Hospital OS โปรแกรมบริหารระบบการจัดการสารสนเทศโรงพยาบาล
Hospital OS Hospital OS โปรแกรมบริหารระบบการจัดการสารสนเทศโรงพยาบาล ianalysis คลังข้อมูล Hospital OS (โปรแกรม โรงพยาบาล)

ผมรับคุณเข้าทำงานครับ...จุดเริ่มต้นของชีวิตผมกับ Hospital OS


"ผมเข้ามาร่วมงานแบบงงๆ ในวันแรก เพราะไม่รู้ว่าหน้าที่จริงๆคืออะไรแน่ แต่เขารับผมในตำแหน่งโปรแกรมเมอร์นี่แหละ แต่ยังไม่ได้ทำอะไีรมาก นอกจากอ่านหนังสือ "

โดย สุรชัย ต่อวงศ์ <[email protected]>

จาก E-mail ที่ได้รับการตอบกลับฉบับหนึ่ง


KONGKIAT KESPECHARA <[email protected]>
สุรชัยครับ
ผมพิจารณาแล้วครับยินดีที่จะรับคุณเข้าร่วมงาน
แต่ผมสามารถให้ค่าตอบแทนได้โดย 3 เดือนแรกช่วงทดลองงาน X,XXX บาท ต่อเดือน
หลังจากนั้น หากผ่านการทดลองงาน X,XXX บาทต่อเดือน หากคุณสนใจ
ช่วยตอบให้ผมทราบด้วยครับ

ขอบคุณครับ
ก้องเกียรติ

"Surachai Thowong" <[email protected]> wrote:

> ---------------------------------------------
> Attachment:
> MIME Type: multipart/alternative
> ---------------------------------------------
>สวัสดีครับคุณหมอก้องเกียรติ
>
> ขอแนะนำตัวก่อนนะครับ ผม สุรชัย ต่อวงศ์ ครับ กำลังเรียนอยู่ที่
>ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ชั้นปีที่ 4 ม.สงขลานครินทร์ครับ
> ผมได้รับข่าวจาก Webboard ของภาควิชา เกี่ยวกับงานที่ภูเก็ตน่ะครับ
>ทราบมาว่าเกี่ยวกับงานด้าน database จึงมีความสนใจ
>แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดของหลักฐานที่แน่นอน ที่เห็นใน webboard ก็มี resume,
>รูปถ่าย และ transcript แต่สงสัยครับว่า transcript เนี่ยให้ส่งเป็นภาพไปเหรอครับ
>เพราะบอกว่าส่งทาง E-mail ตรงนี้จึงสงสัยครับ
> อีกข้อคือ เป็นงานในภาครัฐหรือเอกชนครับ อยากทราบมากครับ
> จึงขอรบกวนคุญหมอช่วย E-mail กลับด้วยนะครับ
>เพราะมีความสนใจที่จะทำงานที่บ้านของตัวเองมากกว่าจะขึ้นกรุงเทพน่ะครับ
>ขอบคุณมากครับ

นี่คือ E-mail ที่เป็นจุดเริ่่มต้นของชีวิตผมกับทีมงานของหมอก้อง mail นี้เข้ามาที่ mail box ของผมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2544 ปัจจุบันยังเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี เนื่องจากทำให้รำลึกถึงความหลังได้เสมอๆ นับจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้ว

ผมจบการศึกษาจาก มอ. ตามที่ได้ระบุไว้ใน mail เป็นคนภูเก็ตโดยกำเนิด ตอนสมัครงานยังโสด และไม่มีีแฟน แต่ตอนนี้มีห่วงผูกคอเรียบร้อย เหตุใดจึงไม่โสด จะเล่าให้ฟังในเรื่องที่เขียนนี้ และรับรองว่าเกี่ยวกับ Hospital OS ซะด้วย

ขณะเข้าทำงานกับหมอก้องนั้น เป็นปี 2544 วันที่ 2 เดือน เมษายน มีพนักงานประจำแค่คนเดียว ตอนสอบสัมภาษณ์ พนักงานคนดังกล่าวก็ร่วมสัมภาษณ์ผมด้วย ด้วยชุดที่เป็นกันเองมากๆคือเสื้อกล้ามสีขาว กางเกงขาสั้น ทำตาละห้อยหน่อยๆ เหมือนใกล้จะหลับ ไม่ต้องพรรณณามาก พี่โส(โสทร รอดคงที่ @ Linuxsiam.com หรือปัจจุบัน @ Sothorn.org) ของเรานั่นเอง ตอนนั้นงานที่ทีมงาน(ต้องเรียกว่าทีม เพราะทำกันอยู่ 2 คนคือ หมอก้อง และพี่โส) รับมาทำส่วนใหญ่เป็นการทำ Web เลี้ยงชีพ ยังไม่มีธุรกิจหลักอะไรชัดเจนนัก นอกจากนี้ ยังมีพี่อีก 2 คนชื่อพี่เจษฎ์ สิทธิดำรง ที่มาทำแบบไปๆมาๆทุก 15 วัน หรือทุกครึ่งเดือน ระหว่างภูเก็ต และหาดใหญ่ และอีกคนชื่อพี่โต้ง หรือ วสันต์ (นามสกุลผมจำไม่ได้) ที่เข้ามาเป็นพักๆ (เป็นคนละโต้งกันกับเขย รพ.บ้านตาก)

ผมเข้ามาร่วมงานแบบงงๆ ในวันแรก เพราะไม่รู้ว่าหน้าที่จริงๆคืออะไรแน่ แต่เขารับผมในตำแหน่งโปรแกรมเมอร์นี่แหละ แต่ยังไม่ได้ทำอะไีรมาก นอกจากอ่านหนังสือ จนเย็นวันแรกได้เจอกะพี่อีกคนที่พูดได้อย่างทองแดงหล่นมากๆ ยิ่งกว่าพี่โสเสียอีก คุยกันอยู่นานว่าบ้านอยู่แถวไหน พ่อชื่ออะไร จนในที่สุดก็ใช่อื่นไกล นับญาติได้เป็นพี่เขยของเราซะเอง ก็ใช่ใครที่ไหนครับ พี่อ๊อด (กฤษฎา แก้วแกม) ของผมนี่แหละ

 

Medical Equibment Management System หรือ MEMS โปรแกรม Web application ตัวแรกๆที่เริ่มพัฒนาให้กับบริษัทฯ

Medical Equibment Management System หรือ MEMS โปรแกรม Web application ตัวแรกๆที่เริ่มพัฒนาให้กับบริษัทฯ

 

ปัจจุบันยังจำได้ว่า งานที่ได้รับเพื่อลองวิชาช่วงแรก คือ แก้ Web ต่อจากพี่โส ด้วยภาษา php3 โดย web ที่ทำตอนนั้น ชื่อ
www.thaimedscape.com ปัจจุบันได้เลิกทำไปแล้ว ต่อจากนั้น จึงได้รับหน้าที่ให้ทำโปรแกรมที่เป็น web-based application ซึ่งเป็นโปรแกรมจัดการเครื่องมือแพทย์ ให้กับบริษัท สยามเม็ดฯ ซึ่งเป็นบริษัทของเพื่อนของหมอก้อง ชื่อ คุณติ๊ก และคุณกุ้ง จำได้ว่าทำงานได้ราวๆ 2 สัปดาห์ หมอก้องก็ชวนมานั่งคุยกัน 4 คน (หมอก้อง, พี่โส, พี่เจษฎ์ และตัวผมเอง) โดยการนั่งคุยก็เป็นแบบนั่งขัดสมาธิกับพื้น พร้อมๆกับกินทุเรียนไปด้วย คุยไปด้วย เกี่ยวกับเรื่องโครงการสร้างโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์สำหรับการบริหารจัดการภายในโรงพยาบาล ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีระบบ HIS ฟรีที่มีครบทุกระบบในตัว และผมกับพี่โส ถือว่าใสมากในวงการนี้ กว่าจะเข้าใจได้ ว่าอะไรคือ OPD หรือ IPD และ Flow ของระบบ รพ.คืออะไีร ก็ล่วงเลยไปหลายเดือน พร้อมๆกับเพาะบ่มประสบการณ์ในการเขียนโปรแกรมด้วย Java ไปในตัว ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้น คิดว่าจะพัฒนา Hospital OS ด้วย Tcl/Tk หรือไม่้ก็เป็น php (ผมเขียน Java ไม่เป็นเลย เพราะไม่ได้เรียนตอนอยู่ในมหาวิทยาลัย ครูสอน Java ของผมคนแรกๆชื่อ อ.วีระศักดิ์ ซึงถาวร แกไม่รู้จักผมหรอก ผมก็ไม่เคยเจอแก แต่ผมอ่านหนังสือของแกวันละหลายรอบ) และผู้อนุเคราะห์เงินเดือนเลี้ยงชีพพวกผมตอนนั้น ก็หาใช่ใครอื่น หมอก้องนั่นเอง เพราะตอนนั้นยังไม่มีแหล่งทุนที่จะให้การสนับสนุน ที่จะเข้าใจในปณิธานของการริเริ่มพัฒนาได้

ทีมของเรา 3-5 คน เริ่มศึกษาระบบงานของ รพ.แบบแอบๆ และแบบลักจำจากโปรแกรมชาวบ้านเขาได้ 2-3 เดือน ด้วย Server ทรงประสิทธิภาพที่สุดที่พี่โสจะหามาลง Linux ได้้ และ พี่เจษฎ์ก็คิดชื่อของซอฟต์แวร์ได้ชื่อหนึ่ง ขณะนั่งคุยกันว่าจะตั้งชื่อมันว่าอะไรดี?
"Hospital OS"
เป็นชื่อที่พูดออกมาแล้ว ดีดนิ้วพร้อมกัน ช่างเป็นชื่อที่ได้ใจความจริงๆ

ทีมแรก

ทีมแรก
พี่โส, หมอก้อง
พี่เจษฎ์, เหน่ง (ผมเอง)

ล่วงเลยไป 5-6 เดือน นับจากเริ่มเข้าทำงานจนถึงกันยายน ความเครียดเริ่มครอบงำ เพราะโครงการยังไม่ถึงไหน ทุนเริ่มไม่มี โปรแกรมเมอร์เริ่มเครียด หมอก้องจึงพยายามหาแหล่งทุนสนับสนุน แหล่งทุนที่ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้ขอทุน และคิดว่าน่าจะทำให้ซอฟต์แวร์และนักพัฒนาอยู่ต่อไปได้หลังจบโครงการไปแล้ว บทสรุปจึงไปอยู่ที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) การพัฒนาโปรแกรมอย่างจริงจัง เพื่อให้ได้ Hospital OS รุ่น "ขอทุน" จึงเริ่มขึ้น

Splash screen ของ Hospital OS รุ่นขอทุน

Splash screen ของ Hospital OS รุ่นขอทุน
ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัท จึงยังใช้ Logo ว่า 4th Tier ซึ่งเป็นชื่อทีมในช่วงแรก

 Hospital OS รุ่น ขอทุน ปัจจุบันยังเก็บ Source code ไว้อยู่ จะเห็นว่าไม่มีภาษาไทย

 

การขอทุนไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด ช่วงนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงในทีม พี่เจษฎ์ไม่ได้ร่วมทำงานกับเราต่อ พี่โต้งก็มีงานประจำอยู่ ไม่ได้มาทำกับเราตลอด เหลือยอดมนุษย์ 3 คนที่ทำงานกันแบบหามรุ่งหามค่ำ ทำกันแบบลองผิดลองถูก เขียนได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ก็ยังก้มหน้าก้มตาทำกันต่อไป หมอก้องเองก็ไปนำเสนอโครงการต่อทาง สกว.เป็นระยะๆ เกี่ยวกับ Prototype Software จนในที่สุดทาง สกว. ได้ให้เงื่อนไขสำคัญมาข้อหนึ่ึง ก็คือ จะต้องมีผู้เข้าร่วมโดยสมัครใจที่จะใช้ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้น และทางทีมงานต้องติดตั้งให้ได้อย่างน้อย 10 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ในเวลา 17 เดือน การประชาสัมพันธ์ก็เริ่มขึ้น ความทรงจำส่วนนี้จำได้ดีว่าตั้งแต่หมอก้อง หมออ้อย พี่อ๊อด พี่ภรณ์ น้องเอ พี่โส และผม ช่วยกันนั่งพับกระดาษทำเป็นจดหมายประชาสัมพันธ์ กันร่วม 700 กว่าใบ เพื่อส่งไปยัง โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ

ผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ จึงเริ่มมีเอกสารตอบรับกลับมา จำไม่ได้แล้วว่าโรงพยาบาลแรกคือโรงพยาบาลอะไร แต่จำได้แม่นถึงความจริงใจของอีกหนึ่งโรงพยาบาล เขียนมาในคำถามข้อหนึ่งว่า

ถ้าหากโปรแกรม Hospital OS พัฒนาเสร็จแล้ว ท่านจะนำไปใช้ที่โรงพยาบาลของท่านหรือไม่ ?
คำตอบคือ ใช้ (แน่นอน)

โรงพยาบาลที่ว่านั้นก็คือ โรงพยาบาลทุ่งหัวช้าง อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน โรงพยาบาลที่ตอบรับ เพื่อขอเป็นหนูทดลองตัวแรกของโปรแกรม Hospital OS จากนั้นก็มีโรงพยาบาลสมัครเข้ามาเรื่อยๆตามแบบตอบรับที่ Fax เข้ามาตลอดทั้งวัน จำได้ลางๆว่าวันที่ สกว.อนุมัตินั้น มีโรงพยาบาลที่ตอบเข้ามาแล้วกว่า 100 โรงพยาบาล และเงินทุนที่ได้อยู่ที่ราวๆ 2 ล้านกว่าๆ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ซื้อ Comercial Software บางตัว สำหรับโรงพยาบาลเพียง 1 รพ.ไม่ได้ด้วยซ้ำ

ในปลายปีนั้นเอง เราก็ได้ไปนำเสนอโปรแกรม Hospital OS สู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรก ที่งาน TMI ปี 2544 โดย หมอก้องได้หัวข้อที่จะพูด 1 session เรื่อง โครงการพัฒนา software สำหรับระบบข้อมูลโรงพยาบาลขนาดเล็ก (ไม่เกิน 100เตียง) พร้อมทำการ Demo โปรแกรม Prototype ในห้องประชุมใหญ่ ที่ศูนย์ประชุมฯสิริกิติ์

(หากต้องการ Load file เสียงของงาน TMI 2544 เรื่อง Hospital OS สามารถติดต่อผมได้โดยตรงครับ)

ไม่ต้องสงสัยเลยที่จะได้รับความสนใจอย่างล้นหลามในงาน ผู้เข้าฟังเกือบเต็มห้อง เสียงสรรเสริญ เชิงให้กำลังใจก็ตามมาเรื่อยๆตลอด หลังพูดจบ ตัวอย่างเช่น

"ใจจริงผมก็อยากให้โครงการนี้สำเร็จนะครับ ....................." หรือ

"ผมคิดว่าเรากำลังสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ไปกับงานนี้ ......................... คุณหมอน่าจะกลับไปรักษาคนไข้เหมือนเดิมดีกว่า "

บอกตามตรงว่าตอนนั้น ไม่ได้ขึ้นไปบนเวทีด้วย เนื่องจากวัยวุฒิมันไม่ได้จริงๆ และเขาให้ผู้ใหญ่จริงๆขึ้นไปพูด (หมอก้องชอบเอามาแซวในงานสัมมนาทุกปีว่าโดนโปรแกรมเมอร์หักหลัง ไม่ยอมขึ้นไปนำเสนอร่วม ซึ่งความจริงไม่ใช่) ถ้าเปรียบแล้ว งานนั้นเหมือนโดนน๊อกกลางเวทีไปเหมือนกัน เพราะโปรแกรมที่ไปนำเสนอนั้นยังไม่สามารถใช้ภาษาไทยได้ด้วยซ้ำ บันทึกชื่อลงไปแล้ว ยังได้เป็นเครื่องหมาย ?????? อยู่เลย แล้วยังจะกล้าไปลงให้โรงพยาบาลตั้ง 10 รพ.แต่ตอนนั้นอาจจะเพราะยังเด็ก เลยไม่ได้คิดอะไรมาก ประกอบกับเหมือนมีคนมาดูถูกเราไว้เยอะ เลยฮึดกันใหญ่หลังจากกลับมา การทำงานจึงหามรุ่งหามค่ำยิ่งกว่าเดิมแบบไม่เว้นวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ หรือนักขัตฤกษ์

มีนาคม 2545 หลังทุบโปรแกรมทิ้งและเขียนใหม่ไป 2 รอบ ก็ได้เบะ (พงศ์ธร ตันธนกิจ) เพื่อนสมัยเรียนที่เบื่อการเรียน ป.โท เข้ามาช่วยงาน เป็นโปรแกรมเมอร์ที่เป็น Full time อีกคน และในเดือนถัดไป ก็ได้ รุ่ง (รุ่งศิริ ถิรวิทยานนท์) และแหม่ม (รุจิรา วาสิการ) รุ่นน้องชาว มอ.ของเราทั้งคู่ เข้ามาช่วยในด้าน Testing และ Training ทำให้ทีมเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง และโปรแกรมได้ผ่านการทดสอบและ Review มากขึ้น พี่โสเองก็ได้กลับไปโฟกัสกับ Linux มากขึ้น เพราะก่อนหน้านั้นถูกบังคับให้เขียน Java จนหลับไปหลายรอบ จนกระทั่ง ราวๆเดือนมิถุนายนก็ได้นำโปรแกรมไปนำเสนอที่ โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล (พื้นที่ของห้างสยามพารากอนในปัจจุบัน) โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 300 คน ทั้งๆที่โปรแกรมที่นำเสนอ เป็นเพียง version beta และยังนำไปใช้จริงไม่ได้ ก็ยังมีคนมาให้กำลังใจ และอุดหนุน ซื้อ CD รวมโปรแกรม Open Source ที่เตรียมมาไม่มากจนหมด งานนี้ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ บดินทร์ ทรัพย์สมบูรณ์ (จาก รพ.ศิริราช) และพี่เฟิร์ส (สุรณรงค์ คามตะศิลา จาก PineApple Soft ในปัจจุบัน) ในด้าน Software Architecture ที่ดี นอกจากนี้ ยังได้รับ Feedback ดีๆด้าน Functional จากผู้เข้าร่วมอีกมาก ให้นำกลับไปแก้ไขกันอีกเป็นกอง ก่อนจะนำไปใช้จริง

 

 เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา
แหม่ม, รุ่ง, พี่โส+มอมแมม, เบะ และ เหน่ง

 

กันยายน 2545 การเดินทางเพื่อทดสอบการนำระบบไปใช้จริงจึงเริ่มขึ้น โดยโรงพยาบาลที่ทีมงานเลือกจะไป และโรงพยาบาลสมัครใจจะ(กล้า)ใช้ ก็คือ โรงพยาบาลทุ่งหัวช้าง ของพี่ Admin สุดหล่อ อ้ายแซค (อุทัย เลือดนักรบ) นั่นเอง โดยทีมงานใช้เวลาร่วม 3 สัปดาห์ เพื่อขึ้นระบบ ซึ่งมีทั้งการเตรียมข้อมูลก่อนขึ้นระบบ การปรับแก้โปรแกรม ณ สถานที่จริงเพื่อให้ทำงานได้ถูกต้อง การอบรมผู้ใช้งาน รวมถึงการช่วยเหลือด้าน Infrastructure ที่ยังไม่สมบูรณ์

 

 

 วันแรกที่ไปถึง
เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา
แหม่ม, หมอก้อง, เหน่ง, เบะ, รุ่ง และ พี่อ๊อด
สังเกตบนหลังรถฟอร์ด ใช้วิธี pack กระเป๋าไว้หลังรถ เนื่องจากไม่มีที่เก็บ

เช้าวันแรกที่ทำงาน
เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา
หมอก้อง, พี่โส, รุ่ง, แหม่ม, พี่อ๊อด, เบะ และ ฟอร์ด(รถคู่ใจทีม Implement ยุคแรก)

 

 เรีบงลำดับจากซ้ายไปขวา
พี่โส, พี่อ๊อด, พี่อุทัย


ในวันที่ไปถึงและได้เริ่มงาน รวมถึงได้วิเคราะห์ระบบแล้ว ได้พบว่าที่ทุ่งหัวช้าง ในบางจุดยังไม่มีระบบ LAN ที่เพียงพอ แต่เป็นจุดที่ต้องใช้โปรแกรม เช่น จุดคัดกรองผู้ป่วย, ห้องตรวจ, ER (ระบบเดิมใช้ stat จึงไม่มีการบันทึกข้อมูลที่จุดดังกล่าว) ทางทีมจึงช่วยเดินสายให้ (สังเกตเสื้อจะมี 2 สี เพราะเหงื่อออก)

 

 ด.ช. ศรราม ผู้ป่วยคนแรกในระบบ Hospital OS

 การอบรมผู้ใช้งาน บางคนยังใหม่กับระบบคอมพิวเตอร์อยู่มาก อาจต้องสอนการ Double-Click

 

 "เกศมณี ศรีสุวรรณ" หนึ่งในพยาบาลผู้ใช้งานโปรแกรม Hospital OS ยุคแรกๆ ปัจจุบันเปลี่ยนนามสกุลเป็น "ต่อวงศ์" ตามโปรแกรมเมอร์คนแรกของ Hospital OS
และกลายเป็น "ลูกค้าตลอดชีพ"

 "สุรชัย ต่อวงศ์" ในช่วง Implement ที่ทุ่งหัวช้าง หน้าตาง่วงมาก เพราะนอนตี 3-5 เกือบทุกคืน

 

 พี่อ๊อดออกไปถ่ายรูปยามเช้ากับรถฟอร์ด บรรยากาศดีเย็นสบายเกือบทุกเช้า

 

ก่อนวันกลับ
แถวยืน จากซ้ายไปขวา
แหม่ม, พี่อุทัย, พี่โส, หมอจิ๊, พี่อ๊อด, รุ่ง
แถวนั่ง จากซ้ายไปขวา
เหน่ง, เบะ

 

ถัดจากการ Implement ที่โรงพยาบาลทุ่งหัวช้าง ในเดือนถัดมา ทีมงานได้เดินทางต่อไปยัง โรงพยาบาลแกลง จ.ระยอง และใช้เวลาที่ รพ.ไปราวๆ 2 สัปดาห์ แต่ไม่สามารถทำการติดตั้งได้สำเร็จ ทั้งที่ พี่โสภา (โสภา สุขโสภา) ก็ตั้งใจเต็มที่ แต่เพราะเป็นช่วงที่โปรแกรมใน version 1 ยังไม่สามารถตอบความต้องการของผู้ใช้ได้ทั้งหมด และทางโรงพยาบาลแกลงมีระบบงานซับซ้อนกว่าทุ่งหัวช้าง ประกอบกับทีมเกิดอาการล้้า จึงยอมถอนกำลังออก เพื่อกลับมาตั้งหลักที่ภูเก็ตอีกครั้ง

จากนั้นเป็นต้นมา ทีมงาน Hospital OS ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆพร้อมกับการพัฒนา Version ใหม่ๆออกสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง หากได้อ่านเรื่องราวที่ผ่านมา คงรู้ว่าผมผูกพันกับซอฟต์แวร์ตัวนี้มากเกินกว่าจะบรรยายได้ แม้ว่าปัจจุบันจะไม่ได้เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลโปรเจคนี้อีกต่อไปแล้ว เนื่องด้วยเหตุผลการเติบโตขององค์กร แต่ก็ยังคงวนเวียน ติดตามข่าวสารต่างๆอยู่เสมอๆ เรื่องที่เล่า เป็นเพียงเศษเสี้ยวของความทรงจำที่ยังเหลืออยู่ อาจจะขาดตกบกพร่องไปบ้าง เนื่องด้วยเวลาที่ผ่านไป หากผิดพลาดประการใด ขออภัยด้วยครับ

สมาชิกเก่าๆหลายท่าน อาจจะยังจำผมได้ แต่บางท่านที่มาใหม่คงไม่รู้ว่าผมคือใคร หรืออาจจะไม่เคยเห็นหน้าผมมาก่อนเลย หากวันหน้ามีโอกาสได้พบกัน อย่าลืมทักทายกันนะครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 111914เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2007 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

จำความหลังเม่นจังนะเหน่ง 

กินของขม ชมเด็กสาว เล่าความหลัง
ครบสามข้อแล้วยังเอ่ย :) 

พี่โส

 แวะมาเล่าเรื่องราวให้น้องๆฟังบ้างซิ
ท่านน่าจะแก่ไม่น้อยแล้วหละ ดังนั้นมาเล่าความหลัง ดีกว่ากินเด็กสาว ชมของขม ฮ่าๆๆๆ

ขอบคุณครับ

เล่าเพลินดี นี่แหล่ะครับ ทำงานด้วยพลังใจ 

มนต์รักทุ่งหัวช้างครับ

สวัสดีครับ

     ว้าววว เข้ามาดูการทำงานของเพื่อนโส ในอดีต ตั้งแต่ก่อตั้ง linuxsiam.com กันมา พร้อมๆ กับ somporn.net ที่ตั้งมาด้วยกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน จากนั้นแยกกันไปคนละทาง คนละทวีป ห้าๆๆๆๆ

เห็นการทำงานแล้ว ขอคาราวะแรงใจที่ตั้งใจทำงานกันจริงๆ นะครับ ผมคิดว่าหากมีทีมแบบนี้ สร้างคนสร้างทีม สร้างงานเหมือนบันทึกนี้ก็จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ผมเรียกว่า

ไทยคิด ไทยทำ ไทยใช้ ไทยพัฒนา ไทยรุ่งเรื่อง โดยไม่ต้องฟื้นฟู

วันหนึ่งก็วันหนึ่งครับ หากทำเอาจริงสิ่งนั้นก็คงเกิดครับ

จะติดตามอ่านตอนต่อๆ ไปครับ

ขอบคุณมากครับ

รอฟังเรื่องต่อไปของพี่เหน่งอยู่นะคะ และขอชื่นชมกับพี่ๆทีมงานรุ่นแรกๆ ในความตั้งใจสร้างซอฟแวร์สำหรับชุมชน จนเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน เรื่องต่อไปก็คงเป็นเรื่องพี่อ๊อดแน่ๆ เลยใช่ใหมคะ ^ ^

  

นับถือ ขอเป็นกำลังใจ และจะรออ่านต่อไปครับ

บทความนี้ ไม่ค่อยมีความรู้เท่าไหร่ จะหนักไปทางเรื่องอารมณ์ และความรู้สึกเก่าๆมากไปหน่อย เดี๋ยวครั้งหน้าจะใส่ความรู้เข้าไปให้มากขึ้นครับ

มีแต่คนแก่ท้างน๊านนนน 555 เลยมานั่งเล่าความหลังกัน ผมก็เลยเขียนความหลังบ้างลองไปอ่านดูที่

http://www.hospital-os.com/th/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&p=9456#9456 

ชอบมากครับ เป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจอ่ะ ผมก็เป็นเด็ก มอ.คนนึง จบวิทย์-คอมฯครับ แต่ผันตัวเองมาทำงานgraphic design ทุกวันนี้ผมยังไม่รู้เลยว่าผมชอบอะไรมากที่สุด ก็คิดว่าจะสะสมความรู้ สิ่งที่ได้พบ ได้เจอไปเรื่อยๆ ครับ สุดท้ายคิดถึงพี่ๆ มอ.44 ทุคนเลยนะ

สวัสดีเหน่ง,

 กำลัง Search เรื่อง LTSP ไปไปมาๆเลยมาเจอ Blog ของนาย และ Project Hospital-OS น่าสนใจมาก ที่โรงพยาบาล ไม่ทราบว่า โดย framework มันยืดหยุ่น สำหรับ ประยุกต์กับโรงพยาบาลอื่นหรือธุรกิจอื่นบ้างหรือป่าว

 เราตุณญ์ นะ แต่งงาน 9 พฤศจิกายน 2550 ที่ตรัง ขอเชิญด้วยนะครับบ 

หวัดดีตุณญ์

 ยังจำได้อยู่ ว่าแต่แต่งกะใครหว่า แต่งกะเฟิน เฟินหรือปล่าว จำไม่ได้ว่ะ หรือว่าเปลี่ยนคนไปแล้ว 555

 

โดย Framework ถ้าจะใช้กับ รพ. ก็ใช้ได้เกือบทุก รพ.รัฐแหละ เอกชนก็พอไหว ตอนนี้เราก็ทำอีกตัวนึงอยู่ แต่ถ้าจะใช้กับธุรกิจอื่นๆก็พอได้ แต่คงต้องเปลี่ยนหน้าจอใหม่ เพราะค่อนข้างเฉพาะเจาะจงมาก

 

เอ ถ้าจำไม่ผิด พ่อแม่แกเป็นคุณหมอใช่ป่าว

เป็นประสบการณ์ที่ดีมากเลยครับขอบคุณที่นำมาเล่าสู่กันฟัง
ว่าที่ PhD. (ไม่ใช่ Dr เพราะไม่ใช่หมอ)

เยี่ยมมาก เล่าซะเหนภาพเลย

story ดีมาก คิดถึงวันเก่าๆ เเล้ว นะ

ได้คิดไรเพียบเลย วันหลัง มาทบทวนความจำกันหน่อยดีก่า

เอ... คุณ 15. ว่าที่ PhD. (ไม่ใช่ Dr เพราะไม่ใช่หมอ)

เขียนแปลกๆ เราเคยรู้จักกันมาก่อนหรือปล่าวครับ???

อะโห เหน่ง ไม่ได้เจอตั้งแต่เรียนจบ

นายทำอะไรยิ่งใหญ่มากๆ วันก่อนได้่ยินข่าวเรื่อง Hospital OS ที่ SIPA ภูเก็ตโปรโมตอะไรซักอย่างนี่แหละ ไม่นึกว่าเหน่งเป็นคนทำนะเนี่ย

สุดยอดดดด ข้าน้อยขอคารวะ

ชอบครับ อ่านแล้วสนุกดี

รู้สึกจะเข้ามาอ่านหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่ได้คอมเมนท์

"ความประทับไจไม่รู้ลืม และยากที่จะอธิบายออกมาหมด"

แต่เรารับรู้ได้ด้วยตัวเราเอง ^^

ผมอ่านแล้วรู้สึกว่า กว่าจะได้เป็น iMed มาได้จนถึงทุกวันนี้

ช่างเป็นความพยายามเหลือล้น จริง ๆ ครับ ตั้งแต่ หก ล้ม คลุกคลาน

จนกระทั่งยืนขึ้นมาได้ มันเป็นสิ่งที่น่ายกย่องจริง ๆ เลยครับ เลยครับ

อีกอย่างการบรรยาย เป็นขั้นตอน ลำดับดีครับ อ่านแล้วเห็นภาพ เลย

ตอนนี้ผมรู้สึกเหมือนพี่เหน่งแรก ๆ เลยครับ ตรงที่พี่อธิบายว่า

ผมเข้ามาร่วมงานแบบงงๆ ในวันแรก เพราะไม่รู้ว่าหน้าที่จริงๆคืออะไรแน่

แต่เขารับผมในตำแหน่งโปรแกรมเมอร์นี่แหละ แต่ยังไม่ได้ทำอะไรมาก

นอกจากอ่านหนังสือ

 

ด้วยนายสุรชัย ต่อวงศ์ (เหน่ง) ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๖เจ้าภาพตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ ศาลา ๒ วัดโฆษิตวิหาร (จ.ภูเก็ต)วันที่ ๑๐ - ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๙.๐๐ น.กำหนดฌาปนกิจศพในวัน ที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๖

https://www.facebook.com/surachai.tw

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท