ผ้าย้อมครามแม่ฑีตา...ผ้าที่สูงค่ากว่าเงิน ตอนที่๑


สำหรับประเทศไทย ผ้าย้อมครามนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นผ้าในดวงใจนักอนุรักษ์ธรรมชาติ ประหยัดพลังงานโลก และรักษาสิ่งแวดล้อม

ทำไมผ้าย้อมครามแม่ฑีตา แห่งบ้านนาดี พรรณานิคม จังหวัดสกลนครจึงมีความโดดเด่นทั้งด้านเอกลักษณ์ความงามและคุณค่าแห่งหัวใจผู้ทำผ้าที่ทำให้ ผู้นุ่งห่มมีทั้งความภูมิใจและความสุขทุกครั้งที่หยิบผ้ามาแต่งกาย

ผู้เขียนไม่ใช่นักสะสมผ้า ผ้าที่มีนำมาใช้ทุกผืนตามโอกาส ความรู้เรื่องผ้าแบบอื่นๆก็มีเพียงน้อยนิด แต่ความรู้เรื่องผ้าคราม และเรื่องราวของผ้าครามแม่ฑีตาเป็นความมหัศจรรย์ที่ได้รู้จักและเรียนรู้ จนอยากแบ่งปันให้ได้รู้กันทั่วๆ เพือให้เกิดความเข้าใจและความภูมิใจในภูมิปัญญาไทยเรา

ที่จริงแม่ฑีตาและคุณจิ๋วแม้เป็นคนดั้งเดิมที่พรรณานิคม แต่มาทำผ้าย้อมครามเมื่อราว 16-17 ปีนี้เอง และแม้ถิ่นอีสานและตำบลบ้านนาดีที่อาศัยอยู่จะมีการทำผ้าครามมาช้านาน เชื่อไหมว่าทั้งแม่ฑีตาและคุณจิ๋วไม่ได้ทำผ้าครามเป็นแต่ต้น แม่ฑีตาเล่าว่าเคยเห็นยายเห็นแม่ของตนทำผ้าย้อมครามใช้เองในบ้าน แต่ไม่ได้สนใจ ไม่มีความรู้ว่าทำอย่างไร เพราะตอนเป็นสาวๆทำแล้วเล็บจะมีแต่สีครามอยู่ติดเล็บดำไปหมดจึงไม่ชอบ

คุณจิ๋วอยู่ในแวดวงหัตถกรรมมาก่อน ในฐานะผู้ไปหา ไปคัดงานผ้าดีๆแล้วนำไปขายในกรุงเทพและที่ต่างๆ มีความรู้เรื่องตลาดผ้าดี แต่ไม่ได้ทำผ้าครามเอง เมื่อเรียนจบจากมหาวิทยาลัย ทำงาน มีครอบครัว มีบุตร ธิดา ก็อยู่กรุงเทพกับครอบครัว มีชีวิตที่เร่งรีบ มีชีวิตที่เหมือนไร้ชีวิต แม่ฑีตาก็อยู่ที่พรรณานิคม อยู่ไกลกันมาก ไม่มีเวลาที่จะพบกันนัก

คุณจิ๋วมาคิดๆดูว่าหากลูกๆต้องเติบโตแบบนี้คงแย่ จึงถามตัวเองว่าจะเลือกเอาเงินหรือเอาชีวิตรอด คำตอบคือเอาชีวิตรอดกลับบ้านเกิดซึ่งมีนา มีสวน มีข้าว มีพ่อแม่ ญาติพี่น้องเต็มไปหมด คิดถึงธรรมชาติและความมีอิสระ  แต่คุณพ่อและญาติก็ไม่ใช่ว่าจะเข้าใจทุกคน เพราะคิดว่าส่งให้เรียน จบแล้วมีงานทำอยู่กรุงเทพก็ดีแล้ว ทำไมถอยหลังกลับบ้าน

คุณจิ๋วคิดถึงการสร้างอาชีพที่จะทำที่บ้านเกิดและได้ชวนแม่ฑีตา ช่วยกันคิดว่าจะทำอะไรดี ลงความเห็นว่าจะทำผ้าย้อมครามกัน เพราะพรรณานิคมเป็นแหล่งทำผ้าย้อมครามมานาน สมัยก่อนมีการทำกันแทบทุกบ้าน

แต่เมื่อตอนที่เริ่มต้นนี้ ราวปี2534-2535 คุณจิ๋วบอกว่าที่พรรณานิคมไม่มีต้นครามเหลือเลย เพราะจากรุ่นแม่ไม่มีการทำผ้าย้อมครามกันมากว่าสี่สิบปีแล้ว เมื่อตัดสินใจ มุ่งมั่นจะทำผ้าย้อมครามเลี้ยงชีพ ก็ต้องสืบเสาะหาเมล็ดพันธุ์คราม และจากแม่เฒ่าวัย 70-80ปี ทั้งในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้านตลอดจนในจังหวัดอื่นๆด้วยที่เป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องวิธีการทำผ้าย้อมคราม เธอบอกว่าเวลาไปตลาดเห็นใครมือดำจะรีบวิ่งตามไปขอความรู้ ไปพูดคุย และขับรถไปส่งถึงบ้าน

ช่วงหกปีแรกเป็นการบุกเบิกเพาะพันธุ์ต้นคราม และทดลองนำความรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่ที่บอกให้นำมาทดลองด้วยตนเอง ลองผิดลองถูกจนสามารถผลิตผ้าย้อมครามได้ดี มีสีสวยงาม แม่ฑีตาเป็นผู้ออกแบบลวดลาย ผลิตออกมาได้ไม่มากนัก ได้สวมใส่เองเป็นประจำและนำไปขายให้เพื่อนพ้องคนรู้จักที่กรุงเทพ และทีในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งคุณจิ๋วจบการศึกษามา และมีรุ่นพี่กำลังเรียนปรฺญญาโททางเคมี คือผ.ศ.อนุรัตน์ สายทอง แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

อาจารย์อนุรัตน์ได้ชักนำคุณจิ๋วให้ร่วมโครงการวิจัยพัฒนาผ้าย้อมครามด้วยกัน สามารถแก้ปัญหาหลักสองประการที่เป็นอุปสรรคอย่างมากในการผลิตผ้าย้อมคราม นั่นคือ ประการแรก หม้อคราม หรือหม้อหมักครามเน่าเสียได้ง่าย หมายถึงสิ่งที่ใช้เวลาเป็นเดือนในการก่อหม้อครามต้องมาสูญลงอย่างง่ายๆ เปลืองทรัพยากร แรงงาน และทำให้เหนื่อยใจอีกด้วย  ปัญหาอีกประการคือ ในกระบวนการย้อม ต้องมีการตีน้ำคราม ซึ่งต้องทำต่อเนื่องครั้งละนานๆ วันหนึ่งหลายครั้ง คนแก่ทำไม่ไหว คนหนุ่มสาวก็ไปอยู่ในเมืองใหญ่กันหมด เครื่องมือนี้จึงช่วยผ่อนแรงและย่นเวลาการเตรียมเนื้อคราม

งานวิจัยดังกล่าวสนับสนุนโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ภาพสวยๆจากพรรณานิคมได้รับความอนุเคราะห์จากน้องหมูแดง ผู้ประสานงานโครงการ

งานวิจัยได้แก้ปัญหาทั้งสองข้อนี้ได้ นี่ถ้าคิดแบบงานวิจัยเพื่อพัฒนาสินค้าแบบหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ก็คงจบลงแค่ตรงนี้ ได้ความรู้มาแล้วก็ไปประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านเร่งกันผลิตมากๆ ป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศ เอาเรื่องเงินและตลาดมาล่อ คิดแค่สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจ ที่จริงส่วนดีก็มีอยู่แต่มันไม่ยั่งยืน

อาจารย์อนุรัตน์เล่าไว้ในรายงานการสัมมนาผ้าย้อมครามว่า...

"...เมื่อสีสังเคราะห์ถูกนำเข้ามาราวห้าสิบปีที่แล้ว การทำผ้าย้อมครามหายไปเช่นเดียวกับทั่วโลก แต่เมื่อผู้คนโหยหาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติอีกครั้ง ประมาณปี2535 สกลนครจึงเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ที่ฟื้นฟูและบำรุงผ้าย้อมครามจากตอของภูมิปัญญาที่ถูกกลบไว้ด้วยวัฒนธรรมชนบทสมัยใหม่...

...ผ้าย้อมครามจึงกลายเป็นความภูมิใจของคนสกลนคร และพื้นที่ใกล้เคียงที่มีภูมิปัญญาผลิตผ้าย้อมครามได้เช่นกัน ปี 2548 เป็นปีที่ 13 (ของการศึกษา วิจัยและพัฒนา)ของผ้าย้อมครามยุคใหม่หลายรูปแบบ เป็นที่ยอมรับในวงกว้างทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ความพิเศษของผ้าย้อมครามแม่ฑีตาอยู่ตรงที่เขาตระหนักถึงปัญหาแท้จริงของผ้าย้อมคราม ว่าไม่ได้อยู่ที่เรื่องเทคนิคอย่างเดียว เขามองทะลุปัญหาว่า ในท้องตลาดนั้นมีผ้าย้อมครามคุณภาพปานกลางและคุณภาพต่ำอยู่เยอะมาก เพราะกระบวนการทำซับซ้อนและใช้เวลามากกว่าจะได้มาเป็นผ้าหนึ่งผืน และผ้าย้อมครามนั้นมีราคาสูงกว่าผ้าย้อมสีธรรมชาติอื่นๆถึง 5 เท่า จึงมีผู้ผลิตจำนวนไม่น้อยที่ทำการ"ย้อมแมว"หรือเร่งผลิต ผ้าย้อมคราม เช่น เมื่อทราบว่าคนซื้อผ้าที่มีความรู้จะ"ดม"ว่ามีกลิ่นหอมครามหรือเปล่า ก็จะใช้วิธีย้อมสีเคมีไว้เป็นพื้นแล้วนำไปแช่ครามให้มีกลิ่นหอม หรือบางคนไม่ได้ตั้งใจโกงแต่ไม่มีประสบการณ์พอ ก็ใช้น้ำครามที่เตรียมยังไม่ได้ที่มาย้อม สีก็จะหลุดออกไปเรื่อยๆเมื่อซักแต่ละครั้ง

ต้องทราบว่าผ้าครามของแท้ๆนั้นผ่านกระบวนการย้อมที่ทำให้สีครามเมื่อจับติดผ้าแล้วจะกลายเป็นสีที่มีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำ สีจะสวยแน่นติดผ้าเช่นนั้นจนหมดอายุของผ้า ผ้าครามของแท้ที่มีสีเข้มลึกจะผ่านการย้อมแล้วย้อมอีกกว่ายี่สิบรอบ แต่ไม่ว่าจะเป็นสีฟ้าอ่อนหรือสีน้ำเงินเข้ม สีที่ปรากฎจะต้องสดใส สะอาดไม่ดูขมุกขมอมหรือสีตุ่นๆ และสีจะต้องติดทน คือสีไม่ตก

ผลิตภัณฑ์ตามโครงการโอทอปที่สร้างยอดขายสูงสุดของสกลนครคือผ้าย้อมคราม  นอกจากนี้ ฝรั่งเศส ญี่ป่นและอิตาลี ต้องการผ้าย้อมครามคุณภาพดีจากสกลนครไม่จำกัดจำนวน ในราคาที่สูงใกล้เคียงกับผ้าไหม แต่ภูมิปัญญาและกำลังการผลิต "ผ้าย้อมครามคุณภาพดี" ไม่พอ เนื่องด้วยขาดปัจจัยหลายอย่าง

อาจารย์อนุรัตน์อธิบายว่าปัญหามีหลายมุม เช่น การจะหาผู้บริหารจัดการที่เข้าใจทั้งเรื่องธุรกิจ ข้อจำกัดของการทำผ้าย้อมคราม และวัฒนธรรมของคนชนบทก็หาได้ยาก ทั้งยังขาด ผู้ชำนาญการย้อมคราม ผู้ชำนาญการออกแบบผลิตภัณฑ์  การได้มาซึ่งเส้นใยฝ้ายธรรมชาติที่มีคุณภาพ และผู้ผลิตผ้าย้อมครามที่มีวินัยในตนเอง

สีน้ำเงินสดใสของสีครามเป็นหนึ่งในบรรดาสีเก่แก่ของโลก มีอดีตยาวนานร่วม 6000 ปี ถือกันว่าเป็นราชาแห่งสีย้อม หรือ "The King of Dye"  เป็นที่รู้จักกันตั้งแต่วัฒนธรรมโบราณในเมโสโปเตเมีย อียิปต์ กรีซ โรม อาฟริกา และเอเซีย ทว่าต้นกำเนิดของสีครามนั้นอยู่ในอินเดีย สังเกตได้จากคำว่า Indigo ซึ่งแปลว่าสีคราม

ในสมัยโบราณเนื่องจากสีครามเป็นสีหายากจึงใช้กันสำหรับเฉพาะราชวงศ์ และคนชั้นสูง ในบางแห่งเช่นคาเมรูน ถือว่าสีครามบ่งบอกความร่ำรวย ความอุดมสมบูรณ์และเจริญงอกงาม

สำหรับประเทศไทย ผ้าย้อมครามนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นผ้าในดวงใจนักอนุรักษ์ธรรมชาติ ประหยัดพลังงานโลก และรักษาสิ่งแวดล้อม

ในเมืองไทยของเราแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานบ่งบอกค่านิยมเช่นกล่าวข้างต้น แต่ชาวบ้านแถบอีสานใช้ผ้าย้อมครามก็เพราะเป็นสีที่ได้จากวัตถุดิบที่หาได้จากท้องถิ่น โดยใช้เพียงส่วนใบของต้นคราม ไม่ต้องไปถากเปลือกหรือขุดรากถอนโคนพืชมาทั้งต้น สีที่ได้ยังติดแน่นคงทนอยู่กับผ้าจนกว่าจะหมดอายุของผ้า ไม่ซีดจางไปง่ายๆ เหมือนสีย้อมธรรมชาติอื่นๆ การย้อมก็ประหยัดพลังงานอีกด้วย เพราะไม่ต้องใช้ถ่านใช้ฟืนต้ม เพราะสีครามได้จากกรรมวิธีการหมัก หรือย้อมเย็น ซึ่งมีกรรมวิธีซับซ้อน น่าทึ่งในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ได้สังเกตขั้นตอน ทดลองทำโดยไม่ได้มีเครื่องมือวิทยาศาสตร์ใดๆมาช่วย จนความรู้ตกผลึกและส่งผ่านความรู้มาจนถึงรุ่นปัจจุบัน

ในภาคอีสานของเรา ซึ่งเป็นถิ่นผ้าย้อมคราม ใช้พืชที่เรียกว่าต้นคราม (indigofera tinctoria) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน เป็นครามพันธุ์นี้ใช้กันมากที่สุดในเอเชีย และทางวิชาการถือว่าเป็นครามแท้ ยังมีพืชอีกหลายชนิดที่ให้สีน้าเงินเหมือนกัน แต่จะมีกระบวนการย้อมที่แตกต่างกันออกไป อย่างที่เราอาจคุ้นหู คุ้นตากันมากคือ สีนำเงินกับเสื้อม่อฮ่อม

มักมีผู้ถามเสมอว่าผ้าครามกับผ้าม่อฮ่อมใช่อย่างเดียวกันหรือเปล่า คำตอบคือไม่ใช่ เพราะแม้เป็นผ้าย้อมสีธรรมชาติด้วยกัน แต่มาจากพืชคนละชนิด และวิธีการย้อมก็ต่างกัน

ต้นครามชอบขึ้นในที่แห้งแบบถิ่นอีสาน ส่วนต้นฮ่อมนั้นชอบที่ชื้นและเย็นแบบทางเหนือ ในภาคใต้ก็มีพืชหายากที่ให้สีน้ำเงินเช่นกันชื่อ "ย่านคราม" ยังมีพืชอื่นๆอีกมาก เช่นญี่ปุ่นและเกาหลีสกัดสีครามจาก Polygonum tinctoria ส่วนชาวจีนและเวียดนามสกัดสีครามจาก Strobilanthes flaccidifolius

การใช้สีย้อมธรรมชาติเกือบทุกสี การสกัดสีจากธรรมชาติทุกชนิด ใช้วิธีต้มเคี่ยวให้ได้น้ำสีเข้มข้น และย้อมขณะน้ำสีร้อน มีเพียงสองสีธรรมชาติในโลก คือสีจากผลมะเกลือและใบคราม ที่ใช้วิธีการหมักและการย้อมเย็นซ้ำหลายๆครั้ง

ที่สามารถนำมาเล่าถึงขั้นตอนกระบวนการได้ก็เนื่องมาจากการที่ทีมงานวิจัยของอาจารย์อนุรัตน์ได้ทำการศึกษาร่วมกับชุมชน จนถอดรหัสความรู้การทำผ้าย้อมคราม ออกมาเป็นคำอธิบายบนหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้ และที่ผู้เขียนรู้สึกประทับใจอย่างยิ่งคือ ความรู้ที่ได้นี้ยังสามารถคงเสน่ห์แห่งผ้าย้อมครามไว้ได้เต็มเปี่ยม

การเตรียมสีครามและย้อมสีครามมีเทคนิคพิเศษกว่าการย้อมสีธรรมชาติอื่นๆ เริ่มตั้งแต่การเลือกใบครามอายุพอดี ที่แก่ซัก 3-4 เดือนและต้องเก็บกันตอนเช้ามืดก่อนน้ำค้างแห้ง

 

ขออภัยที่ไม่สามารถเขียนให้จบในสองตอนอย่างที่คาดไว้ เพราะอยากให้ท่านผู้อ่านได้ซึมซับความละเอียดแห่งภูมิปัญญาในทุกแง่มุม

ตอนต่อไปมาติดตามกันว่าทำไมต้องเก็บใบครามกันแต่เช้าตรู่ แล้วทำอย่างไรกันต่อ ความลับอะไรที่ฝรั่งค้นไม่พบ เรื่องราวของการใช้ประโยชน์แม้จากกากครามที่ใช้ย้อมผ้าไม่ได้แล้ว ไม่มีอะไรทิ้งเสียเปล่าสักอย่าง และเรื่องของสาวญี่ปุ่นที่มาฝากตัวเป็นศิษย์แม่ฑีตา เป็นเรื่องน่าคิด ติดตามอย่างยิ่ง

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 107522เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2007 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (48)

สวัสดีค่ะอาจารย์

รีบเข้ามาอ่านอย่างสนใจค่ะ ขอบคุณมาก ได้ความรู้มาก

มีการถ่ายทอดวิชานี้ไว้แล้วหรือยังคะ เพราะน่าจะถ่ายทอด  เพื่อคงภูมิปัญญาชาวบ้านไว้นะคะ เดี๋ยวของดีจะสูญ และของดีอย่างนี้ มีการจดลิขสิทธิ์หรือมีแบรนด์ไหมคะ ป้องกันของลอกเลียนแบบที่ไม่ดีจริง

มีร้านไหนในกรุงเทพขายไหมคะ อยากจะขอชมบ้าง ในภาพสวยมากๆค่ะ

ต้นตอจริงๆของวัฒนธรรมการย้อมครามนี้มาจากไหนคะ เช่นสืบทอดมาจากชาวไท......

ขอโทษค่ะ ถามซอกแซกไปหน่อย และเวลาขายชาวต่างประเทศ เราได้มีประวัติของแม่ฑีตาแนบไปด้วยใช่ไหมคะ

มีรูปอาจารย์ใส่ผ้าย้อมครามหน่อยไหมคะ อยากขอชมค่ะ สวยมากเลย

ผ้าย้อมครามจริงๆ ทำยาก ที่บริษัทหนูได้ให้กลุ่มหัตถกรรมที่สกลนครลองนำผ้าย้อมครามที่มีการทอหลายๆ แบบมาทดลองให้ Designer ออกแบบเสื้อผ้า เพื่อจะผลิตสินค้าสู่ตลาดสากล ตอนนี้ได้ทำตัวอย่างเป็นสูทผู้ชายไว้ 4-5 ตัวซึ่ง Design ยังไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่ แต่ได้จดชื่อ Brand กับเว็บไว้แล้ว ชื่อ Krahms.com ถึงสินค้ายังพัฒนาไม่เสร็จก็ต้องจดไว้ก่อนเดี๋ยวไม่งั้นสินค้าออกมาฝรั่งก็แอบเอาไปจดอีก

แต่ที่สนใจมากกว่าผ้าย้อมครามทั่วไปก็คือผ้าไหมย้อมคราม เพราะหาคนทำเป็นแทบไม่ได้เลย เคยรู้จักกับอาจารย์ท่านหนึ่งที่ทำได้เพราะท่านทดลองมานาน (เป็นคนที่ทำเสื้อให้ผู้นำในการประชุมที่เคยจัดในเมืองไทยเมื่อหลายปีมาแล้ว) ปัจจุบันอาจารย์ย้ายกลับมาจากกัมพูชามาตั้งศูนย์สอนอยู่ที่ศรีสะเกษแล้วค่ะ ว่าจะขอให้อาจารย์ท่านช่วยถ่ายทอดความรู้ให้กับกลุ่มหัตถกรรมที่สกลนครอยู่เหมือนกัน

  สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์  P

ขอบคุณที่สนใจติดตามอ่านจริงจัง พร้อมคำถามสำคัญๆ

การทำผ้าย้อมครามดั้งเดิมเป็นภูมิปัญญาของ"ชาวไทญ้อ"ค่ะ ผ.ศ. อนุรัตน์ สายทอง ได้ทำงานวิจัยที่ครอบคลุมถึงด้านชาติพันธุ์และสังคมวิทยาของชุมชนหลายแห่งในอีสานที่ทำผ้าคราม ยิ่งอ่าน ยิ่งศึกษายังอยากชวนอาจารย์อนุรัตน์เขียนหนังสือที่ให้คนทั่วไปเข้าใจผ้าคราม เอาให้อ่านสนุก มีภาพประกอบ มีเรื่องเล่าจากคนทำจริง ที่เอามาเล่าในบล็อกนี่แค่เรียกน้ำย่อยค่ะ

ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครได้ตั้งศูนย์เรียนรู้และฝึกอบรมการทำผ้าย้อมครามคุณภาพสูง และยังได้มีการจัดประชุม จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเป็นระยะๆ เรียกว่าเผยแพร่ความรู้กันไม่ได้หยุดค่ะ

สำหรับเรื่องลิขสิทธ์ไม่แน่ใจว่าทำหรือยังสำหรับแบรนด์แม่ฑีตา

ร้านในกรุงเทพที่มีผ้าย้อมครามแม่ฑีตาขาย เท่าที่ทราบมีแห่งหนึ่งที่สยามพารากอน เป็นร้านที่เขารับตัดเสื้อผ้าด้วยค่ะ เจ้าของเป็นคนญี่ปุ่นอยู่เมืองไทยมานานจนพูดไทยได้คล่องมาก ชื่อร้าน The Golden Triangle

ขอโทษค่ะคุณพี่ศศินันท์ ยังตอบไม่เสร็จมือไปโดนปุ่มซะก่อน

ผ้าที่ขึ้นห้างย่อมแพงกว่าปกติมากนักแน่นอนนะคะ แนะนำว่าจิ๋วมักนำผ้ามาขายในงานที่กรุงเทพเวลาเขาจัดงานใหญ่ๆอย่างที่เมืองทอง อิมแพ็ค รู้ข่าวเมื่อไหร่จะรีบบอกค่ะ เผื่อได้นัดพบกันด้วย จิ๋วจะลดราคาให้พิเศษกับผู้สนใจธรรมะ ปฏิบัติธรรมด้วยค่ะ น่ารักมาก

ภาพตัวเองนุ่งผ้าครามไม่ได้ถ่ายไว้เลยค่ะ นุ่งผ้าไทยทุกวันจนคนชินไม่เห็นว่าแปลกหรืองามพิเศษ เอาไว้จะหาโอกาสเก็บภาพไว้บ้างค่ะ

จิ๋วเขามีโบรชัวร์แจกเป็นภาษาอังกฤษและญี่ปุ่น แต่ทำไว้ยังไม่ค่อยสมบูรณ์สวยงาม นี่ปวารณาตัวว่าจะช่วยเขาคิดทั้งการทำข้อความและการออกแบบใหม่ค่ะ รู้สึกผูกพันกับเขามากเพราะการได้รู้จักการทำผ้าย้อมครามแม่ฑีตาได้ทำให้ชีวิตตนเองเปลี่ยนไปจริงๆค่ะ

  สวัสดีค่ะคุณLittle Jazz  P ผ้าย้อมครามจริงๆทำยากมากๆๆ เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความประณีต อดทน มีคุณธรรม เหมือนปฏิบัติธรรมเลยค่ะ

ฝ้ายย้อมครามติดดีกว่าไหมและมีบุคลิกคนละอย่างกับไหมย้อมคราม ไหมย้อมครามดิฉันรู้จักผู้ที่บุกเบิกเรื่องนี้ก่อนใครและมีความรักใคร่ชอบพอกันเป็นอย่างยิ่งคือพี่นิศาชล แม้ว่าเราจะไม่ค่อยได้ติดต่อหรือพบกันบ่อยนักค่ะ มีผ้าไหมย้อมครามชิ้นงามๆอยู่สองสามผืนเอาไว้จะนำภาพมาลงบล็อกบ้างค่ะ

ดีใจจังมีคนสนใจผ้าย้อมครามอย่างจริงจัง ช่วยกันเป็นแนวร่วมทะนุบำรุงภูมิปัญญานี้ให้คงอยู่สืบไปกันนะคะ

 

  • สวัสดีค่ะ

ชอบที่มีคนสนใจในภูมิปัญญาชาวบ้าน

กระบวนการย้อมและกรรมวิธีในการทำผ้าย้อมครามนี่ไม่ใช่จะทำกันได้ง่าย ๆ เลยนะคะ 

สวัสดีค่ะP

ขอบคุณมากค่ะที่อุตส่าห์ตอบคนช่างซักค่ะ

นิสัยนี้แก้ไม่ค่อยหาย เป็นมาแต่เกิด คือ ชอบอยากรู้อยากเห็นไปทุกอย่าง ยกเว้น เรื่องส่วนตัวชาวบ้าน ไม่อยากรู้ ค่ะ ขนาดรู้แล้วยังลืม

ขออวดนิดนึงค่ะ ขนาดลูกโตขนาดนี้ ถ้าการตัดสินใจอะไรสำคัญๆในชีวิต  ต้องถามแม่ก่อน ถ้าแม่ไม่เห็นด้วย เขาไม่อยากทำ เพราะ น่าจะเป็นความเสี่ยงสูงค่ะ   ประเภทที่กันแม่ออกห่าง บอกว่าตัดสินใจเองได้ทุกอย่าง แม่ไม่ต้องยุ่ง ไม่เคยประสบเลยค่ะ

ไทยย้อหรือญ้อ คงเป็นกลุ่มที่อยู่ทางหนองคาย พูดภาษาลาว จะมีอีกพวกหนึ่ง เรียกว่า ไทยโย้ย อยู่ทางสกลนคร ไม่ทราบจริงๆว่า  พวกเดียวกันหรือเปล่า ที่ทราบงูๆปลาๆ เพราะเรียนอักษรศาสตร์ค่ะ

แต่สรุปก็เป็นไทยที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ถ้าท่านผ.ศ. อนุรัตน์ สายทอง จะเขียนหนังสือให้คนทั่วไปได้อ่านเป็นความรู้ ก็ยิ่งดีค่ะ เพราะคนไทยเดี๋ยวนี้ ไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมเก่าแก่ของเราสักเท่าไรค่ะ แต่ให้มีภาพด้วยนะคะ เพราะรูปจะเป็นการอธิบายที่ดีขึ้นค่ะ 

ขนาดแบงค์ชาติก็ทำการ์ตูนออกมาเรื่องเศรษฐศาสตร์ง่ายนิดเดียวค่ะ ต้องทำให้เรื่องยากเป็นง่าย คนจึงจะอ่านค่ะ

ขอบคุณข้อมูลร้าน the golden triangleค่ะ

ขอเน้นเรื่องลิขสิทธิ์ค่ะ คิดว่าต้องจดนะคะ

สวัสดีอีกทีค่ะ

จิ๋วมักนำผ้ามาขายในงานที่กรุงเทพเวลาเขาจัดงานใหญ่ๆอย่างที่เมืองทอง อิมแพ็ค

ขอบคุณอาจารย์มากที่เอื้อเฟื้อค่ะ บอกคุณจิ๋วด้วยค่ะ ว่าจะมีคนสนใจมาก จะมาแล้วต้องบอกนะคะ

และจะขอนัดอาจารย์ด้วย อยากพบตัวและคุยด้วยค่ะ

 ภูมิปัญญาการทำผ้าย้อมครามนี้  จัดว่าเป็น เอกลักษณ์ (identity)ของจังหวัดสกลนครอย่างหนึ่งเลยนะคะ น่าภูมิใจค่ะ

สวัสดีค่ะ..พี่นุช

  • ชอบมากเลยค่ะผ้าสีโทนเนี้ย...
  • วันนี้รีบเอาดอกไม้น้ำในกระถางหน้าบ้านมาฝากก่อนไปเต้นแอโรบิคค่ะ...แล้วจะกลับมาอ่านบันทึกดีๆ...ทีหลังนะคะ...ขอให้พี่นุช สุข สดชื่น สดใส เหมือนดอกไม้เลยนะคะ...บ๊าย..บายค่า...า.

img239/1525/julyflower0484bz4.jpg

สวัสดีค่ะคุณเนปาลีP เรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นต้องช่วยกันดูแลทำนุบำรุงด้วยความเข้าใจ มิฉะนั้นจะกลายเป็นทำร้าย แทนที่จะส่งเสริม

คุณค่าทางมิติจิตวิญญาณที่ทำให้มนุษย์มีความรักต่อสรรพสิ่ง อยู่อย่างเกื้อกูลและเคารพธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มีคู่มากับตัวความรู้ที่เป็นเทคนิค แยกพัฒนาแต่เฉพาะเทคนิคเมื่อไหร่ เสียหายยั่งยืน กว่าได้ประโยชน์ระยะสั้นค่ะ

 

ต้องขอบคุณคุณพี่ศศินันท์ Pมากกว่า ที่กรุณาให้ความสนใจจริงจัง มีคำถามที่น่ารู้คำตอบมาให้ได้ต่อความคิดกันไปอีกค่ะ เขียนแล้วมีคนถามและแสดงความคิดเห็นสนุกออกค่ะ

เรื่องไทญ้อต้องถามอาจารย์อนุรัตน์อีกครั้ง ทราบคำตอบแล้วจะมารายงานค่ะ

ภูมิใจแทนคุณลูกที่มีคุณแม่ที่เป็นที่พึ่งในทุกด้านอบอุ่นดีจริงๆค่ะ

จะชวนอาจารย์อนุรัตน์และคุณจิ๋วช่วยกันเขียน โดยตัวเองจะเป็นคนลงมือเขียนหลักให้ค่ะ นึกสนุกและเห็นประโยชน์ที่จะเกิด ฝากไว้กับแผ่นดิน

สวัสดีค่ะน้องแจ๋วแหวว จะอ่านเรื่องผ้าย้อมครามต้องใจเย็นๆ มีเวลาซึมซับ เป็นเรื่องละเอียดมากเลยค่ะ จะเขียนสั้นกว่านี้ก็จะผิวเผินไป ก็ทนอ่านเรื่องยาวๆหน่อยแล้วกันค่ะ

วันหลังมีโอกาสสอนโยคะ ให้พี่บ้างได้มั้ยคะ จะตามไปเรียน เราอยู่ไกลกันแค่ไหนนะเนี่ย ปากแพรก กับปากท่า วันหลังหากเฉียดมาใกล้กันกริ๊งกร๊างบอกกันบ้างนะคะ โทรสัพท์พี่ 085 909 5955 ค่ะ

ซาหวัดดีค่ะ..พี่นุช

  • Mem. เบอร์ไว้แล้วค่ะ..ถ้าได้เฉียดไปละก็ไม่พลาดแน่ๆค่ะ...
  • ยิ่งชอบผ้าไทย ..ชอบ สไตล์สีคราม อ่านแล้วยิ่งรู้สึกถึงคุณภาพ ซึ่งต้องมาจากจิตวิญญาณของคนทำจริงๆ...อ่านแล้วภูมิใจจัง...แถมได้ความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยค่ะ..
  • ขอบคุณนะคะ
ผมเห็นแม่ผมทำมานานแล้วจึงรู้สึกว่ามีคุณค่าทางจิตใจและเป็นการอนุรักษ์ศิลปะและการดำรงชีวิตแบบไทยๆปัจจุบันหาคนที่มีความชำนาญน้อยมาก

สวัสดีค่ะคุณChetta, ดีใจทุกครั้งที่ได้ทราบว่าภูมิปัญญาไทยยังมีชีวิตอยู่ในมิติชีวิตประจำวัน ที่ไม่ใช่เพื่อการผลิตขายเท่านั้น

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านบันทึกค่ะ คุณแม่อยู่จังหวัดอะไรคะ

เมืองไทยเราผู้ทำและใช้ผ้าย้อมครามเป็นคนในชุมชนเอง ทำเองใช้เอง ไม่เหมือนประวัติในต่างประเทศ คนสูงศักดิ์ คนร่ำรวยเท่านั้นที่จะใช้ผ้านี้ได้ ชาวบ้านไทยเราโชคดีมากเลยนะคะ แต่กระแสทุน และโลกาภิวัตน์ทำให้เราดูถูก หรือแม้ไม่ดูถูก ก็ไม่ตระหนักในคุณค่า ต้องรอให้ต่างประเทศมาบอกว่าดีก่อน จึงจะนิยมตามเขา

เรามาช่วยกัน เริ่มที่ตัวเราผู้ตระหนักในคุณค่าของภูมิปัญญา ไม่ต้องไปว่าคนอื่น เราทำ เราใช้ใ ห้เห็นกันเป็นตัวอย่างนะคะ

สุพรรัตน์ แก่นท้าว

เรียนคุณนายดอกเตอร์ครับ

(ขออนุญาตเรียกอาจารย์) ผมขอรบกวนอาจารย์ ช่วยแปลข้อความดังต่อไปนี้ให้เป็นภาษาอังกฤษ ผมต้องการเผยแพร่ออกไป ทางOversea ครับ

"สีน้ำเงินสดใสของสีครามเป็นหนึ่งในบรรดาสีเก่าแก่ของโลก มีอดีตยาวนานร่วม 6000 ปี ถือกันว่าเป็นราชาแห่งสีย้อม หรือ "The King of Dye"  เป็นที่รู้จักกันตั้งแต่วัฒนธรรมโบราณในเมโสโปเตเมีย อียิปต์ กรีซ โรม อาฟริกา และเอเซีย ทว่าต้นกำเนิดของสีครามนั้นอยู่ในอินเดีย สังเกตได้จากคำว่า Indigo ซึ่งแปลว่าสีคราม
ในสมัยโบราณเนื่องจากสีครามเป็นสีหายากจึงใช้กันสำหรับเฉพาะราชวงศ์ และคนชั้นสูง ในบางแห่งเช่นคาเมรูน ถือว่าสีครามบ่งบอกความร่ำรวย ความอุดมสมบูรณ์และเจริญงอกงาม
สำหรับประเทศไทย ผ้าย้อมครามนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นผ้าในดวงใจนักอนุรักษ์ธรรมชาติ ประหยัดพลังงานโลก และรักษาสิ่งแวดล้อม
ในเมืองไทยของเราแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานบ่งบอกค่านิยมเช่นกล่าวข้างต้น แต่ชาวบ้านแถบอีสานใช้ผ้าย้อมครามก็เพราะเป็นสีที่ได้จากวัตถุดิบที่หาได้จากท้องถิ่น โดยใช้เพียงส่วนใบของต้นคราม ไม่ต้องไปถากเปลือกหรือขุดรากถอนโคนพืชมาทั้งต้น สีที่ได้ยังติดแน่นคงทนอยู่กับผ้าจนกว่าจะหมดอายุของผ้า ไม่ซีดจางไปง่ายๆ เหมือนสีย้อมธรรมชาติอื่นๆ การย้อมก็ประหยัดพลังงานอีกด้วย เพราะไม่ต้องใช้ถ่านใช้ฟืนต้ม เพราะสีครามได้จากกรรมวิธีการหมัก หรือย้อมเย็น ซึ่งมีกรรมวิธีซับซ้อน น่าทึ่งในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ได้สังเกตขั้นตอน ทดลองทำโดยไม่ได้มีเครื่องมือวิทยาศาสตร์ใดๆมาช่วย จนความรู้ตกผลึกและส่งผ่านความรู้มาจนถึงรุ่นปัจจุบัน
ในภาคอีสานของเรา ซึ่งเป็นถิ่นผ้าย้อมคราม ใช้พืชที่เรียกว่าต้นคราม (indigofera tinctoria) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน เป็นครามพันธุ์นี้ใช้กันมากที่สุดในเอเชีย และทางวิชาการถือว่าเป็นครามแท้ ยังมีพืชอีกหลายชนิดที่ให้สีน้าเงินเหมือนกัน แต่จะมีกระบวนการย้อมที่แตกต่างกันออกไป อย่างที่เราอาจคุ้นหู คุ้นตากันมากคือ สีนำเงินกับเสื้อม่อฮ่อม
ต้นครามชอบขึ้นในที่แห้งแบบถิ่นอีสาน ส่วนต้นฮ่อมนั้นชอบที่ชื้นและเย็นแบบทางเหนือ ในภาคใต้ก็มีพืชหายากที่ให้สีน้ำเงินเช่นกันชื่อ "ย่านคราม" ยังมีพืชอื่นๆอีกมาก เช่นญี่ปุ่นและเกาหลีสกัดสีครามจาก Polygonum tinctoria ส่วนชาวจีนและเวียดนามสกัดสีครามจาก Strobilanthes flaccidifolius
การใช้สีย้อมธรรมชาติเกือบทุกสี การสกัดสีจากธรรมชาติทุกชนิด ใช้วิธีต้มเคี่ยวให้ได้น้ำสีเข้มข้น และย้อมขณะน้ำสีร้อน มีเพียงสองสีธรรมชาติในโลก คือสีจากผลมะเกลือและใบคราม ที่ใช้วิธีการหมักและการย้อมเย็นซ้ำหลายๆครั้ง"

ขอบคุณครับ

สุพรรัตน์  แก่นท้าว

นักศึกษาปริญญาโท รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตจังหวัดนครพนม

สวัสดีค่ะคุณสุพรรัตน์ แก่นท้าว

ขอบคุณที่สนใจสิ่งที่เขียนและอยากนำไปเผยแพร่ต่อ(ต่างประเทศ) ไม่ทราบว่าจะไปทำในรูปแบบใด เผยแพร่ทางไหนคะ

ที่จริงข้อความนี้ดิฉันได้เคยนำเสนอในงานประชุมนานาชาติแล้วเมื่อเสนอเรื่องของผ้าย้อมครามแม่ฑีตา จนเรื่องได้รับการคัดเลือกให้เป็นเรื่องดีเด่นหนึ่งใน ๑๕ เรื่องที่เขาคัดจากผู้เสนองาน แล้วตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ At the Human Scale เพื่อแจกในงานประชุมนานาชาติด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่กรุงโซล

หากต้องการจริงๆ กรุณาเข้าไปคัดลอกจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ดิฉันนำลงไว้ในบล็อกนี้แล้วนะคะ ลองดูเรื่องที่อยู่ในหน้าแรกๆค่ะ

สุพรรัตน์ แก่นท้าว

อาจารย์ครับผมหาตามที่แนะนำไม่เจอครับ อาจารย์ช่วยทำweblinkให้ได้ไหมครับ ถ้าไม่ได้ก็ไมเป็นไร

ตอบคำถาม (

ขอบคุณที่สนใจสิ่งที่เขียนและอยากนำไปเผยแพร่ต่อ(ต่างประเทศ) ไม่ทราบว่าจะไปทำในรูปแบบใด เผยแพร่ทางไหนคะ)

ผมมีเพื่อนทำweb ตอนนี้เขาเป็นwebmaster กำลังจะทำเป็น2ภาษา คือไทย/อังกฤษ ผมเลยได้โอกาส อาศัยความเป็นเพื่อนได้ฟรีบางเนื้อที่ ก็เลยอยากทำธุระกิจตามที่เรียนมา (จริงๆแล้วผมศิษย์เก่าราชภัฏสกลนคร สาขาเทคโนโลยีการผลิตจบ2546ต่อMBAเกษตรศาสตร์บ้านเชียงเครือจบ2548มาต่อนิติศาสตร์ราชภัฏสกลได้เทอมเดียวออกไปต่อรามคำแหงศูนย์สกลของอาจารย์เสรี พงษ์พิศ ป.โท สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ได้เทอมเดียว ไม่สะใจ ออกไปต่อรามนาแก ป.โทรัฐศาสตร์ การเมือง การปกครอง น่าจะจบเมษา2551)  (เข้าgoogle พิมพ์ สุพรรัตน์  แก่นท้าว) ได้มีโอกาสเดินทางไปหลายประเทศ พบเห็นหลายอย่าง ชอบเดินดูสินค้าหัถกรรมของเขา ซึ่งก็ไม่ได้เหนือกว่าเรา แต่การตลาดเขาเหนือกว่าเรา เพราะเขาสามารถนำสินค้าธรรมดาๆ ให้ติดตลาดราคาแพงๆได้ เลยมาคิดดู ทำไมเราไม่ทำบ้าง คุณแม่ผมเป็นคนภูไท วาริชภูมิ ผมเกิดมาตั้งแต่จำความได้ก็เห็นคุณแม่มือเปื้อนคราม มีไหบรรจุน้ำครามใต้ถุนบ้าน คุณแม่ปลูกฝ้ายเอง ผมช่วยเก็บ(โดยไม่เต็มใจนัก) แม่เอามาตากแดดแล้วอิ้ว ก่อนนำไปดีดฝ้าย เอาไปเข็น จนเป็นด้าย(ฝ้าย) แล้วเอาฝ้าย(ด้าย)ไปย้อมคราม เอาไปสืบหูก ต่ำหูก จนเป็นผ้าหนาๆ เห็นคุณแม่ทำจนผมโตเป็นหนุ่ม แม่จะเอาไปตัดเสื้อ เพื่อไปฝาก เจ้านาย หรือข้าราชการผู้ใหญ่ ผมไม่เคยเห็นแม่ขายได้ราคาซักที ทั้งๆที่ทำมากับมือ ปรานีตที่สุด คนในหมู่บ้านห้วยบาง ตำบลวาริชภูมิ ต่างก็รู้กิตติศัพท์ถึงฝีมือของแม่ดี อย่างมากก็มาเรียนเอาความรู้กับแม่ แต่พี่สาวก็ไม่ได้สืบถอดการย้อมครามจากแม่ ด้วยมุมมองที่ว่าทำแล้วไม่คุ้มค่าแรง ไปปลูกยางพาราดีกว่า ทั้งๆที่มันคือภูมปัญญา มันคือสายใยแห่งความรัก(Value) ที่ไม่สามารถตีเป็นราคาได้(Price) จนในที่สุดคุณแม่ก็จากโลกนี้ไป นี่ยังไมรวมแม่ของคนอื่นๆ ที่มีความรัก ความศรัทธากับผ้าย้อมคราม ที่ทั้งแม่ และผ้าย้อมครามเหล่านั้นกำลังจากโลกนี้ไป ทีละคน

แต่ถ้าใครสักคน หรือเราสักคน สักหลายๆคน ช่วยกันหาออกอย่างจริงจัง(ไม่ใช่ทำเพื่อได้คะแนนเสียง)หาทางทำการตลาด เพื่อให้คนย้อมครามอยู่ได้ มันน่าจะดีกว่านี้ ซึ่งอันที่จริงผ้าย้อมครามมีต้นทุนสูงมาก คนไทยจนๆไม่มีปัญญาซื้อแน่ๆ คนรวยๆก็ไม่ซื้อ(ภริยานายกคนก่อนก็ไม่เคยใส่ออกงานให้เห็นนะ) เราช่วยกันออกแบบดีๆ ให้มันทันสมัยขึ้น คนที่ชอบผ้าย้อมสีธรรมชาติที่มีปัญญาซื้อต้องมีอยู่มากในโลกนี้ แต่ปัญหาคือเราจะเจอเขายังไง

ถ้าเราแปลงจากเสื้อผ้า ไปเป็นอย่างอื่นล่ะ มันจะเพิ่มมูลค่ามั้ย

ขอบคุณที่ท่านอ่านจนจบ

สุพรรัตน์

081-7683867 

สวัสดีค่ะคุณสุพรรัตน์ ขอบคุณมากเลยค่ะที่เล่าเรื่องคุณแม่ให้ทราบ น่าภูมิใจอย่างยิ่งในความรู้และฝีมือของท่าน

ดีใจที่คุณมีความคิดและความพยายามที่จะช่วยผู้ทำผ้าย้อมครามให้อยู่รอด คุณน่าจะได้คุยกับอาจารย์อนุรัตน์ สายทองซึ่งได้ทำงานวิจัยอย่างละเอียด มองเห็นแง่มุมของปัญหาและทางออก

การตลาดอย่างสมัยใหม่กระแสหลักไม่น่าจะใช่คำตอบของการฟื้นฟู ส่งเสริมผ้าย้อมครามและหัตถกรรมชั้นสูงอื่นๆของไทย เราต้องคิดนอกกรอบ (โอทอป) การออกแบบ รูปแบบ  เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในหลายๆปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง

ดิฉันไม่ใช่นักธุรกิจ หรือ นักการตลาด แต่เป็นผู้ใช้หัตถกรรม มุมมองอาจประหลาด ฟังแล้วไม่จำเป็นต้องเชื่อนะคะ

กำลังจะเขียนเรื่องของหัตถกรรมเอเชียในสายตาของผู้ชำนาญเรื่องตลาดหัตถกรรมในยุโรป เพิ่งได้ฟังจากศิลปินนักทำเซรามิคจากเยอรมันในงานCraftsnet ที่เพิ่งจัดเมื่อเร็วๆนี้ เป็นมุมมองที่น่าสนใจมาก คนทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาหัตถกรรมอาจได้ข้อคิดจากเขา

วิทยานิพนธ์อยู่ที่

http://gotoknow.org/blog/k-creation/92695 

ส่วนบทความในหนังสือ พยายามหาไฟล์ หาไม่เจอ มีแต่ในหนังสือ อาจารย์อนุรัตน์ก็มีอยู่เล่มหนึ่งค่ะ หากจะไปสนทนากับท่านอยู่แล้วก็ขอยืมดูได้ แต่ข้อมูลในวิทยานิพนธ์มีอยู่สมบูรณ์ค่ะ

ขอบคุณที่สนใจและมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะคะ

สวัสดีครับผมเป็นคนที่ อ.สูงเนิน จ.นคราชสีมา ตอนนี้ผมอยากได้เมล็ดครามมาก มาปลูกเพราะมีคนแก่ในหมู่บ้านที่ยังรู้วิธีทำคราม(แต่ไม่มีต้นครามเลย)ผมอยากจะขอเมล็ดครามจากคุณแม่ฑีตา หรือท่านใดที่มีเมล็ดคราม เพื่อเป็นการอนุรักษ์การย้อมคราม ในหมู่บ้านของผมไม่มีต้นครามใหญ่หรือครามย้อมเหลืออยู่เลย(และหาไม่มีเลย)มีแต่ต้นซ่าครามหรือชะครามที่ขึ้นอยู่มากแต่ต้นเหล่านี้ไม่สามารถที่ที่จะนำมาทำน้ำย้อมได้ (ผมจึงอยากขอเมล็ดครามจากท่านเพื่อเป็นการอนุรักษ์การทำผ้าย้อมครามขอขอบพระคุณมากครับ)ติดต่อ087-2475660ขอคุณครับ

สวัสดีค่ะคุณณัฐพงษ์ ที่จริงตอบตั้งแต่เมื่อวาน เผอิญอินเทอร์เน็ตขัดข้อง เลยหายหมดค่ะ

ดีใจที่คุณณัฐพงษ์สนใจจะฟื้นฟูผ้าย้อมครามที่โคราช จะได้ช่วยกันทั้งอนุรักษ์ สืบทอดภูมิปัญญา และพัฒนาตลาดผ้าย้อมครามคุณภาพสูงด้วยค่ะ

เมล็ดครามนั้นน่าจะขอปันได้จากคุณจิ๋ว-ประไพพันธ์ เธอเป็นคนใจดี เอื้อเฟื้อมากค่ะ ลองโทรไปที่

๐๘๑ ๙๕๔ ๒๒๐๕ นะคะ

ที่บ้านมีต้นครามอยู่กอหนึ่ง แต่ไม่มีความรู้ว่าใช่อย่างเดียวกับที่นำมาทำผ้าย้อมครามหรือเปล่า จะเก็บฝักแห้งไปถามผู้รู้ ถ้าใช่ยินดีแบ่งให้เลยค่ะ

สวัสดีครับ   ขอขอบคุณมากๆครับที่ช่วยแนะนำแล้วผมจะโทรไปขอ คุณประไพพันธ์ ถ้าผมได้เมล็ดครามมาผมจะศึกษาวิธีการทำน้ำย้อมครามและจะช่วยอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาและขยายพันธุ์คราม(ได้ไม่ได้จะส่งผลมาบอก)ขอขอบคุณ คุณดอกเตอร์ อีกครั้งสวัสดีครับ
สวัสดีครับ  ผมได้เมล็ดพันธุ์ครามจากคุณประไพพันธ์แล้วครับ คุณประไพพันธ์เธอเป็นคนใจดีมากส่งเมล็ดครามให้ผมโดยไม่คิดค่าอะไรเลยและยังให้คำปรึกษาอีกด้วย ขอขอบคุณ คุณประไพพันธ์มากๆและคุณดอกเตอร์มากๆครับที่ให้คำแนะนำ ขอบคุณครับสวัสดีครับ

สวัสดีค่ะ คุณนายด็อกเตอร์ และทุก ๆคน

      ตอนนี้ดิฉันกำลังทำงานฟื้นฟูและพัฒนาสีย้อมจากวัสดุธรรมชาติกับช่างทอผ้าชาวผู้ไทที่บ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ อยู่ค่ะ   เป็นงานรวบรวมองค์ความรู้เรื่องสีธรรมชาติซึ่งเป็นภูมิปัญญาเดิมของชุมชน และนำข้อมูลการย้อมสีธรรมชาติจากต่างประเทศมาฝึกทดลองด้วยค่ะ   เราได้ทดลองย้อม วัสดุธรรมชาติจาก ครั่ง   มะเกลือ ฝาง  สีเสียด สมอ ประดู่ จันทน์แดง คำฝอย อัญชัน ตะโกนา  เฮนนา กาแฟฯลฯ  ตอนนี้ได้สีที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไปราว 15 สีค่ะ   ส่วนครามนั้นกำลังหาข้อมูลมาทดลองอยู่ค่ะ      ตอนนี้ช่างทอได้ทอผ้าสีธรรมชาติออกมาแล้ว มีสีมะเกลือ  ครั่ง  อัญชัน และเฮนนา ค่ะ   ไว้คราวหน้าจะนำภาพมาให้ชมกันนะคะ

 

สวัสดีค่ะคุณประภัสสร

ยินดีมากค่ะที่คุณได้มาแวะอ่านและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน งานที่คุณเล่ามาน่าสนใจมากจริงๆค่ะ ทำให้รู้สึกว่าประเทศไทยของเรายังมีทุนปัญญา ทุนธรรมชาติ และทุนทางสังคมอยู่อีกมาก อะไรๆไม่ได้เลวร้ายไปเสียหมด

มาเปิดบล็อกในโกทูโนว์ซีคะ จะได้มาเขียน นำภาพมาแบ่งกันชม อยากรู้จักจังเลย เวลามีโอกาสได้พบ ได้รู้จักผู้ที่ทำงานด้านนี้ มีความสุขจังค่ะ ทั้งๆที่ตัวดิฉันเองไม่ได้อยู่ในวงการผ้า เป็นผู้รัก และผู้ใช้มากกว่าค่ะ

ผมจะหาซื้อแม่สีจากธรรมชาติได้ที่ไหนบ้างครับ

อยากติดต่อซื้อ และทำธุรกิจเกี่ยวกับผ้าย้อมครามจังเลยค่ะ อยากช่วยเผยแพร่ด้วยค่ะ

หาก คุณโบว์ สนใจธุรกิจผ้าย้อมคราม คงต้องศึกษาข้อมูลเยอะนะคะ มีผู้ผลิตผ้าย้อมครามหลายเจ้า ราคาก็แตกต่างกัน โดยส่วนตัวดิฉันติดใจเสน่ห์ผ้าย้อมครามแม่ฑีตาเหนียวแน่นและชื่นชมวิธีคิด วิธีปฏิบัติของคุณจิ๋ว เลยไม่มีความรู้ถึงผู้ผลิตรายอื่นๆค่ะ

น่าจะได้เดินสำรวจเวลาเขามีงานอย่างที่เมืองทองนะคะ จะมีมากันหลายเจ้า จากหลายจังหวัด

จริงๆแล้วผมก็คนหนึ่งน่ะครับที่ชื่นชมกับวัตนธรรมอันดี ของไทยเราโดยเฉพาะผ้ามี่ย้อมครามของพี่น้องชาวอีสานของเรา ผมก็คนหนึ่งน่ะครับที่เคยสัมผัสกับผ้าย้อมครามในตอนที่อยู่ที่ญี่ปุ่น แต่ตอนนั้นมีพี่คนหนึ่งแนะนำให้รู้จักกับผ้าย้อมครามของไทยผมก็ถามว่า เป็นผ้าจากจังหวัดไหน ทางพี่คนนั้นก็บอกว่าจากสกลนคร ผมชอบผ้าย้อมครามตรงที่ว่าได้กลิ่นครามแต่ผมคิดว่าหอมน่ะอิอิ พอกลับมาเมืองไทยก็ไปที่สกลนคร แต่ตอนนั้นจำได้ว่าได้มาจากป้า วารี ไชยตมาต ที่อำเภอพรรณาอะครับ ผมว่าผือมือแม่เค้าก็ใช่ย่อยน่ะขนาดผมเคยส่งไปให้เพือนที่ญี่ป่นทำเกี่ยวกับสปา ดูเค้ายังชอบเลย ตอนนี้ผมก็ส่งผ้าของป้าเค้าไปให้ทางญี่ปุ่นบ่อยๆครับ

ขอบคุณคุณหนุ่มที่เข้ามาแลกเปลี่ยนกันค่ะ ช่วงนี้ผู้สนใจหัตถกรรมไทยคงไม่พลาดงานโอทอปที่อิมแพ็ค เมืองทองธานีนะคะ จิ๋วเขาก็มาออกร้านค่ะ หากมีเวลาลองไปแวะชมและอุดหนุนกันได้ค่ะ

เรียน คุณนายด็อกเตอร์และทุก ๆท่านค่ะ

ตอนนี้งานผ้าไหมสีธรรมชาติที่เริ่มทำกับช่างทอชาวผู้ไท ที่บ้านโพน จ.กาฬสินธุ์ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นแล้วค่ะ  จึงขอส่งงานที่เสร็จแล้วมาให้ชม และอยากทราบความเห็นด้วยค่ะ     ต้องเรียนให้ทราบว่าทั้งหมดเป็นงานสีธรรมชาติแท้ ๆ ที่ดิฉันซึ่งเป็นนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องผ้ามานานพอควร นำความรู้ที่มีจากการศึกษาผ้าและเทคนิคการย้อมจากที่ต่าง ๆ มาผสานกับภูมิปัญญาเดิมในท้องถิ่นอิสานค่ะ

 

 

เรียน คุณนายด็อกเตอร์และทุก ๆท่านค่ะ

ตอนนี้งานผ้าไหมสีธรรมชาติที่เริ่มทำกับช่างทอชาวผู้ไท ที่บ้านโพน จ.กาฬสินธุ์ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นแล้วค่ะ  จึงขอส่งงานที่เสร็จแล้วมาให้ชม และอยากทราบความเห็นด้วยค่ะ     ต้องเรียนให้ทราบว่าทั้งหมดเป็นงานสีธรรมชาติแท้ ๆ ที่ดิฉันซึ่งเป็นนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องผ้ามานานพอควร นำความรู้ที่มีจากการศึกษาผ้าและเทคนิคการย้อมจากที่ต่าง ๆ มาผสานกับภูมิปัญญาเดิมในท้องถิ่นอิสานค่ะ

 

 

ขอบคุณมากเลยค่ะที่มาบอกข่าวอันน่าชื่นชมยินดีและให้ได้ชมของสวยงาม สามารถชมผลงานอื่นได้ที่ไหนคะ เผื่อมีโอกาสได้เยี่ยมชมสัมผัสของจริงค่ะ

 

ตอนนี้เรากำลังหาตลาด และพื้นที่จัดจำหน่ายอยู่ค่ะ เพราะเราเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ราว 10 คน ที่แยกตัวมาจากกลุ่มใหญ่ของศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทที่บ้านโพน ประธานกลุ่มผ้าทอ ผู้ไทของเรา คือ พี่บุญเลียน สระทอง ได้เคยประสานไปทางอำเภอคำม่วง เพื่อขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนเป็นกลุ่มย่อย แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ให้คำตอบที่ชัดเจน คิดว่าหากได้จดทะเบียนกลุ่มแล้ว ก็อาจจะได้รับการส่งเสริมเรื่องการหาตลาดและพื้นที่จัดจำหน่ายบ้าง ผลงานส่วนหนึ่งตอนนี้ก็มีฝากขายที่ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกของพิพิธภัณฑ์สิรินธร อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ค่ะ ก็ได้รับความสนใจมากพอสมควร ส่วนหนึ่งขายให้ชาวต่างชาติ หรือคนไทยซื้อไปฝากเพื่อนต่างชาติค่ะ อีกส่วนหนึ่งก็เผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆเพื่อให้คนรู้จัก

ผ้าของกลุ่ม ผ้าทอ ผู้ไท มีลักษณะเฉพาะที่ไม่ซ้ำใคร คือ เป็นงานแนวประยุกต์ที่ต่อยอดจากลวดลายและเทคนิคดั้งเดิม ลวดลายทั้งหมดเป็นลายแพรวาโบราณที่นำมาจัดวางโครงสร้าง/องค์ประกอบลาย และให้สีใหม่ โดยใช้สีธรรมชาติแท้ทั้งหมด เพื่อให้เป็นงานร่วมสมัยมากขึ้นค่ะ เมื่อไม่นานมานี้มีน้องซึ่งมีพื้นเพอยู่กาฬสินธุ์มาเห็นงานของเราที่พิพิธภัณฑ์สิรินธรและชื่นชอบมาก ก็เลยอาสาช่วยหาตลาดและพื้นที่จำหน่ายในกรุงเทพฯให้ ตอนนี้กำลังรอคำตอบอยู่ค่ะ

รายละเอียดของโครงการฟื้นฟูและพัฒนาแพรวาที่ทำอยู่ จะค่อย ๆทะยอยเขียนลงใน blog ตามที่คุณนายด็อกเตอร์แนะนำนะคะ เป็นโครงการที่ลงทุนเอง เรียนรู้เอง จากประสบการณ์ตรง และมีความสุขมากที่ได้ทำ ได้เรียนรู้ว่าภูมิปัญญาไทยในงานทอผ้าแพรวานั้นมีศักยภาพในการนำมาพัฒนาอะไรได้อีกมาก หากเราผู้ร่ำเรียนผ่านแนวคิดตะวันตกอย่างเรา ๆท่าน ๆจะให้เวลาเข้าไปคลุกคลี ทำความรู้จัก ทำความเข้าใจ และพยายามที่จะหาจุดร่วมขององค์ความรู้ที่เหมาะสม ก็จะได้อะไรแบบที่เรากำลังพยายามทำกันอยู่ค่ะ

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้รับเชิญไปเสนอผลงานนี้ที่ออสเตรเลีย ฝรั่งก็สนใจกันมากที่เราประสานความรู้จากระบบโรงเรียนเข้ากับองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านได้อย่างเป็นระบบและน่าสนใจค่ะ

กำลังหาทางประสานงานนำข้อมูลผลงานที่น่าภาคภูมิใจนี้ไปยัง สมาคมส่งเสริมและพัฒนาหัตถกรรมอาเซียนค่ะ

ดีใจมากจริงๆค่ะที่คุณประภัสสรมาบอกให้ทราบ

ขอบคุณ คุณนายด็อกเตอร์มากค่ะที่จะช่วยประสานงานให้

และหากเรามีโอกาสไปแสดงผลงานที่ไหนจะแจ้งมาให้ทราบค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณประภัสสร ได้คุยเรื่องผลงานของคุณกับสามีดิฉัน เขามีประสบการณ์เรื่องผ้ามากทีเดียว หากคุณผ่านมาทางอยุธยาเรายินดีต้อนรับเพื่อพูดคุยสิ่งต่างๆที่จะเป็นประโยชน์กับการพัฒนารูปแบบและตลาด ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องได้เห็นชิ้นงานจริงและพูดคุยกันยาวค่ะ

ขอบคุณ คุณนายด็อกเตอร์มาก ๆค่ะ ที่สนใจจะช่วยหาช่องทางทางการตลาดให้

ตอนนี้ดิฉันใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่กาฬสินธุ์ค่ะ จะเข้ากรุงเทพฯบ้างเมื่อมีภารกิจต้องไปทำ

คิดว้าเร็ว ๆนี้ อาจจะต้องไปกรุงเทพฯ แล้วจะหาเวลาไปเยือนที่อยุธยาพร้อมชิ้นงานจริงค่ะ

หากจะรบกวนขอที่อยู่หรือเบอร์โทรศัพท์ติดต่อมาทางอีเมล์จะสะดวกไหมคะ

ไปตอบคุณประภัสสรที่บล็อกของคุณแล้วค่ะ

ขอบคุณค่ะที่แบ่งปันสิ่งดีๆให่แก่กัน ดิฉันสนใจอยากได้ผ้าย้อมครามแม่ฑีตามาใช้บ้าง ดิฉันจะอยู่กรุงเทพระหว่าง 27 ธ.ค. 52 - 15 ม.ค.53 พอทราบไหมคะว่ามีตัวแทนจำหน่ายผ้าของแม่ฑีตาที่ไหนบ้าง กรุณาแนะนำด้วยค่ะ ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

ได้ไปตอบคุณหนิงทางอีเมล์คุณแล้วนะคะ

งานโอทอปที่เมืองทองที่จะมีเร็วๆนี้ ๑๙-๒๑ ธันวาคม จิ๋วก็จะไปออกร้าน เชิญไปแวะกันได้ค่ะ

ขอขอบคุณมากค่ะ ที่กรุณาโทรถามคุณจิ๋วให้ ได้คุยกับน้องสาวแล้วน้องบอกถ้ามีเวลาจะไปดูให้ ขอบคุณในน้ำใจไมตรีจิตที่มอบให้ค่ะ ประทับใจในตัวคุณยุวนุชจริงๆ ขอบคุณมากๆอีกครั้งค่ะ

ยินดีค่ะคุณPning1126   ยิ่งทราบว่าคุณจะได้นำผ้าไทยไปใช้ต่างแดนด้วยความรักความชื่นชมยิ่งต้องหาทางให้คุณได้สมหวังค่ะ เป็นการเผยแพร่ความงาม ความดีของผ้าย้อมครามของไทยอีกด้วย มาเมืองไทยเมื่อไหร่ หากว่างและอยากคุยกัน โทร.ไปได้ทุกเมื่อค่ะ

สวัสดีค่ะพี่นุช

หนูเสิร์ชมาหาเรื่องผ้าย้อมครามอ่านหาความรู้ค่ะ พอดีมีน้องเอาผ้าย้อมครามมาให้ใช้แล้วชอบมาก ความรู้สึกแบบว่าผ้าอะไรทำไมนุ้มนุ่มแล้วก็น่าห่มแบบนี้ มาจากไหนน้า ก็ไม่ได้ถามน้องเค้า เหมือนคนติดใจอยากรู้อยากหาที่มา ไม่เคยทราบมูลค่ามาก่อน

แต่เคยเห็นในงานที่แสดงผ้า อยากร้องว่าโอ้โห แพงเหมือนกันนะ แต่คิดๆไปแล้วเหมาะสมกับคุณภาพของเค้ามากๆเลยค่ะ ก่อนที่จะรู้จักคุณค่า (จากการที่ได้อ่านของพี่นุชแล้ว) ที่แท้จริงแล้วว่าความเป็นมาก็บ่งบอกถึงคุณค่าของผ้ามากมายก่อนที่จะได้สัมผัสถึงคุณภาพซะอีก ยิ่งรู้สึกชอบมากเลยค่ะ อยากให้คนไทยเราเองได้รู้ว่า ผ้าในเมืองไทยที่สวยและมีคุณค่า รวมถึงการมีคุณภาพยังมีให้รู้จักอีกมากมาย เสื้อผ้าที่ใส่ตามแฟชั่น ถ้าเอาจริงๆแล้วสู้ผ้าใส่สบายบ้านเราไม่ได้เลย ขอบคุณพี่นุชที่แบ่งปันความรู้ให้นะคะ ดีใจที่ได้มาอ่าน ได้ความรู้มากมาย และได้บรรยากาศอีกแบบ แม้จะเห็นผ้าหม้อฮ่อมสีน้ำเงินหรือครามมาเยอะ เพราะอยู่ทางเหนือ แต่ก็ยังชอบผ้าย้อมครามของทางอีสานมากไม่แพ้กันเลยค่ะ

อีกอย่างหนูคุ้นรูปพี่นุชมากเลยค่ะ หนูไม่แน่ใจว่าหนูเคยเจอพี่นุชที่ สวทช.หรือเปล่า เพราะหนูเคยทำงานที่นั่นเหมือนกันค่ะ

แต่ยังไงหนูก็ชอบรูปที่พี่นุชห่มผ้าย้อมครามค่ะ เหมาะกับพี่นุชมากเลยค่ะ สวยมากๆเลย ขอบคุณสำหรับความรู้มากๆเลยค่ะ

ด้วยความระลึกถึงและเคารพเสมอ

น้องหนูค่ะ

สวัสดีค่ะน้องหนู พี่ดีใจจังที่คนรุ่นใหม่มีความปลื้มในผ้าภูมิปัญญาของไทยเราที่มีความงาม ความดี มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของแผ่นดินที่ดำรงชีพของผู้รังสรรค์ถักทออยู่ในผืนผ้า อยู่ที่ว่าใครมีจิตละเอียด มีปัญญาพอที่จะมองเห็นหรือเปล่า

พี่เคยทำงานที่สวทช.อยู่ระยะหนึ่งแต่ลาออกมากว่าเจ็ดปีแล้วล่ะค่ะ ตอนนี้พี่เป็นนักวิชาการอิสระ บั้นปลายชีวิตอยากกลับไปอยู่เชียงใหม่(แม้ไม่ใช่คนเหนือ)เพราะชอบวิถีชีวิตคนเชียงใหม่ ประทับใจตั้งแต่เรียนป.ตรีที่มช.ค่ะ

อยากมีโอกาสได้คุยกัน อีเมล์ถึงพี่หน่อยซีคะจะได้ให้เบอร์โทรศัพท์ไว้

พี่ยังคงติดต่อเพื่อนฝูง น้องๆหลายคนที่สวทช. เช่น โอ๋-ศศิธร สุชาดา พี่ดำ คุณนุช-ปุณณา กัลยาณมิตรเหล่านี้เคยมาบ้านพี่ที่อยุธยากันแล้วทั้งนั้น ยินดีต้อนรับน้องหนูด้วยค่ะ

ผมไปวิ่งย้อนรอยสุริยะปฏิทินฯมินิมาราธอน ที่โรงเรียนหนองไผ่นาดี เมื่อ 20 มีนาคม 2554 และได้ไปเยี่ยมชมการย้อมคราม บ้านของคุณยายฑีตา ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ ครับ

สวัสดีค่ะ คุณยุวนุช  ดิฉันเริมสนใจเรื่องผ้าย้อมครามเพราะว่ามีแรงบันดาลใจจากคุณแม่ของดิฉันซึ่งท่านก็ได้ทำผ้าย้อมครามด้วยค่ะ ท่านอายุ60 ปี ดิฉันเห็นท่านมีความสุขมากที่ได้ทำผ้าย้อมครามที่แรกดิฉันไม่ได้สนใจพอไปบ้านแม่ ก็เห็นแม่กำลังโจกนำ้ครามในหม้อ จาก1 หม้อ ตอนนี้ก็ประมาณ7-8 หม้อ เห็นแม่ทำทุกวัน และเห็นครามตั้งใจ ความเอาใจใส่ในการดูแลหม้อคราม มันมีขั้นตอนหลายขั้นตอนกว่าจะมาเป็นผ้าครามสวยๆที่เค้าใส่กัน ดิฉันเห็นแม่ดิฉันมีความสุขมากเวลาท่านขายผ้าครามฝีมือขอท่าน ดิฉันถามว่า สีมันจะตกมั๊ย    แม่บอกว่า แม่ล้างอย่างดี สีจะไม่ตก ถ้าล้างไม่สะอาดสีจะตก  ดิฉันคิดว่าผ้าครามของคุณแม่ฉันต้องเป็นผ้าครามที่มีคุณภาพแน่นอน  ดิฉันจึงอยากจะช่วยคุณแม่ของดิฉัน หาตลาดเพื่อที่จะขาย อาจจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้ คุณยุวนุช กรุณาช่วยให้คำแนะนำ หรือให้คำปรึกษาด้วยนะคะ ขอขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ  (0800070752  เบอร์โทรดิฉันค่ะ )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท