หม่อนไหมสายใยแห่งวัฒนธรรมชุมชนสุพรรณบุรี


หม่อนไหมสายใยแห่งวัฒนธรรม

หม่อนไหมสายใยแห่งวัฒนธรรมชุมชนสุพรรณบุรี                             

วิโรจน์    แก้วเรือง1/               

       การเดินทางไปสังเกตการณ์ การประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาราคาไหมตกต่ำอันเนื่องมาจากปัญหาไหมลักลอบที่สร้างความบอบช้ำให้แก่เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในเขตพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี กำแพงเพชร ฯลฯ ที่ ศูนย์การเรียนรู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้าบ้านทุ่งแสมหมู่ 9 ตำบลหนองขาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี สองครั้งสองคราด้วยกันในเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนมีนาคม 2546 นอกจากปัญหาราคารังไหมที่เกษตรกรเคยได้รับถึงกิโลกรัมละ 126 บาท ลดลงมาเหลือเพียงกิโลกรัมละ 84 บาท ทำให้รายได้เกษตรกรหดหายไปร้อยละ 33 หรือหนึ่งในสาม ในขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ในราว 106 บาท ต่อกิโลกรัม น้ำตาของชาวหม่อนไหมครั้งนี้ ใครจะช่วยได้ นอกจากผู้อยู่ในวงการหม่อนไหมด้วยกัน ที่จะต้องหันหลังไม่ใช้หรือส่งเสริมให้ใช้เส้นไหมลักลอบ แม้เส้นไหมลักลอบจะมีราคาถูก สร้างกำไรให้ผู้ประกอบการทอผ้าอย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่มันได้กลายเป็นโศกนาฏกรรมสำหรับผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่ขายหยาดเหงื่อและแรงงานให้กลายเป็นรังไหม ถ้าเราไม่ลดความเห็นแก่ได้ (เกินไป) อาจมีผลให้อาชีพนี้ค่อยๆดับสูญไปพร้อมกับผลประโยชน์ชั่วครั้งชั่วคราวของบุคคลกลุ่มที่นำเส้นไหมลักลอบและใช้เส้นไหมเหล่านั้น   

     สิ่งที่ได้จากการไปสังเกตการณ์ครั้งนี้ การรับรู้ปัญหาและการแก้ปัญหาก็คงต้องดำเนินต่อไป โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไหมแห่งชาติ ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ สมาคมไหมไทย กรมศุลกากร ผู้แทนเกษตรกรฯลฯ แต่สิ่งที่อยากจะถ่ายทอดให้ผู้อ่านกสิกรได้รับหราบอันเป็นสิ่งที่ได้ไปเห็นถึงสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนคนจังหวัดสุพรรณบุรีจากอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้า ที่สืบทอดสัมพันธ์กันมาหลายๆแหล่งจนกลายเป็นเครือข่าย ศูนย์การเรียนรู้ด้านการทอผ้าของจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ บ้านทุ่งแสม และบ้านโปร่งกระมั่ง อำเภอหนองหญ้าไซ บ้านวังทอง บ้านใหม่ดอนคา และบ้านขามใต้ อำเภออู่ทอง บ้านหนองสานแตร อำเภอดอนเจดีย์ บ้านทุ่งก้านเหลือง อำเภอเดิมบางนางบวช บ้านดอนมะนาว อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยศูนย์การเรียนรู้ด้านการทอผ้าในแต่ละแห่งนั้นมีรูปแบบการทอผ้าและวัฒนธรรมของชุมชนที่หลากหลายและแตกต่างกัน เช่น บ้านทุ่งแสม สืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าของ  คนอีสาน  บ้านทุ่งก้านเหลือง อนุรักษ์ผ้าทอจกลวดลายโบราณวัฒนธรรมของ ลาวครั่ง บ้านวังทองทอผ้ามัดหมี่ แต่มีการสืบสานเพลงพวงมาลัย เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมของคนอีสานกับคนภาคกลาง ส่วนบ้านดอนมะนาวทอผ้าพื้นบ้าน และสืบสานประเพณี ลาวโซ่ง


1/ นักวิชาการเกษตร สถาบันวิจัยหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร จตุจักร กทม. 10900 โทร 0-2940-6655

e- mail : wiroje @ doa.go.th

       ปัจจุบันเครือข่ายทั้ง 8 แห่ง ได้มีการเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์อันเป็นจุดเด่นของแต่ละแห่ง มีการประชาสัมพันธ์ร่วมกัน เพื่อความสะดวกและรวดเร็วของผู้บริโภคได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ของชุมชน 

       วันนี้ผมจะขอนำท่านไปรู้จัก ศูนย์การเรียนรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม บ้านทุ่งแสมเดิมบ้านทุ่งแสมเป็นป่าผืนใหญ่ เรียกว่า ป่าองค์พระ เมื่อประมาณ พ.. 2506-2507 ได้มีราษฎรจากบ้านทุ่งบ่อ หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านคู อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ ประมาณ 14 ครอบครัว จำนวนเกือบร้อยคน โดยการนำของนายเลื่อน ชูตระกลู การอพยพทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดมาไกลถึงป่าแห้งนี้ เพื่อจับจองที่ดินทำกินด้วยประสบปัญหาภัยแล้งติดต่อกันหลายปีที่บ้านเกิด ทำให้คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านยากจน และได้ข่าวว่าทางราชการจะสร้างอ่างเก็บน้ำกระเสียว บ้านทุ่งนาตาปิ่นและบริเวณใกล้ที่สร้างอ่างเก็บน้ำมีคนเข้าไปจับจองที่ดินทำมาหากิน จึงตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนมาตั้งหลักปักฐานที่บ้านทุ่งแสม และได้นำพันธุ์หม่อน พันธุ์ไหม มาจากอีสานด้วย สถานที่ก็มาสร้างกันใหม่ ทอผ้าไว้ใช้เองและขายบ้าง ในระยะแรกจะทอผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าโสร่ง และผ้าขาวม้า มับแต่นั้นมาบ้านทุ่งแสมจึงมีอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้า เป็นอาชีพเสริมควบคู่กับอาชีพการทำไร่อ้อย ข้าวโพดและมันสำปะหลัง และแล้วในปี พ.. 2526-2527 พืชผลทุกชนิดราคาตกต่ำที่สุดในรอบสิบปี ส่งผลให้ชาวบ้านอดอยากยากจน นางบุญช่วย กรอบไธสง ผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น ได้มองหาอาชีพอื่นๆเพื่อช่วนลูกบ้านจึงได้นำการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้า ซึ่งชาวบ้านมีความรู้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พัฒนาให้เป็นอาชีพหลัก ได้รับการสนับสนุนกองพัฒนาอาชีพ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (...) ในขณะนั้น คัดเลือกชาวบ้าน 5 คน ไปฝึกอบรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯนครราชสีมา และการทอผ้าจากกองสิ่งทอ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมพัฒนาชุมชนมอบกี่กระตุกให้ศูนย์ฯ อีก 10 หลัง จนสามารถยึดเป็นอาชีพหลักได้ แม้ในระยะแรกจะประสบปัญหาไหมเป็นโรคตาย ได้รังไหมจำนวนน้อย ทำให้ขาดทุนมีหนี้สิ้น แต่ผู้นำอย่างผู้ใหญ่ฯบุญช่วย ก็ไม่ได้ย่อท้อติดต่อนักวิชาการ จากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯนครราชสี  มาเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ จนสถานการณ์การเลี้ยงไหมดีขึ้นเป็นลำดับ ก่อนเกิดปัญหาราคารังไหมตกต่ำ อย่างรุนแรง ในปี 2546 นี้ 

     ย้อนไปเมื่อปี 2530 ชาวบ้านทุ่งแสมที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าได้จัดตั้ง กลุ่มเครือข่ายทอผ้าปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นครั้งแรก เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับโรงงานสาวไหมและผู้ทอผ้าเพื่อการส่งออก ทำให้ราคารังไหมอยู่ในเกณฑ์ยุติธรรม เครือข่ายได้ขยายไปยังอำเภอเลาขวัญ บ่อพลอย หนองปรือ ทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอบ้านไร่ ลานสัก จังหวัดอุทัยธานี อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอด่านช้าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี สมาชิกมากว่า 1,000 ครอบครัว สร้างรายได้มากกว่า 1,000,000 บาทต่อเดือน  ด้วยอำนาจการต่อรองอันยิ่งใหญ่ของเครือข่าย โรงงานสาวไหมบางราย จึงพยายามสลายกลุ่มเครือข่ายตลอดเวลา และประสบผลสำเร็จสามารถเข้าซื้อรังไหมจากเกษตรกรโดยตรงได้ถึงร้อยละ 90 แม้สมาชิกจะเหลือเพียงร้อยละ 10 หรือประมาณ 100 ครอบครัว แต่ก็ยังรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางจากหน่วยงานราชการและเอกชน ผลแห่งความมุ่งมั่นของนางบุญช่วย กรอบไธสง ผู้ใหญ่บ้านบ้านทุ่งแสมจึงได้รับตำแหน่งกรรรมการไหมแห่งชาติ ในนามตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทั้งประเทศ 

     ปัจจุบันการทอผ้าบ้านทุ่งแสมยังคงเป็นอาชีพเสริม สร้างงานให้สมาชิกในยามว่างจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนชุมชน ธนาคารออมสิน จัดฝึกอบรมการทอผ้าและการพัฒนาคุณภาพให้กับสมาชิกกลุ่มทอผ้า เมื่อ พ.. 2544 ขณะนี้กลุ่มฯ มีกี่กระตุก 25 หลัง ทอผ้าได้หลากหลายชนิด ท่านที่สนใจผลิตภัณฑ์ กิจกรรมของศูนย์การเรียนรู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าบ้านทุ่งแสมติดต่อได้ที่ นางบุญช่วย กรอบไธสง บ้านเลขที่ 628 .9 .หนองขาม อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรีโทร 0-1338-0777,0-3559-5400,0-9057-8473   

หมายเลขบันทึก: 110732เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2007 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท