เรื่องเล่าจากออสเตรเลีย (31.13)


ให้ทำงานซ้ำเสริมกัน (Redundancy) ไม่ใช่ซ้ำซ้อน (Duplication)
            ในระดับของผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเองก็มีการแบ่งออกเป็นชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กับชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ต่างก็พยายามสร้างพลังต่อรองเพื่อให้มีการจัดสรรทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นเงิน คน ของ ให้เข้าหากลุ่มของตนเองมากที่สุด ทั้งที่ต่างก็เป็นเครือข่ายบริการซึ่งกันและกัน เห็นได้เด่นชัดจากรูปแบบการจัดสรรเงินโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่มีการปรับไปปรับมาตามพลังของแต่ละฝ่าย จะหักเงินเดือนรวมทั้งประเทศหรือหักเป็นอำเภอ (CUP) ถ้าหักทั้งประเทศโรงพยาบาลทั่วไปเสียเปรียบ ส่วนโรงพยาบาลชุมชนได้เปรียบเพราะได้เงินไปเยอะ แต่ถ้าหักรวมโรงพยาบาลชุมชนเสียเปรียบเพราะเงินส่วนหนึ่งต้องไปอุ้มเงินเดือนของโรงพยาบาลใหญ่   การคิดอัตราการส่งต่อผู้ป่วยนอกจะคิดตามที่จ่ายจริงหรือคิดแบบมีขีดจำกัด การคิดค่าส่งต่อบริการผู้ป่วยในจะใช้ค่าDRGมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น   เมื่ออยู่คนละชมรม แล้วก็อยู่กันคนละขั้ว มองแต่เรื่องประโยชน์ของตนเอง แล้วระบบเครือข่ายการส่งต่อมันจะราบรื่นได้อย่างไร เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้คุยกับพี่กนกนารถ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลดีเด่นหลายปี ได้เล่าให้ฟังว่า ทางชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป มีแนวคิดที่จะชวนทางโรงพยาบาลชุมชนมารวมกันเป็นชมรมเดียว ผมเองเห็นด้วยอย่างยิ่ง และถ้าพี่(โรงพยาบาลใหญ่ๆ) ชวนน้อง(โรงพยาบาลชุมชน)อย่างนี้ ผมว่าเป็นสิ่งที่ดีมากเพราะจะทำให้เกิดการรวมตัวกันได้ง่าย ถ้ามัวแยกกันอยู่ หากมีอะไรมาเป็นวิกฤตก็จะพลอยพังกันไปทั้งหมด แต่ถ้ารวมกันจะมีพลังในการต่อรองได้มหาศาลและในอนาคตหากมีการปฏิรูประบบราชการก็จะกลายเป็นส่วนเดียวกัน เครือข่ายกัน

            การแก้ปัญหาแม่น้ำสองสาย ไม่ยากถ้าตั้งใจจะแก้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องรวมกันก็ได้  หากให้ไหลคู่ขนานกันไปยังความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์กับเส้นทางที่ผ่านไปได้  โดยมีการกำหนดบทบาทของแต่ละส่วนให้ชัดเจน ให้ทำงานส่งเสริมกัน ไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน ถ้าเป็นทางการบริหารเขาจะเรียกว่า ให้ทำงานซ้ำเสริมกัน (Redundancy) ไม่ใช่ซ้ำซ้อน (Duplication) ยกตัวอย่างเช่น

            สปสช. ทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อบริการและทำให้คนไทยสามารถใช้สิทธิ มีสิทธิในการเข้าถึงบริการได้ โดยไม่พยายามที่จะไปจัดบริการหรือจัดทำโครงการเอง ส่วนการจัดบริการ การพัฒนาสถานบริการหรือการแก้ปัญหาทางด้านสุขภาพให้กระทรวงสาธารณสุขทำ ในด้านการพัฒนาคุณภาพบริการให้ พรพ.ทำ

            สำนักพัฒนาระบบบริการมีหน้าที่เป็นผู้ติดตาม นิเทศ ดูแลให้หน่วยงานในสังกัดบริการกระทรวงสาธารณสุขมีการพัฒนาคุณภาพ โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปจัดตั้งระบบคุณภาพเองหรือทำโครงการพัฒนาคุณภาพเอง ในเรื่องการจัดระบบ การรับรองระบบให้ พรพ.เป็นผู้ทำ

            ชมรมแพทย์ชนบท ทำในเรื่องที่เป็นปัญหาสังคม ปัญหาที่ต้องใช้พลังเพื่อแก้ปัญหาในวงกว้าง ขณะที่ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ทำในเรื่องที่เป็นการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน พัฒนาสายอาชีพแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน แก้ปัญหาของโรงพยาบาลชุมชน เป็นต้น
หมายเลขบันทึก: 11227เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2006 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท