กทช. อนุมัติคลื่นความถี่ RFID หนุนอุตสาหกรรมใช้แทนบาร์โคด


คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) อนุมัติคลื่นความถี่สำหรับชิป RFID เพื่อใช้แทนระบบบาร์โคดติดสินค้า ผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตและใช้งานในประเทศ
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) อนุมัติคลื่นความถี่สำหรับชิป RFID เพื่อใช้แทนระบบบาร์โคดติดสินค้า ผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตและใช้งานในประเทศ

ตามทิศทางตลาดโลก คาดมูลค่าปีแรกสูงถึง 1,200 ล้านบาท เริ่มเปิดให้ขอใบอนุญาตได้ปลายเดือนธันวาคมนี้

นายเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ หนึ่งใน กทช. กล่าวว่า กทช. ได้อนุมัติคลื่นความถี่ย่านยูเอชเอฟระหว่าง 920-925 MHz เพื่อนำไปใช้กับ RFID ซึ่งเป็นชิปที่ใช้ติดตัวสินค้าแทนบาร์โคด เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยอยู่ในทิศทางเดียวกับสากล เนื่องจาก RFID จะสามารถบันทึกข้อมูลสินค้าได้มากกว่าระบบบาร์โคด สามารถคำนวณสตอกสินค้าอัตโนมัติ รวมถึงการป้องกันสินค้าสูญหาย เนื่องจากเครื่องอ่านจะสามารถอ่านข้อมูลได้ในระยะไกลพร้อมกันหลายชนิด คาดว่าจะเริ่มให้ผู้ผลิตชิป RFID และเครื่องอ่าน (Reader) มาขอใบอนุญาตได้ในปลายเดือนธันวาคมนี้

ทั้งนี้ คาดว่าจะทำให้เกิดมูลค่าธุรกิจการผลิตและใช้งาน RFID ในปีแรก 1,200 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดโลกนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มการใช้งานเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ถึงร้อยละ 25 ต่อปี แต่ปัญหาปัจจุบันพบว่า ชิป RFID ยังมีราคาสูงราว 5 บาทต่อชิ้น สำหรับการสั่งซื้อด้วยจำนวน 1 ล้านชิ้น จึงทำให้หลายธุรกิจยังไม่คุ้มค่ากับต้นทุน ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดว่า หากต้นทุนชิปลดลงเหลือชิ้นละ 2 บาท จะทำให้ใช้แพร่หลายไปถึงระดับร้านค้าปลีก

“วอลล์มาร์ทที่เป็นค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐได้กำหนดให้ผู้ผลิตสินค้าที่วาง ขายในวอลล์มาร์ทใช้ RFID แทนบาร์โคด ซึ่งขณะนี้มีกว่า 100 รายที่ใช้งานแล้ว การอนุมัติคลื่นความถี่จะทำให้ผู้ผลิตสินค้าไทยใช้งานได้อย่างถูกต้องตาม กฎหมาย” นายเศรษฐพร กล่าว

สำหรับรูปแบบการขอใบอนุญาตจาก กทช. ในหลักการเบื้องต้น หากผู้ผลิตชิปและเครื่องอ่าน ที่ใช้กำลังส่งต่ำกว่า 1 วัตต์ ถือว่าไม่ต้องขออนุญาต แต่ถ้าอยู่ระหว่าง 1-4 วัตต์ต้องขออนุญาต และถ้ากำลังส่งสูงกว่า 4 วัตต์ กทช. ต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะเกิดการรบกวนคลื่นอื่น ๆ หรือไม่ ส่วนค่าใบอนุญาตอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ใบอนุญาตนำเข้าเพื่อใช้งานในประเทศไทย และใบอนุญาตเพื่อผลิตและส่งออก ซึ่งได้ให้เนคเทคไปศึกษาถึงการสนับสนุนเอกชนเพื่อผลิตชิปและเครื่องอ่าน

ส่วนสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) จะศึกษาแนวทางสนับสนุนการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในระบบ

 


ที่มา : http://www.etechnology.co.th/public/detailNews.aspx?newsid=12523

 

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง : http://www.ntc.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=2345&Itemid=27

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 10316เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2005 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 13:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท