ตำนานย่าน อำเภอบางปลาม้า


 

 

ตำนาน ย่านอำเภอบางปลาม้า

 

            อำเภอบางปลาม้า ก็เป็นอีกอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรีที่มีเรื่องเล่า เป็นตำนานสืบต่อกันมาหลายเรื่อง ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับชื่อ บางปลาม้า กันเสียก่อนปลาม้าเป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ลำตัวกว้างมากในแนวอกและท้อง ลาดแอ่นลงไปสุดปลายหัว และเรียวเล็กลงมากที่คอดหาง ก้านครีบแข็งของครีบก้นใหญ่มาก ครีบหางมีปลายแหลม ครีบท้องมีปลายยาวเป็นเส้น เกล็ดในแนวเส้นข้างตัวเด่นชัดเจนและเรียงต่อเลยไปจนสุดปลายแหลมของครีบหาง ลำตัวและหัวมีสีเงินหรือเทาอ่อน ด้านหลังมีลายสีเทาเอียงอยู่ตามแถวของเกล็ด พบทุกลุ่มน้ำ นี่คือคำอธิบายที่พบอยู่ในพจนานุกรม ส่วนใครอยากเห็นตัวจริงก็ไปชมได้ตามร้านอาหารย่านบางปลาม้าโดยเฉพาะต้มยำปลาม้า อร่อยอย่าบอกใครเชียว คราวนี้มาติดตามตำนาน ย่านบางปลาม้า ต่อไป

                                                ตำนานวังตาเพชร

            ตาเพชรเป็นชื่อของชาวบ้านย่านบางปลาม้าคนหนึ่ง เป็นผู้กล้าหาญ มีคาถาแปลงร่างเป็นจระเข้ได้ วันหนึ่งตาเพชรพาเมียมาอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดสวนหงส์ เมียหาบสาแหรกมาริมฝั่งจะข้ามไปยังวัด หาเรือข้ามก็ไม่มี ตาเพชรจึงคิดแปลงร่างเป็นจระเข้ ให้เมียเดินข้ามไป จึงทำพิธีนำขันน้ำมาเสกคาถา เพื่อแปลงร่างเป็นจระเข้  โดยสั่งเมียว่า ถ้าถึงฝั่งแล้วให้เอาน้ำในขันรดหัวจระเข้ แล้วแกก็ร่ายมนตร์ แปลงเป็นจระเข้นอนทอดขวางข้ามคลองให้เมียเดินข้าม เมียตาเพชรเดินข้ามไปด้วยความกลัวจากท่อนหางถึงท่อนหัว ฝ่ายตาเพชรนึกสนุกจะหยอกล้อเมีย จึงแกล้งอ้าปากกว้างหันหัวมา ฝ่ายนางเมียรู้สึกกลัวอยู่แล้วก็ตกใจ กระโจนขึ้นตลิ่งวิ่งไปจนขันน้ำมนต์หล่นน้ำ ตาเพชรจึงต้องกลายเป็นจระเข้ตลอดไป ตลอดชีวิต อาศัยอยู่หน้าบ้านหน้าโรงสีใหญ่ ลอยน้ำขึ้นมาดูเมียอยู่หลายหน แล้วก็มุดดินทำปล่องไปยังบ้านคอวัง

                                                ตำนานบ้านเก้าห้อง

                เล่ากันว่าชาวเวียงจันทน์จากประเทศลาว ถูกทัพพม่ารุกรานบ้านเมืองแตก จึงอพยพข้ามแม่น้ำโขงมาสู่ประเทศไทย ชาวเวียงจันทน์กลุ่มหนึ่งอพยพมาจนถึงย่านอำเภอบางปลาม้า หักร้างถางพงทำไร่ ทำนา หัวหน้ากลุ่มชื่อว่าขุนกำแหง เป็นผู้มีวิชาความรู้ ครั้นอยู่มาบ้านที่อยู่ซึ่งมี ๔ ห้องถูกไฟไหม้ ขุนกำแหง หาโหรมาทำนาย โหรทำนายว่าควรสร้างห้องให้มีเก้าห้อง แล้วจัดตั้งศาลปู่เจ้าย่าเมืองไว้คุ้มครอง ให้ถวายของสักการะ ก็จะอยู่เย็นเป็นสุข ขุนกำแหงจึงจัดสร้างบ้านให้มีเก้าห้อง สร้างศาลเจ้า ตามคำทำนาย และหมั่นสักการะบูชา ทำให้ชาวบ้านทุกคนอยู่เย็นเป็นสุข บ้านเก้าห้องเดิมเป็นไม้ไผ่ ก็กลายเป็นเรือนฝากระดาน ขุนกำแหง ได้รับการยกย่อง และมีลูกหลานสืบมาจนถึงปัจจุบัน
คำสำคัญ (Tags): #ตำนาน
หมายเลขบันทึก: 107732เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2007 07:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท