ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้ฟังการนำเสนอของโรงพยาบาล" สุขสำราญ" เป็นโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดระนอง ซึ่งผู้เล่า(พยาบาลจบใหม่) ได้เล่าถึงประสบการณ์ความรู้สึกในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน โดยเล่าเป็นเรื่องเบาๆ หวานๆ ให้ฟัง ผู้เล่าเล่าด้วยน้ำเสียงที่เบาและหวานสมกับชื่อเรื่องจริงๆ มาฟังเขาเล่ากันเลยนะคะ
เดือนพฤษภาคม เป็นฤดูแห่งการโยกย้าย คนที่ได้ย้ายก็กระตือรือร้นที่จะมอบหมายงานให้คนต่อไป คนที่มารับงานใหม่อย่างฉัน ก็กังวลเหลือเกิน หนึ่งในงานที่ต้องรับมาก็คืองานเบาหวาน ฉันจะทำอย่างไรดี นับวันผู้ป่วยก็มากขึ้น ภาวะแทรกซ้อนก็มาก รู้ก็รู้อยู่ว่าลำพังการรับยาอย่างเดียวคงไม่ทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ แต่จะทำอย่างไรได้ก็งานผู้ป่วยนอกแต่ละวันก็ล้นแล้ว จะเอาเวลาที่ไหนมาสอนให้ความรู้ แต่ถึงอย่างไรฉันก็ต้องทำให้ได้ โชคดีนะ! ที่ผู้อำนวยการและหัวหน้าของฉัน ท่านมีวิสัยทัศน์และสนับสนุนเต็มที่ ถ้าอย่างนั้น เราต้องเริ่มกันเลย แต่จะเริ่มอย่างไรดีล่ะ? คำถามมากมายอีกแล้ว ไหนลองทบทวนดูซิ ว่าเขา(ผู้ป่วย)ต้องการอะไร แล้วเราทำอะไรให้ผู้ป่วยบ้าง
ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มานั่งรอกันตั้งแต่ 7 โมงเช้า กว่าจะได้กลับบ้านเกือบเที่ยง แล้วได้ยา 1 ถุง พร้อมกับคำแนะนำแบบรถด่วนของพยาบาลหน้าห้องตรวจ(ก็คนข้างหลังเค้าเร่งมานี่) เพียงพอแล้วรึ? เราทำเต็มที่แล้วหรือ ถ้าอย่างนั้นเราต้องทำอย่างไรล่ะ เกิดการระดมความคิดและแนวทางปฏิบัติขึ้น เป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์มากที่สุด นี่แหละคือจุดแข็งของเรา เรามีทีมสหวิชาชีพที่ร่วมมือร่วมใจกันอย่างเข้มแข็ง
แต่จุดอ่อนของเราก็มีนะ เพราะถึงอย่างไรเราก็มักจะมีแพทย์ตรวจเพียง 1 คน จะเร่งอย่างไรเวลาก็คงไม่เร็วกว่านี้ แต่จะให้เขารอพบแพทย์ โดยไม่เสียเวลาเปล่าๆ ถ้าอย่างนั้นต้องจัดกิจกรรม เรื่องอะไรดีล่ะ? ก็ต้องเกี่ยวกับเรื่องเบาหวานนี่แหละ แต่จะทำอย่างไรให้แตกต่างและได้ผล ก็ต้องเริ่มจากคำถามอีกแล้ว แล้วตัวผู้ป่วยเอง ต้องการอะไรบ้างล่ะ ต้องไปถาม
· โต๊ะ(ยาย)อามิน๊ะ บอกว่า “โต๊ะกินไวตามิลทุกวัน ลูกซื้อมาไว้ให้เป็นโหลๆเลย ดีมั้ย?”
· ป้าสุมล บอกว่า “ฉันก็คุมอาหารนะ มื้อเช้าไม่กินอะไรเลย แต่ตอนเที่ยงกับตอนเย็นหิวมาก กินไปตั้ง 2 จาน”
· “ตอนนี้ หน้ามังคุด เก็บมังคุดขายทุกวัน ลูกที่ไม่สวย พ่อค้าไม่ซื้อ ลุงก็เอามากิน วันหนึ่งก็ไม่มากหรอก แค่ 1 กิโลเอง” คำพูดจาก ลุงหมัดยูโซ๊ะ
อ๋อ ! นี่เขาไม่รู้ว่ากินอะไรได้แค่ไหน...... แล้วจ๊ะ(พี่) ตีต๋า ล่ะ น้ำหนัก 101 กิโล ออกกำลังกายอย่างไรบ้างจ๊ะ ?..... ฉันแก่แล้วแอโรบิกไม่ไหวหรอก ให้คนหนุ่มสาวเขาทำกันเถอะ...... อ๋อ !! นี่ไม่รู้วิธีออกกำลังกาย.....ป้าเป็นเบาหวานมา 5 ปี เมื่อก่อนตาไม่มัวนะ ทำไมช่วงนี้ตามัวจัง.....นี่ก็ไม่รู้เรื่องภาวะแทรกซ้อน......ฯลฯ
สรุปว่า จากที่ฉันถามคนโน้นคนนี่มา ต้องให้ความรู้เรื่อง
· การควบคุมอาหารและหมวดอาหารแลกเปลี่ยน
· การออกกำลังกาย
· ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
· การรับยาและติดตามผลการรักษา
· วิธีการสอน ก็นำอาหารตัวอย่างมาสาธิต สัดส่วนกันให้เห็นๆไปเลย เรียนกันแบบสัมผัสได้จริงๆ ให้ญาติเข้ามาร่วมกลุ่มด้วย เชิญเภสัชกรมาสอนเรื่องยา ทันตแพทย์ตรวจฟัน
· ออกกำลังกาย ก็ฝึกทำกันจริงๆ ทำไปพร้อมๆกัน ใครควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี ก็มีการชมเชยให้กำลังใจ และออกมาเล่าให้เพื่อในกลุ่มฟังถึงการปฏิบัติตัวของตนเอง
· เรื่องของภาวะแทรกซ้อนก็มีการพูดถึงทุกครั้ง ที่สำคัญก่อนกลับบ้าน เราจะมีการทบทวนถึงผลของการรักษาวันนั้น ระดับน้ำตาล ความดันโลหิต วันนัด ยาและวิธีรับประทาน หรือ ถ้าใครฉีดยา ก็ต้องทบทวนถึงวิธีฉีด ปริมาณ จำนวน กันทุกราย
ตอนนี้ทั้งฉันและผู้ป่วยเบาหวาน ก็มีสีหน้า สดชื่นแจ่มใส ฉันเองก็มีความสุข ที่ได้ทำงานมีจุดมุ่งหมายและเป้าหมายที่ชัดเจน ผู้ป่วยเบาหวานก็มีระดับน้ำตาลที่ดีขึ้น ถึงแม้บางครั้งจะพบปัญหาอุปสรรคบ้าง ก็ไม่ย่อท้อ ยังคงมุ่งมั่นคิดหาวิธีที่ดีเพื่อพัฒนาต่อไป
ในฐานะของผู้ที่ได้รับฟังรู้สึกประทับใจในการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยเบาหวานโดยให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมและ Patient Focus ต้องอยู่ในใจของผู้ปฏิบัติงานจึงแสดงออกมาในกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยปลอดภัยได้อย่างเป็นรูปธรรม และที่สำคัญ Visionary leadership ของผู้บริหารมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้งานประสบความสำเร็จ