เรือนไหมไทย ขวัญใจ แห่งลานคำหอม


เรือนไหมไทยแห่งลานคำหอม

เรือนไหมไทย ขวัญใจ แห่งลานคำหอม

 วิโรจน์  แก้วเรือง 1                

เรือนไหมไทย คือบ้านหรือเรือนไม้ ของชาวอีสานที่ปลูกสร้างไว้บนลานคำหอมซึ่งสามารถใช้เป็นทั้งที่อยู่อาศัย ห้องครัว และสถานที่สำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการเลี้ยงไหม การสาวไหม การฟอกย้อมสีไหม และการทอผ้าไหมบางบ้านอาจมีชานบ้านสร้างออกมานอกชายคา อาจใช้มุมใดมุมหนึ่งปลูกผักสวนครัว เช่น หอม ผักชี ตะไคร้ สระแหน่ ฯลฯ ไว้ใช้ปรุงแต่งรสชาติอาหาร เพราะหยิบฉวยได้สะดวก               

                     ลานคำหอม เป็นชื่อของลานอเนกประสงค์บนพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร ที่ยังคงความเป็นธรรมชาติ ร่มรื่นเย็นสบายตลอดทั้งปี ด้วยมีร่มเงาของไม้ใหญ่ ที่ขึ้นปกคลุมลานคำหอมเป็นหย่อม ๆ จึงมีความเหมาะสมและสะดวกสบายในการใช้เป็นสถานที่จัดงานประกวดผ้าไหม ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพและแสดงผลงานของศูนย์ศิลปาชีพต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

                ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ของทุก ๆ ปี บริเวณลานคำหอมจะคราคร่ำไปด้วยพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติทุกหมู่เหล่า ที่มาชุมนุมกันเพื่อชื่นชมความงดงามของผ้าไหมและสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่มวลสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพส่งเข้าประกวด และเยี่ยมชมกิจกรรมของหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่จัดถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในปี พ.. 2545 นี้ พระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงานประกวดผ้าไหมและผลงานอื่น ๆ ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2545 ซึ่งอยู่ในช่วงที่พระองค์แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร

                โดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯสกลนคร ได้จัดสร้างเรือนไหมไทยใต้ถุนเตี้ยอย่างเรียบง่ายแต่มีชานบ้านตามแบบฉบับของชาวอีสาน มีลานหน้าบ้านกว้าง จัดไว้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อพักอริยาบท ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินชมกิจกรรมในลานคำหอม ภายในบริเวณบ้านมีกิจกรรมแสดงชีพจักรของไหม การสาวไหม และการย้อมสีเส้นไหมด้วยสีธรรมชาติ บนชานบ้าน มีการเลี้ยงไหม การกรอเส้นไหม การมัดหมี่ อีกมุมหนึ่งของลานบ้านแสดงเส้นไหมของสมาชิกฯ ที่ชนะเลิศการแข่งขันการสาวไหมด้วยมือ ซึ่งในปีนี้รางวัลที่ 1 เป็นของนางก่ำ ศรียงยศ และนางเยี่ยม หินพลาย จากโครงการศูนย์ศิลปชีพบุญฑริก จังหวัดอุบลราชธานี

                ต้นไม้ในบริเวณบ้าน ถูกประดับประดาด้วยดอกไม้และกล้วยไม้อย่างเรียบง่ายแต่สวยงามยิ่งนัก ลานหน้าบ้านปูด้วยเสื่อคลุมพื้นดินทั้งหมด เพื่อให้เกษตรกรและสมาชิกโครงการศิลปาชีพที่จะนำผ้าไหม ทูลเกล้าฯถวายพระองค์ได้นั่งเฝ้ารับเสด็จได้สะดวก สมาชิกกลุ่มนี้ได้แก่ นางบรรจง ขวานจก นางสมบัติ อ่อนจันทา และนางล้วน รวมสีดา จากโครงการศิลปาชีพบ้านดอนคำ-เสนานฤมิตร อำเภอคำตากล้า จังหวัดสกลนคร ซึ่งได้ทอผ้าลายมัดหมี่ประยุกต์ เป็นคำกลอนถวายพระพร แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ดังนี้

             พ่อเป็นผู้มีเมตตา อันยิ่งใหญ่     พ่อเป็นผู้ซึ่งให้ไม่หวังผล

             พ่อเป็นผู้ที่รักของปวงชน           พ่อคือฝนจากฟ้าชโลมดิน                             

             ถึงจะอยู่สุดหล้าในป่ากว้าง        พ่อไม่ห่างเสด็จเยี่ยมถึงถิ่นที่                        

            ไม่ว่าเราจะเป็นไพร่หรือผู้ดี        พ่อก็มีน้ำพระทัยให้ทุกคน                        

             เราขอให้พระองค์จงมีสุข      อย่าได้ทุกข์ในพระทัยอย่าหม่นหมอ   

             ขอให้ท่านมีสุขและสมปอง      ไทยทั้งผองเคารพและบูชา

                ส่วนผ้าไหมมัดหมี่อีกผืนได้ทอเป็นอักษรถวายพระพรแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ดังใจความว่า

 เจ็ดสิบพรรษามาบรรจบ                 ถึงคำรบวาระเลิศประเสริฐศรี            

เฉลิมพระชนมพรรษาราชินี         อัญชุลีแทบพระบาทขัตติยายา                   

มะลิร้อยเป็นมาลัยไว้เหนือเกล้า    ข้าพพุทธเจ้าหทัยมั่นสุขพรรษาพรรษา   

ขอไหว้วอนองค์อินทร์ปิ่นเทวา      ณ ฟากฟ้าสรวงสวรรค์ชั้นพิมานพิมาน    

ขอพระสยามเทวาศักดาเจ้า             เป็นร่มเงาให้ภิญโญสโมสรสโมสร               

เป็นฉัตรแก้วเหนือเกล้าเหล่านิกร   เกียรติกำจรเลื่องลือระบือไกล

ขอจงทรงพระเจริญ

               เห็นด้วยไหมครับว่า การร้อยเรียง ตัวอักษรเป็นคำกลอนก็ยากยิ่งแล้ว เกษตรกรยังมีความเพียรเป็นเลิศ ที่มุมานะทอผ้าไหมด้วย คำกลอนที่แต่งขึ้นจากใจถวายแด่พระองค์ท่านทั้งสองอย่างสุดฝีมือ

                เวลา 16.55 . ของวันที่ 21 พฤศจิกายน 2545 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ มาประทับเรือนไหมไทย ของกรมวิชาการเกษตร โดยมีนางประไพศรี  พิทักษ์ไพรวัน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายวิทยวัฒน์  กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยหม่อนไหม  นายประสาธน์ สุวรรณพงศ์ ผู้อำนวยการสถานีทดลองหม่อนไหมสกลนคร  และคณะรอรับเสด็จฯ พระองค์ทรงตรัสถามราษฎรที่ทอผ้าถวายพระพร และน้อมเกล้าถวายพระองค์ นำความปลื้มปิติยินดีต่อสมาชิกโครงการศิลปาชีพ บ้านดอนคำ-สมานฤมิตรเป็นล้นพ้น ต่อมาพระองค์ได้เสด็จ ทอดพระเนตรกิจกรรมของกรมวิชาการเกษตรอย่างสนพระทัยยิ่ง และทรงตรัสถามถึงการย้อมสีไหมจากสีธรรมชาติ หลังจากนั้น นางประไพศรี พิทักษ์ไพรวัน ได้ทูลเกล้าฯ ถวายผ้าลายละเบิก ซึ่งได้จัดทอขึ้นโดยสถานีทดลองหม่อนไหมสุรินทร์ (ละเบิกเป็นภาษาเขมร หมายถึง เปิด เป็นผ้า 4 ตะกรอ เป็นการเปิดลายด้วยการเหยียบตะกรอขึ้นลงครั้งละ 2 ตะกรอ พร้อมกัน )เป็นผ้าไหม 5 สี ทอด้วยเส้นไหมจากไหม พันธุ์ไทยทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน ย้อมด้วยสีธรรมชาติ 4 สี ได้แก่ สีน้ำเงิน จากคราม สีเหลืองจากเข สีแดงจากครั่ง และสีเขียวจากปราโฮดแล้วตามด้วยคราม และสีขาวซึ่งเป็นสีธรรมชาติของเส้นไหมไทย ที่ฟอกเอาสีเหลืองออก ท่านอาจจะสงสัยว่าแล้วทำไมต้องย้อมสีเหลืองอีก ทั้ง ๆ ที่สีของเส้นไหมพันธุ์ไทยก็เป็นสีเหลืองอยู่แล้ว ที่ต้องย้อมสีเหลืองอีกครั้ง เนื่องจากสีเหลืองธรรมชาติของเส้นไหมจะไม่คงทนจะซีดจางลงไปเรื่อย ๆเมื่อทำการซักและถูกแสงแดด พระองค์ได้ตรัสขอบใจกรมวิชาการเกษตร ที่ได้ช่วยกันอนุรักษ์ลายผ้าโบราณไว้  อีกทั้งได้ตรัสถามถึงพันธุ์ไหมไทยของกรมวิชาการเกษตรว่ามีการเลี้ยงกันแพร่หลายหรือไม่ เลี้ยงยากหรือเลี้ยงง่ายเพียงใด ด้วยทรงห่วงใยพสกนิกรที่เลี้ยงไหมพันธุ์ไทย เกรงว่าจะไม่มีใครสนใจ ที่จะทะนุบำรุง ปรับปรุงไหมพันธุ์ไทย แต่ไปเลี้ยงไหมพันธุ์ต่างประเทศลูกผสมกันทั้งหมด เพราะกรมวิชาการเกษตร โดย นางจรรยา ปั้นเหน่งเพชร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านหม่อนไหม ก็ได้พัฒนาเครื่องสาวไหมเด่นชัย 1 และเครื่องกรอเส้นไหมเด่นชัยพัฒนาเพื่อทำให้ได้เส้นไหม จากการสาวมือมีคุณภาพดีขึ้น ก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จฯ ออกจากเรือนไหมไทย ผู้อำนวยการสถานีทดลองหม่อนไหมสกลนคร ได้กล่าวถวายรายงาน ผู้ชนะเลิศ การแข่งขันสาวไหมด้วยมือ และพระองค์ก็ทรงทอดพระเนตรถึงความงามของเส้นไหมที่ชนะการแข่งขัน นับว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงใช้เวลาทอดพระเนตรกิจกรรมของกรมวิชาการเกษตร ณ เรือนไหมไทย บนลานคำหอม ด้วยความสนพระทัย นำความปลาบปลื้มมาสู่คณะผู้รับเสด็จฯ และผู้เตรียมการรับเสด็จฯ เป็นล้นพ้นในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระองค์ที่มีต่อกรมวิชาการเกษตร

                ทั้งก่อนและหลังการเสด็จฯ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เรือนไหมไทย ได้มีโอกาสต้อนรับอาคันตุกะทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ อย่างเนืองแน่น ที่มาเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม บ้างหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายหนอนไหมวัยต่างๆ อย่างกับถ่ายรูปดารา เพียงแต่เป็นดาราที่ไม่มีค่าตัว มันคงแปลกใจมิใช่น้อยที่วันนี้มีแต่คนแต่งตัวสวยๆ งาม ๆ ด้วยผ้าไหมที่เกิดจากเส้นใยที่มันคายออกมาเป็นรังป้องกันตัวเอง นิ้วมือของผู้คนที่สัมผัสมันวันนี้ ช่างนิ่มนวล มีประกายเพชรระยิบระยับจับตา ไม่หยาบกร้านเหมือนนิ้วมือของแม่เฒ่าที่คอยเฝ้าให้ใบหม่อนเป็นอาหารแก่มันเป็นประจำทุกวัน แขกหลายท่านทำหน้าที่เป็นวิทยากร แทนพวกเรา อธิบายถึงชีวิตไหมตัวน้อยให้ชาวต่างชาติได้เข้าใจ บ้างหยิบดักแด้ไหมในหม้อสาวไหมให้ชาวกรุงเทพฯ และชาวต่างชาติได้ลิ้มชิมรสอาหารโปรตีนของชาวชนบท ที่เมื่อให้เส้นใยกับผู้เลี้ยงหมดแล้ว ตัวมันเองยังเป็นอาหารชั้นเลิศอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันดักแด้ไหมได้กลายเป็นอาหารจานโปรดของชาวเมือง ชาวกรุง และชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ไปเสียแล้ว วันนี้ ตัวไหมได้กลายเป็นพระเอง นางเอกในงานประกวดผ้าไหมของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ บนลานคำหอม ไปเสียแล้ว จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เลี้ยงไหมและทอผ้าไหมจะได้กลายเป็นพระเอก นางเอก เป็นผู้ที่มีความมั่นคงในอาชีพและชีวิตเฉกเช่นอาชีพอื่นสักวันหนึ่งข้างหน้า ดังนั้นจึงได้โปรดช่วยกันอนุรักษ์ผ้าไหมไทย ด้วยการแต่งกายผ้าไหมไทย สัปดาห์ละอย่างน้อย 1 วัน ก็จะเป็นการช่วยกัน จรรโลง อาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าไหมให้อยู่คู่เมืองไทย เป็นเอกลักษณ์ของชาติตลอดไปตราบนานเท่านาน

คำสำคัญ (Tags): #เรือนไหมไทย
หมายเลขบันทึก: 103221เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2007 11:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 02:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากให้มีการจัดการประกวดผ้าไหมที่พระตำหนักภูพานราชนิเวชน์อีกครับ

ตอบ คุณยุทธนา

ขณะนี้ประกวดผ้าไหมประจำปี กรมหม่อนไหมเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะจัดในช่วงเดือน สิงหาคม หากท่านสนใจ

สามารถติดต่อได้ที่กรมหม่อนไหม เบอร์โทร 02-5793118 www.qthaisilk.com ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท