ขุมทรัพย์แห่งอดีต ลายแทงสู่อนาคต (10)


สิ่งจำเป็นหลายสิ่ง เป็นเหมือนอากาศ ตอนมีจะไม่รู้สึกอะไร อาจรู้สึกว่าไม่สำคัญด้วยซ้ำไป แต่ตอนเสียไปหรือขาดไปจะรู้สึกทันที

                  ขุมทรัพย์แห่งอดีต ลายแทงสู่อนาคต เป็นการเล่าสรุปภาพอดีตที่ผ่านมาและ พยายามจะฉายภาพไปสู่อนาคตของโรงพยาบาลบ้านตากในมุมมองของผม และได้บันทึกแจ้งให้กับผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบ้านตากได้รับทราบ(รวมแล้ว 70กว่าข้อ) ดังต่อไปนี้

  1. การบริหารเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องรู้จักบุคคล กาล สถานที่ การจะนำอะไรมาใช้ต้องรู้ว่าเหมาะกับเวลาหรือไม่ หลายเรื่องแม้จะดูว่าเรื่องเล็กน้อยเราก็ต้องรอเวลา เช่นเมื่อก่อนกว่าจะให้พยาบาลสวมชุดพยาบาลครบชุดต้องให้เวลา 6 เดือน หรือกว่าจะเลิกให้ถอดรองเท้าขึ้นตึกได้ กรรมการบริหารหลายท่านยังต้องทำใจตั้งกว่า 6 เดือนเพราะกลัวพื้นจะสกปรกหรือกว่าเราจะเอาโปรแกรม Hospital Os มาใช้ก็เตรียมการ ฝึกอบรม ฝึกใช้กันถึง 6 เดือนกว่าจะเปลี่ยนได้ แต่พอเปลี่ยนมาแล้ว เราก็ไม่มีปัญหาการต่อต้าน  ในเรื่องการใช้คนก็มีความสำคัญ ว่าใครจะเหมาะกับงานแบบไหน การบริหารที่ใช้แต่ศิลป์ก็คือการใช้ความรู้สึกอย่างเดียว การใช้แต่ศาสตร์ก็แข็งทื่อเกินไป จึงต้องใช้ควบกัน การบริหารคนจึงต้องใช้ทั้งบริหารความสามารถและบริหารใจซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารความรู้สึกมาก กว่าเราจะช่วยกันหล่อหลอมความเป็นหนึ่งเดียวของพวกเราได้ก็ใช้เวลาหลายปี
  2. ในการทำงานในโรงพยาบาลอย่าคาดหวังว่าทุกอย่างต้องราบรื่น อย่าคาดหวังว่าจะไม่มีปัญหาอะไรเลย เป็นไปไม่ได้ No problems, No progress ควรมองปัญหาในการทำงานร่วมกันเหมือนคลื่นในทะเล ถ้าไม่มีคลื่นเลยทะเลก็ไม่สวย แต่ถ้ามีมากเกินไปก็อันตราย หรือเปรียบเหมือนมุกในตัวหอย ถ้ามีพอเหมาะก็จะได้มุกที่สวยมีคุณค่า แต่ถ้ามีมากไปหอยก็จะตาย ในทำนองเดียวกันจะทำให้คนทุกคนในโรงพยาบาลมาทุ่มเทหรือเห็นไปทางเดียวกันทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ ในองค์กรหนึ่งๆ มักจะมีคนอยู่ 3 กลุ่มคือกลุ่มตื่นตัว ก้าวหน้ามี 10% กลุ่มกลางๆมี 80% กลุ่มช้าหรือคอยคัดค้านมี 10% คนกลุ่มแรกต้องรอคนกลุ่มสองและช่วยดึงคนกลุ่มสามไปด้วยกัน แต่ในการทำจริงเรามีพลังจำกัดเราจึงควรดึง80%ให้ไปกับเราทัน ส่วนอีก 10%หลังก็ปล่อยๆไปบ้าง ไม่ใช่มัวแต่มาทุ่มเทพลังแก้ไขปัญหายากๆส่วนน้อย สู้เอาพลังไปทุ่มสนับสนุนส่งเสริมคนกลุ่มใหญ่ดีกว่า หากพอมีเวลา มีทรัพยากรก็ค่อยๆมาดึงคนกลุ่มที่สามตามไปทีละคนสองคน แต่ถึงที่สุดแล้วคนที่ไม่เอาด้วยยังไงก็ยังคงมีอยู่อาจจะสักสองสามคน ก็ทำใจบ้าง มาขยายความดีจำนวนมากดีกว่า แล้วค่อยๆปรับคนที่มีปัญหาให้ส่งผลเสียต่อโรงพยาบาลน้อยลง (ซึ่งอาจจะยังมีอยู่บ้าง ที่เราก็ป้องกันไม่ได้)
  3. ในการทำงานในองค์กร สิ่งจำเป็นหลายสิ่ง เป็นเหมือนอากาศ ตอนมีจะไม่รู้สึกอะไร อาจรู้สึกว่าไม่สำคัญด้วยซ้ำไป แต่ตอนเสียไปหรือขาดไปจะรู้สึกทันที สิ่งสำคัญแบบนี้มีค่ามาก ช่วยกันรักษาไว้ให้ดี
  4. ขอให้กำลังใจผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตากคนที่ 24 คุณหมอสุวิชัย สุทธิมณีรัตน์ ผมกับหมอสุวิชัยรู้จักกันมาหลายปีตั้งแต่เรียนชั้นม.1/4 ด้วยกันที่โรงเรียนสวรรค์อนันต์วิทยา สุโขทัย หมอสุวิชัยเป็นคนดีคนหนึ่ง เรียบง่าย มีความตั้งใจจริงในการทำงาน จากประสบการณ์เดิมที่จบวิศวกรจากจุฬาฯ เคยทำงานในภาคเอกชนมาก่อนหลายปีก่อนจะมาจบแพทย์ธรรมศาสตร์ และเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสามเงามาแล้ว 1 ปี ถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์มามาก จากการที่ได้คุยกันก็มีเป้าหมายในการทำงานคล้ายๆกัน แต่วิธีการในการทำงานอาจแตกต่างกันไปก็เป็นเรื่องปกติ ขอให้พวกเราให้ร่วมมือในการทำงานให้เต็มที่  หมอสุวิชัยเป็นคนฟังคนอื่น ไม่ดึงดันเอาแต่ใจ  ขอให้พวกเรากล้าที่จะพูดหรือเสนอความเห็น  ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยก็เงียบอย่างเดียว สามารถอภิปรายกันได้ เคยทำอะไรมาแล้ว ผลเป็นอย่างไร ระบบงานนี้เคยวางไว้อย่างไร ก็เล่าให้หมอเขาฟังได้ จะทำให้คนใหม่กับคนเก่าตามกันทันหรือไปในทิศทางเดียวกันได้เร็วขึ้น  อย่ายึดติดกับสไตล์ของผม หมอสุวิชัยได้บอกผมว่าหากมีอะไรที่ผมจะให้ข้อคิดเห็นหรือชี้แนะ ให้ทำได้เลย ซึ่งผมเองก็ยินดีที่จะให้คำปรึกษาเสมอ แต่ก็คงไม่มาก้าวก่ายการตัดสินใจของผู้อำนวยการคนใหม่ เพราะเราต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน
  5. ต้องขอโทษพวกเราด้วยที่มีเรื่องแจ้ง เรื่องเล่าให้ฟังยาวมาก เปลืองกระดาษไปหลายแผ่น แต่ก็อยากให้พวกเราอ่านแต่ละข้ออย่างพินิจพิเคราะห์ เพื่อจะได้เป็นบทเรียนในการพัฒนาโรงพยาบาลบ้านตากต่อไป ...ก็ขอให้ถือว่าเป็นขุมทรัพย์ของอดีตและลายแทงสู่อนาคต...ครับ
หมายเลขบันทึก: 109597เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2007 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 15:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท