ยุทธศาสตร์กับ KM


ใช้ KM เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์กับ KM
ผมได้แนวคิดนี้จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ ๒๐ ธค. ๔๘   
เป้าหมายของยุทธศาสตร์ คือการดำเนินการให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของมหาวิทยาลัย     เรารู้กันทั่วไป ว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ มักเขียนวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ กันไว้สวยหรู    แต่ได้ดำเนินการหรือปฏิบัติจริงไม่ถึงครึ่ง     บางครั้งไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเคยเขียนไว้     ผมเรียกว่าแผนบนแผ่นกระดาษ เอาไว้โชว์     ไม่ใช่เอาไว้ทำ     
คณะกรรมการชุดนี้ตกลงกันว่ายุทธศาสตร์คือเครื่องมือสู่การปฏิบัติ    เพื่อบรรลุผลตามวิสัยทัศน์และพันธกิจ     เน้นที่การปฏิบัติ    และเน้นที่การปฏิบัติในทุกระดับ ทุกภาคส่วนขององค์กร     ไม่ใช่เฉพาะระดับผู้บริหาร   ดังนั้นต้องทำให้ทุกระดับ ทุกภาคส่วน และทุกคนในองค์กรเป็นเจ้าของ (ร่วม) ของวิสัยทัศน์ พันธกิจ และ ยุทธศาสตร์ นั้น     เน้นที่การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม     เริ่มจากการร่วมคิด นำไปสู่การร่วมทำ  และร่วมรับผล
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีแผนงานหรือโครงการที่ยิ่งใหญ่มาก เรียกว่า โครงการอุทยานการศึกษาเฉลิมพระเกียรติ  มีมติกันไว้ตั้งแต่สมัย ศ. ดร. วิจิตร ศรีสะอ้าน เป็นอธิการบดี หรือตั้งแต่เริ่มตั้ง มวล. ก็ว่าได้    และคนใน มวล. ก็ผูกพันหรือรักโครงการนี้มาก    มีการนำมาพูดถึงกันเป็นระยะๆ     แต่พูดกันทีไรก็จะรู้สึกว่าอนาคตตีบตัน     มองไม่เห็นว่าจะทำให้โครงการนี้สำเร็จได้อย่างไร เพราะ มวล. มีพื้นที่ถึง ๙,๐๐๐ ไร่    การพัฒนาพื้นที่กว้างใหญ่อย่างนี้ให้เป็น “อุทยาน” คงต้องใช้เงินมากมหาศาล   
การประชุมคณะกรรมการนโยบายยุทธศาสตร์ในวันนี้ช่วยแก้ปัญหานี้ได้แล้ว
กรรมการที่เป็นผู้ให้ความเห็นจนเรา “หลุด” จากวังวนความคิด คือ ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร อธิการบดี มจธ. และ ที่ ๑ ประเทศไทย ปี ๒๕๐๗    ท่านให้ความเห็นว่าถ้าเรายึดมั่นอยู่กับ “อุทยาน” ที่เป็นวัตถุเป็นพื้นที่และอาคาร เราก็จะเดินเรื่องไม่ออกหรือเดินทางผิด    มิติของ “อุทยาน” ที่สำคัญกว่ามิติทางกายภาพ คือมิติทางภารกิจหรือหน้าที่     คือเป็น “อุทยาน” ที่ขับเคลื่อนภาคใต้ตอนบน ไปสู่สังคมฐานความรู้ หรือสังคมอุดมปัญญา     ถ้ายึดแนวคิดนี้การมีอาคารเต็มพื้นที่ ๙,๐๐๐ ไร่ก็ไม่ใช่เรื่องหลัก     หัวใจคือการทำงานตอบสนองความต้องการของภาคใต้ตอนบน    อุทยานการศึกษาที่ร่วมขับเคลื่อนภาคใต้ตอนบนสู่สังคมฐานความรู้จึงต้องเริ่มที่ชุมชน/สังคม ในภาตใต้ตอนบน     เริ่มที่การสำรวจความต้องการของเขา  สำรวจขีดความสามารถของ มวล. เอง และดำเนินการพัฒนาขีดความสามารถของ มวล. ให้ทำภารกิจที่ภาคใต้ตอนบนต้องการให้ได้ – ในฐานะสถาบันอุดมศึกษา 
อุทยานการศึกษาเฉลิมพระเกียรติจึงกลายเป็นเครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์ ในการที่จะทำให้สมาชิกภายใน มวล. จะร่วมกันดำเนินการ     โดยเริ่มที่การเอาขีดความสามาารถที่ต้องการที่มีอยู่มานำเสนอ     เอาความสำเร็จของการทำงานตามความต้องการของภาคใต้ตอนบนมานำเสนอต่อกันภายใน มวล. และต่อสังคมภายนอกให้เขารับรู้ขีดความสามารถที่มีอยู่ ที่จะเข้าไปทำประโยชน์ให้แก่สังคมภาคใต้ได้     เราได้ตกลงกันว่ายุทธศาสตร์สำคัญคือยุทธศาสตร์ความสำเร็จ หรือยุทธศาสตร์ความดี     เอาผลงานดีๆ มาเล่า และบอกว่าทำอย่าไรจึงเกิดผลสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจนั้น    แล้วฝ่ายบริหารคอยจับเอาความรู้จากการกระทำนั้นมารวบรวม ส่งเสริมให้ได้มีโอกาสทำงานสนองความต้องการของสังคม     และยกระดับความรู้ขึ้นไปอีก    ผมเชื่อว่าเมื่อมีการทำงานสนองสังคม  สร้างผลงานที่เป็นที่ประทับใจคนทั้งภายนอกและภายใน มวล.  ทรัพยากรส่งเสริมการพัฒนา “อุทยาน” เชิงกายภาพก็จะมาเอง
ท่านเห็นกิจกรรม KM ในข้อความย่อหน้าที่แล้วไหมครับ    
วิจารณ์ พานิช
๒๐ ธค. ๔๘

หมายเลขบันทึก: 10236เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2005 19:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท