ปัญหาและอุปสรรคของความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเขตการค้าเสรีอาเซียน AFTA


เขตการค้า AFTA (ASEAN Free Trade Area) ประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asia Nation : ASEAN) หรือ อาเซียนดั้งเดิมมีด้วยกัน 6 ประเทศ อันได้แก่ บรูไน ดารุสซาลาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ได้ประกาศจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนขึ้น หรือ AFTA ในเดือน มกราคม พ.ศ. 2535 โดยความริเริ่มของนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ซึ่งต่อมาได้มีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นอีก 4 ประเทศ คือ เวียดนามในปี พ.ศ. 2538 ลาวและพม่าในปี พ.ศ. 2540 และกัมพูชาในปี พ.ศ. 2542
 วัตถุประสงค์ของ AFTA
❈ เพื่อให้การค้าภายในอาเซียนเป็นไปโดยเสรี โดยปราศจากการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรและใช้อัตราภาษีศุลกากรต่ำที่สุด
❈ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน
❈ เพื่อเสริมสร้างสถานะในการแข่งขันของอาเซียน
❈ เพื่อรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าของโลกที่จะเสรียิ่งขึ้น
 หลักการของ AFTA
✤ ลดภาษีศุลกากรระหว่างกันลงเหลือร้อยละ 0-5 ในเวลา 15 ปี
✤ ยกเลิกมาตรการจำกัดปริมาณของสินค้า ทันทีที่สินค้านั้นได้รับสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีจากสมาชิกอื่น
✤ ยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีอื่นๆ
✤กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิด (Rules of Origins)
✤ หลักการต่างตอบแทน (Reciprocity)
 เงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์จากอาฟต้า จะเป็นสินค้าที่อยู่ในแผนการลดภาษีของทั้งประเทศผู้ส่งออกและนำเข้า โดยการลดภาษีเป็นไปตามหลักการต่างตอบแทนคือสินค้าของประเทศหนึ่งจะได้รับการลดภาษีในอีกประเทศหนึ่ง เมื่อต่างก็ลดภาษีลงเหลืออัตรา 20% หรือต่ำกว่า ก็สามารถได้รับการลดภาษีในอีกประเทศหนึ่งซึ่งยังลดภาษีสินค้านั้นลงไม่ถึง 20% หรือต่ำกว่าเช่นกัน แต่จะไม่ได้รับการลดภาษีสินค้านั้นในประเทศที่ลดภาษีสินค้านั้นลงเหลือ 20% หรือต่ำกว่า รวมไปถึงเป็นสินค้าการผลิตในอาเซียนประเทศใดประเทศหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งประเทศ รวมกันคิดเป็นมูลค่าอย่างน้อย 40% ของมูลค่าสินค้า
 ปัญหาและอุปสรรคของความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเขตการค้าเสรีอาเซียน AFTA
 ผลกระทบของการเปิดเสรีทำให้หลายประเทศเกรงว่าจะทำให้เสียเปรียบกับต่างประเทศทางการค้าและการลงทุน แต่สิ่งที่ควรพิจารณาถึงผลกระทบของการเปิดเสรีคือเป็นการแบ่งปันผลประโยชน์ของคนในชาติระหว่างคนจนและคนรวยให้มีความเสมอภาคมากขึ้น ซึ่งในการเปิดเสรีนี้จะมีส่วนช่วยทำให้สินค้าของคนจนภายในประเทศส่งออกได้มากขึ้น และช่วยลดการป้องกันอุตสาหกรรมของคนรวยภายในประเทศให้ลดลง อย่างไรก็ตามอุปรรคของความร่วมมือทางเศรษฐกิจยังมีอยู่ดังต่อไปนี้
✿ ความแตกต่างในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละประเทศสมาชิกส่งผลให้เกิดความร่วมมือไม่เต็มที่
✿ สภาพภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกัน ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ทำให้การพึงพาซึ่งกันและกันอยู่ในระดับต่ำ
✿ ประเทศสมาชิกภายในกลุ่มอาเซียนพยายามที่จะแข่งขันกันในทุกๆ อุตสาหกรรมทำให้ไม่ได้ใช้ความชำนาญเฉพาะอย่างที่ตัวเองถนัด แต่ถ้ามีการเปิดเสรีจะมีผลทำให้โครงสร้างเปิดและทำในเฉพาะอุตสาหกรรมที่เราถนัด ซึ่งจะทำให้เกิดขบวนการเรียนรู้และพัฒนาซึ่งเป็นผลที่ดีต่ออุตสาหกรรมที่ตนเองมีความได้เปรียบมากที่สุด
✿ จากในอดีตที่อาเซียนมีเศรษฐกิจที่ดี เติบโตเร็ว และมีอำนาจในการซื้อสูง แต่อาเซียนไม่ได้ใช้อำนาจที่มีในการต่อรองเกี่ยวกับเปิดเสรีกับประเทศสหรัฐอเมริกาทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้สูญเสียโอกาสที่ดีไป ในขณะเดียวกันประเทศอาเซียนในเวทีของกลุ่ม APEC ก็ไม่ได้ทำให้เกิดผลประโยชน์ในการเจรจาทางการค้าเนื่องจากเกรงว่าประเทศพัฒนาจะเอาเปรียบจึงทำให้เสียโอกาสในการเปิดเสรี นอกจากนั้นหากเปิดเสรีก็จะต้องเป็นไปตามความสมัครใจ จึงต้องมีการปรับปรุงการสร้างอำนาจการต่อรองของ ASEAN
 ผลกระทบของการจัดตั้งกลุ่ม AFTA
✡ ช่วยเสริมสร้างสถานะการแข่งขัน การนำเข้าวัตถุดิบในราคาต้นทุนต่ำ การขยายตลาดการผลิตสินค้าที่แต่ละประเทศมีความเชี่ยวชาญและได้เปรียบด้านต้นทุน ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ได้รับการลงทุนจากต่างประเทศจะทำให้อาเซียนสามารถผลิตสินค้าได้ในราคาต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างสถานะการแข่งขันการส่งออกของอาเซียนในเวทีการค้าระหว่างประเทศ
✡ การลงทุน การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน ทำให้ตลาดอาเซียนกลายเป็นตลาดใหญ่มีประชากรเกือบ 500 ล้านคน ซึ่งจะเป็นจุดดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและก่อให้เกิดมีการจ้างงานการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งจะมีผลนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมาสู่ภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน อันได้แก่ ลาว เวียดนาม และพม่า ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรตามธรรมชาติ แรงงานมีราคาที่ไม่สูง การเข้ารวมตัวกับอาเซียนของทั้งสามประเทศ จึงเท่ากับเป็นการสร้างศักยภาพในการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนให้กับอาเซียนด้วย
✡ การขยายการค้า ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนกำหนดให้ลดอุปสรรคทางการค้า ทั้งทางด้านภาษีและที่มิใช่ภาษีระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งจะส่งผลให้มีการขยายการค้าภายในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ทั้งสินค้าสำเร็จรูป สินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบ
✡ การเสริมสร้างอำนาจการต่อรอง การจัดตั้งเขตการค้าอาเซียนเป็นการแสดงเจตนารมณ์การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือภายในกลุ่มแล้วยังเป็นการเสริมสร้างอำนาจต่อรองในเวทีการเจรจาการค้าระหว่างประเทศด้วย
 การส่งออกและการใช้ข้อตกลง AFTA เพื่อความได้เปรียบเชิงแข่งขันระหว่างประเทศ ผู้ผลิตในประเทศไทยมักจะไม่สนใจและไม่ให้ความสำคัญเรื่องกฎเกณฑ์และกติกาการค้านอกเสียจากจะเป็นเรื่องใกล้ตัวจริงๆ เช่นโควต้าส่งออก โควต้านำเข้า ผู้ผลิตที่เรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการต่างๆเพื่อปกป้องตนเองนั้นมักจะไม่ได้ตระหนักว่ารัฐบาลต้องปฏิบัติตามข้อตกลงของกลุ่มการค้าระหว่างประเทศอย่างไร และมิได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะได้สินค้าคุณภาพดีในราคาต่ำกว่าหากสินค้านั้นไม่ผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาดมากเกินไป ผู้ผลิตไทยจึงควรใช้ข้อตกลง AFTA เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ เพราะประเทศอื่นๆต้องลดอัตราอากรนำเข้าสินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยเช่นกัน ทั้งนี้ผู้ผลิตไทยควรใช้ข้อตกลง AFTA ให้เป็นประโยชน์ต่อการขายสินค้าในประเทศและส่งออกดังนี้
 ✮นำเข้าวัตถุดิบจากประเทศในกลุ่ม ASEAN เพื่อผลิตหรือแปรรูปแล้วขายในประเทศเพราะอัตราอากรนำเข้าของวัตถุดิบหรือสินค้าบางประเทศจะมีอากรนำเข้าต่ำ (0-5%)
✮ตรวจสอบว่าสินค้าที่เราผลิตจัดเข้าประเภทพิกัดอัตราศุลกากรใด พิกัดดังกล่าวอยู่ในกรอบลดอัตราอากรขาเข้าของประเทศใดในกลุ่ม ASEAN หากวิเคราะห์แล้วพบว่าต้นทุนสินค้าของเราต่ำกว่าสินค้าประเภทเดียวกัน ที่ผลิตขายอยู่ในกลุ่ม ASEAN เราน่าจะส่งสินค้าของเราเข้าไปขายยังประเทศนั้น
 ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่มีการแข่งขันสูงในด้านราคานั้น ผลกระทบจากข้อตกลง AFTA ต่อผู้ผลิตไทยมีไม่มากเท่ากับผลกระทบจากสินค้านำเข้าจากจีนเนื่องจากจีนมีโครงสร้างต้นทุนที่ได้เปรียบไทยมาก แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบจากประเทศเวียดนามภายใต้ข้อตกลง AFTA ก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกันเนื่องจากเวียดนามมีโครงสร้างต้นทุนที่เอื้ออำนวยกว่าไทย ดังนั้นผู้ผลิตไทยเองควรมีการปรับโครงสร้างการผลิต โดยควรพิจารณาถึงการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงงานถูกกว่าไทยเช่นประเทศลาวและเวียดนามเอง ทั้งนี้ประโยชน์ที่ได้ยังประกอบไปด้วยโอกาสที่เพิ่มขึ้นในการส่งออกไปยังประเทศฝรั่งเศสและประเทศอื่นในกลุ่ม EU เนื่องจาก EU ได้ให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ประเทศในกลุ่ม CLMV ซึ่งประกอบด้วย Cambodia, Laos, Myanmar และ Vietnam



ความเห็น (2)

สวัสดีครับ เรื่อง AFTA ที่คุณน้อยนำเสนอถือว่าเป็นการให้ความรู้ที่มีประโยชน์อย่างยิ่งครับสำหรับผู้ประกอบการนำเข้า - ส่งออก ใช้เป็นฐานข้อมูลในการทำธุรกิจกับประเทศเพื่อนบ้านได้ดีมาก ๆ ครับ ช่วยนำสาระดี ๆ อย่างนี้มาลงอีกนะครับจะคอยติดตามครับ

กำลังศึกษาเรื่องอาเซียนพอดีเลยคะ อยากทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาของอาเซียนอะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท