ปีการศึกษาใหม่เวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ beeman ก็ได้รับมอบหมายให้สอนวิชา 258211 เซลล์และชีววิทยาระดับโมเลกุล หรือ Cell and Molecular Biology จำนวน ๑๒ คาบ ใน ๔ สัปดาห์ (เนื้อหาเพิ่มขึ้นแต่เวลาน้อยลง-เรียนแบบมุ่งเนื้อหามากกว่าความรู้ เขาเรียกว่าเรียนแบบยัดทะนาน)
เนื้อหาที่ได้รับมอบหมายให้สอนเป็นคนแรก ก็มีดังนี้
Chemical foundations for cells
- organization of matters
- the nature of chemical bonds and important bonds in biological molecules
- chemical interactions in the world of cells
|
Cells in perspective
- the cell theory
- structural organization of the cell
- prokaryotic cell organization
- eukaryotic cell organization
- major investigative methods of cells and molecular biology
|
Membrane structure and funtion
- molecular organization of the membrane
- transport of molecules across the membrane
|
Organization of the cytoplasm
- endoplasmic reticulum and Golgi Apparatus
- lysosome and microbodies
- mitochondria
- chloroplasts
- cytoskeletal systems and movement
|
The cell Surface
- cell Junction & extracellular matrix
|
ปัญหาที่พบ ในแต่ละปีที่ผ่านมาสำหรับวิชานี้ คือ
-
นิสิตส่วนมาก ถูกฝึกมา ให้เรียนแบบ teaching mode คือ มาเข้าห้อง Lecture แล้ว ก็จดเนื้อหาวิชาผ่าน Powerpoint เมื่อไม่ทัน ก็ขอ Powerpoint นั้นจากอาจารย์ หรือไม่อาจารย์ก็ต้องเตรียม sheet มาให้ วิธีการเรียนแบบนี้เปรียบเสมือน "สอนกินข้าว" แบบป้อนให้กิน
- ผมมาคิดว่า วิธีสอนให้กินข้าวนี้ไม่ค่อยดี สู้สอนให้ "หาข้าวกินเอง" ไม่ได้ การสอนแบบหาข้าวกินเองนี้ ก็คือ สอนแบบ Learning Mode นั่นเอง คือสอนเมื่อคุณพร้อมที่จะเรียน
- เนื่องจากความพร้อมและระยะเวลาการทำความเข้าใจของแต่ละคนไม่เท่ากัน การสอนโดย Powerpoint ในห้องนั้น ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไร
- เราจึงมีทางเลือกอีกอย่างหนึ่งคือ ให้เรียนผ่านสื่อ ICT ที่เรากำลังพยายามทำให้คุณอยู่นี่ไง ทุกคนเริ่มต้นที่เท่าๆ กัน หาเวลาไปใช้ห้องคอมพิวเตอร์ที่คณะฯ (สำนักหอสมุด-ปิดทำการ ๑ เดือน) หรือเครื่องของเพื่อนฯ และสามารถ copy เนื้อหาไปไว้ ใน word เพื่ออ่านได้
- สำหรับในห้องเรียน เรามีไว้เพื่อทบทวนเนื้อหา และทำกิจกรรมกันบ้าง
- นอกจากนั้นเราก็จะหาบทเรียนที่เรียกว่า "สอนแบบไม่สอน" มาเล่าสู่กันฟัง ในบรรยากาศสบายๆ ในห้องเรียน
- เข้าใจว่านิสิตที่มาเรียนวิชานี้ ในเทอมนี้มีประมาณ ๕๑๗ คนเลยทีเดียว
ปัญหาของห้อง Lecture เราพบว่าคนที่อยู่ด้านหลังๆ ของห้องจะมองไม่เห็นเนื้อหาใน powerpoint ซึ่งอาจทำให้จดไม่ทัน และพลอยทำให้ไม่อยากเรียนด้วย ต้องพึ่งเนื้อหาใน Sheet ซึ่งแต่ละคนก็จะต้องไปถ่ายเอกสาร ประมาณว่าคนละ ๕๐ หน้าหรือ ๒๕ แผ่นสำหรับผู้สอน ๑ คน มีผลทำลายสิ่งแวดล้อม เราพยายามลดการใช้กระดาษ หรือ paperless ลง โดยให้นิสิตไปศึกษาผ่านสื่อ ICT ของใครก็ได้ โดยดูจาก Outline ที่ให้เป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อชินกับระบบเดิม เรามาพบกันครึ่งทาง โดยผู้สอนเตรียมเนื้อหาให้ จะได้ลดเวลาในการเรียนรู้ลงบ้าง
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ ระบบการเรียนการสอนแบบปัจจุบัน นิสิต "เรียนเพื่อสอบ มิใช่เรียนเพื่อเอาความรู้" ซึ่งจะโทษนิสิตอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะสิ่งแวดล้อมหรือบริบท มันทำให้เป็นเช่นนี้นั่นเอง
การกำหนดกรอบ ต่างๆ มากมาย ก็ทำให้อึดอัด บรรยากาศของการเรียนเคร่งเครียดเกินไป กระแส Teaching mode แรงกว่า Learning Mode
ปัญหาผู้เรียนแบบเรื้อจ้างเรือโยง คือ เรียนกันครั้งหนึ่งตั้ง ๕๐๐ ถึง ๑๐๐๐ คน ก็มีปัญหาเหมือนกัน การ Lecture หรือ ปาฐกถา แบบมากๆ โดยใช้คนเพียงคนเดียวนี้ ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
- ผมพึ่งไปดูงาน ปาฐกถาแบบคน ๕๐๐ คนขึ้นไป เขาต้องใช้ทีมงานประมาณ ๒๐ คน ช่วยดูแลความเรียบร้อยและอำนวยความสะดวก
- แต่วิธีจัดกการเรียนการสอนของเราใช้ ๑ คน ต่อ ๕๐๐ นี้ นับว่าไม่ค่อย Fair เท่าไร
บ่นมามากพอแล้ว การบ่นอาจมีประโยชน์บ้าง แต่บ่นมากไม่ดี เพราะสมองจะคิด negative ไม่สร้างสรรค์อะไร ในเมื่อเป็นมนุษย์ อุปสรรคหรือปัญหาคือบททดสอบ ที่ดีที่สุด
การคิด Positive จะดีกว่า ผมเลยออกแบบกระบวนการเรียนการสอน แบบที่นิสิตจะได้พบในห้องเรียนครับ
นิสิตลองสังเกตวงจรนี้
โดยปกติ ในกระบวนการเรียนการสอนแบบเดิม เรามุ่งไปที่ตัว "องค์ความรู้-Body of Knowledge" โดยไม่สนใจ "กระบวนการเรียนรู้-Process of Knowing" และมันก็จะไม่เกิด "การเรียนรู้-Learning" เลย เราจึงมีความรู้สึกว่า
"สิกขา ปรมา ทุกขา" การศึกษาเป็นทุกข์อย่างยิ่ง.... เอาไว้เรียนในห้องกันครับ
การเรียนเราต้องใช้ หลักการของอิทธิบาท ๔ (คุณเครื่องแห่งความสำเร็จ) ครับ คือ
ฉันทะ มีความพอใจรักใคร่ในวิชาที่เรียน (ผู้สอนมีอทธิพลด้วยเหมือกัน) หรือพยายามเสมือนว่ามีฉันทะก็ยังดี
วิริยะ มีความเพียรพยายามหมั่นศึกษา และเรียนให้เป็น
จิตตะ จิตต้องมีสมาธิพอที่จะ "จับจ่อ จดจ้อง จริงจัง ตั้งใจ" อย่างชนิดที่ใครๆ ก็สู้เราไม่ได้ เราพบว่า Capture (จับประเด็น) สำคัญกว่า Lecture (จดคำบรรยาย)
วิมังสา ใช้ปัญญาใคร่ครวญพิจารณา ทุกขั้นตอน ก่อน "คิด พูด ทำ" คือมี "สติ-sati" นั่นเอง
นอกจากนั้น เราต้องมี "หัวใจนักปราชญ์" ด้วย ประกอบด้วย
สุ-สุตะ ฟัง
จิ-จินตะ คิด
ปุ-ปุจฉา ถาม
ลิ-ลิขิต เขียน
ไม่ต้องอธิบายก็พอให้ใจกันอยู่แล้ว แต่คุณคิดว่า "ข้อไหนสำคัญที่สุด" ในความคิดของคุณ....