KM กับงานวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ตอนที่ 2


การปฏิบัติงานความรู้อะไรบ้างที่นำมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น
                     การปฏิบัติงานความรู้อะไรบ้างที่นำมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น             กิจกรรมที่ใช้ในการจัดการความรู้ที่ใช้ในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ได้แก่ 1. กิจกรรมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ในลักษณะที่เป็นทางการคือการประชุมร่วมกันทั้ง 6 โรงเรียนโดยมีครูผู้ร่วมโครงการทุกคนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้วิจัยที่คณะศึกษาศาสตร์ 2 ครั้ง ครั้งแรกตอนเปิดโครงการ ได้เชิญวิทยากรซึ่งเป็นรองผู้อำนวยการการท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก และมีดิฉันซึ่งเป็นผู้สอนในรายวิชาพัฒนาหลักสูตรและการสอนที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มาให้ความรู้ที่จำเป็นเบื้องต้นในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลกก่อน ร่วมกับการเล่าเรื่องของนิสิตเกี่ยวกับประสบการณ์การศึกษาเรื่องเรือนแพกับสำนึกรักษ์ท้องถิ่น เพื่อการสร้างแรงจูงใจให้กับครูในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น  รวมถึงมีกิจกรรมการเลือกแหล่งเรียนรู้ที่เป็นทรัพยากรท่องเที่ยวของแต่ละโรงเรียน  เพื่อสร้างบรรยาการการร่วมคิดร่วมทำในกลุ่มโรงเรียนเดียวกัน และต่างโรงเรียน และครั้งที่สองตอนปิดโครงการ (ในระยะที่ 1) โดยใช้กิจกรรม AAR               สำหรับในลักษณะที่ไม่เป็นทางการคือการไปเยี่ยมติดตามครูที่โรงเรียน ราว 2-3 ครั้งต่อโรงเรียน เพื่อการปรึกษาหารือและสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นครูให้กล้าคิด กล้าตัดสินใจ และกล้าปฏิบัติในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น รวมถึงการเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานเป็นทีม ที่ได้จากจากการร่วมคิดร่วมพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียนจากครูในหลายกลุ่มสาระ  รวมถึงการหาความร่วมมือจากบุคคลและหน่วยงานนอกโรงเรียน  นอกจากนี้ดิฉันยังเปิดโอกาสให้ครูสามารถปรึกษาเรื่องพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นทั้งโดยตรงตัวต่อตัวและทางโทรศัพท์ตลอดเวลาในระหว่างดำเนินการ             2. กิจกรรมส่งเสริมการสร้างความรู้  ได้เปิดโอกาสให้ครูได้คิดเชื่อมโยงเนื้อหาสาระเดิมที่ครูเคยสอนอยู่กับทรัพยากรท่องเที่ยวในท้องถิ่นที่ครูเลือกมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น และกระตุ้นให้ครูเห็นความสำคัญของการใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชนมาสร้างเป็นความรู้ใหม่ให้กับนักเรียนเพื่อก่อให้เกิดความรักและความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน  รวมทั้งการแสวงหาบุคลากรในท้องถิ่นทั้งที่เป็นผู้รู้ชาวบ้านและนักวิชาการท้องถิ่นมามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรและเป็นแหล่งเรียนรู้แหล่งใหม่ให้กับนักเรียน

            3. กิจกรรมการทบทวนหลังการปฏิบัติ (AAR)  จัดทำเพื่อประชุมสรุปเกี่ยวกับ ความสำเร็จของการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นของครูในโรงเรียนในจังหวัดพิษณุโลก โดยให้ครูได้แลกเปลี่ยนความสำเร็จของการพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียนของตัวเองร่วมกับอีก 5 โรงเรียนสำหรับเครื่องมือหรือวิธีการที่ใช้ในการปฏิบัติการ ได้แก่ การเล่าเรื่อง (storytelling) สุนทรียสนทนา (dialogue) การฟังด้วยใจจดจ่อ (deep listening)   และ card technique   

                                                                             อมรรัตน์  วัฒนาธร

                                                                                   7  ก.ค 50

หมายเลขบันทึก: 109318เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2007 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 13:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท