มองต่างมุม ภาค 1


People See the World from the Different Point of View

                ช่วงสัปดาห์นี้ชีวิตของฉันมีอันต้องวนเวียนอยู่กับเด็ก เป้อ อยู่เนืองๆ เริ่มตั้งแต่พ่อลูกศิษย์ที่ปรึกษามีอันต้องติด F วิชาเรียนในชั้นปีที่ 5 ไป 1 ตัว ทั้งๆ ที่เขาบอกกับอาจารย์ประจำวิชาว่า เขาทำงานเยอะมากแล้ว แถมยังทำท่าจะมีปัญหาเนื่องจากพ้นจากช่วงเวลาที่สามารถลงทะเบียนเรียนเพิ่มเติมไปแล้วอีกด้วย 

               เธอจะบอกว่าทำงานเยอะได้ยังไง ในเมื่อเธอยังทำงานไม่ถึง minimum requirements ที่เพื่อนคนอื่นๆ เขาทำเลย เป็นฉันก็คงให้เธอตกเหมือนกัน!!!” ฉันถามลูกศิษย์ตัวดีของฉันด้วยอารมณ์โกรธ แต่เขาก็ไม่ได้โต้ตอบอะไร ได้แต่ก้มหน้านิ่ง แววตาเฉยชา .....กับลูกศิษย์คนนี้ ฉันรู้สึกว่าฉันเข้าไม่ถึงเขา ฉันไม่รู้ว่าเขาคิดอะไร ทำไมถึงชอบทำตัวแปลกๆ ไม่ชอบเข้าเรียน ไม่เข้าคลินิก หลีกหนีสังคม ไม่ชอบสังสรรค์กับเพื่อนๆ ในชั้น หลบอาจารย์ และที่สำคัญพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและพูดคุยกับฉันทั้งๆ ที่ฉันเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา…..  

               มันไม่รักตัวเองน่ะอาจารย์ ไม่มีคนไข้มันก็ไม่มาคณะฯ แทนที่จะมารอคนไข้ Emer ในคลินิก ไม่ไหวอะ นี่เป็นเสียงสะท้อนจากเพื่อนร่วมชั้น ซึ่งฉันก็รู้สึกเห็นด้วย นั่นซินะ ถ้าเขามานั่งที่คลินิก อย่างน้อยถ้ามีคนไข้มารักษาฉุกเฉิน เขาก็คงจะมีเคสทำงาน 

                ความสงสัยในพฤติกรรมของเด็ก เป้อ ทำให้ฉันและเพื่อนอาจารย์หลายคนพยายามแสวงหาคำตอบหรือคำอธิบายในพฤติกรรมต่างๆ ด้วยกลยุทธ์ทั้งขู่ทั้งปลอบจากพวกเด็กเป้อ

                 เย็นวันนั้น ฉันและเพื่อนอาจารย์มีโอกาสได้คุยกะเด็ก เป้อ อีกคนที่ยังทำงานไม่เสร็จ ทำให้อดออกไปเรียนรู้การทำงานในโรงพยาบาลพร้อมกับเพื่อนๆ ในชั้น (สมมุติว่าชื่อ ริชชี่ ก็แล้วกันนะคะ) ริชชี่บอกว่า ในบรรดาเด็ก เป้อ มันก็เป็นอย่างนี้แหละ พวกหนูก็ใช้ชีวิตเรื่อยๆเปื่อยๆ เพราะเรียนในคณะมันก็เครียด ทั้งยาก ทั้งเยอะ เข้ามาในคลินิกก็เจอบรรยากาศที่กดดัน เดินเข้ามาทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรืออาจารย์ก็มองเราเหมือนไส้เดือนกิ้งกือ สายตามันบอกเลยนะ เลยพาลไม่อยากมา อย่างหนูก็พยายามแล้วนะ อยากทำงานให้มันเสร็จๆ แต่ก็ไม่ชอบแย่งที่นั่งกะใคร ก็เลยไม่ทำ แต่ตอนนี้เพื่อนไม่อยู่ ก็สบายๆ ไม่ต้องแย่งเก้าอี้เหมือนแต่ก่อน หนูเลยคิดว่าจะทำ (งาน) ให้มันเสร็จๆ ไปเลยช่วงนี้ แล้วเดี๋ยวจะกลับบ้านละ ไม่อยากอยู่คณะเลย ....อาจารย์เชื่อไหมคะ หนูนั่งรถทัวร์จากบ้านมามหาวิทยาลัย พอถึงพิษณุโลกนะ ใจมันไม่อยากลงมาเลย เหมือนกำลังจะเดินมาลงนรก   

                หนูบอกได้เลยนะอาจารย์ว่าลูกศิษย์ของอาจารย์ (ซึ่งเป็นเพื่อนของริชชี่) ดีที่สุดในบรรดาพวก (คนอย่าง) หนูแล้ว เพราะเขาเป็นคนเดียวที่ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะจบออกไปทำงานเป็นหมอ พวกหนูบางคนยังไม่คิดด้วยซ้ำ  แล้วหนูเองก็คิดว่าเขาทำงานเยอะด้วย อาจารย์อย่าเอาพวกหนูไปเทียบกับคนอื่น อย่าง เขา ก็พยายามขึ้นกว่าสมัยปี 4 ตั้งเยอะ แต่อาจารย์ไม่รู้หรอก อาจารย์ดูไม่ออก เพราะมันไม่เท่าคนอื่นๆ แต่ในบรรดาพวกหนู หนูดูออกว่าเขาพยายามแล้ว  เพราะเมื่อเช้าหนูถาม เขาก็บอกว่าเขาทำงานเสร็จหมดแล้ว หนูซิยังไม่เท่าเขาเลย  

                 ฉันได้ย้อนทบทวนว่า ลูกศิษย์ของฉันคนนี้ แม้ไม่เคยทำให้ฉันรู้สึกภาคภูมิใจอะไรในตัวเขาเลย กลับเป็นคนที่ไม่เคยสร้างปัญหาใดๆ (นอกจากเรื่องผลการเรียน) ให้กับฉัน ไม่เคยทุจริตในการสอบ ไม่เคยจองเก้าอี้ (ทำฟัน) ซ้ำซ้อนหลายงาน ไม่ชอบแก่งแย่ง ไม่เคยเถียง ไม่เคยพูดจาล้ำเส้นแห่งความสัมพันธ์ฉันท์ครูและศิษย์ มีแต่ความนอบน้อมสุภาพ 

                  ฉัน (แอบ) คิดว่า เด็ก เป้อ พวกนี้ถูกมอง (ตัดสิน) ว่าโง่ เฉื่อย ไม่เอาไหน ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่รักตัวเอง ไม่พัฒนา และอีกสารพัดที่จะบ่นว่าให้ได้ยิน เนื่องจากพวกเขาถูกใช้ มาตรวัด แบบหนึ่งที่เชื่อว่ามีความแม่นยำสูงมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน  มาตร ที่สามารถบอกได้ว่าใครเก่ง/ใครไม่เก่ง ใครควรเรียนจบ/ใครไม่ควรเรียนจบ หากแต่การใช้ คงไม่พ้นที่จะมีทั้งคนที่ ผ่าน และ ไม่ผ่าน เกณฑ์ 

                 “มาตร นี้ทำให้คนที่ไม่ผ่านเกณฑ์บางคนต้องกลายเป็น ง่อย อยู่ในสังคม บางคนต้องหลุดออกจากระบบ ทั้งๆ ที่สมัยก่อนเคยเป็น หนึ่ง   ... มันจะเป็นอะไรไหม ถ้าเราจะมีมาตรวัดหลายๆ อันที่สามารถเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสิ่งที่เรากำลังจะวัดได้ เพราะแน่นอนว่าคนเรามีความเก่ง ฉลาด คล่องแคล่ว มีไหวพริบไม่เท่ากัน; คนบางคนเก่ง ฉลาด มีไหวพริบ แต่ไม่ซื่อสัตย์ ชอบเอาเปรียบ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน มีให้เห็นทั่วไปในสังคม แต่คนที่ไม่เก่งอะไรมากมาย เชื่องช้า ไหวพริบไม่ดี แต่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมก็ยังมีอีกมาก เราไม่อยากช่วยให้คนพวกหลัง ผ่านเกณฑ์ ออกไปอยู่ในสังคมบ้างหรอกหรือ

ถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านพอจะช่วยฉันคิดหน่อยได้ไหมคะว่า ภายใต้ระบบการเรียนรู้ที่เราพยายามจะทำให้เป็น Student Center เราควรจะทำอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น ???

คำสำคัญ (Tags): #มองต่างมุม
หมายเลขบันทึก: 109009เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2007 01:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะน้อง..Ninko

  • บันทึกนี้กระตุกต่อมความคิดของครุอ้อยแต่เช้าเลยค่ะ
  • เราต้องแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มไว้ในใจว่า  กล่มเด็กป้อป้อย  เด็กปึก และเด็กเป้อ
  • ทุกอย่างทำเป็น 3 กลุ่มให้หมด หนึ่ง ได้ student center สองได้วิเคราะห์ผู้เรียน  ทะลุไปถึงการวัดและประเมินผล  อย่าลืมว่า กิจกรรมก็น่าจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มด้วย
  • อย่างไรก็ตาม  อย่ามาแบ่ง  ครูป้อป้อย ครูปึก  ครูเป้อ  ก้แล้วกัน  อิอิ

ขอบคุณค่ะ

เกณฑ์การประเมินจริงๆก็ลำบากมาก โดยเฉพาะวิชาทางด้านแพทย์ คงต้องไม่ลดมาตราฐานลงมา เพราะอาจจะมีปัญหาภายหลังเกี่ยวกับ การรักาหรือคนไข้ได้

แต่ถ้าเริ่มต้นที่เข้าใจเด็กอย่างที่อาจารย์กำลังทำ ผมว่ามาถูกทางแล้วครับ เพราะเมื่อเข้าใจแล้ว อจารย์คงจะให้โอกาสในการทำงานแก่เด็กเหล่านั้นเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้เด็กสามารถทำงานด้วยตนเองจนสำเร็จได้ ผมว่าเด็กพวกนี้มีความมุ่งมั่นนะครับ เพียงแต่เราให้โอกาสกับพวกเขา เขาก็จะแสดงออกมา

เชื่อว่าให้โอกาส เขาก็น่าจะทำผ่านเกณฑ์ที่อาจารย์ตั้งไว้โดยไม่จำเป็นต้องทำให้มาตราฐานลดลงครับ

  • นั่นแหละค่ะ บางทีการพูดเปิดอกก็ทำให้รู้ถึงปัญหาที่แท้จริงนะคะ
  • การได้รับรู้ปัญหาของเด็กก่อนก็เป็นเรื่องดี ที่จะสามารถนำมาแก้ปัญหาให้เด็กๆได้นะคะ
  • เชื่อว่า อาจารย์ทำได้คะ สู้ๆๆ

   ขอบคุณ อ.สิริพร อ.มณฑล และสายลมที่หวังดี ที่ช่วยชี้แนะค่ะ จริงๆ เห็นด้วยกับ อ.มณฑลนะคะว่าเราไม่ควรลดมาตรฐาน แต่ Ninko คิดว่ามาตรฐานที่ใช้อาจจะต้องใช้ภายใต้เงื่อนไขอะไรบางอย่างที่มันต่างกันออกไป

   สำหรับเด็กคนนี้ "ความมุ่งมั่น" ที่เขามีนั้น ถ้าหากใช้มาตารฐานของความเป็นครูวัด ดูเหมือนว่าเขาจะมีไม่มาก เพราะทุกคนที่คณะฯ มองว่าการเป็นนักเรียนควรมีความตั้งใจ ใฝ่รู้ใฝ่เรียน... แต่ในทางกลับกันอาจจะมีอะไรบางอย่างในคณะที่ทำให้เขาเป็นอย่างนั้น ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าถ้าหาได้ว่ามันคืออะไร คงจะทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น

   ถ้าเข้าใจอะไรผิดพลาด ช่วยกันชี้แนะได้นะคะ

เข้าใจและเห็นใจเด็กเป้อนะ  เพราะตอนเรียนก็เคยมีความรู้สึกแบบนี้เหมือนกัน แต่ก็พยายามและอดทนจนจบมาได้ บางครั้งเราก็ต้องฝืนทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำ

เอาใจช่วยคุณ Ninko ครับ พยายามหาสูตรที่ช่วยพัฒนาคนให้ดีและเก่งออกสู่สังคมเรา สู้ๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท