตย เป็นต้น ความจริง สังคมที่พึงปรารถนาสร้างขึ้นในโรงเรียนง่ายกว่าการสร้างในชุมชนขนาดใหญ่ซึ่งมีความซับซ้อนกว่าโรงเรียนมาก ปัจจัยสำคัญที่มีในโรงเรียน คือ ครู เพราะ งานอย่างนี้ต้องการมืออาชีพอย่างครู ครูเพียงทำงานในหน้าที่ด้วยความจริงจัง ตรวจตรา ส่งเสริม ช่วยเหลือนักเรียนทุกคน ทุกวัน ก็จะรับประกันได้ว่านักเรียนมีพัฒนาการตามมาตรฐานที่ 1 อย่างน่าพอใจ และส่งผลต่อการพัฒนามาตรฐานอื่นๆ ต่อไป โดยสรุปแล้ว เราอาจกำหนดตัวบ่งชี้ใหม่เพื่อวัดความสำเร็จของครูได้ง่ายๆ ตรวจสอบลงข้อสรุปได้ถูกต้องรวดเร็ว ดังนี้ (1) จำนวนนักเรียนที่มาโรงเรียน ครบถ้วนหรือไม่ นักเรียนทุกคนร่าเริงแจ่มใส มีสุขภาพดี มาโรงเรียนด้วยความรู้สึกอยากมา ไม่ต้องบังคับ มีสิ่งที่อยากพบหมายรู้ของตนเอง (2) จำนวนนักเรียนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ เป็นกิจกรรมที่ครูกำหนดบ้าง ครูวางเงื่อนไขให้นักเรียนทำ ครูสร้างทางเลือกหลากหลายให้นักเรียนเลือกตัดสินใจเองบ้าง หรือมีกิจกรรมที่นักเรียนคิดได้อยากทำอีกมากมาย เป็นภาพการเคลื่อนไหวของนักเรียนตามประสาความอยากรู้อยากเห็น และ (3) จำนวนนักเรียนที่ทำงานอย่างมีความสุข นักเรียนแสดงผลงานด้วยความภาคภูมิใจ ยอมรับการติชมจากผู้อื่นที่นอกเหนือจากครู และมีกำลังใจที่จะทำงานชิ้นต่อไปด้วยความตั้งใจ ถ้าครูหมั่นตรวจตราการทำงานของครูว่าเกิดผลตามตัวบ่งชี้ที่คาดหวัง 100 % แล้ว ครูจะเป็นครูมืออาชีพที่ยิ่งใหญ่
ในห้องเรียนชั้นประถมปีที่หนึ่งทีม เรา (ครู 3 คน) มีความตั้งใจที่จะให้ได้ความสำเร็จเต็มร้อย เราได้ตรวจตรานักเรียนทุกคนและทุกวัน ความหลากหลายของนักเรียนเป็นปกติธรรมชาติของนักเรียน แต่สิ่งที่ครูพยายามจะทำให้เหมือนกันคือ บุคลิกภาพที่งามสง่า กล้าคิดกล้าทำในสิ่งที่ถูก เคารพสิทธิผู้อื่น รู้จักประหยัด และมีน้ำใจ ครูออกแบบการสอนที่กลืนไปกับการปฏิบัติในชีวิตหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่เราพบว่า เป็นโอกาสการปรับเปลี่ยนค่านิยมเดิมเป็นค่านิยมที่เสริมสร้างบุคลิกภาพอย่างได้ผล คือ “วันเกิดของหนู”
เช้าวันหนึ่ง ผู้ปกครองหนูจุ๋มนำขนมเค๊กมาฝากคุณครู ให้คุณครูช่วยแบ่งแจกนักเรียนตอนสายช่วงพักดื่มนม เพราะเป็นวันเกิดของหนูจุ๋ม วันนี้นักเรียนทุกคนมีความสุข โดยเฉพาะหนูจุ๋ม วันต่อมา นักเรียนทุกคนได้รับอภินันทนาการจากผู้ปกครองอีกหนึ่งราย และแล้วกิจกรรมฉลองวันเกิดก็ปรากฎเป็นกิจกรรมประจำวันของห้องประถมปีที่หนึ่งทีม เพราะ ห้องเรามีนักเรียนถึง 72 ชีวิต ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งพยายามจัดสรรสิ่งดีๆ ให้ลูก บางคนนำขนมหลายอย่างมาสร้างสีสรร เบิดเดย์ปาตี้ที่ยิ่งใหญ่ ขณะที่เด็กๆ ส่วนใหญ่มีความสุข สนุกสนาน เราพบความเงียบ หงอยเกิดขึ้นกับเด็กบางคน เราจึงได้วางแผนให้นักเรียนร่วมสร้างข้อตกลงกันที่สร้างสรรเพื่อให้เกิดความเข้าใจและสร้างแนวปฏิบัติที่เหมาะสมต่อไป
ในชั่วโมงโฮมรูม ครูให้นักเรียนช่วยกันคิดถึงสิ่งที่น่าทำในวันเกิด ครูเขียนสิ่งที่นักเรียนเสนอบนกระดาน จัดข้อเสนอของนักเรียนเป็นสองแถว ด้านซ้ายมือ เป็นข้อเสนอที่เป็นกิจกรรมคุ้นเคย เช่น ฉลองด้วยการกินไอศกรีม เค๊ก และ ขนมอร่อยๆ ไปเที่ยวสวนสนุก ไปเที่ยวชายทะเล ไปซื้อของเล่นหรูๆ ที่ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ส่วนทางขวามือ เป็นกิจกรรมที่ครูต้องช่วยกระตุ้น เช่น ตักบาตรตอนเช้า ไปทำบุญที่วัด กราบขอพรผู้ใหญ่ ปฏิบัติตนเป็นเด็กดี ช่วยงานคุณพ่อคุณแม่ เป็นต้น เด็กๆ ช่วยเสนอไม่นาน เราก็ได้ตัวอย่างกิจกรรมมากมาย ครูให้นักเรียนแสดงความเห็นว่าแต่ละกิจกรรมให้สิ่งดีๆ กับคนที่เป็นเจ้าของวันเกิดอย่างไรบ้าง ขณะดียวกันมีข้อเสียอะไรบ้าง แล้วหาข้อสรุปว่า ในฐานะที่นักเรียนเป็นเด็ก นักเรียนจะทำอะไรในวันเกิดของตน การจัดกิจกรรมทำนองนี้ มักจะได้ข้อสรุปตามที่ครูวางแผนไว้ เพราะครูสามารถควบคุมสถานการณ์ให้นักเรียนคิดตามแนวที่ครูตะล่อม สุดท้าย นักเรียนช่วยกันสรุปด้วยท่าทีขึงขังจริงจัง ราวกับจะสัญญาว่าหนูจะทำ หนูทำได้ ข้อตกลงสรุปได้ดังนี้
1.
เราจะฉลองวันเกิดที่โรงเรียนทุกคน ด้วยการร้องเพลงสุขสันต์วันเกิดทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ให้เพื่อนกล่าวอวยพรให้เจ้าของวันเกิด ถ้าตรงกับวันหยุด เราก็จะฉลองในวันถัดไป
2.
เราจะเตรียมรูปของตนเองมาจัดบนป้ายนิเทศ “สุขสันต์วันเกิด เดือน…”
3.
เราจะเขียนความตั้งใจแก้ไขจุดอ่อนแอของตนเอง ให้ผู้ปกครองช่วยคิดช่วยเขียนได้ แต่ข้อความที่นำมาติดป้ายต้องเป็นลายมือของนักเรียน
4.
เราจะกราบคุณพ่อคุณแม่ และ ขอบคุณที่ท่านเลี้ยงดูเราด้วยความรัก และจะให้สัญญาต่อท่านว่าจะเป็นเด็กดี
5.
เราจะไม่นำสิ่งของหรือขนมมาแจกเพื่อน เพราะนักเรียนยังไม่สามารถจัดหาสิ่งเหล่านี้ด้วยตนเอง
นับแต่วันที่เราได้ทำการตกลง
เราได้ร่วมกันทำวันเกิดให้เป็นวันที่มีความสุขของทุกคนและให้ความสำคัญกับผู้ที่เกิดในวันนั้นๆ
โดยมีผู้ปกครองเป็นแนวร่วม และผู้ช่วยเหลือที่สำคัญ
ถึงแม้ว่าจะมีผู้ปกครองบางคนมีความคิดว่า
ครูน่าจะผ่อนผันให้นักเรียนบางคนที่พ่อแม่ยินดีจัดงานวันเกิดเพื่อนักเรียนคนอื่นๆ
ได้รับความสนุกตามประสาเด็ก
แต่หลังจากที่ครูชี้แจงให้ทราบแนวความคิดในการพัฒนานักเรียน
และทบทวน ย้ำเตือนข้อตกลงกับผู้ปกครองและนักเรียน
ครูได้รับความร่วมมือเกือบทุกคน ยกเว้นกรณี
เด็กหญิงเกด
ผู้เป็นสุดที่รักของคุณปู่ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่เคยพบปะกับคุณครูเลย
ภาพการฉลองวันเกิดอย่างเอิกเกริกในห้องเรียนที่ไม่สามารถยับยั้ง
เป็นภาพที่นักเรียนและครูต่างตะลึงกับ
ขบวนทหารห้าคนเดินแถวเข้ามาในห้องเรียนตามคำสั่งของคุณปู่
พร้อมด้วยขนมเค๊กสองถาดใหญ่ ไอศกรีมหนึ่งถังใหญ่
อุปกรณ์การกิน และของชำร่วยสำหรับเด็กเป็นสมุดเล่มน้อยสวยงาม
พร้อมปากการแท่งเล็กสีทอง เด็กๆ มีความยินดีปรบมือต้อนรับ
ครูมองดูด้วยความไม่เข้าใจว่ามาได้อย่างใด
แต่ก็ต้องปล่อยให้เลยตามเลย
แล้วค่อยปรับความเข้าใจในวันต่อไป
----------------------------------------------------------------------------------------