ข้อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (๓)


ต้องเน้นที่การพัฒนาผ่านการทำงาน ไม่ใช่เน้นการอบรม

ข้อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (๓)


บันทึกนี้ต่อจาก ตอนที่ ๑  และ ตอนที่ ๒    ในตอนที่ ๓ นี้จะชี้ให้เห็นมิจฉาทิฐิ ข้อที่ ๒  คือ การดำเนินการพัฒนาครูโดยเน้นที่การจัดการอบรม  ถ่ายทอดความรู้    โดยท่านผู้อ่านพึงอ่านด้วยวิจารณญาณนะครับ อย่าเชื่อผมโดยไม่ได้ไตร่ตรองเสียก่อน    เพราะว่าตัวผู้มีมิจฉาทิฐิอาจเป็นตัวผมเอง ก็ได้
การเน้นการพัฒนาครูโดยเน้นการจัดการอบรมให้แก่ครูมีข้อด้อยอย่างน้อย ๔ ประการ ที่ทำให้เกิดผลเสียหายอย่างรุนแรงต่อวงการครู คือ
1.        ทำให้ครูต้องละจากศิษย์ เพื่อเข้ารับการอบรม เพื่อให้ได้ใบประกาศนียบัตร หรือปริญญาบัตร ประกอบความก้าวหน้าของตน     เป็นการสร้างระบบการพัฒนาครูที่มีผลในทางลบต่อการเรียนรู้ของนักเรียน     หรืออย่างน้อยๆ ก็เป็นระบบที่ไม่ผูกพันอยู่กับการพัฒนาวิธีการเรียนรู้ และผลการเรียนรู้ของศิษย์    
2.        เป็นการเน้นเป้าของ “การพัฒนาครู” ที่ผิด    คือไปเน้นที่ความรู้   ไม่เน้นที่การกระทำ หรือการปฏิบัติ    เราจึงมีครูที่ปริญญาหรือวุฒิการศึกษาสูงขึ้นมาก แต่ผลงานตกต่ำ     ผมคิดว่าครูสมัยผมเป็นนักเรียนมัธยม ซึ่งส่วนใหญ่มีวุฒิแค่ ปป. หรือ ปกศ. ต้น     มีความสามารถในการสอนและความเอาใจใส่ลูกศิษย์ดีกว่าครูวุฒิปริญญาตรีในสมัยนี้     การพัฒนาครูในรูปแบบปัจจุบันจึงอยู่ในสภาพ “ปริญญาเฟ้อ” หรือ ความรู้เฟ้อ  แต่  “ความสามารถและความเอาใจใส่นักเรียน แฟบ”  
3.        ทำให้ได้ครูที่ “ไม่รู้จริง”    และ “ครูของครู” ก็ไม่รู้จริง คือได้แต่เปิดตำราสอน หรือจำเขามาสอน    เนื่องจากการฝึกอบรมไปเน้นทฤษฎีที่สร้างขึ้นมาจากสังคมอื่น    เน้นที่ทฤษฎีใหญ่ๆ ที่ยังไม่ได้สอดใส่ “ความรู้ปฏิบัติ” ที่มาจาการปฏิบัติงานในสังคมไทย    ครูที่ไม่รู้จริงที่น่าจะพบดาษดื่นที่สุดคือครูที่พูดได้ อธิบายได้ ตอบข้อสอบได้ แต่ไม่ทำ  ไม่ปฏิบัติ    ซึ่งในทางการเรียนรู้สมัยใหม่ถือว่ายังมีความรู้ในระดับที่ตื้น    แต่ในทางการสอบถือว่าสอบผ่าน หรืออาจได้เกียรตินิยมด้วยซ้ำ     จะเห็นมิจฉาทิฐิซ้อนมิจฉาทิฐิอยู่ในระบบการพัฒนาครูที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
4.        เป็นการดำเนินการอยู่บนฐานความเชื่อว่าครูเป็นผู้ไม่มีความรู้     จึงต้องพัฒนาโดยจัดการฝึกอบรมให้    แนวคิดแบบนี้อยู่บนฐานคิดว่าการทำงานไม่เป็นการสร้างความรู้     หรือเท่ากับเป็นการไม่ให้คุณค่าต่อความรู้จากประสบการณ์     ที่ผิดอย่างยิ่งคือไม่เข้าใจว่าในการทำงานที่ประสบความสำเร็จอย่างน่ายกย่องนั้น มี “ความรู้ปฏิบัติ” ซึ่งเป็นความรู้ที่วงการครูน่าจะต้องการมากที่สุด     มีคุณค่าสูงสุดต่อการพัฒนาระบบการศึกษา  
ถึงตอนนี้คงต้องทำความเข้าใจให้ชัด    ว่าผมไม่ได้บอกว่าการฝึกอบรมครูเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์    ผมเชื่อว่าการอบรมครูมีประโยชน์ แต่มีน้อยกว่าการพัฒนาครูในรูปแบบที่เน้นการพัฒนาแบบควบคู่ไปกับการทำงาน  หรือการพัฒนางาน     หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า   การพัฒนาครูควรเน้นที่การพัฒนา ณ จุดทำงาน     ใช้การพัฒนางานเป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาครู     เน้นการพัฒนาครูโดยการรวมกลุ่มกันเรียนรู้    โดยดำเนินการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ (หน้าที่ครู)     กล่าวอย่างง่ายที่สุด ใช้กระบวนการ KM เป็นเครื่องมือในการพัฒนาครู    
คุณโอฬาร คำจีน ครูผู้ไปเรียนปริญญาโท ด้าน KM มาจากออสเตรเลีย ได้เข้ามาเขียนข้อคิดเห็นในบันทึกแรกของผมดังนี้ (คลิก)    จะเห็นว่ากระทรวงศึกษาฯ ได้ลงทุนส่งครูไปเรียนรู้เรื่องดีๆ     แต่ดูเหมือนว่ากระทรวงฯ ยังไม่ได้ใช้ความรู้ของ อ. โอฬาร ให้เป็นประโยชน์ ในเชิงการพัฒนาระบบการพัฒนาครูของกระทรวงอย่างจริงจัง     ผมจึงขอเสนอให้ คณะกรรมการฯ ลองขอให้ อ. โอฬารมานำเสนอหลักการและแนวปฏิบัติให้แก่คณะกรรมการฯ หรือคณะอนุกรรมการฯ ก็ได้
อ. โอฬาร กรุณาแจ้งหมายเลข e-mail และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อที่ [email protected] ได้ไหมครับ     ผมอยากคุยด้วย
ผมขอเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาครูโดยเน้นพัฒนาครูผ่านการพัฒนางานประจำคืองานจัดการเรียนรู้ของศิษย์     ทำให้งานประจำเป็นการเรียนรู้ให้ได้    โดยที่จัดระบบให้เป็นการเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม (ของครู)     ในลักษณะที่เรียกว่า เรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ (Interactive Learning Through Action)    ซึ่งก็คือดำเนินการจัดการความรู้นั่นเอง     ตัวอย่างของการพัฒนาครูแบบนี้มีตัวอย่างที่โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา  จ. พระนครศรีอยุธยา,  โรงเรียนรุ่งอรุณ,  โรงเรียนเพลินพัฒนา และโรงเรียนอื่นๆ อีกหลายโรงเรียน     กระทรวงศึกษาธิการน่าจะส่งเสริมให้มีการพัฒนาวิธีวัดสมรรถนะ (competency) ของครู     ถ้าพบครูที่ได้เรียนรู้จากการทำงานจนมีสมรรถนะถึงระดับหนึ่งก็ส่งเสริมให้ได้รับการตอบแทนสูงขึ้น   และหรือได้เข้าเรียนปริญญาโท – เอก โดยทำวิทยานิพนธ์ในเรื่องที่ตนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติมาก่อน    โดยนำเอาทฤษฎีไปตีความเพื่อสร้างความรู้ใหม่เชิงทฤษฎีจากความรู้เชิงปฏิบัติของตน     หากทำเช่นนี้จะเป็นการปฏิวัติหลักการและรูปแบบการพัฒนาครู     โดยที่ทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์ (win – win)
การดำเนินการนี้ควรทำในทุกเขตพื้นที่การศึกษา     ไปเสาะหาครูที่ได้สร้างนวัตกรรมการเรียนรู้อยู่แล้ว     เชิญมาเล่าความสำเร็จของตนว่าเป็นอย่างไรและตนดำเนินการอย่างไรจึงบรรลุผลสำเร็จนั้น    จดบันทึก “ความรู้ปฏิบัติ” เหล่านั้นไว้    และเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตอย่างเป็นระบบ ให้คนอื่นเข้าไปค้นหาได้ง่าย     ส่งเสริมให้ครูเหล่านี้ได้ขับเคลื่อนเครือข่ายการเรียนรู้ (เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน)    ในลักษณะของการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ    มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่าน ICT และผ่านการพบปะเป็นครั้งคราว     โดยกระทรวงฯ จัดทรัพยากรสนับสนุน    โดยที่เปิดโอกาสให้ครูเหล่านี้คิดพัฒนาร่วมกันอย่างเป็นอิสระ ตามเป้าหมายที่ตกลงกัน     คืออิสระที่วิธีดำเนินการ ไม่อิสระที่เป้าหมาย     การดำเนินการจริงจะมีรูปแบบที่ความหลากหลายสูงมาก     แต่เป้าจะอยู่ที่เดียวกันคือพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน
ผลลัพธ์ที่เชื่อว่าจะได้ คือ
1.        ครูได้รับการพัฒนา
2.        งานการเรียนการสอนได้รับการพัฒนา
3.        การเรียนรู้ของนักเรียนจะมีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น
4.        มีการสร้างองค์ความรู้เชิงทฤษฎีด้านการศึกษาจากบริบทไทย  
5.        โรงเรียนจะเป็นองค์กรเรียนรู้
6.        ครูและบุคลากรการศึกษาจะเป็นบุคคลเรียนรู้
7.        วงการศึกษาศาสตร์ไทยจะเป็นผู้นำ หรือเคียงบ่าเคียงไหล่กับวงการศึกษาศาสตร์สากล
วิจารณ์ พานิช
๒๐ ธค. ๔๘


        

หมายเลขบันทึก: 10235เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2005 19:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน ท่านอาจารย์ศาสตราจารย์ ดร.นพ.วิจารณ์  พานิช ที่เคารพยิ่ง  ข้อเขียนในประเด็นข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ตอนที่ 3 ซึงผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะจาการที่ไปร่วมมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2  การพัฒนาครูโดยเน้นพัฒนาครูผ่านการพัฒนางานประจำ คือ งานจัดการเรียนรู้ของศิษย์ งานประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. แล้วนำผลการเรียนรู้ การประเมินผล และนำงานประจำเป็นการเรียนรู้ให้ได้ โดยจัดระบบให้เป็นการเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม(ครู) ในลักษณะที่ว่าเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ ซึ่งวิธีการนี้ผมเคยนำไปใช้กับการพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชนด้านอุตสาหกรรมชุมชน ส่งผลให้เขาได้รู้จักตนเอง รู้จักทรัพยากรและสามารถจัดการทรัพยากรใกล้ตัวโดยเฉพาะปัจจัย 4 สามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ เกิดความเชื่อมั่นในตัวเองมีการปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ตัวอย่างสหกรณ์การเกษตรประชาคมนำเกลี้ยงเวียงชัย ตำบลนาข่า อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม  และในส่วนของโรงเรียนเช่นเคยดูนิทรรศการโรงเรียนรุ่งอรุณ เป็นตัวอย่างที่ดีมาก 

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับท่านอาจารย์ครับ แต่ก็ออกจะหวาดๆ อยู่เพราะว่ากระทรวงศึกษาไม่ค่อยจะสนใจความรู้ปฏิบัติสักเท่าใด คงจะลำบากมากที่จะทำการวัดสมรรถนะของครู อาจจะถนัดแต่จะวัดประเมินกันที่เอกสารหลักฐาน ทุกวันนี้ครูทั้งหลายจึงต้องให้ความสำคัญกับงานเอกสาร ทำให้ต้องละทิ้งงานที่ทำให้ตัวเองและเด็กได้พัฒนาอย่างแท้จริงไปหาสิ่งเทียมๆที่จำเป็นต่ออาชีพและวิถีชีวิต ครูที่ทำผลงานผ่านการประเมินเลื่อนวิทยฐานะจึงอาจจะไม่จำเป็นต้องทำงานการสอนดี หรือมีความพร้อมในคุณธรรม จริยธรรม ซึงก็มีให้เห็นได้ไม่น้อย อย่างไรก็ตามผมขอสนับสนุนแนวคิดของท่านอาจารย์ทุกกรณีเลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท