นายและนาง Blue Angel อาสาสมัครพิทักษ์ใจในโรงพยาบาล 3


ตัวอย่างดี ๆ ของการไม่ดูดายแม้เรื่องเล็กน้อย เพื่อผ่อนคลายความทุกข์ผู้ป่วยทั้งกายใจ

            อาจารย์สาริณี โรหิตจันทร์ อดีตผู้ตรวจการพยาบาลวัย 63 ปี ซึ่งร่วมทำโครงการนี้มาตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ภายหลังเกษียณอายุราชการแล้วก็ยังอาสามาดูแลต่อเนื่องโดยให้เหตุผลว่าแม้ “Blue Angel” จะมีการทำงานอย่างเป็นระบบดีแล้วก็ยังต้องควบคุมคุณภาพสม่ำเสมอ และที่สำคัญที่สุดคือภูมิใจที่ได้สร้างคนดีให้สังคม

          จากผลที่เห็นชัดเจนในงานบริการของโรงพยาบาลที่มีเสียงสะท้อนจากทั้งคนไข้และญาติผู้รับบริการ รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ของโรงพยาบาล รู้สึกดีและอยากให้โครงการนี้ทำต่อไป ส่วนเจ้าหน้าที่ Blue Angel ก็มีความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน นั่นคือ ความมีใจบริการที่ติดเป็นนิสัย นำกลับไปปฏิบัติในงานประจำของตน ด้วยความเข้าใจและเห็นใจผู้ป่วย ผู้มารับบริการ หลายคนเคยใจร้อนหงุดหงิดรำคาญเมื่อผู้ป่วยถามซ้ำซากและแสดงอารมณ์ออกไปก็ปรับเปลี่ยนและยังไปสร้างนิสัยดี ๆ เหล่านี้กับเพื่อนร่วมงาน

 

อาจารย์สาริณี กล่าวว่า Blue Angel รพ.รามาธิบดี เกิดขึ้นโดยแพทย์และบุลากรการแพทย์ของโรงพยาบาลที่ตระหนักถึงปัญหาการให้บริการของโรงพยาบาลซึ่งแต่ละวันมีผู้มาใช้บริการมากถึง 4,000-5,000 คน แต่โรงพยาบาลมีสถานที่น้อย หน่วยงานต่าง ๆ อยู่กระจายหลายที่ ทำให้ยากต่อการติดต่อหรือค้นหา เป็นความยากลำบากของผู้มาใช้บริการโดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่ไม่เคยใช้บริการมาก่อน

          จึงร่วมกันดำเนินกิจกรรมนี้ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และพึงพอใจ โดยเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ปฏิบัติงานจากพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล และเจ้าหน้าที่ธุรการ มาทำงานนอกเวลางานปกติของตนเอง ต้องเป็นคนที่รู้จักสถานที่ของโรงพยาบาลดี จึงกำหนดว่าต้องมีประสบการณ์ทำงานในโรงพยาบาลมาไม่น้อยกว่า 3 ปีและที่สำคัญต้องมีใจบริการและอยากทำ ปรากฎว่าเปิดรับสมัครครั้งแรกมีคนอาสามาทำถึง 300 คนจนคณะกรรมการต้องคัดเลือกอย่างหนักจนได้ Blue Angel รุ่นแรกราว 100 คนเศษ

            งานของ “Blue Angel” คือการให้บริการอำนวยความสะดวกทุกอย่างนอกจุดตรวจรักษาซึ่งเป็นหน้าที่ของแพทย์และพยาบาล คนที่ถูกคัดเลือก ทุกคนเห็นปัญหา ทุกคนให้ความสนใจ ทุกคนอยากทำและสนใจที่จะทำ และที่ภูมิใจที่สุดคือได้สร้างคนดีสู่สังคม

            “ทุกคนที่มาทำ บอกว่า อาจารย์หนูติดเป็นนิสัยไปเลย เพราะเวลาทำงานเขาจะหน้าบึ้งไม่ได้ ต้องยิ้มตลอดและเดินเข้าหา เขาก็เอานิสัยดี ๆ อย่างนี้ขึ้นไปใช้กับการทำงานปกติ บางคนบอกว่าบางทีจะโมโหก็นึกได้ว่าต้องยิ้มไว้ เวลาคนไข้เรียกบ่อย ๆ จากที่เคยหงุดหงิดก็คิดได้เข้าใจเขา และติดเป็นนิสัยเห็นใครก็อยากช่วยเหลือเขา”

             อาจารย์สาริณีกล่าวอย่างภูมิใจ พร้อมกับบอกว่า บทบาทตัวเองคือคอยจัดเวรให้ตามใบขอเวรคือเวลาว่างที่เขาอยากมาทำ เฉลี่ยให้เหมาะสม พร้อมกับคอยตรวจตราการปฏิบัติงานสม่ำเสมอ และมีการให้กำลังใจกันในลักษณะต่าง ๆ เช่น การชมเชย การให้รางวัลประกาศเกียรติคุณสำหรับคนที่ปฏิบัติงานดีเด่นประจำปี เป็นต้น ในการปฏิบัติงานทุกวันหัวหน้าเวรจะบันทึกปัญหาและข้อเสนอแนะที่เขาเจอในแต่ละวัน จากนั้นจะมีการประมวลผลสรุปส่งให้หน่วยงานต่าง ๆ

               Blue Angel จึงเป็นส่วนหนึ่งที่คอยตรวจตราปัญหาให้นำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพบริการให้ดีขึ้น ช่วยลดแรงปะทะและการฟ้องร้องจากความไม่เข้าใจระหว่างคนไข้กับการบริการของโรงพยาบาลได้มาก การปฏิบัติงานของ Blue Angel นอกจากสร้างความเข้าใจและความประทับใจทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ และนำไปสู่การมีศรัทธาที่ดีต่อการรักษาพยาบาล

            เช่น Blue Angel คนหนึ่งเล่าความประทับใจว่าระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่หน้าห้องอายุรกรรม เห็นผู้ป่วยสูงอายุคนหนึ่งที่นอนรอตรวจอยู่โดยไม่มีญาติเฝ้ากำลังจะตกเตียง เขารีบวิ่งไปรับไว้ได้ทัน เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้คนไข้ประทับใจในการเอาใจใส่ดูแล ขณะเดียวกัน Blue Angel ผู้ปฏิบัติก็รู้สึกหัวใจพองโตจากการได้ช่วยชีวิตให้ผู้ป่วยที่กำลังแย่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

            Blue Angel หลายคนจึงมีแฟนคลับและเป็นที่รู้กันว่าเมื่อเขามาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี นายและนางชุดสีฟ้าเหล่านี้สามารถช่วยเขาได้ ซึ่งพวกเขาปฏิบัติการอย่างแข็งขันเพื่อไปสู่วิชั่นที่ว่า “Blue Angel บริการผู้ป่วยด้วยใจมุ่งมั่น เพื่อความเป็นเลิศ สร้างความประทับใจการบริการ”

           นี่คือเรื่องราวดี ๆ อีกแง่มุมของระบบบริการสุขภาพที่แสดงถึงความใส่ใจที่มากกว่าการรักษาโรค คำนึงถึง “ความเป็นมนุษย์” ของทุกผู้คนที่ป่วยไข้ นอกจากความมีใจบริการแล้วเขาเหล่านี้ทำด้วยจิตอาสาแท้จริง และมีความสุขกับการได้ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นสังคมดี ๆ ที่เราทุกคนก็สร้างได้.

บทความเผยแพ่โดย งานสื่อสารสาธารณะ แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

หมายเลขบันทึก: 105959เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2007 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 12:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผู้ป่วยนอนเปลในที่โล่งเพื่อรอตรวจเป็นทุกขเวทนาอย่างหนึ่ง  หลายคนจะเป็นลม ตกเตียง หรือช็อคก็ช่วงนี้  แพทย์พยาบาลก็งานล้นมือ  รามาธิบดีมีใครบางคนคอยดูแลผู้ป่วยนอนเปลเหล่านี้  เป็นความดีมากๆอีกข้อหนึ่งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท