HA


Hospital Accreditation

          HAมาจากคำเต็มว่า Hospital Accreditation เป็นมาตรฐานสำหรับการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล มีอยู่ในหลายประเทศ ของไทยเราก็มี จึงอาจเรียกเป็น Thailand HA ก็ได้ เดิมเป็นโครงการอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขแล้วออกมาเป็นองค์กรอิสระภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ภายใต้การบริหารของอาจารย์หมออนุวัฒน์ ศุภชุติกุล

         เป็นระบบบริหารคุณภาพที่โรงพยาบาลในเมืองไทยให้ความสนใจกันมาก ในแต่ละปีจะมีการจัดเวทีวิชาการการพัฒนาคุณภาพในระดับชาติเรียกว่า National Forum for HA โดยจัดในเดือนมีนาคมของทุกปี ปี 2549 นี้จะจัดเป็นครั้งที่ 7 วันที่ 16-19 มีนาคม 2549 ในแต่ละปี จะมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมหลายพันคน

         HA มีสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล เป็นผู้ดำเนินการทั้งส่งเสริมในรูปการจัดการอบรมและสนับสนุนที่ปรึกษา(Consultant)และสนับสนุนผู้เยี่ยมสำรวจ(Surveyor)มาตรวจประเมิน แต่ในการจะรับรองว่าผ่านหรือไม่นั้นจะมีคณะกรรมการผู้ทรวงคุณวุฒิมาเป็นกรรมการตัดสินว่าผ่านหรือไม่จ่กข้อมูลทั้งหมดที่มีทั้งในเอกสารและจากผู้เยี่ยมสำรวจ หลังจากนั้นก็จะนำเสนอให้คณะกรรมการรับรองซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิรับรองอีกขั้นหนึ่ง นั่นคือกว่าจะผ่านได้จะต้องผ่านการพิจารณา 3 ชุดด้วยกัน ไม่ได้อยู่ที่อำนาจของผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการหรือตัวผู้เยี่ยมสำรวจเท่านั้น อาจมีบางคนเข้าใจผิดคิดว่า HAคือ พรพ. คือทีมงานของ พรพ. เท่านั้น ไม่ใช่ครับเพราะยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีเกียรติภูมิชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศร่วมด้วยในกระบวนการตัดสินและรับรองคุณภาพด้วย

         แนวคิดสำคัญของ HA นั้นคือมุ่งให้ทุกจุดบริการให้บริการต่อผู้ป่วยอย่างปลอดภัย (Patient safety) หากโรงพยาบาลยืนยันและแสดงให้เห็นชัดว่าได้พยายามทำให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยแล้วก็จะผ่านการประเมินได้ การที่ต้องทำทุกจุด ทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา จึงเป็นแนวคิดสำคัญของTQM โดยให้มีการพัฒนาตั้งแต่เริ่มต้นแล้วดีขึ้นเรื่อยๆไป เน้นย้ำการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการทำงานและพัฒนาคุณภาพ และต่อมาแนวคิดของWHOที่ออกมาในเรื่องสุขภาพนั้นไม่ใช่แค่รักษาอาการเจ็บป่วยเท่านั้น แต่ต้องมุ่งไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย จึงได้มีการนำแนวคิดHPHของกรมอนามัยเข้ามาผนวกด้วย

         เกณฑ์การประเมินนั้นเป็นฉบับบูรณาการชื่อว่าฉบับกาญจนาภิเษd แบ่งออกเป็น 2 หมวดใหญ่ๆคือ

     -   เกณฑ์ระดับโรงพยาบาล เช่นการติดเชื้อในโรงพยาบาล,ทรัพยากรบุคคล,การดูแลผู้ป่วย เป็นต้น

     -   เกณฑ์ระดับหน่วยงาน ก็คือ 9 ข้อที่เรียกว่า GEN 1-9 เรียกย่อๆว่า MOMEPEISI(โมเมไปซิ) 

      เดิมจะมีการประเมินในภาพรวมเลย ทำให้โรงพยาบาลรู้สึกว่ายากกว่าจะผ่านได้เพราะต้องผ่านทั้งระบบ แยกประเมินเฉพาะจุดไม่ได้ ทาง รพร.จึงได้กำหนดระดับการประเมินออกเป็น 3 ขั้น เรียกว่า บันได 3 ขั้น โรงพยาบาลจะสามารถพัฒนาให้ผ่านไปทีละขั้น้หรือผ่านทีเดียว 3 ขั้นเลยก็ได้

       บันได 3 ขั้นนั้นคือขั้นทบทวนความเสี่ยง ขั้นประกันคุณภาพและขั้นวัฒนธรรมคุณภาพ โดยในขั้นแรกเน้นให้โรงพยาบาลทบทวนความเสี่ยงสำคัญๆของโรงพยาบาลเรียกว่า ทบทวน 12 กิจกรรม หลังจากนั้นก็เริ่มวางระบบสำคัญๆ เขียนแบบประเมินตนเอง เขียนUnit profiles จัดระบบงานที่สำคัญๆ แล้วขั้นที่สามก็คือวางระบบได้สมบูรณ์ครบทั้งองค์การและมีการทำกิจกรรมคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

        โรงพยาบาลที่ผ่านการประเมิน HAแล้ว ใบรับรองจะมีอายุ 2 ปี ในครั้งแรกและ 3 ปีในครั้งต่อๆไป

         ในการประเมินนั้น แบบประเมินจะมีคะแนน 1-5 ในทุกระบบงานของโรงพยาบาลต้องผ่านตั้งแต่ 3 ขึ้นไป ในทุกระบบจึงจะผ่านHAได้

          ปัจจุบัน พรพ.กำลังปรับมาตรฐานใหม่เพื่อให้ครอบคลุมทั้งเกณฑ์ HAเดิม เกณฑ์HPHและเกณฑ์บริหารสู่ความเป็นเลิศของTQA ข้อมูลอื่นๆติดตามได้ใน www.ha.or.th ครับ  

คำสำคัญ (Tags): #kmกับคุณภาพ
หมายเลขบันทึก: 10747เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2005 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 13:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

     ผมว่าเป็นสรุปย่อ HA ที่หลาย ๆ คนที่เป็นผู้รับบริการสามารถเข้าใจ และเข้าถึงได้ครับ

     ขออนุญาตนำไปใช้เพื่อถ่ายทอดต่อ ๆ ไป ว่าหมอได้สรุป HA ไว้ เข้าใจง่าย ๆ และเป็นการสรุปจากนักปฏิบัติจริง ครับ

ด้วยความยินดีครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท