อริยมรรค


อริยมรรค

ความหมายของศัพท์
สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับศัพท์ทางศาสนา พอเห็นชื่อเรื่องก็คงทำหน้าเหมือนเจอยาขมหม้อใหญ่ ทั้งๆที่ในชีวิตประจำวันเราก็ได้ปฏิบัติอริยมรรคกันทุกคน จะต่างกันก็เพียงแต่ว่า เราจะรู้หรือเปล่าว่าสิ่งที่เราปฏิบัติอยู่นั้นเขาเรียกว่าอะไร หรือว่าเราปฏิบัติได้อย่างครบเครื่องหรือเปล่า หากปฏิบัติได้ครบเครื่องก็จะได้รับประโยชน์อย่างมากมายทั้งคดีโลกและคดีธรรม


ดังนั้น เราจึงควรหันมาสนใจอริยมรรค ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติอันสำคัญยิ่งในพุทธศาสนา แม้ว่าการเรียกร้องให้ “บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยไว้ในรัฐธรรมนูญ” จะไม่ประสบผลสำเร็จ ก็ไม่น่าเสียใจแต่อย่างใด หากเราจะหันมาส่งเสริมให้มีการศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมาแทน เพื่อให้พระพุทธศาสนาประทับอยู่ในใจของพุทธศาสนิกชนทุกคน


ก่อนอื่นผู้เขียนใคร่จะเสนอความหมายของศัพท์เสียก่อน อริยมรรค มาจากคำว่า อริย+มรรค อริยแปลว่าประเสริฐ มรรคแปลว่าทาง อริยมรรคจึงแปลว่าทางอันประเสริฐ หรือทางของพระอริยเจ้า คำว่าทางนี้ หมายถึงการปฏิบัติหรือการเดินทางเพื่อให้พ้นจากความทุกข์มีชื่อเรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา


อริยมรรค เป็นทางปฏิบัติที่มีองค์ประกอบ 8 คือ สัมมาทิฏฐิ-มีความเห็นชอบ, สัมมาสังกัปปะ-มีความดำริชอบ,สัมมาวาจา-มีวาจาชอบ,สัมมากัมมันตะ-มีการงานชอบ,สัมมาอาชีวะ-เลี้ยงชีวิตชอบ,สัมมาวายามะ -มีความเพียรชอบ,สัมมาสติ-มีความระลึกชอบ,สัมมาสมาธิ-มีความตั้งมั่นชอบ จึงเรียกว่าอริยมรรคมีองค์ 8


อริยมรรคสามารถสรุปเป็นปัญญา ศีล สมาธิคือความเห็นชอบความดำริชอบเป็นปัญญา,วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบเป็นศีล,ความเพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งมั่นชอบเป็นสมาธิ ทั้งหมดนี้ต้องเป็นธรรมสามัคคี คือมีความพร้อมเพรียงกันจึงทำให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่หรือมีประสิทธิผล ตั้งต้นแต่ทำงานในหน้าที่ไปจนถึงการแทงตลอดอริยสัจ 4


ความเห็นชอบ อริยมรรคเริ่มที่ปัญญา คำว่าความเห็นชอบคือมีความรู้ความเห็นในเรื่องนั้นๆอย่างทั่วถึง คือรู้ว่าเป็นอะไร รู้จักความเกิด ความสลาย คุณ โทษและการปล่อยวางเช่นรู้ว่าเป็นกศล รู้ว่าอะไรเป็นเหตุเกิดขึ้นของกุศลเป็นต้น หรือความรู้ชอบดังพุทธดำรัสที่ว่า รู้ในทุกข์ รู้เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ รู้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์


ความเห็นชอบ จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะปัจจัย 2 อย่างคือปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน


ปัจจัยภายนอกได้แก่ การรับฟังหรือเรียนรู้จากปัจจัยภายนอกตัวเรา เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ สื่อต่างๆ เรียกว่าปรโตโฆสะ หมายถึงความรู้ที่ถูกต้องจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ากัลยาณมิตร ส่วนปัจจัยภายในคือการพิจารณาใคร่ครวญอย่างรอบคอบเรียกว่าโยนิโสมนสิการ


กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการเปรียบเสมือนแสงเงินแสงทองของความเห็นชอบ แสงเงินแสงทองเป็นนิมิตหมายให้รู้อรุณรุ่งฉันใด กาลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการก็เป็นนิมิตหมายให้รู้ว่าจะเกิดความเห็นชอบฉันนั้น
 

คำสำคัญ (Tags): #อริยมรรค
หมายเลขบันทึก: 105074เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2007 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2012 12:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พระมหา สำราญ กาญจนวงศ์  .....

เข้ามาเยี่ยม....

เขียนดี.... แต่ไม่น่าอ่าน เพราะย่อหน้าและการจัดวรรคตอน ไม่มี

ดังนั้น น่าจะ มี ...เพื่อจะช่วยให้อ่านง่าย และเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น...

อามนฺตา

ขอบคุณ...แต่กำลังมึนอยู่ เอาไว้เรียนรู้วิธีจัดการบล็อกได้ดีกว่านี้จะรีบแก้ไข ตอนนี้กำลังมึนเจ็ดด้านครึ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท