การจัดการความรู้กับภูมิปัญญาท้องถิ่น:2


"กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต วัดไผ่ล้อม จังหวัดตราด ก่อเกิดในปี พ.ศ.2533 โดยพระสุบิน ปณีโต กิจกรรมที่ดำเนินการเป็นการรวมคน รวมเงิน รวมพลัง ใช้หลักธรรมในการทำงานและดำเนินชีวิต สมาชิกมีเป้าหมายเดียวกันคือ ความเป็นอยู่อย่างพอดี มีความสุขของคนในชุมชน มีวิถีชีวิต ความเป็นอยู่แบบพึ่งพาตนเอง"

วันก่อนผมเคยเกร่นไว้ว่าจะนำเรื่องของพระอาจารย์สุบิน  ปณีโต กลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อการพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิตมานำเสนอต่อท่านผู้อ่านต่อ โดยเฉพาะประเด็นของการเดินทางกลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อการพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิตเข้าสู่สถานศึกษา

วันนี้ได้รับความกรุณาจากท่าน ศึกษานิเทศก์วันพร  ผลาวัลย์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตราด ได้กรุณามอบข้อเขียนถึงกลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อการพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิตให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบ ในฐานะที่ท่านซึ่งถึงว่าเป็นบุคลากรหลักของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตราดที่ได้มีส่วนผลักดันให้กลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อการพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิตเข้าสู่สถานศึกษาในจังหวัดตราด ในรูปแบบของสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น "เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ"

ท่านเล่าว่ากลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต วัดไผ่ล้อม จังหวัดตราด ก่อเกิดในปี  พ.ศ.2533 โดยพระสุบิน ปณีโต กิจกรรมที่ดำเนินการเป็นการรวมคน รวมเงิน รวมพลัง ใช้หลักธรรมในการทำงานและดำเนินชีวิต สมาชิกมีเป้าหมายเดียวกันคือ ความเป็นอยู่อย่างพอดี มีความสุขของคนในชุมชน มีวิถีชีวิต ความเป็นอยู่แบบพึ่งพาตนเอง พระสุบิน ปณีโต ดำเนินการมากว่า 10 ปี ได้รับการกล่าวขานเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง นับเป็นภูมิปัญญาที่มีผลในการสร้างเสริม สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนชนบทของสังคมไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542(ปรับปรุงแก้ไข พ.ศ.2545 ) หมวด 2 ว่าด้วยแนวการ       จัดการศึกษา ถือว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาเต็มศักยภาพ กระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ทำได้ ทำเป็น ปลูกฝังคุณธรรมไว้ในทุกวิชา ผู้สอนอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียน จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นทุกเวลา ทุกสถานที่ มีการร่วมมือกับบิดา มารดา ผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนทุกฝ่ายเพื่อนร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ 
 
จากแนวการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 (ปรับปรุงแก้ไข พ.ศ.2545 ) ดังกล่าว  มีการพูดคุยกันถึงการเชื่อมโยงภูมิปัญญาชาวบ้าน การจัดตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ฯ สู่สถานศึกษา ซึ่งเป็นเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของชุมชน เป็นวัยที่กำลังเรียนรู้ และเลียนแบบ  ขณะที่ค่านิยมการบริโภคนิยมกำลังเผยแพร่สู่สังคมไทยอย่างกว้างขวาง การดำเนินการจัดการเรียนรู้โดยการนำแนวคิด ปรัชญาการจัดตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ฯ เริ่ม ณ สถานศึกษาที่มีความพร้อม ให้โอกาสทดลองจัดการเรียนรู้ ผลการประเมินโครงการปรากฏว่าผู้เรียนได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ในเชิงประจักษ์ จึงมีการขยายโครงการจัดการเรียนรู้ไปยังสถานศึกษาที่สนใจ มีการจัดทำสาระการเรียนรู้และดำเนินการจัดการเรียนรู้ตลอดแนวตามหลักวิชาการ ในสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น” เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ”

 “เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ” โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน : การจัดตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ฯ กำหนดทิศทางและความสำเร็จของการเรียนรู้ไว้ว่า “เรียนรู้ อยู่อย่างพอดี มีความสุข” มีวิสัยทัศน์ คือ “ประสานและเกื้อกูล ร่วมสร้างชีวิตที่ดีงาม “ โดยมีพันธกิจในการจัดการเรียนรู้ คือ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ สร้างองค์ความรู้         มีความสามารถในการบริหารจัดการทรัพย์ มีคุณธรรม รักบ้านเกิด รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและมีวิถีชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีกระบวนการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ มีการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างครู ผู้ปกครอง และผู้เรียน มีการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะกระบวนการคิดให้เป็นวิถีชีวิต และปฏิบัติเป็นนิสัย ใช้องค์ความรู้จากครูภูมิปัญญาชาวบ้าน บริหารจัดการทรัพย์ตามพุทธวิธีเสริมคุณธรรม จริยธรรมในกิจกรรมแบบบูรณาการ ประสานความร่วมมือทำให้เกิดผล         รู้รักสามัคคี พัฒนาชีวิต

ต้องขอขอบพระคุณท่าน ศน.วันพร  ผลาวัลย์ สพท.ตราด อย่างสูงที่กรุณานำกระบวนการดังกล่าวมานำเสนอต่อสาธารณชนในครั้งนี้



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท