สมมุติฐาน(Hypothesis:H)การวิจัยคือคำตอบล่วงหน้าที่ต้องการการทดสอบ(Test)ว่าเป็นจริง(True) หรือเท็จ(False) (อ่านเพิ่มเติมได้จาก http://gotoknow.org/method) เมื่อมันต้องการการทดสอบเชิงประจักษ์ มันจึงต้องกล่าวโดยใช้คำที่ชี้ถึงสิ่งที่สังเกตได้ วัดได้ แหล่งที่อุดมไปด้วยสมมุติฐานก็คือ ทฤษฎีเชิงประจักษ์ ซึ่งทฤษฎีหนึ่งๆ เราสามารถนิรนัย(Deduce)สมมุติฐานได้มากมาย ดูตัวอย่างต่อไปนี้
ตัวอย่างที่ 1: ทฤษฎีการส่งสารจากเรตินา(Retina)ไปยังสมอง ของ ดร.ธีระ อาชวเมธี(2521)
เมื่อแสงกระทบเรตินาในดวงตาคน เซลล์รับแสง(Receptors)จะส่งสัญญาณไปยังสมอง ถ้าแสงสว่าง(เข้ม)มาก การส่งสัญญาณจะเร็วมาก ถ้าสว่างน้อย การส่งสัญญาณจะช้า.
ดังนั้น ถ้าเราให้ผู้เข้ารับการทดลองดูแถบเส้นแสงสองเส้นที่สว่างไม่เท่ากัน ซึ่งตรึงขนานกันทางกายภาพในห้องมืด และเคลื่อนไหวไปมาแบบกระดานหก แล้วผู้รับการทดลองจะเห็นเส้นแสงทั้งสองเคลื่อนไปมาไม่ขนานกัน.
ข้อความตอนแรก(สีแดง)เป็นตัวทฤษฎี ทำหน้าที่เป็นเงื่อนไขมาก่อน หรือข้ออ้าง(Premise) เพื่อให้เรานิรนัยข้อความตอนหลังหรือผลสรุป ได้อย่างมีตรรก(Logic) ที่ว่าข้อความตอนนี้เป็ทฤษฎีก็เพราะว่ามันกล่าวถึงสิ่งที่เราสังเกตโดยตรงไม่ได้ ข้อความเหล่านี้ได้แก่ เซลล์รับแสงจะส่งสัญญาณไปยังสมอง ดังนั้น ข้อความตอนแรกจึงเป็นทฤษฎี
ข้อความตอนหลัง(สีเขียว)เป็นผลจากข้อความตอนแรก แต่ใช้ข้อความที่ชี้ถึงสิ่งที่สังเกตได้ คือข้อความว่า แถบเส้นแสงที่สว่างไม่เท่ากัน, แถบเส้นแสงสองเส้นขนานกันทางกายภาพ,เส้นแสงสองเส้นนั้นเคลื่อนไหวแบบกระดานหก, เป็นต้น เมื่อข้อความกลุ่มแรกที่เป็นตัวทฤษฎีเชื่อมโยงกับกลุ่มข้อความตอนหลังที่ชี้ถึงสิ่งที่สังเกตได้ ทฤษฎีนี้ก็เป็นทฤษฎีเชิงประจักษ์(ดูที่ http://gotoknow.org/theory)
ถ้าเรา ยกเอาข้อความทั้งหมด(ยกเว้นคำว่า ดังนั้น)ของตอนที่สองไปเขียนเป็นสมมุติฐานของการวิจัย แล้วทำการวิจัยเชิงทดลอง เราก็จะได้งานวิจัยที่มีคุณค่าหนึ่งเรื่อง(สมมุติฐานนี้มีผู้ทำวิจัยทดสอบแล้ว) เรายังสามารถที่จะนิรนัยจากทฤษฎีนี้ได้อีกหลายสมมุติฐาน ลองคิดดู