ครูแจ้ง คล้ายสีทอง“ ช่างขับคำหอม”(ตอนที่๑)


 

ครูแจ้ง  คล้ายสีทองช่างขับคำหอม 

          อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ของผมมีคำขวัญ ที่บ่งบอกเกียรติยศชื่อเสียงของท้องถิ่น ดังนี้ 

       ชื่อมีคนน้อย อร่อยปลาหมำ เลิศล้ำพระสงฆ์ หลวงพ่อโหน่งพระเครื่อง รุ่งเรืองนาไร่ พระใหญ่โลกรู้ เสภาชั้นครู อู่น้ำอู่ปลา ราชินีนักร้อง สองพี่น้องบ้านเรา

       วันนี้ผมกล่าวถึงคำขวัญวรรคที่ว่า เสภาชั้นครู อำเภอสองพี่น้องเรามีนักขับเสภาชั้นบรมครูทีเดียว เสภา เป็นชื่อกลอนชนิดหนึ่งนิยมแต่งเล่าเรื่องค่อนข้างยาว ใช้ขับ เช่นเสภาขุนช้างขุนแผน เวลาขับมีกรับเป็นเครื่องประกอบจังหวะ ต่อมาใช้ปี่พาทย์รับ(พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ..2542) ในปัจจุบันเมื่อพูดถึงการขับเสภาคงมีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก ครูแจ้ง  คล้ายสีทอง ความสามารถอันยิ่งใหญ่ของท่านได้ถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญอำเภอสองพี่น้อง ที่ว่า เสภาชั้นครู" ดังที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น เสภาชั้นครู ก็หมายถึงครูแจ้ง  คล้ายสีทอง ซึ่งเป็นชาวสองพี่น้องนั่นเอง ต่อไปนี้ผมจะพาท่านผุ้อ่านมารู้จักครูแจ้ง คล้ายสีทองภูมิปัญญาอันล้ำค่าของชาวสุพรรณ และของชาวไทย กันให้มากยิ่งขึ้น ก่อนอื่นผมต้องขอขอบพระคุณโรงเรียนสองพี่น้องวิทยา และหนังสือช้างป่าต้นคนสุพรรณ ที่ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์แก่ผม

       ครูแจ้ง  คล้ายสีทอง เกิดที่ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2478 เป็นบุตรของนายหวั่น  นางเพี้ยน คล้ายสีทอง มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 4 คน ครูแจ้งเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัวและเป็นบุตรคนที่        ตระกูลของครูแจ้งมีอาชีพทำนา แต่ครูแจ้งก็เติบโตมาในในสายเลือดและสภาพแวดล้อมของศิลปินแขนงต่างๆเช่นดนตรีปี่พาทย์และโขน บิดาของครูแจ้งมีความสามารถในศิลปะการแสดงโขน เป็นทั้งนักพากย์และนักแสดงโขน โดยแสดงเป็นตลกโขน ในสังกัดคณะโขนวัดดอนกลาง จังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนมารดาของครูแจ้งก็เป็นนักร้องประจำวงปี่พาทย์ เมื่อฌโตพอจะเข้าโรงเรียนได้ครูแจ้งก็ไปเป็นเด็กวัดอยู่กับตาซึ่งบวชเป็นพระอยู่วัดโบสถ์ดอนลำแพน และพระหลวงตานี้เองก็พระนักสวดแห่งยุคนั้นทีเดียว

       ครูแจ้งเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดโบสถ์ดอนลำแพน  ในช่วงนี้บิดาของครูแจ้งถึงแก่กรรมแล้ว ครูแคล้ว คล้ายจินดา ครูปี่พาทย์ได้มาขอครูแจ้งจากมารดาไปอุปการะและสอนให้เรียนดนตรีปี่พาทย์ โดยเริ่มฝึกฆ้องวง ต่อเพลงต่างๆจนออกงานได้ จากนั้นจึงได้หัดร้องเพลงกับครูเฉลิม คล้ายจินดาซึ่งเป็นบุตรของครูแคล้ว ครูเฉลิมฝึกฝนอย่างหนักจนสวามารถร้องเพลงได้อย่างดี แต่เนื่องจากในสมัยยังเป็นเด็กๆครูแจ้งเป็นคนขี้อาย จึงไม่ยอมร้องเพลง จะร้องเมื่อถูกบังคับ หรือถูกตีเสียก่อน บ่อยครั้งที่เด็กชายแจ้ง ต้องร้องเพลงเคล้าน้ำตา และเวลาร้องเพลงก็มักจะไปแอบร้องอยู่หลังกลองทัดที่มีขนาดใหญ่พอจะเป็นเครื่องกำบังกายได้ เมื่อร้องเพลงขึ้นมาครั้งใด ผู้ฟังก็มักจะชะเง้อหาที่มาของเสียง ครั้นพอร้องจบก็จะได้รับรางวัลจากผู้ฟัง 2-3 บาททุกครั้งไป

         ตอนนี้จบแค่นี้ คอยติดตามตอนต่อไปนะครับ

หมายเลขบันทึก: 101921เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2007 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

น่าจะมีรูปครูแจ้งด้วยนะคะ

นางสาวศิรินารถ ขาวโต

ปลื้มมากค่ะ..

นางสาววนิดา อินสุวรรณ

หนูเป็นเด็กที่นี้ค่ะ

ชื่นชอบครูมานานและเห็นตัวจริงแล้วค่ะ

จากโรงเรียนสองพี่น้องวิทยาค่ะ

อาจารย์เชิญมาขับเสภาเวลาวันสำคัญต่างๆค่ะ

อาลัย

ครูแจ้ง คล้ายสีทอง เสียชีวิตแล้ว

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552ที่รพ.ศิริืราช

เวลาใกล้เที่ยงวัน

ขอแสดงความเสียใจกับญาติ ๆ และมิ่งมิตร

คนรักครูแจ้งครับ

ครูแจ้ง คล้ายสีทอง

ครู แห่งเสียงแห่งศักดิ์นักเพลงไทย

แจ้ง แห่งใจแห่งจิตนิมิตศิลป์

คล้าย เสียงเทพแห่งไทยในแผ่นดิน

ทอง แห่งถิ่นสุพรรณอนันตกาล

สัจภูมิ ละออ-ร้อยเรียง

ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครูแจ้ง

บรมครู..ขับเสภา..ที่ดีที่สุดในประเทศไทยด้วยครับ

ครูแจ้ง คล้ายสีทอง

ครู..แห่งเสียงแห่งศักดิ์นักเพลงไทย

แจ้ง..แห่งใจแห่งจิตนิมิตศิลป์

คล้าย..เสียงเทพแห่งไทยในแผ่นดิน

สีทอง..ถิ่นสุพรรณอนันตกาล

สัจภูมิ ละออ-ร้อยเรียง

ฝากรอยอาลัย ครูแจ้ง

เแห่งเมืองสุพรรณ

ฉายสยาม

กริกกรัก...กร้อแกร้...กระแสเสียง

สรรพสำเนียงปลุกประเลงเป็นเพลงหวาน

เสียงของพ่อช่างหอมซึ้งตรึงดวงมาน

ขยับกรับขับขานสะท้านทรวง

โอ้ว่าดวงดาริการะย้าระยิบ

พร่างพริบแวมวอมในอ้อมสรวง

คือดวงรัตน์เฉิดฉวีมณีดวง

ลับล่วงกลับวะวับวะแวววาม

กลับสว่างกระจ่างแจ้งสำแดงสังคีต

เปี่ยมประณีตเปล่งประกายฉายสยาม

ลาลับแต่เพียงร่างยังพร่างนาม

“แจ้ง” นิยาม “คล้ายสีทอง” ก้องเกริกไกร

ให้เสภาสถาพรกระฉ่อนโชติ

เรืองโรจน์คู่ดินฟ้าทุกคราสมัย

เปี่ยมปีติตระการกานท์ซ่านซึ้งใจ

เสริมสร้างประชาไทยสู่สุนทรีย์

๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๒

ธนกฤต อกนิษฐ์ธาดา

แต่งในนามของครอบครัว ครูแจ้ง คล้ายสีทอง

พร้อมด้วยคณะศิษย์

สุรพันพิชิต เทียบศรี

ขอแสดงความเสียใจ กับญาติ ๆด้วยนะครับ

ขอให้ดวงวิญญาณของครูแจ้งได้ขึ้นสวรรค์ด้วยเถิด

ศิษย์จะไม่ลืมเสียงการเห่เรือที่ไพเราะเลย

ขอบคุณมากนะครับ

ผมจะตั้งใจทำโครงงานเห่เรือให้ดีที่สุดครับ

ขอให้ดวงวิญญาณของครูแจ้งรับรู้ว่ากระผมคนนี้ จะขอสืบสานวรรณศิลป์

ที่ไพเราะและสวยงามของพ่อครู ให้ศิษย์ทั้งหลายได้ซาบซึ้งและรักภาษาไทย

ตลอดไป

ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลพิภพ รวมทั้งบุญกุศล

ที่พ่อได้สร้างจากการมอบวิชาความรู้เป็นวิทยาทานมาทั้งชีวิต บันดาลดลให้พ่อครู

สถิตยังสรวงสวรรค์ชั้นฟ้า ชั้นวิมาน กระผมจะระลึกถึงพ่อครูตลอดไป

แม้นกายจากไป แต่คุณค่ายังคงอยู่ตลอดไป เป็นความภูมิใจของคนสุพรรณและคนไทยทั้งประเทศ

ขอให้ลุงแจ้งไปสู่สวรรค์

แม้ร่างกายของครูแจ้งจะสูญสลายแต่ผลงานของครูยังคงอยู่กับพวกเราเสมอนะคะ

ขอขอบคุณทุกท่าน ที่มาร่วมชื่นชมครูแจ้ง และร่วมไว้อาลัยเมื่อทราบว่าท่านได้จากพวกเราไป...ความดีและผลงานของท่านยังตราตรึงในใจพวกเราอยู่เสมอครับ

สอนผมบ้างสิคับ ผมต้องไปขับเสภาแข่งที่เขตก่อนวันที่13พ.ย.นี้คับ

งานพระราชเพลิงศพครูแจ้ง คล้ายสีทอง ในวันที่ 22 มีนาคม 2553 ณ วัดป่าเลไลย์ จังหวัดสุพรรณบุรี

ขอให้ครูแจ้ง คล้ายสีทองเดินทางสู่สรวงสวรรค์ มีแต่ความสุขในโลกใหม่ด้วยเทอญ หลานคนนี้จะขออนุรักษณ์เพลงไทยเดิมไว้

ตราบชีวิตจะหาไม่ รักครูและระลึกถึงเสมอ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท