รวมวิธีหาความรู้ จากโบราณถึงปัจจุบัน


เนื่องด้วยมนุษย์มีความอยากรู้อยากเห็น ต้องการปรับปรุงสภาพการดำรงชีวิตของตนให้ดีขึ้น จึงสนใจค้นคว้า  หาความรู้  เพื่อตอบคำถามที่สงสัย  และนำความรู้มาใช้เป็นประโยชน์แก่การดำรงชีวิต  การได้มาซึ่งความรู้  ความจริง  ของมนุษย์  สามารถทำได้หลายวิธี จากโบราณถึงปัจจุบัน

ยุคโบราณ    ยุคนี้มนุษย์ใช้วิธีง่าย ๆ ไม่มีระบบในการได้มาความรู้ ความจริง  ได้แก่
    โดยบังเอิญ (By Chance) เป็นการพบความรู้ความจริงโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น การพบรังสีเอ็กซ์ (X-ray)  การพบยาเพนิซิลิน  และการพบวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค  เป็นต้น
    โดยวิธีลองผิดลองถูก (By Trial and Error)  เป็นการแก้ไขปัญหาโดยลองใช้วิธีต่าง ๆ หลายวิธีใดใช้ได้ผลก็จดจำไว้ใช้ต่อไป  และถ้าไม่ได้ผลก็จะไม่นำมาใช้อีก
    โดยผู้มีอำนาจ  (By Authority)  เป็นการได้รับความรู้จากผู้นำในท้องถิ่น  นักบวช  หรือผู้มีชื่อเสียง
    โดยขนบธรรมเนียมประเพณี  (By Tradition)  เป็นการได้ความรู้จากประเพณีวัฒนธรรมที่ปฏิบัติ กันมาในสังคม  เช่น  การแต่งกาย  การพูดจา  การรับประทาน  มารยาท  การประกอบพิธีการต่าง ๆ  เป็นต้น
    โดยผู้เชี่ยวชาญ  (By Expert)  เป็นการได้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง  เช่น  รู้เรื่องดวงดาวต่าง ๆ ในท้องฟ้า  จากดาราศาสตร์  เป็นต้น
    โดยอาศัยประสบการณ์ส่วนตัว (By Personal Experience) เป็นการได้รับความรู้จากประสบการณ์ ที่ผ่านมา


ยุคอริสโตเติล  อริสโตเติล  (Aristotel)   เป็นการค้นวิธีหาความรู้   โดยอาศัยหลักของเหตุผล   เรียกว่า  Syllogistic Reasoning  หรือ  วิธีอนุมาน (Deductive Reasoning)  หรือ Aristotelian Deduction วิธีนี้เป็นการหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่าง ข้อเท็จจริงใหญ่ (Major Permise)  กับข้อเท็จจริงย่อย  (minor Permise)  แล้วจึงสรุป  (Conclusion)  ตัวอย่างเช่น

    ข้อเท็จจริงใหญ่     - นกทุกชนิดมีปีก
    ข้อเท็จจริงย่อย     - กาเป็นนกชนิดหนึ่ง
    ข้อสรุป                  - กามีปีก


ยุคฟรานซิล เบคอน     ฟรานซิล  เบคอน  (Francis Bacon)  วิจารณ์วิธีอนุมานของอริสโตเติบ  ว่ามีข้อบกพร่องหลายประการ  ได้แก่
1.   ข้อสรุปจะถูกต้องหรือไม่  ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงใหญ่กับข้อเท็จจริงย่อย  ถ้าข้อเท็จจริงใหญ่  หรือข้อเท็จจริงย่อย หรือทั้งคู่ไม่ถูกต้อง  ก็จะทำให้ได้ข้อสรุปผิดพลาดไปได้เช่น
    ข้อเท็จจริงใหญ่ - ปลาทุกชนิดมีเกล็ด
    ข้อเท็จจริงย่อย  - ปลาดุกเป็นปลาชนิดหนึ่ง
    ข้อสรุป             - ปลาดุกมีเกล็ด
    จะเห็นว่าถ้าอนุมาน จะถูกต้องสมเหตุสมผล แต่ในความเป็นจริงจะไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เนื่องจากข้อเท็จจริง ใหญ่ผิด  จึงทำให้ข้อสรุปผิดตามไปด้วย
2.  วิธีการอนุมานของอริสโตเติลไม่ช่วยให้พบความรู้ความจริงใหม่ ๆ เพราะข้อสรุปที่ได้อยู่ในขอบเขตของข้อเท็จจริงใหญ่นั่นเอง
เบคอน จึงเสนอวิธีการค้นหาความจริง เรียกว่าวิธีอุปมาน (Induction) หรือบางครั้งเรียกว่า  Baconian Induction  ซึ่งมี  3  ขั้นตอน  คือ

    ขั้นที่ 1  เก็บรวบรวมข้อมูลหรือข้อเท็จจริงย่อย
    ขั้นที่ 2  วิเคราะห์ข้อมูล  เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริงย่อยเหล่านั้น
    ขั้นที่ 3  สรุปผล  (Conclusion)
ดังตัวอย่าง
    จากการสังเกตพบว่า     - นกแต่ละชนิดมีปีก
    ข้อสรุป                     - นกทุกชนิดมีปีก

    หลักการอุปมานมี  2  แบบ  คือ
1. อุปมานอย่างสมบูรณ์ (Perfect Induction) วิธีนี้จะเก็บข้อมูลจากทุกหน่วยของประชากร แล้วจึงวิเคราะห์ข้อมูลหาข้อสรุป ซึ่งจะช่วยให้ได้ความรู้ความจริงที่เชื่อถือได้มากที่สุด แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยากเพราะ สิ้นเปลืองเวลาแรงงาน และค่าใช้จ่าย หรือบางกรณีทำไม่ได้ เพราะประชากรมากเกินกว่าที่จะเก็บข้อมูลได้
2.  อุปมานที่ไม่สมบูรณ์  (Imperfect  Induction)   วิธีนี้จะเก็บข้อมูลเพียงบางหน่วยของประชากรแล้วจึงสรุปวางนัยทั่วไป  (Generalized)    ไปยังประชากรทั้งหมด   โดยถือว่าหน่วยประชากรที่เลือกมาศึกษานั้นเป็นตัวแทนของประชากร


ยุคปัจจุบัน ชาร์ล  ดาร์วิน  (Charles Darwin)    เสนอวิธีค้นหาความรู้ความจริงโดยนำวิธีอนุมานของอริสโตเติล  และวิธีอุปมานของ  เบคอน    มารวมกันเรียกว่าวิธีการอนุมาน – อุปมาน  (Deductive - Inductive Method)  กล่าวคือจะใช้  วิธีอนุมานในการคาดคะเนคำตอบ หรือตั้งสมมุติฐานก่อน  แล้วจึงใช้การอุปมานในการเก็บ   รวบรวมข้องมูลเพื่อทดสอบ สมมุติฐานว่า  เชื่อถือได้หรือไม่    จากนั้นจึงสรุปผล  จอห์นเดวี  (John Dewey)  ได้ปรับปรุงต่อมาเรียกว่า  Reflective Thinking    โดยแบ่งชั้นตอนของการคิดแก้ปัญหาเป็น  5  ขั้น  ต่อมาเรียกว่าเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นวิธีที่ยอมรับว่าจะช่วยให้ได้ความรู้ความจริงที่เชื่อถือได้  และเป็นหลัก ในการวิจัย  ขั้นตอนของวิธีการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์มีดังนี้

1.  ขั้นปัญหา (Problem)
2.  ขั้นตั้งสมมุติฐาน (Hypothesis)
3.  ขั้นรวบรวมข้อมูล (Gathering Data)
4.  ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis)
5.  ขั้นสรุป (Conclusion)


   

หมายเลขบันทึก: 102909เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2007 03:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ได้ความรู้ ขั้นตอนหาความรู้มากเลยคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์....วรรธนชัย ๏(。◕‿◕。)๏ ♫ ♬ ♪ ♩ ♭  

  • ครูอ้อยมาอ่านและเก็บความรู้  ได้นำไปใช้แน่ๆค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท