การเข้าถึงความจริง (สำนักอัสดงคตนิยม)


มนุษย์ถูกสาปจากการเข้าถึงความจริงไปชั่วนิรันดร์หรือไม่

...การวิจัยเป็นกระบวนการค้นคว้าหาคำอธิบายหรือคำตอบ (คือหาความรู้ หรือความจริง) ให้แก่ประเด็นคำถามเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนั้น กระบวนทัศน์ในการวิจัยจึงหมายถึง ระบบความเชื่อที่จะชี้นำว่า นักวิจัยควรจะทำ "อะไร" และควรทำ "อย่างไร" จึงจะบรรลุถึงสิ่งที่เรียกว่าความจริงหรือความรู้ได้...

ในแวดวงวิชาการกระแสหลัก มักจะวัดความก้าวหน้าทางวิชาการด้วย "งานวิจัย" ซึ่งเราสามารถแบ่งแนวทางการวิจัยออกได้เป็นสองทางใหญ่ๆ คือ "งานวิจัยเชิงปริมาณ" (quantitative)  และ "งานวิจัยเชิงคุณภาพ" (qualitative)

ตัวอย่างงานวิจัยเชิงปริมาณได้แก่ การสำรวจสำมะโนประชากร, การสำรวจเชิงสถิติ และการทำโพลล์ ส่วนตัวอย่างงานวิจัยเชิงคุณภาพได้แก่ การเข้าสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม, การสัมภาษณ์ตัวแทนกลุ่มตัวอย่าง และการทำสนทนากลุ่ม (focus group) เป็นต้น

ผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยเชิงปริมาณ มักจะบ่งบอกถึงสถานะปัจจุบันของธรรมชาติที่เราสนใจศึกษา นักวิจัยเชิงปริมาณจะทำการวิจัย "อย่างวิทยาศาสตร์" คือเอาตนเองเข้าไปปนเปื้อนกับการวิจัย ให้น้อยที่สุด เพื่อให้ได้ผลการวิจัยที่เที่ยงแท้และเป็นกลาง

ในขณะที่นักนิยมการวิจัยเชิงคุณภาพ มองว่าการแยกตัวเองออกมาจากธรรมชาติเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว สิ่งที่มนุษย์เราทำได้คือ การนำเสนอความจริงในมุมมองที่เป็นของๆเรา (เสนอผ่านกรอบแว่นในสีที่ตนเองสวมใส่อยู่)

กรอบปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดที่แบ่งออกเป็นสองป้อมค่ายนี้ ฝ่ายแรกได้รับอิทธิพลจาก "ปฏิฐานนิยม" (positivism) ในขณะที่ฝ่ายหลังได้รับอิทธิพลจาก "ปรากฎการณ์วิทยา" (phenomenology), "คตินิยมแนวการสร้าง" (constructionism), "คตินิยมแนวการตีความ" (interpretivism) และ "ทฤษฎีวิพากษ์" (critical theory) ซึ่งทั้งหมดรวมกันเรียกว่า "กระบวนทัศน์ทางเลือก" (alternative paradigm)

ทั้งสองฝ่ายได้มีการโต้เถียง หรือมีสงครามทางความคิดกันมานานแล้วว่าวิธีใดจะเหมาะสมกว่ากัน ในหัวข้อต่อไปนี้


1. เรื่องธรรมชาติของความจริง / ความรู้ (หรือภววิทยา - ontology)
ฝ่ายปฏิฐานนิยมถือว่า ความจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นเอกเทศ หรือเป็นวัตถุวิสัย (objective) ความจริงหรือความรู้ที่ถูกค้นพบและผ่านการพิสูจน์แล้ว มีคุณสมบัติเป็นสากล (reality is universal) คือเป็นจริงและใช้ได้ทั่วไป ไม่ถูกจำกัดด้วยเวลาและบริบท ดังนั้นความจริงในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจึงมีเพียงสิ่งเดียว (single reality) แนวคิดนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "สัจจนิยม" (realism) เป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมในสายวิทยาศาสตร์ หรือความรู้กระแสหลัก

ฝ่ายกระบวนทัศน์ทางเลือกเชื่อว่า ความรู้หรือความจริงที่เป็นอยู่อย่างอิสระนั้นไม่มี ความจริงหรือความรู้เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น (reality is constructed) เพราะเหตุนี้ความจริงจึงมีได้หลากหาย ไม่ใช่มีเพียงหนึ่งเดียว ความจริงที่ได้จากการวิจัยจึงเป็นเพียง "ภาพสร้าง" (construct) ของความจริง เพราะความจริงถึงแม้จะมีอยู่จริง ก็ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์เข้าถึงได้อย่างสมบูรณ์

แนวคิดนี้มาจากที่มาของความคิดว่า เมื่อเวลาที่เรารับรู้อะไรบางอย่าง "จิต" ของเราไม่ได้อยู่เพียงนิ่งๆ (passive) แล้วรับภาพลงมาในจิต (เหมือนฟิลม์ถ่ายรูป) แต่จิตทำงานตลอดเวลา (active) เมมื่อเวลาจะรับรู้ จิตจะสร้างมโนทัศน์ (concept) หรือสร้างภาพนามธรรม (abstract) เกี่ยวกับสิ่งต่างๆขึ้นมา (ซึ่งภาพสร้างนั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริง) เป็นเพียงภาพสร้าง หรือภาพสะท้อนที่จิตสร้างขึ้นมาเพื่ออธิบายโลกความเป็นจริงเท่านั้น


2. เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้แสวงหาความจริง/ความรู้ กับสิ่งที่ถูกรู้ (หรือญาณวิทยา - epistemology)
ฝ่ายปฏิฐานนิยมเชื่อว่า ผู้แสวงหาความจริง กับความจริงเป็นอิสระต่อกัน ทั้งสองส่วนจึงต้องแยกขาดออกจากกัน (เพื่อทำความเข้าใจอย่างปราศจากอคติ)

ฝ่ายกระบวนทัศน์ทางเลือกเชื่อว่า ผู้แสวงหาความจริง กับความจริงนั้น ต่างก็มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ต่างก็ส่งอิทธิพลเนื่องถึงกัน ดังนั้นทั้งสองส่วนจึงมิอาจแยกขาดจากกันได้ (จึงไม่จำเป็นต้องคิดหาแนวทางการค้นหาความจริงที่ปราศจากอคติ เพราะอย่างไรเสียก็มีอคติอยู่แล้วนั่นเอง)


3. เรื่องวิธีวิทยา (methodology)
ฝ่ายปฏิฐานนิยมเชื่อว่า ผู้ศึกษาความจริงสามารถจัดการกับกลุ่มตัวอย่างและกระบวนการวิจัยได้ทุกขั้นตอน เพื่อควบคุมและป้องกันอคติอันอาจเกิดขึ้นในขั้นตอนการแสวงหาความจริงนั้น ไม่ว่าจากตัวผู้แสวงหาความจริงเอง จากแแหล่งภายนอก เพื่อบรรลุความเป็นวัตถุวิสัยของการศึกษา

ฝ่ายกระบวนทัศน์ทางเลือกมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้ศึกษา กับสิ่งที่ถูกศึกษาเป็นสิ่งซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ความสัมพันธ์ที่ดีจำเป็นสำหรับการเข้าถึงข้อมูลที่ดี


จดบันทึกย่อจากหนังสือ : ศาสตร์และศิลป์แห่งการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยชาย โพธิสิตา pp 61-76

หมายเลขบันทึก: 109569เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2007 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ผมยังติดใจ "ความจริง" อยู่บางประเด็นครับ

การไม่ยอมรับความจริงนั้น เป็นการหลอกตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน ความจริงก็อาจจะไม่ใช่สิ่งถูกต้องสำหรับทุกคน จะมีลักษณะใดขึ้นกับผู้สังเกต

เมื่อนำสามคำมาเทียบกัน ประโยชน์ ความถูกต้อง กับความจริง ผู้คนควรจะเลือกอะไรครับ? สงสัยว่าถ้าเป็นเศรษฐศาสตร์คงเลือกประโยชน์

ยินดีต้อนรับสู่ GotoKnow ครับ 

การไม่ยอมรับความจริง อาจมีมาจากหลายสาเหตุ หากเรามองข้ามประเด็นเรื่องเลวร้ายไป (เช่นว่ารู้อยู่แล้ว แต่จะไม่ยอมรับสักอย่างใครจะทำไม, หรือหลอกลวงชาวบ้าน, หรืออยากป่วนเล่น, ฯลฯ) อาจเป็นเพราะผู้สังเกตยังไม่ทราบข้อมูลบางด้านอย่างเพียงพอ หรือแม้จะทราบแล้วก็อาจเป็นเพราะการรับข้อมูลนั้นเกิดการรบกวนจนทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความจริงที่ซ่อนอยู่ เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาในแง่การสื่อสาร และความชัดเจนของสารนั้นด้วย

บางทีอาจจะเป็นเพราะ ความจริงใหม่ที่รับทราบนั้น ไม่สามารถหักล้างความเชื่อเดิมได้ลง ผู้สังเกตยังมองว่าความจริงใหม่นั้นยังไม่มั่นคงเที่ยงแท้ ไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้อย่างมีประสิทธิพอ ไม่ว่าจะประเมินด้วย ตรรกะ, เหตุผล, หลักฐาน, ฯลฯ

ในระดับลึกที่สุด คงเป็นเพราะมาจาก "คนละโลกกัน" อย่างที่แสดงให้เห็นในข้อสังเกตเรื่องสงครามป้อมค่ายความคิดระหว่างกระบวนทัศน์ทั้งสองนี่แหละครับ จึงทำให้ไม่สามารถรอมชอมกันได้ และผลในทางปฏิบัติก็คือทั้งสองฝ่ายก็จะต้องไปค้นคว้าหาความจริงและแนวคิดในระดับปรัชญามาต่อสู้กันต่อไป

ในมุมมองของผมแล้ว เราน่าจะทำความเข้าใจ "ความจริง" ก่อน แล้วจึงตัดสินใจได้อย่าง "ถูกต้อง" จึงทำให้เกิด "ประโยชน์" กับทุกๆฝ่ายได้

ในความหมายที่แท้จริงของเศรษฐศาสตร์ (กระแสหลัก) ก็คือ การศึกษาว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด ให้กับมนุษย์ซึ่งมีความต้องการอย่างไม่จำกัด ศาสตร์นี้จึงให้ความสนใจว่าจะจัดสรรทรัพยากรอะไร ให้กับใคร เท่าใด เมื่อใด และอย่างไร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ซึ่งจะว่าไปเศรษฐศาสตร์ (กระแสหลัก) ให้คุณค่ากับ "ประสิทธิภาพ" มากกว่า "ประโยชน์" ครับ (เพราะถ้าพูดถึงประโยชน์แล้ว ก็ไม่รู้หมายถึงประโยชน์ของใคร และตัดสินด้วยอะไร)

แต่ด้วยคุณค่าแบบนี้ เศรษฐศาสตร์ (กระแสหลัก) จึงถูกโจมตีมากจากนักคิดกระแสรองอื่นๆ (โดยเฉพาะสายมาร์กซิสต์) เพราะมองโลกอย่าง "กลไก" มากเกินไป / ไร้ "ความเป็นมนุษย์มากเกินไป" จึงเกิดแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสรอง ว่าด้วย "ความเป็นธรรมทางสังคม" ขึ้นมาต่อสู้ทางความคิดกัน

ขอบคุณสำหรับคำทักทายต้อนรับ และความคิดเห็นชวนคิด (อย่างยิ่ง) ครับ :)

P
มีผู้แนะนำให้เข้ามาเยี่ยม....
อ่านๆ แล้วก็ไม่มีอะไรมาก... มีการนำเสนอเชิงคู่ขนาน ระหว่างความเชื่อเชิงปรวิสัยกับอัตตวิสัย
ปรวิสัยหรือวัตถุวิสัย (objective) เชื่อว่า ความจริงมีอยู่โดยไม่ขึ้นกับตัวเรา งานวิจัยจึงเน้นที่ปริมาณ การวัดโดยจำนวนที่แน่นอน...
อัตตวิสัยหรือจิตวิสัย (subjective) เชื่อว่า ความจริงมีอยู่โดยขึ้นกับตัวเรา งานวิจัยจึงเน้นที่การมีส่วนร่วมและการสังเกตของตัวเราเอง...
...............
ประวัติปรัชญาเถียงประเด็นนี้กันมานานแล้ว และปัจจุบันก็ยังคงเถียงกัน.... แต่ละฝ่ายก็ข้อเด่นและข้อด้อยในการนำมาประยุกต์ใช้ กล่าวคือ
ปรวิสัย มีข้อดีในการทำให้ความจริงมีมาตรฐานเดียว เช่น ผู้ที่ดื่มเหล้ามีจำนวนดีกรีในเลือดเท่านั้น ถือว่า เมาแล้ว ไม่สามารถควบคุมการขับรถได้ ถือว่าผิดกฎหมาย จะตัองถูกปรับ... อะไรทำนองนี้
อัตตวิสัย อาจแย้งความเห็นข้างต้น เพราะนักดื่มบางคนอาจคอแข็ง แม้จำนวนดีกรีในเลือดมากก็อาจประคับประคองรถไปได้ บางคนอาจคออ่อน แม้ดื่มนิดเดียวก็อาจวูบหลับได้ง่าย ดังนั้นการใช้มาตรฐานเดียวดังความเชื่อข้างต้น จึงอาจมิใช่ความจริงแท้ เมื่อมาคำนึงถึงสภาพแต่ละบุคล...ทำนองนี้
.....
ก็คุยเล่นๆ เผื่อจะได้ต่อยอดไปอีก...และจะติดตามอ่านบันทึกของ สหายสิกขา  ต่อไป...
เจริญพร

กราบนมัสการพระอาจารย์ครับที่เข้ามาเยี่ยมเยือน พระอาจารย์มีความรู้ทางปรัชญาลึกซึ้งจริงๆครับ มองปราดเดียวก็เห็นพื้นฐานของแนวทางทั้งสอง

อ่านความเห็นของพระอาจารย์แล้ว ขอต่อยอดต่อว่า มีนักปรัชญาบางสาย ตระหนักรับทราบถึงข้อจำกัดแนวคิดทั้งสองแบบ จึงดูเหมือนกับว่าได้นำเอาแนวคิดทั้งสองแบบมาต่อยอดประสานกัน

คือภววิสัย ก็มีอิทธิพลต่ออัตตวิสัยด้วย และเมื่อมนุษย์ได้รับอิทธิพลจากภววิสัย (โดยผ่านการรับรู้ทางจิตแล้ว) ก็จะสร้างวัตถุขึ้นตามความคิดและความรู้ของตนเอง กลายเป็นภววิสัยใหม่ซึ่งทำให้ทั้งสองฟากเกิดอิทธิพลต่อเนื่องกันอย่างไม่รู้จักจบสิ้นแนวคิดแบบนี้เรียกว่าวิภาษวิธี (dialectic)

มาร์กซ์ รับเอาความรู้นี้ต่อจากเฮเกลมาพัฒนาเป็นแนวคิดแบบวัตถุนิยมวิภาษวิธี และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ พบว่าในสังคมมนุษย์มีความขัดแย้งทางชนชั้นเป็นธรรมชาติ การขัดแย้งและต่อสู้ทางชนชั้นเหล่านี้จะค่อยๆเป็นกลไกพัฒนาสังคมจากสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน เข้าสู่สังคมที่เท่าเทียมกันในที่สุด ซึ่งเป็นพื้นฐานของลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์นั่นเอง

 

P
อันที่จริงก็ลืมรายละเอียดไปเกือบหมดแล้ว จำได้แต่ประเด็นสำคัญเท่านั้น...
เฮเกล ถือว่า จิต เป็นพื้นฐาน แต่มาร์กซ์มากลับหัวกลับห่างให้ วัตถุ เป็นพื้นฐาน .... ซึ่งทั้งสองนี้ก็พยายามอธิบายไปสู่จุดหมาย (ที่สุด) นั่นคือ พัฒนาการของจิตหรือวัตถุตามความเชื่อของแต่ละคน...
พระพุทธเจ้าตรัสเรื่อง วัฎฎะ คือ กิเลส กรรม วิบาก ... กิเลส คือ ความมุ่งหวังให้ทำกรรม... กรรม คือ การกระทำ ส่วนผลที่ได้มาเรียกว่าวิบาก... วิบาก จะก่อให้เกิดความมุ่งหวังบางอย่างให้ทำกรรมอีกครั้ง ผลที่เกิดขึ้นก็จัดเป็นวิบากอีกครั้ง และอีกครั้งเรื่อยไป... ซึ่งประเด็นนี้ก็พอเทียบเคียบกับไดเล็กติกของเฮเกลได้...
ส่วนนักคิดรุ่นปัจจุบันบางคน ( เช่นที่เป็นอาจารย์ของรัสเซลล์ ตอนนี้นึกชื่อไม่ออก)  ก็นำเสนอแนวคิดเชิงปรัชญากระบวนการ โดยมองว่าวิภาษวิธีนี้จะเป็นไปเรื่อยๆ แต่ไม่ซ้ำรอยเดิม คล้ายๆ การควงสว่าน.. ทำนองนั้น...
ส่วนประเด็นวัตถุและจิตสองอย่างนี้ แนวคิดเวทานตะของฮินเดียบางสำนักก็บอกว่ามีเพียงสิ่งเดียวคือ พรหมัน ...
โชเปนเฮาเออร์ ก็บอกว่ามีแต่จิตเท่านั้น วัตถุเป็นเพียงภาพปรากฎทางใจเท่านั้น ดังนั้น วัตถุจึงมิใช่สิ่งที่มีอยู่จริง (ใครบางคนค้านว่า อยากรู้ว่าวัตถุมีจริงหรือไม่ ลองเอาแข้งไปแตะก้อนหินใหญ่ๆ แรงๆ ก็จะรู้ ....)
พุทธปรัชญาเถรวาทของเราบอกว่ามี ๒ อย่าง คือ รูป (วัตถุ) นาม (ใจ) ... แต่นิกายโยคาจารหรือวิชญาณวาทบอกว่ามีเพียงจิตเท่านั้น (ผู้รู้บางท่านบอกว่า แนวคิดนี้เหมือนโชเปนเฮาเออร์ แต่คิดมาก่อนโชเปนเฮาเออร์หลายร้อยปี...)
ปรัชญาจีนมีลัทธิเต๋า ซึ่งแบ่งออกเป็น หยินหยาง ซึ่งจะมีการสอดประสานกันอย่างสมดุล....
โดยส่วนตัวคิดว่า เรื่องเหล่านี้ ไม่มีอะไรมาก คิดกันมานานแล้วทั่วโลก... แต่ถ้าใครบางคนสร้างชุดคำอธิบายใหม่ เป็นที่สนใจก็อาจขายความคิดได้... ประมาณนั้น
จากแนวคิดเหล่านี้ ก็จะนำไปสู่การประยุกต์ใช้เพื่อขยายความด้านจริยศาสตร์ สังคม และอื่นๆ ...
ไม่ได้อวดรู้อะไร เพียงแต่มันรกอยู่ในสมอง ก็เลยบ่นเล่นๆ... ปกติก็ไม่ได้คุยกับใครในเรื่องทำนองนี้ และหนังสือเรื่องเหล่านี้ก็ไม่อ่านมานานแล้ว....
เจริญพร 

เข้าใจว่ามาร์กซ์รับอิทธิพลปรัชญาวัตถุนิยมมาจาก ฟอยเออร์บัค ซึ่งเป็นปรัชญาวัตถุนิยมแบบกลไก ในขณะที่รับปรัชญาวิภาษวิธี (แบบจิตนิยม) มาจากเฮเกล แล้วจึงสนธิเป็น ปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษวิธี

มาร์กซ์เขียนวิทยานิพนธ์วิจารณ์ความคิดของฟอยเออร์บัคเอาไว้ http://www.marxists.org/thai/archive/marx-engels/1845/theses/index.htm

ลองดูเอกสารเบื้องต้นของปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษวิธีได้ที่
http://www.palawat.com/files/study/doc_materialism.pdf
และ
http://www.palawat.com/files/study/material_dialectic.ppt

ข้อเปรียบเทียบเชิงอนุมานของพระอาจารย์ที่เกี่ยวกับเรื่องวัตถุมีอยู่จริงหรือไม่ โดยเอาไปเปรียบเทียบกับการเอาแข้งไปเตะหินนั้นผมเห็นด้วยครับ, อันที่จริง กระบวนการพัฒนาความรู้ของมนุษยชาติที่ก้าวหน้ามาตามลำดับนี้ก็ยืนยันอยู่แล้วว่า สภาพภววิสัยมีอยู่โดยไม่ขึ้นกับอัตตวิสัย แต่ความเข้าใจของอัตตวิสัยต่อภววิสัยนั้นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ปรัชญาหลังสมัยใหม่ จึงสนใจเรื่องอิทธิพลของ "ภาษา" ต่อ ความคิดของมนุษย์มาก โดยมองกันว่ามนุษย์ตกอยู่ภายใต้ "วาทกรรม" หรือไม่ เช่นคำว่า "สีแดง" มีอิทธิพลต่อความคิดความรับรู้ของเราอย่างไรบ้าง ส่งผลต่อจินตภาพอย่างไร

เป็นไปได้สูงว่า มนุษย์มักติดกับในอำนาจของ "วาทกรรม" จนทำให้ไปไม่ถึง "ความจริง"

นักบวชพุทธศาสนานิกายเซ็นจึงมักมอบ "โกอาน" ให้ลูกศิษย์ไปขบคิด ซึ่งโกอาน หรือปริศนาธรรมแต่ละอย่าง ก็ล้วนขัดแย้งกับความเป็นจริง เช่น "วงกลมไม่มีเส้นคืออะไร"

ศิษย์เซ็นที่ขบคิดโกอานจนทะลุ ก็จะพ้นอำนาจของวาทกรรมเข้าถึงความจริงของธรรมชาติโดยความตระหนักรับรู้จิตใจตนเอง

ปรัชญาหลังสมัยใหม่มักเหยียดแนวคิดกระแสหลักว่าเป็น พวกกลไกนิยม มองโลกแบบแยกส่วน ฯลฯ (ตามที่ยกมาเป็นบางส่วนในบทความนี้) แต่แล้วก็มีปรัชญารุ่นใหม่ขึ้นมาอีก เรียกว่าทฤษฎีบูรณาการศาสตร์ มองมิติความจริงแบ่งย่อยออกไปเป็นสี่อย่าง ซึ่งอันที่จริงก็พัฒนามาจากความจริงสองอย่าง คืออัตตวิสัย และภววิสัย แต่มองเป็นเชิงจุลภาค และมหภาค

เช่นว่าอัตตวิสัยเชิงจุลภาค ก็เป็นเรื่องในจิตใจคนแต่ละคน เชิงมหภาคก็เป็นเรื่องวัฒนธรรม, ภววิสัยเชิงจุลภาคก็จะเป็นเรื่องการแตกเป็นหน่วยย่อย เช่นควอนตัมฟิสิกส์ ในขณะที่ภววิสัยเชิงมหภาคก็จะมองระบบใหญ่ๆ เช่นระบบดาราจักร, ระบบเศรษฐกิจ เป็นต้น และทุกสิ่งก็สัมพันธ์กันเป็นปัจจยาการต่อกัน

หนึ่งในผู้พัฒนาความรู้ด้านนี้ก็คือ เคน วิลเบอร์ นอกจากแนวคิดข้างต้นเขายังใช้ทฤษฎีเกลียวพลวัต แบ่งการพัฒนาการของสังคมและมนุษย์ออกเป็นลำดับชั้นตามแถบสี (spectrum) 7 สี เรียกว่า 7 มีม และเหยียดปรัชญาหลังสมัยใหม่ว่ายังติดกับอยู่ในโลกของวาทกรรม การถอดรื้อ เป็นมีมสีเขียว แม้จะก้าวหน้า แต่ก็ไม่ก้าวหน้าขึ้นไปถึงขั้นละทิ้งตัวตนและคิดเชิงบูรณาการ (มีมสีเหลือง) และขั้นสูงๆกว่า...

พระอาจารย์ชวนคุย เลยอดไม่ได้ที่จะต้องคุยต่อ ไม่มีคนคุยเรื่องพวกนี้เหมือนกันครับ (ฮา)

P
ไม่มีผู้อื่นมาร่วมบ่น ก็ผลัดกันบ่นต่อไป.....
ที่คุณโยมคุยมาหลังสุดนี้ อาตมาเลิกสนใจเสียแล้ว จึงไม่ค่อยรู้เรื่อง เคยเห็นหนังสือเรื่อง discouse หรือ วาทกรรม บ้างเหมือนกัน เพียงแค่หยิบมาดู ไม่เคยอ่าน แต่รู้สึกว่าคำนี้ค่อนข้างฮิต คนไทยชอบพูดกันเพื่อความทันสมัย... ประมาณนั้น
เตกแตตัด (เขียนอังกฤษไม่ถูก) ทั้งสองเล่ม ของ วิตเกนสไตน์ ก็เคยอ่านผ่านๆ ขี้เกียจคิด จึงยังคงไม่รู้เรื่องมาจนกระทั้งเดียวนี้...
ที่พอเข้าใจอยู่บ้างก็ด้านจริยศาสตร์ แต่ก็ไม่ค่อยได้คุยกับใคร ทำนองว่าพอเริ่มคุยก็ไปออกประเด็นอื่น...
ตอนนี้สนใจเรื่องอำนาจ ตามนัยว่า อำนาจคือความถูกต้อง หรือ อำนาจคือธรรม...
แนวคิดนี้แม้มีมาตั้งแต่พวกโซฟิสต์ จนกระทั้งถึงโทมัส ฮอบส์ แต่รู้สึกว่ายังคงทันสมัยอยู่...
วางไว้แค่นี้ ให้คุณโยมหรือคนอื่นๆ ต่อยอดอีกครั้ง...
เจริญพร
ในที่สุด ก็ได้ที่แสดงความเห็นแห่งใหม่แล้วสินะคะ
ยินดีด้วยค่ะ :D
อ่านแล้วไม่ขอต่อยอดไม่ขอวิจารณ์ก็แล้วกันนะคะ
แต่ขอเก็บความรู้จากทั้งพี่สหายสิกขาและพระอาจารย์พระมหาชัยวุธอย่างเดียว
ไม่ได้จับหนังสือปรัชญามานาน ขอรื้อฟื้นปัดฝุ่นด้วยการฟังปราชญ์ก่อนน่าจะดี :D

พระอาจารย์พูดเรื่องนี้ (อำนาจคือความถูกต้อง หรือ อำนาจคือธรรม) เป็นอีกเรื่องใหญ่ๆเลยครับ ผมเลยต่อยังไม่ถูกเลย (ฮา)

ตอนแรกว่าจะเขียนบล็อกเรื่องใหม่แต่วันนี้สลบเหมือด คงต้องขอยกยอดไปวันอื่นก่อนครับ

...

สวัสดีและยินดีต้อนรับแกะ
มาแล้วก็รีบสร้างบล็อกสิ พี่จะได้ตามเข้าไปอ่าน ;)

เรียกว่า รู้มาก ก็คุยมาก

คุยมาก ก็ฟุ้งมาก 

ฟุ้งมาก ก็กระจายมาก

กระจายมาก ก็เลอะเลือนมาก 

เลอะเลือนมาก ก็หลุดลอย

--ออกประเด็นอื่นๆไป--

หลุดลอย จากอะไร?

จากความจริง จากการปฏิบัติ จากหลักการที่ถูกต้อง 

ผลก็เลยกลายเป็น การสำเร็จความใคร่(รู้)ของตัว

เป็นโรคชนิดหนึ่งของพวกปัญญาชน--ที่รู้มาก

แต่ไม่รู้ว่า จะจัดระบบความรู้ของตนเองอย่างไร 

 

 

คุณ PP ดุจังเลย

ตราบใดที่ความรู้ที่มาถกแถลงไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยต่อใคร ความอยากเรียนรู้ เป็นความดี ใช่หรือไม่

ใครจะไปรู้ได้ ว่าองค์ความรู้เหล่านี้จะผุดขึ้นมาให้เราใช้ตอนไหน ตอนไหนก็ได้

รู้ดีกว่าไม่รู้

รู้แล้วคิด ทำออกมา (ต่อยอด)...นี่คือความเจริญเติบโตของมนุษยชาติเสมอ

ใช่หรือไม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท