KM เขตการศึกษาที่ 1 นนทบุรี


KM เขตการศึกษาที่ 1  นนทบุรี

         คณะของเขตการศึกษาที่ 1  นนทบุรี   ได้มาหารือกับ สคส. เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.48  เรื่องการดำเนินการ KM

คณะที่มาประกอบด้วย
1. นายสุพจน์  น้อยจินดา รองผู้อำนวยการ สพท.นนทบุรี เขต 1
2. นายธเนศ  ขำเกิด  ศึกษานิเทศก์ 9
3. นางกัญจนัฐ  ภู่ช้าง หัวหน้ากลุ่มนโยบายและแผน
4. นางรุ่งนภา  รุ่งเรืองศิลป์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 7
5. นางสุนิสา  เจริญดี  เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 6
6. นางกอบแก้ว  สังข์ทอง เจ้าหน้าที่งานการเงินและบัญชี 5
7. นางรหัสวรรณ  ระไวกลาง เจ้าหน้าที่ธุรการ 5

         ผมเคยบันทึกเรื่องนี้ไว้ครั้งหนึ่งแล้ว   ดูได้ที่นี่ (click)

         สรุปว่าทางเขตการศึกษาที่ 1 นนทบุรีต้องการทำ KM เพื่อ 2 เป้าหมาย
     (1) เพื่อให้สำนักงานเขตการศึกษาที่ 1 (เจ้าหน้าที่ 115 คน) เป็นองค์กรเรียนรู้   เปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานจากวัฒนธรรมราชการเป็นวัฒนธรรมขององค์กรเรียนรู้   ผู้บริหารเลิกบริหารแบบควบคุม - สั่งการ   หันมา empower เจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ก็ empower โรงเรียน
     (2) เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนให้บรรลุเป้าหมาย "ให้คุณภาพการศึกษาของ จ.นนทบุรี เป็น top 10 ของประเทศ"  ภายในปี 2551 ตามที่กำหนดโดยผู้ว่าราชการจังหวัด

         เราคุยกันประมาณ 3 ชม.   ผมได้เตือนทีมงานที่มาคุยว่า KM ไม่ใช่เรื่องที่จะได้ผลภายใน 3 เดือน 6 เดือนหรือ 1 ปี   เพราะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนวิธีคิดและเปลี่ยนวัฒนธรรม    ดังนั้นต้องมีการวางแผนระยะยาว   และวางแผนสร้างความต่อเนื่องรวมทั้งต้องมีการจัดการตัวระบบ KM   และการอบรมหรือทำ workshop ไม่ใช่การทำ KM    การทำ KM ต้องทำเป็นงานประจำ

         ทีมงานของเขตการศึกษาที่ 1 นนทบุรีจะกลับไปปรึกษากันว่าจะใช้ตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาตัวใดบ้างเป็นตัวเดินเรื่อง   ผมแนะให้เลือกอย่างมาก 10 ตัวชี้วัดจากจำนวนมากมายที่ สมศ. กำหนดไว้   โดยแนะให้เลือกตัวชี้วัดที่คิดว่าสำคัญต่อการที่จะขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาของ จ.นนทบุรีและมีโรงเรียนที่คะแนนตัวชี้วัดสูง   หรือมีเรื่องราวของความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ   แล้วทีมงานฯ แจ้ง สคส. พร้อมทั้งข้อเขียนโครงการในภาพรวม   เพื่อให้ สคส. ได้ให้คำแนะนำวิธีดำเนินการในช่วง 12 เดือนแรก   ซึ่ง สคส. จะรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้

         ในข้อเขียนโครงการของทีมงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ 1 นนทบุรี   ขอให้ระบุด้วยว่าผู้บริหาร KM ของเขตพื้นที่มีแผนดำเนินการติดตาม,   empower,  และให้รางวัลอย่างไรบ้าง   เพื่อสร้างความคึกคักในกิจกรรม KM ของโรงเรียนทั้ง 107 โรง   รวมทั้งกิจกรรม KM ของเจ้าหน้าที่ในเขตการศึกษา

         หน้าที่ของ สคส. จะเน้นที่การฝึกอบรม 50%  และการให้คำแนะนำด้านการบริหารจัดการระบบ 50%   ซึ่งหมายความว่าเขตการศึกษาที่ 1 จะมีทีมแกนนำทำหน้าที่จัดการระบบ KM   เข้าใจว่านำโดย อ. กัญจนัฐ  ภู่ช้าง   หัวหน้ากลุ่มนโยบายและแผน

สิ่งที่ สคส. จะให้คำแนะนำได้แก่
     1. คน   การพัฒนาคนโดย KM และการพัฒนาทักษะของคนให้ทำ KM ได้ผลดี
     2. เทคโนโลยี   จะแนะนำให้ใช้บล็อกในการ ลปรร. และในการบริหารจัดการระบบ KM ส่วนหนึ่ง
     3. กระบวนการความรู้
                  - การสกัดความรู้ปฏิบัติออกมาจากคน
                  - การจดบันทึกและยกระดับ Knowledge Assets & Core Competence
                  - การจัด "พื้นที่" สำหรับ ลปรร.
                  - การยกย่องความสำเร็จน้อยใหญ่
                  - การเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ "Top 10 ภายในปี 2551"
     4. การเขียนโครงสร้างของระบบ KM ของเขตพื้นที่ฯ   สำหรับใช้เดินเรื่องและประเมินการดำเนินการ   ผมขอแนะนำให้ทีมงานฯ เข้าไปอ่านรายงานการไปดูงาน KM ที่ญี่ปุ่นของทีม KM สภาพัฒน์ ที่ www.nesdb.go.th/news/template/interestingdata/data/data46.pdf  เพื่อประกอบการเขียนโครงสร้างของระบบ KM

         ผมขอเสนอว่าทีมขับเคลื่อน KM ของเขตการศึกษาฯ จัดวันพบปะหารือและติดตามความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน KM ร่วมกับ สคส. เดือนละครั้ง   โดยกำหนดวันไว้ตายตัวเลย (เช่นวันอังคารสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน  ช่วง 9.00 - 11.00 น.) สลับสถานที่กันระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่ฯ กับ สคส.   นี่เป็นบริการพิเศษในช่วง 6 เดือนแรกนะครับ   หลังจากนั้นค่อยหารือกันว่าควรปรับปรุงบริการปรึกษาด้านการัดการระบบ KM อย่างไร

         ผมใช้เวลาคิดเรื่องนี้มาก   เพราะเห็นทีมงานเอาจริงเอาจัง  มีข้อมูลดี (ท่านบอกว่าผลการประเมินของ สมศ. รอบแรก  รร. ในเขต 107 โรง มีที่ได้รับผลการประเมินว่าดีมาก 42 โรงเรียน)   และเห็นว่าวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายชัดเจนดีมาก

กำหนดการของกิจกรรมฝึกอบรมมีดังนี้
     (1) ทำความรู้จัก KM : ผู้บริหารมีบทบาทอย่างไร   กิจกรรมบรรยายและอภิปรายหมู่ให้แก่ผู้บริหารสถาบันการศึกษาและเขตพื้นที่   ใช้เวลา 6 ชั่วโมง  ในวันที่ 30 ม.ค.49   การอภิปรายหมู่จะมี 2 ช่วง
                - การอภิปรายหมู่ KM ในโรงเรียนตัวอย่าง   โดย "คุณเอื้อ",  "คุณอำนวย",  และ "คุณกิจ" ของโรงเรียนนั้น
                - การอภิปรายหมู่   บทบาทของ "คุณเอื้อ" ในการดำเนินการ KM
     (2) ตลาดนัดความรู้ ครั้งที่ 1   วันที่ 19 - 21 ก.พ.49
     (3) ตลาดนัดความรู้ ครั้งที่ 2   วันที่ 19 - 21 มี.ค.49

         ในแต่ละตลาดนัดจะมีข้อตกลงหัวข้อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในช่วง 3 เดือน   แล้วทีม สคส. จะติดตามโดยให้แต่ละ รร. มานำเสนอในกิจกรรม "ภูมิใจนำเสนอ" ผลเบื้องต้น KM นนท์ 1

         คุณหญิง (นภินทร ศิริไทย) จะเป็นวิทยากรหลักของความร่วมมือนี้

วิจารณ์  พานิช
 19 ธ.ค.48

หมายเลขบันทึก: 10282เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2005 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท