ยาในผู้สูงอายุ


ยาในผู้สูงอายุ

                                                        การใช้ยาในผู้สูงอายุ

ผู้สูงอาย จัดได้ว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง หรือมีโอกาสที่จะได้รับอันตรายจากการใช้ยา ได้มากกว่าบุคคลทั่วไป เพราะอายุที่มากขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายเสื่อมลง ดังนั้นการใช้ยา จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ 

 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาในผู้สูงอายุ ปัจจัยที่อาจมีผลทำให้ผู้สูงอายุ มีโอกาสที่จะได้รับอันตราย จากการใช้ยาเพิ่มขึ้น

การทำงานของไต เมื่ออายุมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานของไตจะลดลง ดังนั้น การขับถ่ายยาออกจากร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่ยา จะถูกขับถ่ายออกทางไตย่อมลดน้อยลง ทำให้มีโอกาสที่ยาจะสะสมในร่างกายสูงขึ้น จนเกิดเกิดอาการพิษได้

การทำงานของตับ ยาที่ให้โดยการรับประทาน มักจะผ่านขบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นแรกที่ตับ ถ้าขบวนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เสื่อมประสิทธิภาพ จะทำให้มีระดับยาในเลือดสูง จนอาจเกิดอันตรายได้

ความไวต่อยาที่ออกฤทธิ์ ต่อระบบประสาทส่วนกลาง และระบบการทำงานของ หลอดเลือดและหัวใจ ผู้สูงอายุมักจะมีความไว ต่อยาที่ออกฤทธิ์บริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดอาการข้างเคียงของยาเพิ่มขึ้น

ความจำของผู้สูงอาย เมื่ออายุมากขึ้น ผู้สูงอายุอาจจะมีอาการหลงลืมได้ง่าย อาจเกิดปัญหาการใช้ยาไม่ครบตามที่กำหนด หรือการใช้ยาซ้ำซ้อน อาจทำให้เชื้อดื้อยา รักษาไม่หาย หรือเกิดอาการเป็นพิษ เนื่องจากการใช้ยาเกินขนาดได้

น้ำหนักผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่มีน้ำหนักน้อย หรือมากกว่าเกณฑ์ปกติ จำเป็นต้องพิจารณาขนาดยาให้เหมาะสม

โรคในผู้สูงอายุ ซึ่งมักเป็นหลายโรค ถ้าต้องพบแพทย์หลายคน มีโอกาสได้รับยาซ้ำซ้อน จึงอาจได้รับยาเกินขนาดได้

ข้อควรปฏิบัติในการใช้ยาของผู้สูงอายุ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้สูงอายุและผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุควรปฏิบัติดังนี้

1.แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่ ยิ่งถ้าผู้สูงอายุนั้นไม่มีแพทย์ประจำตัว หรือเปลี่ยนแพทย์บ่อยๆ จำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์แต่ละคน ทราบถึงยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือนำยาที่รับประทานอยู่ประจำไปด้วย เพื่อประกอบการพิจารณาการจ่ายยาของแพทย์  

2.แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้น เพราะอาการนั้น อาจจะเป็นอาการที่เกิดจากยาที่ผู้สูงอายุใช้อยู่ เช่น ใช้ยาไปแล้วมีอาการหูตึง ได้ยินเสียงไม่ชัดเจน เป็นต้น 

 3.ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อแพทย์จะได้เลือกชนิดยาที่เหมาะสม เช่น ให้ยาน้ำแทนยาเม็ด เป็นต้น

4.สอบถามแพทย์เกี่ยวกับข้อบ่งชี้ และผลข้างเคียงของยาแต่ละชนิดให้ชัดเจน เช่น จะหยุดยานี้ได้เมื่อใด ขณะทำงานจะรับประทานยานี้ได้หรือไม่

5.สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร เกี่ยวกับอาหารที่รับประทานว่า มีผลต่อการใช้ยาหรือไม่ อย่างไร

 6.อ่านฉลากยา และปฏิบัติตามคำแนะนำทุกขั้นตอน ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

7.รับประทานยาตามที่แพทย์ หรือเภสัชกรแนะนำอย่างเคร่งครัด ในรายที่มีอาการหลงลืม ควรใช้สิ่งช่วยจดจำ เช่น ปฏิทิน หรือกล่องใส่ยาชนิดที่รับประทานช่องละหนึ่งครั้ง หรือให้ผู้ดูแลคอยจดจำแทน เพื่อจะได้ไม่ลืมรับประทานยา และป้องกันการรับประทานยาซ้ำซ้อน   

                                               ยาเก่า-คนแก่ จะดูแลอย่างไร               

คนสูงอายุส่วนใหญ่ จะมีโรคประจำตัวหลายอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสุง ดังนั้น ยาที่ใช้รักษาโรคมีหลายชนิดและมีวิธีใช้ที่แตกต่างกัน ปัญหาที่พบบ่อยๆคือ1. ไม่ได้รับประทานยาครบทุกมื้อตามฉลากระบุ (ตามที่แพทย์สั่งให้)2. รับประทานยาครบทุกมื้อแต่ไม่ครบทุกวัน (ตามสั่ง)3. รับประทานยาครบมื้อครบวัน แต่ไม่ครบทุกรายการ (ชนิดของยา) 

ข้อแนะนำในการใช้ยาในผู้สูงอายุ

1.        ยาประเภทเป็นเม็ดบรรจุขวด ขวดยาที่เปิดใช้แล้วมีโอกาสที่เม็ดยาจะชื้น เพราะอาจปิดฝาไม่แน่น ทำให้ยาเสื่อมสภาพง่ายกว่ายาที่ยังไม่ได้เปิดใช้ หากเทรวมกันโดยตรงอาจทำให้ยาใหม่ที่ได้มาชื้นด้วย และมีอายุการใช้งานสั้นลง ควรปฏิบัติ ดังนี้

-         ถ้ายาเก่าเหลือน้อยให้ใช้ยาเก่าให้หมดก่อน ทำความสะอาดขวดยาโดยการเช็ดให้แห้งแล้วจึงเอายาใหม่ใส่

-         ถ้ายาเก่าเหลือมาก อย่าเปิดยาใหม่ใช้ ปิดซองยาให้สนิท นำยาใหม่แยกเก็บไว้ต่างหาก ให้สามารถรู้ได้ว่าเป็นยาชนิดเดียวกัน

2.        ยาประเภทบรรจุแผงฟอยด์อะลูมิเนียม ให้ถือว่ายาที่ได้มาก่อน (ยาเก่า) ใช้ก่อนยาที่ได้มาหลัง (ยาใหม่) ถ้าจะรวมซองเดียวกันก็ให้รู้ว่าจะหยิบยาเก่าใช้ก่อน เพราะยาใหม่ที่ได้มาน่าจะมีอายุยายาวกว่า แต่ก็ไม่แน่เสมอไปให้ตรวจสอบได้ที่แผงยาจะมีระบุวันหมดอายุไว้ด้วย

3.        ยาน้ำชนิดเดียวกัน ขวดที่ใช้แล้วกับขวดใหม่ ไม่ควรเทรวมกันให้ใช้หมดเป็นขวดๆไป โดยถือหลักเช่นเดียวกัน ยาที่ได้มาก่อน (ยาเก่า) ใช้ก่อน ยาที่ได้มาทีหลัง (ยาใหม่)  ใช้หลัง โดยอายุของยาที่ฉลากประกอบด้วย ให้ใช้ยาที่มีอายุสั้นกว่าก่อนยาที่มีอายุยาวกว่าในกรณีที่แพทย์สั่งเปลี่ยนยาชนิดใหม่มีการหยุดยาเดิมบางตัวและเปลี่ยนยาชนิดใหม่ให้ ก็ให้แน่ใจว่าได้เอายาเดิมที่แพทย์สั่งงดใช้นั้นออกไปไม่ได้ทานซ้ำกับยาชนิดใหม่ที่แพทย์ให้ หากไม่แน่ใจ ให้สอบถามเภสัชกรโรงพยาบาลให้เข้าใจ หรือถ้ากลับแล้วจะโทรศัพท์สอบถาม หรือจะถามจากเภสัชกรที่อยู่ประจำในร้านขายยาก็ได้ โดยมีข้อมูลของยาเดิมและยาใหม่พอที่จะตอบได้ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลเกือบทุกแห่งจะมีชื่อยาระบุไว้อย่างชัดเจน                                     

                                        ยาพาราเซตามอล                

ยาพาราเซตามอล เป็นยาสามัญประจำบ้าน มีขายในชื่อการค้าต่างๆ กัน เช่น ไทลินอล พานาดอล เทมปร้า คาลปอล ซาร่า พาราคิทไซรัปและอื่นๆอีกมากมาย นอกจากนี้ยังมีผสมอยู่ในยาแก้ไข้หวัดหลายยี่ห้อ เช่น  ดีคอลเจน ทิฟฟี่ นูต้า เป็นต้น บางทีก็ผสมอยู่ในยาแก้ปวดกล้ามเนื้อ เช่น มัสคอล นอร์เจสิก พาราฟอน ฟอร์ต เป้นต้น 

 ยาพาราเซตามอล ใช้เพื่อเป็นยาบรรเทาอาการปวดหรือลดไข้ แต่ไม่สามารถลดอาการ กล้ามเนื้อเกร็ง บวมแดง หรือข้ออักเสบได้โดยตัวของพาราเซตามอลเองยาพาราเซตามอลหาซื้อได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งยาแพทย์ แต่ไม่ควรซื้อเก็บไว้เป็นจำนวนมาก ยาพาราเซตามอลมีอายุไม่เกิน 5 ปี นับจากวันที่ผลิต ส่วนชนิดน้ำสำหรับเด็กปกติมีอายุไม่เกิน 3 ปี และถ้าเปิดขวดแล้วไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 6 เดือน แต่ถ้ายามีลักษณะสี กลิ่น รส เปลี่ยนไปก่อนวันหมดอายุก็ควรทำลายทิ้งเสียการกินยาพาราเซตามอลไม่ควรกินมากหรือกินติดต่อกันนานเกินไป  เพราะมีผลทำให้เกิดตับอักเสบ  และเป็นอันตราย ในผู้ใหญ่ที่ใช้ยาแก้ปวดไม่ควรกินต่อเนื่องกันเกิน 10 วัน ในเด็กไม่ควรกินต่อเนื่องกันเกิน 5 วัน ในผู้ใหญ่หรือเด็กที่มีไข้สูงมาก หรือมีไข้ติดต่อกันเกิน 3 วัน หรือเคยมีไข้หายไปแล้วกลับมามีไข้อีก ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของไข้ในเด็ก ไม่ควรให้กินพาราเซตามอลเกินวันละ 5 ครั้ง นอกจากแพทย์สั่งเป็นพิเศษ

เมื่อใช้ยาพาราเซตามอลไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งเสริมฤทธิ์การเป็นพิษต่อตับยิ่งขึ้น และก่อนใช้ยาสามัญอื่นๆ เช่น ยาแก้ไข้หวัด ยาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ควรอ่านดูส่วนประกอบเสียก่อนว่ามียาพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบด้วยหรือไม่ เพื่อป้องกันการได้รับยาซ้ำซ้อนจนเกินขนาดผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ไวรัสตับอักเสบ ตับแข็ง ไม่ควรซ้อยาพาราเซตามอลมากินเองเพราะจะทำให้อาการเลวลงได้การเก็บรักษายาพาราเซตามอลควรเก็บในขวดที่ปิดแน่น  ไม่โดนแสงแดด  ไม่เก็บในที่ร้อนและชื้น ต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็ก เก็บในอุณหภูมิธรรมดาได้ไม่จำเป็นต้องเก็บในตู้เย็น  

คำสำคัญ (Tags): #ยาในผู้สูงอายุ
หมายเลขบันทึก: 104462เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2007 09:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท