ที่ทางความยุติธรรมของ "คนพลัดถิ่นข้ามแดน"....ตอน 1


“รู้มั้ยเมื่อกี้เราไปไหนมา” ข้าพเจ้าลองเอ่ยถามคนขับรถตู้ที่เช่ามาสำหรับการเดินทางในครั้งนี้ “รัฐอิสระ เป็นแนวกันชนพม่า พวกกันที่ขับรถทัวร์เขาว่างั้น” ชายหนุ่มนักขับกล่าวตอบเสียงดังชัดเจนขณะรถเลี้ยวออกมาจากพื้นที่พักพิงฯ

งานเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเข้าร่วมทีมวิจัย เรื่อง "กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในพื้นที่พักพิงฯ" ให้กับ UNHCR เป็นเรื่องราวที่ค้นพบในระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งอาจจะเป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของความจริงที่มีอยู่  

ด้วยเงื่อนไขของระยะเวลา และด้วยความเชื่อว่าถ้าจะพอทำอะไรได้บ้างภายใต้เงื่อนไขทั้งหมดที่มีหลังจากตัดสินใจรับงานชิ้นนี้  ก็จะพยายามให้ส่งประโยชน์สูงสุดและน่าจะดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย  ตอนนี้งานวิจัยยังไม่ได้รับการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ  ซึ่งในระยะเวลาไม่นานนี้น่าจะมีการนำมาจัดเป็นวงพูดคุย แลกเปลี่ยนเพื่อสานต่อความมุ่งหวังของทีมวิจัย

 ........................................... 

มีความยุติธรรมทางอาญาสำหรับผู้ลี้ภัยภายใต้กฎหมายไทยหรือไม่ ? ; ภาครัฐ 

ปลายเดือนพฤศจิกายน 49  ทีมวิจัยของเราเดินทางไปศึกษาวิจัยเส้นทางกระบวนการยุติธรรมภายในชุมชนของผู้พลัดถิ่นจากพม่า หรือผู้หนีภัยความตายจากการสู้รบในพื้นที่สองแห่ง คือ พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยจากการสู้รบบ้านใหม่ในสอย  ซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบของอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้หนีภัยฯ ส่วนใหญ่คือชนเผ่า กะเหรี่ยงแดง (Kareni)”  และพื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยจากการสู้รบบ้านแม่หละ อยู่ในเขตรับผิดชอบของอำเภอท่าสองยาง  จังหวัดตาก ผู้หนีภัยฯ ส่วนใหญ่คือชนเผ่า กะเหรี่ยง (Karen)”

เรื่องราวจากนี้คือ ถ้อยคำของเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้หนีภัยฯ อาทิ กระทรวงมหาดไทย  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กระทรวงกลาโหม  และกระทรวงยุติธรรม ฯลฯ ที่จะบอกเล่า ให้ได้รับรู้ถึงเส้นทางกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่ เพื่อแสวงคำตอบว่าสำหรับผู้คนที่นั่นแล้ว ความยุติธรรมนั้นขึ้นอยู่กับใคร? ความยุติธรรมนั้นเป็นอย่างไรกัน  และความยุติธรรมมีอยู่จริงหรือไม่?  ………………………………………………………..

 

ที่ทางของความยุติธรรม...แม่ฮ่องสอน

การเดินทางไกลในช่วงสัปดาห์แรก (22- 25 พ.ย.49) เป้าหมายของทีมวิจัยคือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน  ทีมวิจัยมุ่งหน้าสู่ความจริงใน พื้นที่พักพิงฯบ้านใหม่ในสอย  ซึ่งห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนเป็นระยะทาง 20 กิโลเมตรถนนลาดยาง และหากเดินทางไปบนถนนฝุ่นอีกประมาณ 20  กิโลเมตรก็จะถึงชายแดนรัฐไทย-พม่าป๊อก 19 (section 19)[1]คือ ความจริงที่ทีมวิจัยสามารถเข้าใกล้ ได้มากที่สุด  

โดยพื้นที่พักพิงฯ-พื้นที่เป้าหมายของเรา--ต้องไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร  ล่ามที่มาด้วยกัน ตอบข้อสงสัยของข้าพเจ้าที่ว่า ทำไมจุดนี้ถึงไม่ต้องใช้ใบอนุญาตผ่านเข้าพื้นที่พักพิงฯ (Camp pass) ว่า เพราะไม่มีด่านตรวจของเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.)เนื่องจากทีมเราไม่ได้รับ ใบอนุญาตผ่านเข้าพื้นที่พักพิงฯ (Camp pass) จึงไม่อาจเดินทางได้ไกลกว่านี้ 

 .. ชุมชน ที่เรากำลังพูดถึงมันตั้งอยู่บนแผนที่ประเทศไทยใช่ไหม มันอยู่ในราชอาณาจักรไทยใช่ไหม ผมไม่เห็นว่าจะมีเหตุผลอะไรที่จะทำให้ การกระทำความผิดใดๆ  ที่เกิดขึ้น จะไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายไทย…”   เสียงของ วชิระ โชติรสเศรณี ปลัดอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน หัวหน้าพื้นที่พักพิงชั่วคราว (Camp Commander)[2] และผู้บังคับหมวด อส.  ดังกังวานชัดเจน  

ปลัดหนุ่มภายใต้สังกัดกรมการปกครองซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการดูแลความเรียบร้อยของพื้นที่พักพิงฯ  เขามีอำนาจหน้าที่ในการจัดระเบียบพื้นที่พักพิงฯ ให้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด  รวมถึงบริหารจัดการปกครองดูแลกิจกรรมต่างๆ  รวมทั้งประสานงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน การขออนุญาตเข้า-ออกพื้นที่พักพิงฯ อยู่ภายใต้อำนาจของปลัดวชิระ-ในฐานะหัวหน้าพื้นที่พักพิงฯในส่วนของการดูแลพื้นที่พักพิงฯ ปลัดวชิระมีกำลัง เจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน(อส.)  ประจำอยู่ในพื้นที่พักพิงฯ บ้านใหม่ในสอย จำนวน 70 นาย

หัวหน้าเจ้าหน้าที่ อส. ประจำพื้นที่พักพิงฯ บ้านใหม่ในสอยมากว่า 3 ปี เล่าว่า โครงสร้างการปกครองภายในพื้นที่พักพิงฯ จะมีลักษณะคล้ายหมู่บ้าน เรียกว่า ป๊อก (section)” แต่ละป๊อกจะมีตัวแทนของผู้หนีภัยฯ ทำหน้าที่เป็น หัวหน้าป๊อก (section leader)” คอยทำหน้าที่คล้ายผู้ใหญ่บ้าน คือดูแลความเรียบร้อยภายในป๊อกที่ตนรับผิดชอบในแต่ละป๊อกจะมีเจ้าหน้าที่อส. กระจายกำลังประจำอยู่  รวมถึงบริเวณประตูเข้าออกพื้นที่พักพิงฯ และบริเวณโดยรอบ โดยจะจัดให้มีเจ้าหน้าที่อส. ที่สามารถพูดภาษาเดียวกับผู้หนีภัยฯ อาทิ ไทยใหญ่ กะเหรี่ยงแดง ฯลฯ ประจำอยู่แต่ละป๊อก  ทำให้การติดต่อสื่อสารไม่มีปัญหา และสามารถรับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ดังนั้นเจ้าหน้าที่อส. จึงเป็นหน่วยแรกที่ทราบความเป็นไปและใกล้ชิดผู้หนีภัยมากที่สุด

เมื่อถามถึงลักษณะการกระทำความผิดในพื้นที่พักพิงฯ โดยภาพรวม ได้แก่ การทะเลาะวิวาทระหว่างผู้หนีภัยฯ กับผู้หนีภัยฯ และผู้หนีภัยฯ กับเจ้าหน้าที่อส. หรือกับคนไทยในชุมชนใกล้เคียง การทำร้ายร่างกายให้บาดเจ็บในระดับเล็กน้อย บาดเจ็บสาหัส จนถึงระดับมีการเสียชีวิต, การทำร้ายร่างกายในครอบครัว  ปัญหาความสัมพันธ์ชู้สาว  การข่มขืน  การลักขโมย การตัดไม้มาซ่อมแซมบ้าน และการรับจ้างลักลอบตัดขาย 

...ก็มีบ้างเรื่องชู้สาว คือเจ้าหน้าที่อส. ก็เป็นแรงจูงใจให้ผู้หญิงเข้ามาด้วย มีการพูดคุยกันตลอดเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พยายามระมัดระวัง  หากเจ้าหน้าที่อส.ทำผิด จะมีการลงโทษทางวินัย และให้ย้ายออกไปจากพื้นที่พักพิงฯ.. 

ในเบื้องต้น เมื่อการกระทำความผิดหรือข้อพิพาทเกิดขึ้นในพื้นที่พักพิงฯ ผู้เสียหายจะแจ้งให้หัวหน้าป๊อกทราบ จากนั้นจะมีการใช้ กระบวนการยุติธรรมชุมชน ในการจัดการปัญหา  คือให้หัวหน้าป๊อกเป็นผู้ไกล่เกลี่ย หากข้อพิพาทดังกล่าว ไม่สามารถไกล่เกลี่ยในระดับป๊อกได้  ข้อพิพาทดังกล่าวจะถูกส่งต่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมชุมชน ในระดับโซน โดยหัวหน้าโซน (zone leader) จะทำหน้าที่เป็น ผู้ไกล่เกลี่ย  หากยังไม่เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย ข้อพิพาทจะถูกส่งเข้าสู่ คณะกรรมการด้านการระงับข้อพิพาท (camp justice) โดยเจ้าหน้าที่อส. จะเข้ามีส่วนร่วมรับฟังการระงับข้อพิพาทในทุกระดับ ในฐานะพยาน

ทีมวิจัยพบว่า ลักษณะการกระทำความผิดบางกรณี สามาถระงับข้อพิพาทได้ โดยอาศัยกระบวนการยุติธรรมชุมชน  ได้แก่  การทะเลาะวิวาท  การทำร้ายร่างกายที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บในระดับเล็กน้อย  การลักทรัพย์ การใช้ความรุนแรงในครอบครัว  ปัญหาความสัมพันธ์ชู้สาว การข่มขืน ฯลฯ 

..หากจะใช้กระบวนการอื่นนอกศาล  ก็ควรเป็นกระบวนการที่มันถูกต้อง มีกฎหมายรองรับ เขาต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เขาทำเขาตัดสิน  ปัญหาคือในชุมชนมันมีขาใหญ่ อำนาจไม่เท่ากัน ผมอยากเห็นคนไกล่เกลี่ยมีอำนาจตามกฎหมาย ถามว่าตอนนี้มีไหม..ไม่มี...  ข้อกังวลในการใช้กระบวนการยุติธรรมชุมชน ของปลัดวชิระ โชติรสเศรณีในฐานะหัวหน้าพื้นที่พักพิงฯ

ปลัดวชิระ มองว่า อำนาจหน้าที่ของกลไกระงับข้อพิพาทภายในพื้นที่พักพิงฯ ไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมายไทย เนื่องจากพื้นที่พักพิงฯ เป็นพื้นที่พิเศษ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ทำให้เจ้าหน้าที่ลำบากใจในการปล่อยให้มีการดำเนินการแก้ไขข้อพิพาทดังกล่าว

พื้นที่พักพิงฯ มีความเฉพาะ ถ้ามีปัญหากันแล้ว เขาก็ต้องอยู่ด้วยกันที่นั่นต่อ ต้องเจอกัน เป็นญาติกัน คือยังไงเขาต้องอยู่ร่วมกัน อยากจับมั้ย เรื่องผัวตีเมีย มีการตัดไม้แล้วให้เด็กกับคนแก่ไปขน อยากจับ แต่บางทีก็ต้องปล่อยให้เขาไกล่เกลี่ยกันเอง... หัวหน้าพื้นที่พักพิงฯ บ้านแม่หละ ระบายความอึดอัดใจ 

นอกจากนี้ บางกรณี ผู้เสียหายบางส่วนจะแจ้งข้อพิพาทที่เกิดขึ้นกับองค์กรเอกชนด้านผู้หญิงหรือองค์กรด้านเด็กโดยตรง  เพื่อให้องค์กรดังกล่าวเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาโดยกระบวนการยุติธรรมชุมชน และมีส่วนสำคัญในการส่งต่อสู่กระบวนการยุติธรรมภายใต้กฎหมายไทย ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่อส. จะมีการจัดทำบันทึกและรายงานให้หัวหน้าพื้นที่พักพิงฯทราบ

ลี ทีมวิจัยภายใต้ศูนย์ข้อมูลและให้คำปรึกษาทางกฎหมาย (LAC)[3] พื้นที่พักพิงฯบ้านใหม่ในสอย ที่เฝ้าสังเกตการณ์กระบวนการยุติธรรมในพื้นที่พักพิงฯ มานานร่วม 6 เดือน ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า

เราพบว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองเท่าที่ควร บางทีเป็นเรื่องของความเป็นผู้ชายผู้หญิง บางครั้งการจัดการปัญหาภายในเอง คนภายในชุมชนก็พอใจเพราะเขาไม่รู้ว่ามีทางเลือกอื่น เราอยากให้มีทางเลือกอื่นสำหรับเขา อยากให้คนที่ตัดสินมีความรู้ด้านกฎหมายมากกว่านี้เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนในการตัดสิน ทั้งสิทธิของผู้เสียหาย ผู้กระทำผิด...

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตต่อกฎหมายและบทลงโทษตามประมวลกฎหมายและกฎหมาย ฉบับต่างๆ ที่บังคับใช้ในประเทศพม่า และถูกนำมาบังคับใช้ภายในพื้นที่พักพิงฯ โดยคณะกรรมการด้านการระงับข้อพิพาท (camp justice) กำลังถูกตั้งคำถามถึงความไม่ชัดเจน ความรู้ความใจของผู้มีอำนาจตัดสินในการหยิบบทบัญญัติมาปรับใช้กับข้อพิพาท รวมถึงการกำหนดโทษ

ซึ่งชวนให้ตั้งคำถามต่อไปถึงบรรทัดฐานของกระบวนการยุติธรรมภายในพื้นที่พักพิงฯมีการกระทำผิดหรือข้อพิพาทที่ไม่สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมชุมชนระงับข้อพิพาทได้ คือ กรณีการกระทำผิดทางอาญาที่ร้ายแรง เช่น การฆ่าคนตาย การตัดไม้ หรือความผิดที่ยอมความไม่ได้  ข้อพิพาทดังกล่าวนี้จะถูกส่งต่อไปยังกระบวนการยุติธรรมภายใต้ระบบกฎหมายไทย

อย่างไรก็ดี พบว่า ผู้หญิงหลายคนซึ่งตกเป็นผู้เสียหายในกรณีความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาความสัมพันธ์ชู้สาว  การข่มขืน ฯลฯ ตัดสินใจร้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรด้านผู้หญิง, องค์กรด้านเด็กโดยตรง หรือองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่พักพิง เพื่อให้ข้อพิพาทของพวกเธอเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมภายใต้กฎหมายไทย  เนื่องจากทางปฏิบัติภายในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ แล้ว ข้อพิพาทดังกล่าวถูกพิจารณาว่าเป็นข้อพิพาทที่สามารถยอมความได้ หรือสามารถยุติหรือระงับข้อพิพาทได้โดยอาศัยกระบวนการยุติธรรมภายในชุมชน ซึ่งหลายครั้งความเสียหายของผู้หญิงที่ตกเป็นผู้เสียหายเหล่านี้ มักจะจบลงด้วยการพยายามให้เรื่องเงียบไป  และหลายครั้งเช่นกัน พวกเธอไม่อยากยอมรับผลการตัดสินแบบนั้น 

ส่วนการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมภายใต้กฎหมายไทย โดยขั้นตอน คือ ปลัดอำเภอ (หัวหน้าพื้นที่พักพิงฯ) จะแจ้งให้ตำรวจเข้ามาดำเนินการในพื้นที่พักพิงฯ หลังจากนั้นก็จะดำเนินการไปตามขั้นตอนภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ สอบถามพยาน และรับตัวผู้ต้องหา ซึ่งอาจจะมีการจับกุมไว้แล้ว

ข้อมูลจากหลายหน่วยงาน พบว่า ในระหว่างปี 2547-2549 มีกรณีพิพาทที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมภายใต้กฎหมายไทยจำนวนน้อยมากนอกจากนี้ ยังมีกรณีที่การกระทำความผิดเกิดขึ้นนอกพื้นที่พักพิงฯ ซึ่งได้แก่ กรณีทะเลาะวิวาทระหว่างผู้หนีภัยฯ กับชุมชนไทยบริเวณใกล้เคียง  การทำร้ายร่างกายเล็กน้อยไปจนถึงร้ายแรงจนถึงการฆาตรกรรม  การขโมย การตัดไม้มาซ่อมแซมบ้านและการรับจ้างลักลอบตัดขาย ปัญหาความสัมพันธ์ชู้สาว การข่มขืน  เป็นต้น 

เมื่อเกิดการกระทำผิดแล้วผู้เสียหายเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะแจ้งไปยังพื้นที่พักพิงฯ เพื่อให้มีการให้ตรวจสอบว่าคู่กรณีเป็นผู้หนีภัยฯ หรือไม่ความยุ่งยาก-ลำบากของการดำเนินกระบวนการยุติธรรมภายใต้กฎหมายไทย เริ่มต้นที่จุดนี้ คือ การต้องนำผู้ต้องหาออกไปนอกพื้นที่พักพิงฯ ให้ถึงมือตำรวจ เนื่องจากไม่มีงบประมาณ กับระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร จึงมีทั้งกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวผู้ต้องหาไปยังสถานีตำรวจ โดยใช้รถจักรยานยนต์ของเจ้าหน้าที่อส.  หรือขอความร่วมมือจาก NGOs หรือแม้กระทั่งฝากไปกับรถขนข้าวสาร รถขนถ่านที่เข้ามาในพื้นที่พักพิงฯ ฯลฯ ต่างๆ เหล่านี้ ปลัดวชิระเล่าว่าเคยทำมาแล้วทั้งสิ้นพื้นที่พักพิงฯ

บ้านใหม่ในสอย อยู่ในเขตรับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน  โดยมีจุดตรวจบ้านใหม่ในสอยอยู่ใกล้กับพื้นที่พักพิงฯ  ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำการอยู่ 3 นาย และพบว่ามีข้อจำกัดไม่ต่างไปจากเจ้าหน้าที่นพื้นที่พักพิงฯ คือขาดงบประมาณและกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอส่วนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาทนายความ การเดินทาง หากเป็นข้อพิพาทที่ร้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชน หรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) ผู้เสียหายจะได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ ดังกล่าว

เมื่อกระบวนการยุติธรรมดำเนินไปจนเสร็จสิ้น ผู้ต้องหารับโทษครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว ผู้ต้องหาจะถูกส่งกลับประเทศต้นทาง เนื่องด้วยความผิดข้อหาหลบหนีเข้าเมือง[4] 

กรณีที่เป็นคดีทางเพศและผู้เสียหายเป็นผู้หญิง พบว่า สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงและไม่มีล่ามเพียงพอ เนื่องจากในพื้นที่พักพิงฯ มีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม บางกรณีจึงต้องขอความร่วมมือจากองค์กรด้านผู้หญิงในการจัดหาล่าม  ส่วนคดีที่เด็กและเยาวชนเป็นผู้ต้องหา  หากเป็นกรณีที่การกระทำความผิดเกิดขึ้นในพื้นที่พักพิงฯ บ้านใหม่ในสอย เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นผู้ต้องหา จะถูกนำเข้าศาลเยาวชนและครอบครัวแม่ฮ่องสอน[5] 

พื้นที่ภาคเหนืออยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพภาค 3   พื้นที่พักพิงฯ บ้านใหม่ในสอย อยู่ในเขตรับผิดชอบของหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 7 (ฉก.ร. 17)   โดยเป็นพื้นที่อำเภอชายแดนที่อยู่ภายใต้การประกาศกฎอัยการศึก[6] ภารกิจของทหารคือ ดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน และรอบนอกพื้นที่พักพิงฯ ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำภายใน  โดยมีสายด่วน (Hotline) และมีชุดปฏิบัติการลาดตระเวณ โดยฐานปฏิบัติส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณชายแดน ทั้งนี้อำเภอจะมีการแจ้งยอดของจำนวนผู้หนีภัยให้ทราบทุกเดือน  และจะเข้าไปดูแลภายในหากเกินกำลังของทางอำเภอ รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวก เช่น การเคลื่อนย้ายผู้หนีภัย  การให้ความช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยในช่วงฤดูฝน

ต้องพยายามไม่ให้เกิดสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ที่ว่าเรื่องเล็กน้อยจะแบ่งกันตรงไหน ความจริงแล้วทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทยต้องได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายไทย ซึ่งปลัดกับอส.ต้องทำให้ผู้หนีภัยเขาไว้ใจเชื่อใจที่จะเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายของไทยบางถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ทหาร  หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 7 ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่งท้ายการมาเยือนแม่ฮ่องสอน

 ………………………………………………………..

คำสำคัญ (Tags): #คนพลัดถิ่น
หมายเลขบันทึก: 102722เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2007 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากได้ พรบ.สัญชาติล่าสุดมีไหมครับเพื่อน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท