ลูกน้องต้องการอะไร


อาจารย์ ดร.พสุ เดชะรินทร์ นำองค์ความรู้จากหนังสือเรื่อง "ลูกจ้างผู้กระตือรือร้น (The Enthusiastic Employee)" ของอาจารย์เดวิด ซิโรทา (David Sirota) และคณะมาสรุปไว้ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ...

ลูกน้องต้องการอะไร

อาจารย์ดร.พสุ เดชะรินทร์ นำองค์ความรู้จากหนังสือเรื่อง “ลูกจ้างผู้กระตือรือร้น (The Enthusiastic Employee)” ของอาจารย์เดวิด ซิโรทา (David Sirota) และคณะมาสรุปไว้ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 ธันวาคม 2548

ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟัง อาจารย์ดร.พสุท่านสรุปว่า แรงจูงใจที่ทำให้ลูกน้องมีความกระตือรือร้นที่สำคัญมี 3 ประการได้แก่ ความเสมอภาคยุติธรรม (equity) การบรรลุผลสำเร็จ (archievement) และมิตรภาพในที่ทำงาน (camaraderie)

ถ้าหัวหน้าหรือนายจ้างมีแรงจูงใจ 3 ประการนี้ ลูกน้องหรือลูกจ้างของท่านก็จะมีความกระตือรือร้นในการทำงาน แรงจูงใจทั้ง 3 ประการมีรายละเอียดดังต่อไปนี้...
  1. ความเสมอภาคยุติธรรม:
    ลูกน้องต้องการความเสมอภาคยุติธรรม โดยเฉพาะต้องการหัวหน้าหรือเจ้านายที่ยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรผลตอบแทน เช่น ค่าจ้าง โบนัส ฯลฯ ภาระงาน และโอกาสที่จะมีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน สิ่งที่น่าสนใจมากได้แก่ หัวหน้าหรือนายจ้างมักจะคิดว่า เงินทองไม่สำคัญ ความจริงค่าตอบแทน(เงิน)คือปัจจัยหลักที่มีความสำคัญมาก ลูกน้องหรือลูกจ้างที่มีฐานะไม่ดีนักจะมองค่าตอบแทน(เงิน)เป็นของจำเป็น ขณะที่ลูกจ้างหรือลูกน้องที่มีฐานะดีอยู่แล้วจะมองค่าตอบแทน(เงิน)เป็นเสมือนรางวัลแห่งการยอมรับ(จากเบื้องบน) และเป็นเครื่องหมายแห่งความสำเร็จ สรุปคือ ใครๆ ก็ต้องการเงิน และต้องการการจัดสรรผลตอบแทน(เงิน)อย่างเป็นธรรม ผู้เขียนเชื่อว่า คงไม่มีใครเชื่อหัวหน้าหรือเจ้านายที่เค็มกับค่าตอบแทนดุจผลึกเกลือ แต่ชอบแจกประกาศนียบัตร และแผ่นป้ายเชิดชูเกียรติว่า หัวหน้าหรือเจ้านาย “จริงใจ”
  2. การบรรลุความสำเร็จ:
    ลูกน้องมีแนวโน้มจะมีความภาคภูมิใจ (pride) ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในองค์กรที่ประสบความสำเร็จทางการเงิน(ไม่ใช่องค์กรที่ใกล้จะล้มละลาย) องค์กรที่มีศีลธรรมและ
    จริยธรรมดี และมีผลิตภัณฑ์ (products) หรือบริการ (service) ดี องค์กรที่มีภารกิจในทางสร้างสรรค์ต่อสังคมจะมีความได้เปรียบ เช่น องค์กรที่ส่งเสริมสุขภาพ การศึกษา การรักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ตรงกันข้ามองค์กรที่เอาเปรียบหรือเป็นพิษต่อสังคมจะมีความเสียเปรียบ เช่น โรงงานที่ส่งกลิ่นเหม็นตลบอบอวล หน่วยราชการที่มีหัวหน้าโกงกิน หน่วยงานที่หัวหน้าทำทุกอย่างเพื่อ “คนของข้าฯ” ฯลฯ
  3. มิตรภาพในที่ทำงาน:
    ไม่มีใครอยากทำงานท่ามกลางบรรยากาศของสนามรบ ลูกน้องต้องการมิตรภาพทั้งจากหัวหน้า และเพื่อนร่วมงาน ผู้เขียนเชื่อว่า หัวหน้าที่ต้องการส่งเสริมมิตรภาพควรมีพื้นฐานจาก “ความเที่ยงธรรม” หัวหน้าที่แสนจะลำเอียงแต่บังคับให้ลูกน้องร่วมงานสังสันทน์ เช่น จัดงานโอ.ดี. (OD / organization development) บังคับให้คนดีไปเล่นเกมส์กับร้องเพลงดุจคนบ้า ถูกวิทยากรหลอกเอาเงิน ฯลฯ ทั้งๆ ที่การพัฒนาองค์กร(โอ.ดี.)จริงๆ หมายถึงการตั้งมั่นในทศพิธราชธรรม(เที่ยงธรรม) และการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสเรียนรู้ในทุกรูปแบบ เพื่อเตรียมตัวให้คนรุ่นใหม่พัฒนาไปเป็นผู้บริหารที่ดีได้ในอนาคต
  4. สรุป: ลูกน้องต้องการอะไร:

    1. ความเสมอภาคยุติธรรม
    2. ความภาคภูมิใจในองค์กร(ที่มีผลการดำเนินงานดี และมีศีลธรรม)
    3. มิตรภาพในที่ทำงาน

    แหล่งข้อมูล:

    • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์ ดร.พสุ เดชะรินทร์. มองมุมใหม่: ทำอย่างไรให้พนักงานกระตือรือร้นในการทำงาน. กรุงเทพธุรกิจ. 27 ธันวาคม 2548. หน้า 12.
    • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์มะเร็งลำปาง จัดทำ > ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๘
หมายเลขบันทึก: 10792เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2005 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 02:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ในฐานะที่เป็นทั้งลูกพี่ ลูกน้อง (สังกัดอยู่หลายองค์กร)  บทความนี้ชัดเจน  ตรงประเด็น  ไม่อ้อมค้อม  นึกภาพตามได้เลยค่ะ  อ่านไปก็ทบทวนบทบาทของตัวเองไปด้วย  ต้องใส่หนังสือเล่มนี้ลงในรายชื่อหนังสือที่ต้องอ่านแล้ว  ขอขอบคุณที่แนะนำค่ะ

นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
ขอขอบคุณคุณ orange alright และขอถือโอกาสอวยพรปีใหม่กับท่านผู้อ่านทุกท่าน ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีสุขภาพพลานามัยดี เป็นลูกที่พ่อแม่สบายใจหรือวางใจได้ เป็นพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่ลูกหลานควรเคารพเชื่อฟัง เป็นเพื่อนที่นำพาเพื่อนๆ ไปสู่ความสุขความเจริญ ความสำเร็จโดยธรรม เป็นลูกพี่ลูกน้องที่คนอื่นทำงานได้ด้วยความสบายใจ และไว้วางใจ ขอให้มีอะไรดีๆ ตลอดไปครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท