ผมได้อ่านในหนังสือพิมพ์มติชน รายวัน มีบทความที่ดีมาก ให้ข้อคิดที่ดีต่อคนในแวดวงสาธารณสุข ผมจึงขอคัดลอกมาให้อ่านในเว็บนี้ด้วยครับ เป็นบทความของคอลัมน์ จิตวิวัฒน์ โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) [email protected] ผมคัดลอกมาทั้งหมดโดยมิได้ตัดต่อหรือดัดแปลง ครับ
บุคคลสำคัญ ที่ต้องลดตนเป็นคนเล็กๆ เพื่อที่จะทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่
คอลัมน์ จิตวิวัฒน์
โดยสรยุทธ รัตนพจนารถ แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) [email protected]
ภายในโรงพยาบาลซินเตี้ยนมูลนิธิพุทธฉือจี้ เมืองไทเป มีป้ายประกาศปรัชญาของโรงพยาบาล สวยสง่าท้าทายระบบทุนนิยมอยู่ ที่ป้ายมีประโยคเรียบง่ายว่า "The Mission to be a Humane Doctor." (พันธกิจ คือการเป็นแพทย์ที่มีความเป็นมนุษย์)
ใครที่รู้จักงานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก "พระบิดาของวงการแพทย์ไทย"คงจะอึ้งทึ่งกับข้อความซึ่งช่างคล้ายคลึงกับข้อแนะนำที่ท่านเคยพระราชทานให้แก่แพทย์ไทยที่ว่า "ขอให้ท่านทั้งหลายที่จบการศึกษาเป็นทั้งแพทย์และมนุษย์เดินดิน"(I do not want you to be only a doctor, but I also want you to be a man.)
พันธกิจที่ติดไว้ก็ไม่ได้เป็นแค่คำพูดโก้ๆ มีไว้ประกอบการขอมาตรฐาน ISO แต่แสดงออกในทุกมิติของโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่คำกล่าวของ นพ.หูจื้อถังผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ว่า "แพทย์และพยาบาลเป็นบุคคลสำคัญ ที่ต้องลดตนเป็นคนเล็กๆเพื่อที่จะทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่"
หรือคำพูด นพ.ไช่ซื่อชือรองผู้อำนวยการที่ว่า "ต้องเคารพนับถือผู้ป่วยทุกคน เพราะถือว่าเป็นอาจารย์ของเรา"แพทย์ของที่นี่ยิ้มแย้มแจ่มใส ปฏิบัติต่อผู้ป่วยเสมือนญาติบางครั้งยังเข็นรถเข็นผู้ป่วยออกมาส่งด้วยตนเอง
หากท่านเดินเข้าไปในโรงพยาบาลซินเตี้ยนท่านก็คงจะแปลกใจกับบรรยากาศที่ไม่เพียงอบร่ำไปด้วยรอยยิ้มแต่ยังมีเสียงดนตรีจากแกรนด์เปียโนที่อาสาสมัครชาวฉือจี้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเล่นทั้งดนตรีคลาสสิคและดนตรีป๊อป ให้ผู้ป่วยและญาติได้ผ่อนคลายทุกวัน
เมื่อก้าวเท้าเข้ามาในอาคารก็มีอาสาสมัครที่มารอรับด้วยรอยยิ้มและคำขอบคุณ(ที่ทำให้พวกเขามีโอกาสได้บำเพ็ญตนรับใช้ท่าน)พร้อมช่วยเหลือพาท่านทำกิจกรรมต่างๆจนเสร็จกระบวนการ
แต่งานอาสาเหล่านี้ไม่ใช่จะได้มาทำง่ายๆอาสาสมัครต้องผ่านการฝึกฝนก่อนและต้องรอคิวนานถึงเกือบปีจึงจะได้มีโอกาสมาทำกิจอาสาเพียง 1 วัน เพราะอาสาสมัครเหล่านี้ถือเช่นเดียวกับที่ นพ.เจี่ยนฮุ่ยเถิง กล่าวว่า "โรงพยาบาลเป็นทั้งสถานประกอบอาชีพและที่ปฏิบัติธรรมเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและปูทางให้คนไข้เดินหน้าไปได้สะดวกขึ้น"งานประจำและงานจิตอาสาที่มีคุณค่าเหล่านี้คือความดีที่หล่อเลี้ยงชีวิต
โรงพยาบาลมาตรฐานชั้นหนึ่งระดับนานาชาติแห่งนี้รับรักษาผู้ป่วยทุกคน ทุกระดับ ด้วยจิตบริการเสมอกัน โดยไม่เว้นแม้ว่าจะไม่มีเงินหรือประกันสังคมก็ตามอาจารย์ผู้ใหญ่สมาชิกจิตวิวัฒน์ท่านหนึ่งที่ร่วมดูงาน(ที่จัดโดยศูนย์คุณธรรม)ถึงกับกล่าวว่าอยากเป็นคนไข้ที่นี่ เพราะรู้ว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์!
คณะที่เดินทางไปด้วยกันยังได้ไปดูเบื้องหลังความสำเร็จของโรงพยาบาลชั้นนำของไต้หวันแห่งนี้อีกด้วยคือมหาวิทยาลัยพุทธฉื้อจี้ ที่เมืองฮั้วเหลียน มหาวิทยาลัยมีคำขวัญคือ "ฉือ เป่ย สีเสิ่ง" คือ พรหมวิหารสี่ : เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขานั่นเอง(หวนนึกคำของพระบิดาของวงการแพทย์ไทยอีกที่ว่า "อาชีพแพทย์นั้นจำต้องยึดมั่นในอุดมคติ เมตตากรุณาคุณ") ที่นี่นักศึกษาที่สอบเอ็นทรานซ์เข้ามาแม้คะแนนจะไม่สูงนัก แต่ยามจบเป็นบัณฑิตเมื่อไปสอบใบประกอบโรคศิลปะกลับได้ลำดับต้นๆของประเทศ
มหาวิทยาลัยมีความโดดเด่นตรงการผสมผสาน กลมกลืน มิติของกาย จิตสังคม และจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน มีการสอดแทรกเรื่องศิลปะ วัฒนธรรมจิตสำนึกอยู่ในชีวิตประจำวัน นักศึกษาได้ฝึกการภาวนา เจริญสติ นั่งสมาธิเขียนพู่กันจีน ชงชา และจัดดอกไม้เพราะเชื่อว่านักศึกษาสามารถเห็นดอกไม้แล้วเห็นความเป็นทั้งหมด ความเป็นหนึ่งเดียวเห็นความงามของจักรวาลได้เป็นชุดประสบการณ์ที่ทำให้นักศึกษาเข้าใจจิตใจของคนไข้และญาติ เข้าถึงสุนทรียภาพความอ่อนโยน ละเมียดละไมเข้าใจธรรมชาติความเป็นคนไปพร้อมความวิทยาการเทคโนโลยีตะวันตก
ที่นี่มีวิชากายวิภาคศาสตร์ที่โดดเด่นเป็นที่หนึ่งของไต้หวันนักศึกษาจะได้รู้จักประวัติของอาจารย์ใหญ่(ศพที่บริจาคเพื่อการศึกษา)ได้ไปใกล้ชิดกับญาติของอาจารย์ใหญ่ จนราวกับเป็นครอบครัวเดียวกันมีการประกอบพิธีกรรมอันงดงามร่วมกันทั้งก่อนและหลังการเรียนเป็นการบ่มเพาะให้นักศึกษาเรียนแล้วเกิดสำนึกในบุญคุณของอาจารย์ใหญ่และผู้ป่วยอื่นๆในอนาคต
เป็นโรงเรียนแพทย์ที่บุกเบิกรณรงค์ให้ชาวไต้หวันบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษา(เพราะขัดกับความเชื่อเดิมของชาวจีน)จากเดิมที่มหาวิทยาลัยทั่วไต้หวันไม่ค่อยมีจะเรียนปัจจุบันมีชาวบ้านธรรมดาที่มีจิตใจยิ่งใหญ่บริจาคกันมากจนมีเหลือเผื่อแผ่ไปยังที่อื่น
อาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่งป่วยเป็นมะเร็ง ถึงกับยอมไม่รักษาตัวเองด้วยเคมีบำบัดยอมทนความเจ็บปวดด้วยความปรารถนาที่จะได้ให้นักศึกษาเห็นเนื้อเยื่อที่มีลักษณะเหมือนจริงมีความรู้เพื่อที่จะไปรักษาผู้อื่นมากที่สุด
อาจารย์ใหญ่อีกท่านบอกว่า "เมื่อฉันตายไปแล้ว เธอจะใช้มีดกรีดฉันผิดกี่ครั้งก็ได้ แต่เมื่อพวกเธอจบออกไปห้ามกรีดผิดแม้แต่ครั้งเดียว"
ทั้งหมดเป็นการดูงานที่อุดมไปด้วยเรื่องราวที่ก่อให้เกิดปีติอย่างยิ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของจิตปัญญาศึกษา(Contemplative Education) เป็นระบบการศึกษาที่งดงามอย่างที่สุด ที่กลุ่มจิตวิวัฒน์และเครือข่าย(เช่นสถาบันอาศรมศิลป์ โรงเรียนสัตยาไส เสมสิกขาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล)กำลังสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ
จิตปัญญาศึกษาคือการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนมีความเป็นเลิศทั้งเรื่องวิทยาการภายนอกและพัฒนาการภายในรู้จักรู้ใจตนเอง เป็นการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียน สถาบันการศึกษาและสังคมโดยรวมเข้าสู่ความเป็นจิตวิวัฒน์ไปพร้อมกัน
ดังเช่นที่ท่านอาจารย์ประเวศเคยกล่าวในที่ประชุมจิตวิวัฒน์ในหัวข้อ "แผนที่ความสุข" ว่า "ที่สุดแล้วคนทุกคนน่าจะเชี่ยวชาญ 2 เรื่องเรื่องแรกคือเชี่ยวชาญในอาชีพอย่างที่เป็นกันอยู่แล้วกับอีกเรื่องหนึ่งคือเชี่ยวชาญในการสร้างความสุขให้ตนเองและช่วยให้เพื่อนมนุษย์สร้างความสุขได้"
หรือคำของพระบรมราชชนกที่กล่าวไว้อีกเช่นกันว่า "ความสำเร็จมิใช่อยู่ที่การเรียนรู้หากแต่เป็นการนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์" นั่นเอง
เป็นบทความที่ให้ประโยชน์มากครับ ขอขอบคุณผู้เขียนที่ได้เขียนสิ่งดีๆมีคุณค่าต่อสาธารณชน ครับ