ฟื้นฟูความสัมพันธ์สู่การแก้ปัญหาฐานราก รพ.สมเด็จพระญาณสังวร จ.เชียงราย


          เมื่อวันที่ 27-28 ธันวาคม 2548 ทางศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล (HACC) เชียงราย ได้จัดประชุมมหกรรมคุณภาพขึ้นที่โรงแรมอินคำ จังหวัดเชียงราย เพื่อให้โรงพยาบาลต่างๆ ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานภายใต้ theme ของการประชุม HA National Forum ในปี 2549 “นวัตกรรม ตามรอย และวัดผลคุณภาพ”  มีโรงพยาบาลต่างๆ ร่วมนำเสนอผลงานจำนวนมาก เป็นที่น่าดีใจว่าเนื้อหาการประชุมในปีนี้จะมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากการปฏิบัติจริงในโรงพยาบาลมากกว่า theme ในปีที่ผ่านๆ มา

          การตามรอยและการวัดผล คือความพยายามที่จะตอบคำถามว่า “เราทำได้ดีหรือไม่ อย่างไร” ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าคำถามพื้นฐานที่ช่วยให้เราเห็นตัวเองและมีการพัฒนาต่อเนื่อง  คำถามทั้งห้านั้นได้แก่ 1) ทำไมต้องมีหน่วยงาน/องค์กรของเรา  2) เราทำงานอะไรบ้าง  3) เราทำงานนั้นไปเพื่ออะไร 4) เราทำได้ดีหรือไม่  5) จะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร

          ผมจะทยอยนำเรื่องที่น่าสนใจมานำเสนอให้เห็นว่าทีมงานในโรงพยาบาลต่างๆ มีความพยายามและทิศทางการพัฒนาคุณภาพกันอย่างไร

          เรื่องแรกเป็นเรื่องของ รพ.สมเด็จพระญาณสังวร จ.เชียงราย ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการดูแลปัญหาสังคมซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเป็นอย่างมาก นำมาสู่ชุดของกิจกรรมที่เรียกว่า “ฟื้นฟูความสัมพันธ์สู่การแก้ปัญหาฐานราก”

          รพ.สมเด็จพระญาณสังวร ตั้งอยู่ใน อ.เวียงชัย ซึ่งเป็นชุมชนชายขอบเมือง อยู่ห่างจาก อ.เมือง 14 กม. ประชากรวัยทำงานส่วนใหญ่ไปทำงานต่างถิ่น ทิ้งบุตรหลานให้ผู้สูงอายุดูแล

          รพ.สมเด็จพระญาณสังวร เป็น รพ.ขนาด 30 เตียง สร้างโดยมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2544

          อ.เวียงชัยมีประชากรประมาณห้าหมื่นคน ในช่วงต้นๆ ที่โรงพยาบาลเปิดดำเนินการ ไม่ค่อยมีกิจกรรมส่งเสริมป้องกันเท่าใดนัก

          ปัญหาสุขภาพสำคัญของประชาชนได้แก่ เอดส์ ปัญหาสังคม ยาเสพติด ปัญหาเศรษฐกิจ สถิติโรคพิษสุราเรื้อรัง อุบัติเหตุซึ่งมักเกี่ยวเนื่องกับสุรา โรคจิต การฆ่าตัวตาย การตั้งครรภ์ของเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ล้วนเป็นปัญหาสำคัญ

          พบผลพวงจากพฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็ก เช่น เด็กเพดานปากโหว่จากการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ เด็กถูกทำร้ายร่างกายโดยพ่อแม่

          ทางทีมงานได้วิเคราะห์สาเหตุของปัญหาโดยพิจารณาความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ ในเชิงระบบ พอสรุปได้ว่าปัจจัยที่เป็นสาเหตุคือการไปประกอบอาชีพรับจ้างในเมืองหรือต่างจังหวัด ค่านิยมการดื่มสุรา การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ทำให้เกิดผลที่สัมพันธ์กันนำมาสู่ภาวะครอบครัวที่ไม่มีความสุข ก่อให้เกิดปัญหาสังคมและปัญหาสุขภาพ

          จากการศึกษา IQ ในเด็กนักเรียนพบว่าไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 91 แต่ตัวที่มีปัญหาคือ EQ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดีไม่ถึง 10% ควรได้รับการพัฒนา 50% และต้องได้รับการพัฒนา 40%  ที่สำคัญคือความมุ่งมั่นในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ ความสุข ความสัมพันธ์กับคนอื่น ต่ำหมด  แสดงว่าคุณภาพคนมีปัญหา

          ทีมงานใช้เทคนิค three wishes (ให้เด็กตั้งความปรารถนาสามประการ) เพื่อตรวจสอบความต้องการของเด็ก ผลลัพธ์ 10 อันดับความต้องการของเด็กสะท้อนความสัมพันธ์ในครอบครัว

 

อยากให้ครอบครัวมีความสุข                                            84.61%

อยากเรียนต่อสูงๆ                                                        34.61%

อยากให้สังคมไม่มีสิ่งเสพติด                                             25.00%

อยากให้พ่อแม่รักกันและไม่อยากให้ครอบครัวทะเลาะกัน            21.15%

อยากให้ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า                                     15.38%

อยากให้สังคมมีแต่คนดี                                                  13.46%

อยากให้คนในครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรง                             11.53%

อยากให้ชุมชนปลูกต้นไม้และดอกไม้เยอะๆ                            7.60%

อยากให้ชุมชนสะอาด                                                     5.70%

ไม่อยากให้พ่อแม่ดื่มสุรา                                                   5.70%

 

          มีการจัดตั้งประชาคมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม มีการทำโครงการหลายโครงการต่อเนื่องกันเป็น jigsaw ร่วมกับ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หาข้อเท็จจริงด้วยวิธีการที่หลากหลายแล้วคืนข้อมูลให้กับชุมชน  ในการกระจายอำนาจครั้งต่อไปเขาจะวัดเรื่องคุณภาพของคนและสิ่งแวดล้อม  เราพบข้อมูลว่าคนในเวียงชัย 95% มี organophosphate เขาจะต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรในเรื่องนี้

          ทีมงานเน้นการคืนข้อมูลให้ชุมชนและ empower ชุมชน ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจในกลุ่มเจ้าหน้าที่ว่าทุกโครงการต้องมุ่งเน้นการคืนอำนาจให้ชุมชน

          กระบวนการทำงานประกอบด้วยการเยี่ยมบ้าน ทักษะชีวิตในโรงเรียน กิจกรรมเชิงรุกสู่ สอ. ดูแลเอดส์ครบวงจร ฟื้นฟูความสัมพันธ์คนสามรุ่น ครอบครัวสัมพันธ์ สุขภาพใจชุมชน การฟื้นฟูผู้พิการ

          จากการทำเวทีประชาคม พบว่าสิ่งที่ขาดหายไปในชุมชนคือเรื่องความสัมพันธ์ จึงเริ่มจากจุดเล็กๆ โดยจัดกิจกรรมครอบครัวสัมพันธ์ เน้นบทบาทของคนในครอบครัวว่าควรมีบทบาทอย่างไร  ให้รู้ว่าการพูดคุยให้ครอบครัวมีความสุขควรพูดคุยอย่างไร

          วัยรุ่นเล่าให้ฟังว่า เมื่อมีปัญหาเคยคุยกับพ่อแม่ แต่พ่อแม่ไม่ไว้วางใจจึงหันไปหาเพื่อน  ต้องหาวิธีทำให้วัยรุ่นมีความไว้วางใจพ่อแม่ พ่อแม่ไว้วางใจลูก มีความรักความเข้าใจกันและกัน

          ทำให้พ่อแม่เข้าใจลูก เข้าใจว่าความรักที่แต่ละคนให้กันนั้นอีกฝ่ายหนึ่งต้องการหรือไม่  แล้วกำหนดเป้าหมายที่จะเดินไปด้วยกัน

          มีการทำสัญญาว่านับแต่นี้ต่อไปจะพูดคุยกันให้มากขึ้น  สื่อสารกันด้วยภาษาดอกไม้มากขึ้น  เจตคติของผู้ปกครองเพิ่มขึ้น  ความรู้ของผู้ปกครองเพิ่มขึ้น  การรับรู้บทบาทของเยาวชนเพิ่มขึ้น

          ฟื้นฟูความสัมพันธ์คนสามรุ่นโดยใช้หลัก “คนเฒ่าคนแก่จี้ตาง (ชี้ทาง)  คนหนุ่มสืบสาน ลูกหลานเฮียนฮู้”

          การเปลี่ยนแปลงของคนสามรุ่นเกิดขึ้น

          คนเฒ่าคนแก่ รู้สึกมีคุณค่า เข้าใจเด็กและเยาวชนมากขึ้น มีกิจกรรมผู้สูงอายุสัญจรทุกเดือน เยี่ยมบ้านผู้สูงอายุที่อยู่ข้างเคียง

          คนทำงาน (พ่อแม่) มีการพูดคุยกันมากขึ้นในครอบครัว เข้าใจลูกและมีท่าทีต่อลูกดีขึ้น มีความร่วมมือและช่วยเหลือกิจกรรมในชุมชนเพิ่มมากขึ้น มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพื้นที่อื่นและนำมาปรับใช้ในชุมชน  ริเริ่มเป็นแบบอย่างที่ดี เช่น ลดการดื่มสุราในเทศกาลต่างๆ

          เด็กและเยาวชน เกิดการรวมกลุ่มก่อการดี อาทิ จัดรายการวิทยุ, ช่วยงานชุมชน งานศพ อพ.ปร., จัดกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์  มีการเขียนโครงการไปของบประมาณ สสส., เริ่มกระตุกความคิดผู้ใหญ่ให้ลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์, มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วงปิดเทอม

 
           เห็นได้ว่าหากเอาสุขภาพของชุมชนเป็นเป้าหมาย พยายามทำความเข้าในปัจจัยที่เกี่ยวข้องและศักยภาพของชุมชนแล้ว  โรงพยาบาลของเราสามารถทำประโยชน์ได้มากกว่าที่เราเคยคิดไว้
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 10942เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2005 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 15:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท