ทำงานให้แก่มูลนิธิ


เป็นการทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคมในรูปแบบใหม่
ทำงานให้แก่มูลนิธิ

ช่วงสิ้นปีหรือต้นปีมูลนิธิต่างๆ จะต้องประชุมใหญ่ประจำปี วันนี้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
 (มสช.) และมูลนิธิสดศรี  สฤษดิ์วงศ์ (มสส.)  จัดประชุมวิสามัญประจำปีสำหรับเตรียมการ
ประชุมใหญ่ประจำปี
   
การทำงานให้แก่มูลนิธิถือเป็นการทำงานบริการสาธารณะ (public service) ภายใต้ความเชื่อว่า คนเราต้องรวมตัวกันทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ชีวิตส่วนตัวมั่นคง ไม่ต้องห่วงเรื่องความมั่นคงของชีวิตตนเองหรือครอบครัว การทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะในความเชื่อของผมถือเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง โดยควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. ไม่หวังผลตอบแทนแก่ตนเอง หวังผลสร้างดุลยภาพ และความมั่นคงสมานฉันท์
ให้แก่สังคม
2. ถือเป็น จาคะ ในลักษณะหนึ่ง
3. สิ่งที่ได้คือปิติสุข มิตรภาพ และได้เพื่อนร่วมอุดมการณ์
4. ได้เรียนรู้จากการทำงาน ได้เครือข่าย
ผมได้พยายามเสนอความคิดต่อประธานมูลนิธิทั้ง ๒ (ศ. นพ. ประเวศ วะสี – มสช., ศ. นพ.
อารี วัลยะเสวี  มสส.)     ว่าควรหาทางทำให้มูลนิธิมีการจัดการอย่างมืออาชีพ     หาคนที่มี
ความสามารถมาทำงาน โดยมีเงินเดือนประจำในอัตราสูงพอสมควร     ไม่ใช่ทำงานอาสาสมัคร
แบบแรงงานฟรี     ซึ่งจะไม่มีวันทำให้มูลนิธิเข้มแข็งและทำงานใหญ่ได้     คือสังคมไทยต้อง
นิยามคำว่างานมูลนิธิเสียใหม่     ให้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นงานที่จ่ายเงินเดือนงามได้     แต่มีจิต
วิญญาณด้านอาสาสมัครเพื่อสังคม ไม่เน้นการทำเพื่อผลกำไร     ไม่มีการปันผลกำไรแก่ผู้มีส่วน
เกี่ยวข้อง 

มูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์


มสส. มีกิจกรรมสำคัญอยู่ ๓ เรื่อง คือ (๑) โครงการนิตยสารสานปฏิรูป และสำนักพิมพ์
 (๒) แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ  (๓) โครงการวิจัยเด็กระยะยาว   
  
โครงการสานปฏิรูปเป็นโครงการเลี้ยงตัวเอง ซึ่งพบว่าทำยากมาก นิตยสารเพื่อครูอยู่รอดได้ยาก
เพราะครูไม่ค่อยอ่านนิตยสารกึ่งวิชาการ     โรงเรียนไม่บอกรับนิตยสารกึ่งวิชาการ    และไม่มี
หน่วยงานอุปถัมภ์บอกรับนิตยสารให้แก่โรงเรียน    ในที่สุดทางนิตยสารสานปฏิรูปได้เปลี่ยนชื่อ
เป็นนิตยสารนิวสคูล     และแยกออกไปตั้งบริษัท ชื่อบริษัทนิวพลัส จำกัด    (สคส. จะยังคงสนับ
สนุนให้นิตยสารนิวสคูล จัดทำบทความด้าน KM มาเสนอต่อไปอีก ๑ ปี)
   
แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มี ดร. สรยุทธ รัตนพจนารถ เป็นหัวหน้าโครงการ มี ๓
ข่ายงาน   (๑) ข่ายงานการเจริญสติ  (๒) ข่ายงานแผนที่ความดีและความสุข  (๓) ข่ายงานสื่อ
สร้างสรรค์    ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ๑ ปีเป็นการเริ่มต้น    มีผลงานพิมพ์หนังสือแปล
หลายเล่ม (ผมจะเอามาแนะนำในโอกาสต่อไป) และบทความของกลุ่มจิตวิวัฒน์ใน นสพ.    
ทาง สสส. ได้แจ้งความจำนงที่จะสนับสนุนต่อ    เรื่องนี้จะมีความสำคัญต่อสังคมไทยมาก    
เพราะจะขับเคลื่อนสังคมให้มีวิธีการทำงาน/เรียน ด้วยความสุขและความดี     เราเชื่อว่าสังคมไทย
สามารถบรรลุการเป็นสังคมที่มีความสุขและความดีได้  
   
โครงการวิจัยเด็กระยะยาว มสส. เข้าไปช่วยด้านการจัดการในช่วงขยายโครงการเพื่อให้ได้
ผลงานออกมาตามสัญญากับ สกว. ในช่วงแรก    ในการดำเนินการนี้ มสส. ได้รับความช่วยเหลือ
จาก ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย ช่วยเข้ามาเป็นประธานชี้แนะแนวทางดำเนินการ     ในที่สุดได้
ต้นฉบับ ๑๒ จากที่สัญญาไว้ ๒๕ บทความ    โดยคงจะตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติได้
ไม่ทั้งหมด     ผลลัพธ์ที่น่าภูมิใจอีกอย่างหนึ่งคือระบบฐานข้อมูลมีคุณภาพสูง (ดำเนินการโดย 
ดร. บัณฑิต แห่ง มข.)    จะเปิดให้นักวิชาการไทยเข้าไปใช้ฐานข้อมูลนี้ได้ (แต่อาจมีค่า
ธรรมเนียมให้แก่บริการรักษาข้อมูล)     โครงการวิจัยระยะยาวในเด็กนี้มีโอกาสทำงานต่อเนื่อง
โดยปรับปรุงด้านการจัดการ     มสส. อาจช่วยเจรจากับแหล่งทุนให้     เพื่อให้ทำงานต่อจนครบ 
๒๕ ปี    เวลานี้โครงการแตกตัวเป็น ๓ ส่วน    คือภาคใต้ (ดำเนินการโดย รศ. พญ. ลัดดา 
เหมาะสุวรรณ)  ภาคเหนือ (ดำเนินการโดยทีม รพ. น่าน)  ภาคกลาง (ดำเนินการโดยทีม รพ. 
รามาฯ)     พญ. จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ อาจกลับมาดูแลอีก

โครงการจัดทำหนังสือประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง
“คำพ่อสอน"   รับผิดชอบโดย ดร. อรสุดา เจริญรัถ    ทำงานร่วมกับ สศช. 

โครงการพัฒนาความรู้ระบบเตือนภัยสึนามิ ร่วมกับ มสช. กับอีก ๔ มูลนิธิ ชมรมผู้สื่อข่าว
สิ่งแวดล้อม   และ สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 

โครงการนวัตกรรมการเรียนรู้ด้านสุขภาพ ริเริ่มความคิดโดย ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย
 กลุ่มเป้าหมายคือเด็ก    หวังว่าจะทำให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพของเด็กในระยะยาว เน้นที่โรคอ้วน 
 โรคหัวใจ  อุบัติเหตุ     หวังว่าจะร่วมมือกับ สกว. และ สสส.     โดยทำงานกับโรงเรียน   
  ผมได้แนะนำให้ดำเนินการโดยใช้ KM เป็นเครื่องมือ     ซึ่งจะก่อผลกระทบใหญ่ให้แก่สังคม   
 ตัว “คุณกิจ” ควรมีอย่างน้อย ๓ ชั้น  คือ นักเรียน   ครู   และผู้ปกครอง/พ่อแม่  
 
ที่จริงการประชุมวิสามัญประจำปี ๒๕๔๘ นี้ มีเป้าหมายเพื่อ (๑) รับรองทุนสะสม
 (๒) มีมติเห็นชอบการขึ้นเงินเดือนพนักงาน   และ (๓) มีมติเห็นชอบการยุติการดำเนินการ
โครงการสานปฏิรูป   ซึ่งจะไปตั้งเป็นบริษัท นิวพลัส จำกัด    และบริจาคครุภัณฑ์จำนวนหนึ่งให้แก่
บริษัทนิวพลัส 

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ 


ปีนี้ มสช. มีผลงานคึกคักมาก มีงาน ๔ กลุ่ม
 
1. สถาบันและโครงการที่กำกับโดยคณะกรรมการ มสช.

- สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย

- วารสารหมออนามัย

2. งานที่ริเริ่มและรับผิดชอบโดยเลขาธิการโดยตรง

- เครือข่ายวิจัยสุขภาพ

- แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

- ชีวจริยธรรมกับการวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่

- ที่ปรึกษาโครงการ R2R ของศิริราช

3. งานที่ มสช. ช่วยดูแลด้านระบบการจัดการ

4. งานอื่นๆ

       สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย


ดำเนินการโดย นพ. หทัย ชิตานนท์ เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าไทยเป็นประเทศ
ผู้นำของโลกด้านการสร้างความรู้และมาตรการเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ

สร้างนโยบายสาธารณะเพื่อการควบคุมยาสูบ
อนุสัญญาควบคุมยาสูบ FCTC (Framework Convention on Tobacco Control)
- บทบาทต่อมาตรการระดับโลก

งานวิชาการเพื่อการควบคุมยาสูบระดับนานาชาติ

มาตรการในประเทศ

๒๕ มีค. ๔๘ บุหรี่ทุกซองต้องพิมพ์ภาพคำเตือนพิษภัยต่อสุขภาพ

- ๒๔ กย. ๔๘ งดแสดงบุหรี่ ณ จุดขาย

มีรายงานการวิจัย สถานการณ์การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ๑๐ เรื่อง ในโครงการ
สร้างสรรค์นโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพในการควบคุมยาสูบ    
 

       วารสารหมออนามัย   

           มีการทำงานของหมออนามัยขยายจากวารสาร สู่เครือข่ายนักเขียน   และสมาคม
หมออนามัยซึ่งประกาศตัวว่าพร้อมจะไปอยู่กับ อบต.  (ตรงกันข้ามกับกลุ่มครูที่รณรงค์ต่อต้าน) 


 
        เครือข่ายวิจัยสุขภาพ  

           ใช้เวทีวิชาการเป็นจุดเริ่มต้นงานวิจัย     นี่เป็นนวัตกรรมด้านการจัดการงานวิจัย     
มีพลวัตของโครงการสูงมาก    โดยมีงาน ๔ ด้านใหญ่ๆ คือ (๑) การพัฒนาระบบสุขภาพ  
(๒) เฝ้าระวังปัญหาสุขภาพ/สิ่งแวดล้อม  (๓) ลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ  (๔) การวิจัยเฉพาะโรค 
   มีผลงานมากมาย เป็นบทความ ๕๖ ครั้ง  ประชุม/บรรยาย ๒๓ ครั้ง   วารสาร ๒๓   หนังสือ ๒ 
เล่ม   Fact Sheet 7 เรื่อง   ผลักดันการใช้ประโยชน์การใช้ผลงานวิจัย ๑๙ ครั้ง  
 
คุณหมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ให้ความเห็นว่าผลงานวิจัยและพัฒนาดีๆ มีมาก
คือมีการสร้างความรู้ได้มาก    แต่ขาดการผลักดันเชิงนโยบาย ขาดการเอาความรู้ไปใช้เชิง
นโยบาย    ไม่เหมือนสถาบันสุขภาพไทย ที่ดำเนินการการผลักดันนโยบายอย่างเป็นระบบ    
 รู้จักเทคนิคการขับเคลื่อนนโยบาย     มีการขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นระบบ    การเชื่อมผลงาน
วิจัยสู่นโยบาย (การใช้ความรู้) น่าจะเป็นภารกิจหลักของ มสช. ต่อไป    
   
ศ. นพ. ไพบูลย์ สุริยวงศ์ไพศาล เสนอความเห็นว่าเทคนิคการขับเคลื่อนนโยบาย
มีหลากหลายวิธี ได้แก่     cooperation  (การให้ evidence, advice, lobby)  และ confrontation
  (การทำ advocacy, การรณรงค์ต่อต้าน) 

นพ. หทัย ชิตานนท์ ได้ยกตัวอย่างการไป ล็อบบี้ กับ รมต. โดยเยินยอ ดึงมาอยู่
ข้างประชาชน

         โครงการพัฒนานโยบายสาธารณะ 

   
ไม่เน้น lobby, ไม่เน้น campaign ต่อระดับบนหรือผู้มีอำนาจ

วิธีทำงาน โดยกำหนดประเด็น ชวนภาคีในสังคม (วิชาการ ชช พท) มาคุย แล้วร่วม
กันกำหนดวิธีทำงาน    เน้นการสร้างความรู้ร่มกับภาคี    และนำความรู้ไปขับเคลื่อนสังคม

ที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางในประเด็นความพึงพอใจต่อผลงานของแผนงาน
จากผู้บริหารแหล่งทุน (สสส.)     
    ปีหน้าจะเข้าไปร่วมมือกับโครงการ/แผนงานหลักๆ ของ สสส.    เพื่อร่วมกันพัฒนานโยบาย
สาธารณะในด้านนั้นๆ    โดยจะไม่จำกัดเฉพาะเรื่องปัจจัยเสี่ยงหลัก ปัจจัยเสี่ยงรอง ของ สสส. 
   เท่ากับแผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะไปช่วยสร้างขีดความสามารถ (capacity building) 
ด้านการพัฒนานโยบายสาธารณะ ให้แก่แผนงานอื่นๆ  

 
 
        ชีวจริยธรรมกับการวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ 


เรื่องฮิต คือ Stem cell และ Reproductive health

         R2R 


ผลลัพธ์โดยตรง ไม่ใช่โครงการวิจัย แต่ได้แก่การเกิดระบบการบริหารงานวิจัย

         สุขภาพและสิทธิมนุษยชน ด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว


หัวหน้าคือ นพ. ชูชัย ศุภวงศ์
 
มีการดำเนินการ ๓ หมวด คือ (๑) สร้างความรู้ (๒) เคลื่อนไหวทางวิชาการ
และสังคม  (๓) สร้างการเปลี่ยนแปลง     ที่น่าสนใจคือการดำเนินการในเด็กในพื้นที่เสี่ยง เช่น
 เด็กในสถานพินิจ    เด็กในสถานคุ้มครองเด็ก    เด็กติดแม่ในฑัณฑสถาน    เป็นการเปิดพื้นที่มุม
มองใหม่เชิงสิทธิมนุษยชนในแดนสนธยา     ผมชื่นชมความคิดริเริ่มในการดำเนินการโครงการนี้
มาก
 

         เครือข่ายประชาสังคมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อสุขภาวะของบุคคลและชุมชน


นพ. ชูชัย ศุภวงศ์ เป็นผู้ประสานงานโครงการ
 
โยงสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ (HPP) ได้

         เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพระดับจังหวัด


ดร. วณี ปิ่นประทีป เป็นหัวหน้าโครงการ ต้องการพัฒนากลไกระดับจังหวัด

๑๕ จังหวัด แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม

กลุ่มที่ ๑ ให้กลไกในจังหวัดจัดการโครงการย่อยเอง ได้แก่ พิจิตร ขอนแก่น
นครราชสีมา   ราชบุรี

กลุ่มที่ ๒ มสช. เป็นผู้จัดการโครงการย่อย ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง น่าน
แพร่   สกลนคร   มหาสารคาม   สุพรรณบุรี   อ่างทอง   เพชรบุรี   นครศรีธรรมราช   และ 
สงขลา         

รมต. ว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ ต้องการให้จังหวัดมีแผนพัฒนาสุขภาพ
 ที่ไม่ใช่แค่แผนจังหวัด     แต่ทำร่วมกันทุก sector     นักวิชาการที่มีข้อมูลและความรู้ที่น่าจะ
ไปเชื่อมโยงด้วยคือ นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร    นพ. พินิจ ฟ้าอำนวยผล   และ นพ. สุวัฒน์ 


  
           โครงการยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสร้างพันธมิตรเครือข่าย

              ดำเนินการโดยศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย

           โครงการพัฒนาข้อเสนอกลไกการพัฒนาและรับรองคุณภาพหน่วยบริการปฐมภูมิ


พญ. สุพัตรา ศรีวณิชชากร เป็นหัวหน้าโครงการ จะย้ายไปอยู้ใต้ร่ม สวรส.
          มีการถกเถียงกันนิดหน่อยว่า มสช. มีงานหลากหลายมาก    ขาด focus หรือเปล่า   
   ผมมองว่างานทั้งหมดนั้น พุ่งเป้าสู่จุดเดียวกัน คือ  ทำงานสร้างปัญญาให้แก่สังคม   ตามทฤษฎี
สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา  ของ ศ. นพ. ประเวศ วะสี 

วิจารณ์ พานิช
๒๘ ธค. ๔๘
หมายเลขบันทึก: 11100เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2006 06:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 09:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ทราบว่าคุณหทัยได้ช่วยเหลือเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนอย่ค่ะดิฉันต้องการทราบว่าถ้าจะฝากเด็กที่คูณหทัยดูแลอย่จะติดต่อได้ที่ไหนคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท