เรื่องเล่าจากดงหลวง 111 ชีวิตที่ลาดนาเพียง


เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาคณะสาธารณะสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเคยทำการวิจัยน้ำบ่อสร้างกลางนาที่ชาวบ้านอีสานนิยมใช้เป็นแหล่งน้ำดื่มนั้น ปนเปื้อนสารเคมีจำนวนมาก และสั่งให้กลบทิ้งจำนวนมากเช่นกัน แต่ชีวิตที่บ้านลาดนาเพียงไม่มีงานวิจัย ไม่มีการดูแลอย่างใกล้ชิด

ลาดนาเพียงเป็นชื่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ไม่ไกลมากนักจากมหาวิทยาลัย และตัวเมืองใหญ่ แม้จะไม่ได้ตั้งอยู่บนเส้นถนนสายหลักแต่ก็มีถนนสายรองผ่านหมู่บ้าน มีลำห้วยสายเล็กๆไหลผ่านแต่ไม่มีน้ำหรอก แห้งขอดมานานแล้ว ชาวบ้านเป็นไทยอีสานทั่วไป อาชีพหลักก็ทำนาปลูกข้าวไว้กิน เหลือขายบ้าง โดยอาศัยน้ำฝน สระน้ำสาธารณะพอมีน้ำบ้าง แต่ก็เอาไว้ให้วัว ควายกิน  

เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่มีอายุนับร้อยปีจึงมีขนาดใหญ่ ทางราชการก็มาแบ่งแยกออกเป็นสองหมู่ตามนโยบายการปรับปรุงวิธีการปกครอง (ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับนโยบายเงินล้าน..) ทั้งที่เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน หลังคาบ้านติดกัน ทำนาทุ่งเดียวกัน กราบพระองค์เดียวกัน เผาศพที่เดียวกัน กินน้ำจากบ่อเดียวกัน เฒ่าจ้ำคนเดียวกัน หมอธรรมคนเดียวกัน แต่ราชการมากำหนดให้สังกัดคนละหมู่บ้าน 

มีป่าชุมชนผืนเล็กๆอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก เป็นที่เลี้ยงสัตว์บ้าง และหาเห็ด หาพืชป่าที่พอหลงเหลืออยู่บ้าง 

ที่น่าสนใจคือ ชาวบ้านไม่ค่อยออกไปทำงานที่อื่นมากนักเหมือนหมู่บ้านอีสานทั่วไป ทั้งๆที่การคมนาคมเรียกได้ว่าสะดวก และระยะทางไม่ไกลจากตัวเมืองใหญ่ ทำงานในเมืองแบบไปกลับได้สบาย แต่ทำไมชาวบ้านจึงไม่ไปทำงานข้างนอก ??

 เหตุผลที่สำคัญคือ ที่นี่ทำการผลิต พืชเศรษฐกิจหลังนา ที่สำคัญสุดของภาคอีสานก็ว่าได้ คือ มะเขือเทศเก็บเมล็ดพันธุ์ ทำกันมาเกือบ 20 ปีแล้ว มีหลายบริษัทธุรกิจเกษตร ที่ต่างเข้ามาหาพื้นที่เพาะปลูก โดยเสนอให้ผลประโยชน์ดีที่สุดแก่ชาวบ้านในเงื่อนไขสัญญาระหว่างกันที่เรียกว่า Contract farming ซึ่งชาวบ้านก็ตอบรับเป็นอย่างดี แรงดึงดูดที่สำคัญคือรายได้ที่เกษตรกรได้รับ ผู้ใหญ่บ้านกล่าวว่า เป็นหลักหมื่นถึงหลักแสนบาทต่อครอบครัวต่อฤดูกาล 

เนื่องจากระยะเวลาที่เกษตรกรบ้านนี้ทำการผลิตพืชแบบนี้มาเป็นเวลานานจึงเกิดเป็นแรงงานมีฝีมือ คือมีความชำนาญ ทำให้ผลผลิตสูง การสูญเสียมีน้อย และเมล็ดพันธุ์ที่ได้มีคุณภาพตรงความต้องการของบริษัทธุรกิจเกษตรทั้งหลาย พื้นที่ทำการผลิตถึงสองร้อยไร่จึงเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่มาก เกษตรกรก็ไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น นอกจากทุ่มเทเวลาให้กับมะเขือเทศ ซึ่งนับต้นปลูกกันเลย 

เมื่อพิจารณารายได้แล้วน่าดีใจ เมื่อชาวบ้านไม่อพยพไปหางานทำที่อื่นก็น่าดีใจ เพราะการอยู่ที่บ้านคือความอบอุ่นของครอบครัว วัฒนธรรมประเพณีต่างๆก็มีชาวบ้านมาร่วมมือมากมาย การทำบุญที่วัดก็ไม่ขาด ประเพณีไหว้เจ้าปู่ตาก็ไม่ได้ละเว้นและมีผู้เข้าร่วมมาก มีพ่อมีแม่ มีตามียาย มีลูก มีหลาน หรือที่เรียกกันกว่า ครอบครัวที่สมบูรณ์นั้น ต้องได้ยินเสียงเด็กร้องไห้ ได้ยินเสียไอของคนแก่คือมี 3 generation ภายในครอบครัว บ้านลาดนาเพียงมีสภาพเป็นเช่นนั้นจริงๆ  

จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดน่าที่จะยินดีปรีดากับพี่น้องบ้านลาดนาเพียง แต่ตรงข้าม บ้านลาดนาเพียงกำลังสะสมความตาย และเริ่มทยอยกันสะอื้นต่อไปเรื่อยๆเสียแล้ว จากมะเขือเทศนี่แหละ  

เพราะการปลูกมะเขือเทศนั้นเป็นพืช ICC หรือเรียกว่า Intensive Care Crop มันเป็นพืชที่ผมพันธุ์ขึ้นมาใหม่ๆ สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งชาวบ้านไม่มีสิทธิรู้เลยว่าชื่อพันธุ์มะเขือเทศนี้ชื่ออะไร รู้แต่ว่า เบอร์นั้นเบอร์นี้ เป็นหมายเลขซึ่งเป็น Code ที่บริษัทกำหนดขึ้นมาแทนชื่อพันธุ์สามัญทั่วไป 

ประการสำคัญที่สุดคือ พืชเหล่านี้ไม่ทนทานต่อโรคแมลงต่างๆจึงจำเป็นต้องใช้สารเคมี และใช้อย่างมากเสียด้วย !!  ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรบ้านลาดนาเพียงใช้สารเคมีไปแล้วมากมายนับร้อยๆตันกระมัง..! สารเคมีเหล่านี้ไปไหนหมดหลังการฉีด พ่นลงไปที่ต้นมะเขือเทศ ส่วนหนึ่งก็ซึมเข้าไปที่ต้นมะเขือเทศ แต่ส่วนใหญ่ก็ตกลงบนพื้นดินที่นารอบๆหมู่บ้านของเขานั่นเอง และที่ซึมเข้าร่างกายชาวบ้านมีจำนวนเท่าใดกัน  หามีใครมาวัด มาตรวจสอบไม่..?  หากไปตามดูว่าส่วนที่ตกลงดินนั้นไปไหนต่อ ก็จะละลายน้ำยามฝนตกและไหลไปตามกระแสน้ำสู่ที่ลุ่มคือแหล่งน้ำสาธารณะ บ่อน้ำสร้าง บ่อน้ำใต้ดิน และลำห้วยต่างๆ  คนก็เอา วัวควายไปกินน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะนั้นๆ คนก็เอาน้ำใต้ดินมากินมาใช้ต่อ 

เงินหมื่นเงินแสนที่ได้มาจากการเพาะปลูกพืชด้วยฝีมือชำนาญนั้นถูกกระจายตัวไปสู่เครื่องอำนวยความสะดวกในชีวิตตามกระแสสังคม เช่น ทีวีจอใหญ่ๆ มือถือรุ่นล่าสุด วิทยุเสียงดังๆ รถมอเตอร์ไซด์วิ่งเร็วๆปานรถแข่งในสนาม รถปิคอัพคันหรูตามแรงโฆษณาในทีวีจอใหญ่นั้น ฯลฯ ยามเมื่อฤทธิ์สารเคมีที่สะสมในร่างกายแสดงผลออกมา ก็ไปโรงพยาบาลใช้สิทธิ์ 30 บาทรักษาทุกโรค ?? !!  

ไม่มีการทำ  Blood test เพื่อดูว่า สารเคมีอยู่ในร่างกายเท่าใด มีกี่คนที่อยู่ในระยะอันตราย การป้องกันที่ควรทำขั้นพื้นฐานและขั้นสูงสุด 

โรงพยาบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกเท่าใดต่อการดูแลสุขภาพชาวบ้านลาดนาเพียงวิถีชีวิตของชาวลาดนาเพียงจะเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อเกษตรกรทุกคนที่ใช้สารเคมีนั้นแสดงผลฤทธิ์ร้ายออกมา  

เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาคณะสาธารณะสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเคยทำการวิจัยน้ำบ่อสร้างกลางนาที่ชาวบ้านอีสานนิยมใช้เป็นแหล่งน้ำดื่มนั้น ปนเปื้อนสารเคมีจำนวนมาก และสั่งให้กลบทิ้งจำนวนมากเช่นกัน  แต่ชีวิตที่บ้านลาดนาเพียงไม่มีงานวิจัย ไม่มีการดูแลอย่างใกล้ชิด 

ผมเห็นใจชาวบ้านลาดนาเพียง ภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เช่น มาควบคุมดูแลการใช้สารเคมีอย่างถูกวิธี มาตรวจการปนเปื้อนสารเคมีในกระแสเลือด ให้คำแนะนำการป้องกันและฟื้นฟูสภาพวิถีชีวิตที่ปลอดภัย และอื่นๆที่เหมาะสม  

ผมเชื่อว่าชาวบ้านลาดนาเพียงก็เหมือนกับอีกหลายหมู่บ้านที่มีทางเลือกไม่มากนัก  แต่การปรึกษาหารือกัน สรุปบทเรียนกัน น่าจะมีทางออกและแนวทางการทำการเกษตรอย่างปลอดภัยได้ 

หมายเลขบันทึก: 101544เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2007 18:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2013 08:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

สวัสดีค่ะคุณบางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

อ่านแล้วรู้สึกอย่างหนึ่งที่ชัดมากเลยคือ "การขาดความพอดี"  เวลาเราทำอะไรบางอย่างมากไป ชีวิตก็ขาดสมดุล เหมือนคนกินเนื้อสัตว์อย่างดีเป็นอาหารมากๆ สุดท้ายก็เป็นมะเร็งจากการกินเนื้อสัตว์อย่างดีมากเกินไป ... เหมือนกับคนที่ยากจนมากกินอาหารคุณภาพต่ำ แล้วก็ขาดสารอาหารเป็นโรคต่างๆ ขึ้นมา...

บางทีคนเราก็กลายเป็นเหยื่อของสิ่งที่เราคิดค้นกันขึ้นมาเอง...

แน่นอนว่าชีวิตที่บ้านลาดนาเพียงคงไม่ใช่ชีวิตที่พึงประสงค์ และก็คงไม่เรียกว่าเป็นชีวิตที่พัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแน่นอนค่ะ....

สวัสดีค่ะ

เคยพยายามเอาปุ๋ยอินทรีย์ไปให้ที่ชาวนาสุพรรณ แต่เขาไม่เอาค่ะ เป็นเพราะ

  1. ให้ผลช้า ไม่ทันใจ เหมือนปุ๋ยวิทยาศาสตร์
  2. sales ปุ๋ยวิทยาศาสตร์พูดเก่งกว่า มีสิ่งจูงใจให้ชาวบ้านได้มากกว่า
  3. เช่นเดียวกับยาฆ่าแมลงค่ะ ยาพวกทำจากธรรมชาติ เขาไม่ใช้ค่ะ บอกว่า ไม่ทันใจ
  4. อย่างนี้ จะทำอย่างไรคะ

สวัสดีครับอาจารย์

P

มันขาดความพอดีดังกล่าวแหละครับ มีคำถามมากมาย เกิดขึ้นตามมา ในที่สุดก็มาลงที่คน คุณภาพของคน การขาดความรู้ความเข้าใจ หากจะไปโทษระบบการศึกษาก็จะให้ร้ายบุคลากรด้านนั้นมากเกินไป แต่ปัจเจกที่มีส่วนได้เสียนั้นๆ จะหูตาสว่างตื่นขึ้นมาเรียนรู้ให้เท่าทันโดยไม่ต้องจับเข้าห้องเรียน ได้ไหมล่ะ อือมม ยากนะ  เป็นหมื่นเป็นแสนจะมีหลุดมาสักคน เมื่อได้มาแล้ว คนยกย่องกันทั่วบ้านทั่วเมือง แต่คนข้างๆบ้านกลับไม่ได้สนใจที่จะพัฒนาตามอย่าง หรือทำให้ดีกว่า ..นี่คือคนแบบเรา เรา..ที่เห็นโดยทั่วไป ใช่ไหมครับ

สวัสดีครับท่าน

P

ผมเห็นด้วยกับท่านทุกอย่าง ทุกประเด็น ผมทำงานกับชาวบ้านมานานก็เห็นสิ่งนั้น พบสิ่งนั้น และยอมรับว่ายากมากๆ ในการเปลี่ยนแปลงคน

แต่ผมก็เชื่อว่ามันมีวิธีอยู่ แต่เรายังไม่พบวิธีที่ดีที่สุด

การใช้สารเคมีและปุ๋ยวิทยาศาสตร์ผมก็ไม่ปฏิเสธแบบหัวชนฝา  เพียงแต่ทำอย่างไรให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำที่ฉลากข้างขวดนั้นๆ ก็ดีมากขึ้นโขแล้ว  แต่ไม่ทำแถมซ้ำเพิ่มความเข้มข้นตามใจตัวเองซะอีก

ในหลักการนั้น มันมีกระบวนวิธีและคำแนะนำทางวิชาการอยู่แล้ว เพียงแต่ทำตามคำแนะนำเท่านั้นก็ลดอัตราความเสี่ยงมากมาย  กำชับเรื่องการป้องกันตาม หลักการ

การปรับเปลี่ยนต้องใช้เวลา และต้องมีนักวิชาการทำการส่งเสริมตามหลักวิชาการอย่างต่อเนื่อง  สร้างแรงกระตุ้นอยู่เรื่อยๆ ทำของจริงให้เห็น

ต้องทิ้งระยะให้เกิดการเรียนรู้และทิ้งระยะการปรับเปลี่ยน  ล้วนแต่ใช้เวลาทั้งสิ้น ครับ

 ผมใช้หลัก V & C system คือ Visiting and Coaching ทุกวันเว้นวัน ในโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ส่งเสริมชาวบ้านปลูกมะเขือเทศส่งโรงงาน  ปลูกยาสูบพันธุ์ เตอร์กิส และฯลฯ ก็ยังเผชิญที่ว่าชาวบ้านไม่ปรับเปลี่ยนตามที่เรา ต้องใช้เวลาด้วย  ครับ

สวัสดีครับคุณบางทราย

ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเมืองหรือชุมชนชนบท ส่วนใหญ่เกิดจาก"คน"แทบทั้งสิ้น  เพราะ"คน"มักจะทำงานเพื่อ"ผลงาน"ของตัวเอง ชื่นชมใน"ผลงาน"ของตัวเองมากกว่าที่จะคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดตามมาภายหลัง

คนในชนบทคิดออกอยู่อย่างเดียวว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ย่อมคิดไม่ถึงว่า การปลูกมะเขือเทศจะต้องใช้ปุ๋ยเคมี และจะมีแมลงตามมา ทำให้ต้องซื้อยาฆ่าแมลง  และยาฆ่าแมลงจะทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ฯลฯ

คนขายปุ๋ย คนขายยาฆ่าแมลง รู้แน่นอนอยู่แล้วว่าปุ๋ยและยาฆ่าแมลงต้องขายได้ ถ้าชาวบ้านปลูกมะเขือเทศพันธุ์ใหม่ที่ตัวเองไม่รู้จักมาก่อน

คนรับซื้อมะเขือเทศรู้แน่นอนว่าราคารับซื้อจะต่ำลงเมื่อชาวบ้านแย่งกันปลูก

เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำๆซากๆในบ้านเรา ผมจำได้ว่าเมื่อหลายสิบปีก่อนก็มีเรื่อง "หอยเชอร์รี่" จนปัจจุบันกลายเป็นปัญหาใหญ่โต

การแก้ปัญหาหรือป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา อย่างแรกผมคิดว่าจะต้องมีบุคลากรอย่าง"ครูบา"และนักพัฒนาชุมชนอย่าง"คุณบางทราย"นี่แหละครับ คอยให้ความรู้แบบ"ครบวงจร"แก่ชาวบ้าน  ชุมชนชนบทจึงจะมีภูมิคุ้มกัน

สวัสดีครับอาจารย์ศิริศักดิ์

  • การพัฒนาระบบคิดของเกษตรกรบ้านเรายังน้องอยู่ครับ หายากที่จะมีเกษตรกรแบบผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิมที่เข้าใจและสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและได้ผลดีด้วย ประสบผลสำเร็จ
  • นักพัฒนาลองใช้หลายๆวิธี ก็ได้บ้างเสียบ้าง  และที่ได้มาก็ใช่ว่าจะคงทน  เผลอๆก็หายเข้ากลีบเมฆโลกาภิวัฒน์แบบบริโภคไปซะแล้ว ก็ต้องช่วยๆกัน มิเช่นนั้นก็วิ่งตามกันไม่รู้จบสิ้น
  • แต่เราก็หยุดไม่ได้ครับ ทำอะไรได้บ้างก็ต้องทำ มากน้อยก็ไม่เป็นไร
  • การที่จะหวังว่ารัฐจะรื้อระบบการปกครองให้สามารถยกระดับชุมชนขึ้นทางความคิดนั้นคงไม่หวัง แต่หวังหน่วยงานระดับท้องถิ่นมราใดล้ชิดจะมาช่วยกันแล้วสะท้อนผลงานขึ้นข้างบนครับ
เด็กบ้านลาดนาเพียง

สวัสดีครับคุณบางทราย

ผมเกิดที่บ้านลาดนาเพียง ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ผมได้อ่านบทความของคุณแล้วตอนแรกก็มีความดีใจแทนชาวบ้านของตัวเองมาก เพราะเป้นหมู่บ้านสมบูรณ์แบบ อ่านไปตอนกลางแล้วเปลียนความรู้สึกของผมแบบสุดขัวเลย

ผมดีใจมากที่มีคนให้ความสนใจกับสิ่งที่แปลก และค้นหาจุดแปลกของสิ่งนั้น ผมดีใจมากเลยที่คุณทำให้ผมมองเห้นปัญหาในอนาคต ผมต้องขอขอบคุณมากแบบสุดๆ

ท่านผู้อ่านทีเคารพ ผมขอยึนยันในบทความของคุณบางทราย ทุกอย่างเป็นความจิง

บริษัท สากลเมล็ดพันธุ์ เข้ามาที่บ้านของผม และทุกคนรับและร่วมมือ ทุกอย่างก็เปลียนไป จากคนอดอยากก็มีเงินทองใช้จ่าย และตอนชาวบ้านทำงานให้บริษัทนี้ใหม่

ก็มีคนเริ่มป่วยให้เห็น ทุกคนจะพูดเป็นคำเดียวกันว่า ยาแร็ง และชาวบ้านก็ไม่หยุดทำ

เพราะว่ารายได้มันคุ่มค่า ตอนนั้นผมยังเป็นเด็กเรียนที่บ้านลาดนาเพียง เวลาชาวบ้านเก็บผลผลิตนั้นน่ากลัวมาก เพราะว่าแมลงวันที่ขอนแก่นมารวมกันที่บ้านลาดนาเพียงทั้งหมดเลย ผมเห็นแล้วก็กลัวมาก เวลากินข้าวต้องกินในมุ้ง ผมเห็นอยู่เป็นประจำ ทุกวันนี้ยังเป้นเช่นนี้ ตอนนี้ผมอยู กรุงเทพ

สวัสดีครับเด็กบ้านลาดนาเพียง

ดีใจที่รู้จักกันครับ หากทราบเรื่องนี้น้องควรจะกลับไปหาข้อมูลอย่างละเอียดแล้วประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องบ้านลาดนาเพียงทราบ ถกกันให้มากๆ เอาตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบทางลบมาให้ดูกัน แล้วตัดสินใจว่าจะเอาไงต่อไป

  • บางคนก็อาจจะทำการเกษตรต่อไปเช่นเดิม
  • บางคนอาจจะเปลี่ยนใจเลิกการผลิตแบบนี้แล้ว ไปหาอาชีพใหม่ที่ปลอดภัยกว่า
  • หรือทำการเกษตรต่อแต่ใช้ชีววิธีมากกว่าใช้สารเคมี
  • หรือบางส่วนอาจจะบอกว่าไม่รู้จะไปทำอะไร.... ก็คุยกัน ปรึกษากัน

ต้องทำครับมิเช่นนั้นพี่น้องของเราก็จะตายผ่อนส่งกันหมดครับ

 

ยินดีรู้จักครับ

สวัสดีครับ ทุกท่าน

ตอนผมอ่านบทความแล้ว ผมก็เดินมางกลับบ้านเกิด

และได้คุ่ยกับผู้นำหมู่บ้าน และเอาบทความที่อ่านไปให้ชาวบ้านอ่านด้วย

ยังเข้าไปถามชาวบ้านที่ปลุกพืชในแปลเกษตรทดลองของบริษัทด้วย

และมองไปรอบๆ แปลงเกษตรทดลอง เห้นแล้วมีความเป้นห่วงชาวบ้านมาก

และได้ถามคนที่ปลุก ถึงสุขภาพทุกคนพูดเหมื่อนกัน คือสุขภาพยำแยมากเลย

ถามจะเลิกปลุกเปล่า เขาหาคำตอบให้ผมไม่ได้ เพราะว่าคนเคยมีรายได้ที่สูงและยังไม่มีงานใหม่มาทำแทน และตอนนี้กำลังทำการเพาะปลุก ตอนน่ากลัวมากคือตอนเก็บผลผลิต

มันเน่าและแมงวันมากมายเดือนมีนาคม ผมเป้นห่วงคนที่ไม่ทำการเพาะปลุก

และต้องกินอาหารที่หาในบริเวรใกล้ที่เพาะปลุก ผมอยากให้ฝ่ายราชการบอกความจริง

ให้กับชาวทราบ และทำให้ชาวบ้านนั้นไม่กล้าทำการเพาะปลุก แต่ราชการปิดผลการตรวจเลือดไมออก และไม่บอกให้กลับชาวบ้านเลย ผมขอความช่วยเหลือ ให้พี่น้องแนะนำวิธีจัดการกับคนเห้นแก่ตัวด้วย

สวัสดีครับ เด็กบ้านลาดนาเพียง

 

ผมดีใจที่ได้พยายามทำอะไรสักอย่าง  ผมมีข้อเสนอดังนี้

  • หากเป็นไปได้ จัดประชุมย่อยต่อผู้นำ และชาวบ้านที่ทำการเพาะปลูกพืช แล้วแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อหาทางออกด้วยตัวชาวบ้านเอง โดยเอาข้อมูลใส่เข้าไป  ต้องเตรียมข้อมูลดีดีก่อน
  • ติดต่อสาธารณะสุข อำเภอ จังหวัด อสม. ฯลฯ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงสถานการณ์ในชุมชน แล้วปรึกษาแนวทางการแก้ไข
  • ติดต่อกับบริษัทผู้มาส่งเสริมเพื่อปรึกษาการป้องกัน และแนวทางการลดการใช้สารเคมี  หรือแนวทางการป้องกันที่ดีที่สุด
  • สรุปเรื่องราวทั้งหมดแล้วไปปรึกษากับคณะเกษตรศาสตร์ หรือคณะเภสัชศาสตร์ มข.เพื่อขอให้มาทำการศึกษาวิจัยผลกระทบที่เกิดขึ้น
  • หากโครงการที่ผมทำสามารถขยายได้ ก็จะรีบเข้ามาทำการศึกษาทันทีครับ แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบผล และคงใช้เวลานานมากเกินกว่าจะรอครับ
  • ที่สำคัญที่สุดคือ ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาสรุปบทเรียนและตื่นขึ้นมาหาทางออกกันเองก่อน  บริษัทเขาไม่สนใจหรอกครับ เขาทิ้งความเสี่ยงให้ชาวบ้านอยู่แล้ว  ราชการก็จะเข้ามาก็ต้องมีจุดเริ่มต้น ซึ่งก็คือชาวบ้านด้วยกันเองต้องเริ่มก่อน  แล้วทำเรื่องราวเสนอขึ้นไป
  • เชื่อว่าสถาบันการศึกษาน่าท่ีจะลงมาช่วยเรื่องการศึกษาข้อมูลเชิงลึกและสรุปหนทางออกเสนอแนะพร้อมๆกับชาวบ้านได้ครับ
  • อ้อ อีกคณะหนึ่งคือ คณะสาธารณะสุขศาสตร์ ท่านคณะบดีเป็นคนสนใจเรื่องเหล่านี้ครับ
  • ลองดูนะครับแล้วบอกผลที่เกิดด้วยเผื่อมีทางช่วยเหลืออะไรกันได้บ้างก็จะพยายามครับ

ด้วยความหวังและเจตนาดีต่อลาดนาเพียง

เจ้าเป็นไผ๋ พ่อใหญ่ บางทราย เจ้าคึสิมาฮู้ดีคักแท้ อย่ามาดูถูกคนจน บ้านนอกคอกนา ผมอ่านดูแล้ว ข้อความของท่านมันออกแนว ดูแคลนกันเกินไป ถ้าหวังดีจริงควรจะลงมือทำอะไรบ้าง ท่านดีกว่าเราตรงที่ เกิดในที่ดีกว่า มีความรู้มากกว่า แต่ใครจะเลิกเกิดได้  เขาเลือกที่จะทำได้ ชาวบ้านเขาไม่มีความรู้  นักปราชย่อมไม่ดูแคลนใคร แล้วท่านหละ อย่ามายุ่งกับหมู่บ้านเราถ้าไม่รู้จริง อย่ามาดีแต่ปาก จำไว้

เด็กบ้านลาดอีกคนหนึ่งที่เดินทางออกจากหมู่บ้านไปแต่ก็ห่วงใยทุกคน

มันเปนวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย  ค่าครองชีพที่สูงขึ้น รายจ่ายที่มากขึ้น ชาวบ้านก็ต้องทำอาชีพที่ต้องเลี้ยงครอบครัวเพื่อความอยู่รอดนะคะ  หากจะมาให้นั่งจับปลาหาปูกิน คงอดตายกันเป็นแน่ค่ะ (อย่าลืมว่าค่าครองชีพมันสูงนะคะ) หากพวกคุณที่ทำวิจัยไปแล้ว ทราบข้อมูลที่แท้จริงแล้ว ทำไมท่านถึงนิ่งดูดายไม่หาทางช่วยชาวบ้านหล่ะคะ จะเป็นพระคุณอย่างสูง เพราะหนึ่งในจำนวนผู้ที่ปลูกมะเขือเทศนั้น มีพ่อและแม่ของหนูด้วย..........ขอบคุณอย่างสูง

สวัสดีครับ คนบ้านลาด 

1. ถามหาว่าบางทรายเป็นไผ : ตอบ :- ไม่ยากเลยที่จะรู้จักว่า บางทราย คือใคร หากท่านเป็นสมาชิกแห่งนี้ย่อมทราบดีว่าจะหาประวัติ บางทรายได้ตรงไหนครับ ลองค้นหาเอาเองนะครับ

2. อย่ามาดูถูกคนจน บ้านนอกคอกนา ผมอ่านดูแล้ว ข้อความของท่านมันออกแนว ดูแคลนกันเกินไป : ตอบ:- ท่าน คนบ้านลาด ลองไปอ่านใหม่ช้าๆ ไตร่ตรองไปด้วยซิครับว่าผมหมายถึงอะไร  หรือลองอ่าน ความเห็นท่านอื่นๆ แม้แต่ความเห็นก่อนหน้าท่านซึ่งใช้นามว่าเด็กบ้านลาดนาเพียง ก็เข้าใจสาระที่ผมเขียนว่าหมายถึงอะไร  ผมต้องการสะท้อนสภาพสังคมชุมชนแห่งหนึ่งที่มีสภาพเช่นนี้ และจริงๆมีอีกมากมายที่มีสภาพเช่นนี้ และมากกว่านี้ก็มี แถบสกลนคร กาฬสินธุ์ ฯลฯ.. ที่ทำงานหนักมากๆเพื่อรายได้ เพราะทางเลือกมีน้อย... เป็นการสะท้อนให้ผู้ปกครองบ้านเมืองได้คิดมากๆว่าการปล่อยให้ธุรกิจการเกษตรทำงานธุรกิจผลิตเมล็ดพันธุ์แบบอิสระแบบนี้นั้น อันตรายตกอยู่กับชาวบ้าน ทั้งที่รู้ เข้าใจ และที่ไม่ได้ใส่ใจมากนักเพราะต้องการทำงานที่มีรายได้ และไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้

3. นักปราชย่อมไม่ดูแคลนใคร :  ตอบ:- ผมไม่ใช่ปราชญ์ครับ และผมไม่ดูแคลน ตรงข้ามต้องการสะท้อนให้สังคมวงกว้างเห็น เข้าใจว่ามีชุมชนที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้  หากอยากรู้ว่าผมเป็นใครก็เชิญท่านไปหาข้อมูลที่มีอยู่แล้วในระบบนี้ได้ครับ เปิดเผย ตรง ชื่อจริง นามสกุลจริง มีตัวตน รูปที่แสดงจริง สมาชิกสังคมแห่งนี้ โดยเฉพาะเจ้าของสังคมแห่งนี้รู้จักผมมากเพียงพอครับท่านคนบ้านลาดครับ

4. แล้วท่านหละ อย่ามายุ่งกับหมู่บ้านเราถ้าไม่รู้จริง: ตอบ:- ผมเขียนถึงชุมชนที่ผมเห็น เรื่องของหมู่บ้านเป็นเรื่องสาธารณะไม่มีใครผูกขาดได้ ท่านที่ใช้ชื่อ เด็กบ้านลาดนาเพียง ความเห็นก่อนหน้าท่าน ยังกล่าวตรงข้ามกับท่าน และเรื่องนี้ผ่านมาตั้งหลายปี ผมก็ไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับบ้านลาดนาเพียง อีก ตรงข้าม ดูข้อเสนอผมที่มีต่อ ความเห็น เด็กบ้านลาดนาเพียงซิครับ ว่าผมเสนออะไร เป็นประโยชน์ต่อบ้านลาดนาเพียงแค่ไหนครับ มิได้ให้ร้ายชุมชนแห่งนี้ ตรงข้ามเห็นใจ และมองทางออกด้วย เสนอทางออกด้วย ท่านกรุณาอ่านให้ครบทุกความเห็นที่ผมมีต่อทุกท่าน และที่ทุกท่านมีต่อผมด้วยครับท่าน

5. อย่ามาดีแต่ปาก จำไว้: ตอบ:- ท่านเป็นคนของบริษัทที่เข้าไปทำธุรกิจเกษตรนี้หรือเปล่าครับ ถึงไม่เห็นเจตนาดีของผม หากท่านเป็นคนของบริษัทนี้ก็ย่อมไม่ชอบบันทึกเรื่องนี้ เพราะไปตั้งคำถามแก่คนที่มาทำธุรกิจนี้ว่า สิ่งที่ชาวบ้านได้ กับเสียนั้น มันคุ้มค่ากันหรือเปล่าครับ

เรียนท่านนะครับว่า สืบค้นชื่อจริง นามสกุลจริงที่อยู่ ที่ทำงาน ของผมได้จากระบบสังคมแห่งนี้ แต่ท่านละครับ เปิดเผยไหมครับ หากท่านเป็นคนบ้านลาดนาเพียง ผมขับรถไม่นานเท่าไหร่ก็สามารถไปพูดคุยเพื่อความเข้าใจดีต่อกันถึงบ้านท่านได้ครับ หากท่านเป็นคนของบริษัทธุรกิจเกษตรดังกล่าว เรามาเปิดเวทีสัมมนาเรื่องนี้กันดีไหมครับที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมสามารถติดต่อจัดเวทีสาธารณะเรื่องนี้ได้ เอาข้อมูลของบริษัท เอาข้อมูลของชาวบ้านที่ลาดนาเพียง และบ้านอื่นๆที่ทำ Contract farming แบบนี้มาคุยกัน และเอาผลงานวิจัย ของคณาจารณ์ทั้งหลายมาพูดคุยแลกเปลี่ยนได้ครับ

ด้วยความยินดีครับ คนบ้านลาด
ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ เด็กบ้านลาดอีกคนหนึ่งที่เดินทางออกจากหมู่บ้านไปแต่ก็ห่วงใยทุกคน

.....มันเปนวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย  ค่าครองชีพที่สูงขึ้น รายจ่ายที่มากขึ้น ชาวบ้านก็ต้องทำอาชีพที่ต้องเลี้ยงครอบครัวเพื่อความอยู่รอดนะคะ  หากจะมาให้นั่งจับปลาหาปูกิน คงอดตายกันเป็นแน่ค่ะ (อย่าลืมว่าค่าครองชีพมันสูงนะคะ) หากพวกคุณที่ทำวิจัยไปแล้ว ทราบข้อมูลที่แท้จริงแล้ว ทำไมท่านถึงนิ่งดูดายไม่หาทางช่วยชาวบ้านหล่ะคะ จะเป็นพระคุณอย่างสูง เพราะหนึ่งในจำนวนผู้ที่ปลูกมะเขือเทศนั้น มีพ่อและแม่ของหนูด้วย...

  • ขอบคุณครับ ที่แสดงความคิดเห็นแก่กัน
  • ผมเป็นคนทำงานพัฒนาชุมชน ย่อมเข้าใจวิถีชุมชนพอสมควร ผมทำงานกับชาวบ้านมานานกว่าสามสิบปี คิดว่าเป็นคนหนึ่งที่เข้าใจวิถีชุมชนครับ เห็นปัญหา อุปสรรค ของการพัฒนาชุมชน เห็นการรุกคืบหน้าของระบบทุนนิยม โดยเฉพาะธูรกิจการเกษตรทั้งหลาย
  • งานที่ผมทำนั้นสนับสนุนเกษตรปลอดสารพิษ เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน แต่ก็ยังให้เกษตรแบบมีสัญญาเป็นทางเลือกแก่เกษตรกรที่มีเงื่อนไข ผมก็ทำมาแล้วสนับสนุนมาแล้ว และพบปัญหา อุปสรรคมากมายที่เกิดขึ้น
  • ครับชาวบ้านไม่มีทางเลือก และเราเป็นคนภายนอกก็ไปบังคับชาวบ้านไม่ได้ การทำการตัดสินใจชาวบ้านเป็นผู้ตัดสินใจเอง เราเป็นเพียงผู้มาชี้ทางออก บอกทางไป การตัดสินใจเป็นชาวบ้านทำเอง
  • เกษตรตำบล เกษตรอำเภอ มีบทบาทหน้าที่โดยตรงที่จะเข้ามาให้ความรู้เรื่องนี้ตามภาระหน้าที่ของเขา เรามิบังอาจไปก้าวก่ายจนกว่าจะได้ปรึกษาหารือพูดคุยกัน ร่วมมือกันครับ
  • จริงๆเรื่องเหล่านี้มีองค์ความรู้มากมายที่พูดคุยกันในที่สาธารณะ และรับรู้กันทั่วไป เพียงแต่ชาวบ้านไม่มีทางเลือกมากกว่า เช่น หากทำเกษตรแบบมีสัญญาในการผลิตเมล็ดพันธุ์นั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยต่อสุขภาพร่างกายมากนั้น ไม่ให้ทำแล้วไปทำอะไร  เรื่องนี้เราไม่ได้ห้าม แต่ให้ข้อมูลว่าการเกษตรเช่นนี้มีโอกาสเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพมากมายหากไม่ระมัดระวัง  และเป็นระบบผูกขาดอีกแบบหนึ่ง เพราะทุกอย่างอยู่ภายใต้บริษัทเป็นผู้กำหนด  นักวิชาการเขาว่าอย่างไรก็ต้องทำตามนั้น ทิ้งความเสี่ยงไว้ที่ชาวบ้าน ความเสียหายต่างๆที่เกิดขึ้นชาวบ้านรับไป หากล้มเหลว ชาวบ้านก็ต้องเป็นหนี้สินในเรื่องปัจจัยการผลิตที่เอามาใช้ก่อนแล้วนั้น
  • ทางเลือกคืออะไร  ผมได้เสนอไว้แล้วต่อความเห็นกับคุณ  เด็กบ้านลาดนาเพียง ลองย้อนไปศึกษานะครับ

    ขอบคุณครับ

อ่านจบแล้วทั้งบทความและทุกความเห็น

บ่มั่นใจในโตพ่อใหญ่อันนี้พอปานได่เจ่าว่าเจ่าเห็นใจชาวบ้านลาดนาเพียงแต่ฟังเบิ่งจากการตอบคำถามเจ่าพยายามเอา "เด็กบ้านลาดนาเพียง" กับ "คนบ้านลาด" มาหย่องไห่คะเจ่าผิดใจกันตั้วนั่น...(อันนี้ผิดหูข่อยแฮง)

ข่อยพุหนึ่งล่ะครับคนบ้านลาดฮักแพง หวงแหน ซุอย่างที่เป็นบ้านลาด....เฮ็ดหมากเขียเทศคือกันครับ...พ่อแม่เอี้ยยอ้ายพาเฮ็ดกะต้องเฮ็ด...เฮ็ดพอไห่มีเงินตื่มกัน...พอได่ไซ่ได่สอย...ซื้ออยากซื้อกิน...ใส่มือไห่ลูกไปโรงเรียน...เฮ็ดบุญเฮ็ดทาน...คือบ้านคือเมียงเพิ่น

เจ่าเว้ามากะถืกยุพ่อไหย่แต่บ่แม้นทั้งเหมิด...หมากเขียเทศมันบ่ได่เลวร้ายพอปานนั้นดอกพ่อไหย่...ถ่าเทียบกับการที่บ่มีพอไห่ได่อยู่ได่กิน...อันนี้เลวร้ายกั่วบักคักเลย...

ถ่าเจ่าเห็นใจฮึหวังดีอีหลีคือเจ่าว่า...เฮ็ดอิหยังจักอย่างที่มันแก้ปัญหาที่เจ่าว่าเจ่าเห็น...ไห่มันเป็นแบบบูรณาการเบิ่งดู้...

บ่ซั่นกะเซาวิพากวิจานวิถีชีวิตหมู่ข่อยซะ...หมู่ข่อยอยู่กันกะมีความสุขพออยู่พอกิน...ตามประสาชีวิตซาวไฮ่ซาวนาแบบหมู่ข่อยนั่นหล่ะ...

อ่านที่เจ่าเขียนแล้วมันขัดม่องฟังลำข่อยแฮง...พุอื่นที่บ่ฮู่จักมาอ่านกะคือสิว่าบ้านข่อยเป็นตาเหลียโตนแฮงฮาย...

บ่ปานนั้นดอกพ่อไหย่...บ้านข่อยเจริญกะด้อ...คนบ้านข่อยขะจอนขะจายไปสร้างซื่อเสียงสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมต่อประเทศซาติ...อยู่ทั่วทีป

ทบทวนเจตนารมย์แล้วกะวิธีการนำเสนอไห่ถี่ถ้วนก่อนี้เด้อพ่อไหย่

ด้วยความเคารพ

ไม่เป็นไรครับท่านครับ ผมขออภัยก็แล้วกัน หากที่กล่าวไปสาระไม่เข้าท่าก็ขออภัยท่านและชาวลาดนาเพียงก็แล้วกันนะครับ
ผมกล่าวแล้วว่า ผมเพียงแสดงความเห็นเป็นห่วงการใช้สารเคมีกับมะเขือเทศ หากท่านคิดว่าไม่มีปัญหาก็ไม่เป็นไรครับ เชิญท่านทำอย่างที่ทำมาต่อไปเถอะครับ

ผมนั้นเปิดเผยตัวตน โดยเข้าไปค้นประวัติผมได้ใน G2K แห่งนี้ หรือเข้าไปถาม admin ก็ได้ครับ ว่าผมอยู่ที่ไหน ทำอะไร หากท่านอยากพบผมก็ไปถามหาชื่อผมที่ RDI มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ครับ ก็ยินดีอย่างยิ่ครับ

ขออภัยอีกครั้งครับที่บันทึกนี้อาจจะทำให้ท่านและชาวบ้านลาดนาเพียไม่พึงพอใจก็ขออภัยครับ

ดิฉันก็เป็นคนที่หมู่บ้านค่ะ พออ่านข้อความของ คุณบางทราย ทั้งหมดแล้ว ก็รู้สึกอยากให้ความร่วมมือทันทีค่ะ เพราะพ่อแม่ดิฉันก็ปลูกอยู่เหมือนกัน และป่วยบ่อย หรือว่าดิฉันคิดไปเองไม่รู็นะ แต่พวกเขาไม่มีโรคประจำตัว ส่วนตัวดิฉันว่า ถ้าชาวบ้านมีอาชีพอื่นๆ หรือมีคนไปเสนอให้เขาทำอาชีพอื่นก็จะดีนะค่ะ แบบทำเป็นกลุ่มแม่บ้านก็ได้ ขนมหรืออาหาร หรือพวกผลไม้แปรรูปก็ได้ หรือรณะรงค์ให้ปลูผักปลอดสาร แต่ดิฉันไม่มีความสามารพอที่จะไปบอกคนทั้งหมู่บ้านได้ค่ะ เพราะยังเด็กอยู่และย้ายมาทำงานที่อื่นแล้ว อยากให้คุณบางทราย ช่วยหมือนกัน หมู่บ้านนี้อยู่อำเภอเมืองนะ แต่เหมือนไม่พัตนาเลย แห้งแล้งมากค่ะ ปล.อยากให้บ้านเราร่มรื่น มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี มีอาชีพที่สืบทอดให้ลูกหลานได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท