รูปธรรมแห่งอำนาจ - คำถามบนความชอบธรรม


เมื่ออำนาจ และความชอบธรรม คือสิ่งที่เกื้อหนุนเกี่ยวพัน มีอิทธิพลเชื่อมโยงระหว่างกัน เหตุแห่งการปฏิบัติ หรือ ไม่ปฏิบัติ ล้วนมาจากความหมายอันซ่อนเร้นอยู่ในความเป็นมนุษย์ทั้งสิ้น

หากถามไถ่

ถีงเหตุแห่งปัญหาในสังคมไทย

ภายหลังผ่านหลังความเปลี่ยนแปลง ในรอบหลายปีที่ผ่านมา คำถามตัวโตที่ทำให้เราหลงลืม ซึ่งแฝงอยู่ในความจริงของ วาทกรรม ที่ว่าด้วยความ "สามัคคี" คือบทสรุปง่ายๆ ที่เรามักเรียกร้องกันและกันอยู่เสมอในยามเกิดปัญหา และหยิบยกเป็นเรื่องเล่าแบบปรัมปรา เพื่อกลบการค้นหาความจริง ยามที่เรามองข้ามความขัดแย้ง หรือพยายามจะทำให้ข้อขัดแย้งยุติ

รูปภาพ - อ้างอิงจากเวปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

แต่ภายใต้เหตุเหล่านั้น ล้วนมีความจริงของคำถาม ซ่อนอยู่เสมอ

เมื่อพิจารณา น้ำเสียงปฏิเสธขัดขืน และไม่ยอมรับต่อความจริงที่ปรากฎ ภายหลังสิ้นคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ จากกลุ่มไทยรักไทย เรากลับพบคำตอบบางอย่างในท่ามกลางน้ำเสียงเหล่านั้น

 

มูลเหตุอ้างอิง จากคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ คือหนึ่งในตัวเชื่อมโยงเหล่านั้น

 

สรุปคำวินิจฉัยตุลาการรัฐธรรมนูญ คดียุบพรรคไทยรักไทย และ 2 พรรคเล็ก
 

คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ได้ขึ้นนั่งบัลลังก์เพื่อพิจารณาคำร้อง “ยุบพรรคไทยรักไทย” พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย โดยเฉพาะพรรคไทยรักไทย ถูกอัยการสูงสุดร้องในข้อหาว่าจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง

  พร้อมระบุความผิดให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 66(1) ที่ระบุว่า เป็นการกระทำการอันมีลักษณะเป็นการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และ (2) เป็นการกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 66 (1) และ (3) ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง

        ศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มอ่านคำร้องรายละเอียดของคดีที่ให้ยุบ 3 พรรคดังกล่าว พร้อมทั้งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องทั้ง 3 พรรค โดยตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดียุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และและพรรคแผ่นดินไทย โดยได้พิจารณาประเด็นโดยสรุปดังนี้

 ตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่

 คำวินิจฉัย : ตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจ โดยอ้างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 มาตรา 35 วรรค 1 และวรรค 4 คำโต้แย้งฟังไม่ขึ้น

 การร้องเรียนของนายสุเทพชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่ได้ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง จึงไม่ถือเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย และนายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจสอบสวนกรณีหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้เห็นการกระทำผิดด้วยตัวเอง

 คำวินิจฉัย : ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการลงสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น และไม่ว่านายทะเบียนนักการเมืองจะเห็นเอง หรือผู้ใดแจ้งถึงการกระทำผิด ก็มีอำนาจในการสอบสวนทั้งนั้น คำโต้แย้งจึงฟังไม่ขึ้น

 การสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่เคยเรียกผู้ถูกร้องไปชี้แจงเลย
 คำวินิจฉัย : เป็นไปตามระเบียบและวิธีการ คำร้องฟังไม่ขึ้น
 ผู้ถูกร้องกระทำการดังต่อไปนี้หรือไม่

 1.พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล ร่วมกับนายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย และนายสุขสันต์ ชัยเทศ ผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรคพัฒนาชาติไทย แก้ไขฐานข้อมูลกลางของสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยหรือไม่ และ พล.อ.ธรรมรักษ์ กับนายพงษ์ศักดิ์ ร่วมกันให้เงินพรรคพัฒนาชาติไทย หรือไม่

 ศาลวินิฉัยว่า มีเหตุผลฟังได้ว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ ได้ร่วมกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลจริง และทั้ง พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ ให้เงินสนับสนุนพรรคแผ่นดินไทยเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งจริง

 2.นายบุนทวีศักดิ์ ออกหนังสือรับรองคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นเท็จจริงหรือไม่
 ศาลวินิจฉัยว่า จริง เป็นการออกทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติไม่ครบ จึงถือเป็นการออกหนังสือรับรองอันเป็นเท็จ

 3.พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต หรือ “เสธ.ไอซ์” เลขานุการ รมว.กลาโหม(ในขณะนั้น) ให้เงินพรรคจ้างแผ่นดินไทย และผู้สมัครพรรคแผ่นดินไทย ให้ลงสมัครเลือกตั้งจริงหรือไม่

 ศาลวินิจฉัยว่า จากการให้ปากคำของพยาน ทั้งนางฐัตติมา ภาวะลี ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคแผ่นดินไทย ที่กลับคำให้การว่าสุเทพหักขังหน่วงเหนี่ยว รวมถึงผู้สมัครของพรรคแผ่นดินไทย เชื่อได้ว่าเสธ.ไอซ์ได้ให้เงินจริง แม้จะมีการกลับคำให้การในภายหลัง และผู้สมัครเห็นเสธ.ไอซ์ และ พล.ท.ผดุงศักดิ์ กลั่นเสนาะ อดีตผู้ช่วยฝ่ายเสนาธิการ(เสธ.) ประจำ รมว.กลาโหม ที่ที่ทำการพรรคแผ่นดินไทย

 ส่วนที่นางฐัตติมา กลับคำให้การ อ้างว่าถูกนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ข่มขู่จะดำเนินคดีปลอมแปลงเอกสารนั้น นางฐัตติมายืนยันมาตลอดว่าไม่เคยปลอมแปลงเอกสาร จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ฟังไม่ขึ้น และไม่น่าเชื่อว่าถ้านางฐัตติมา ได้รับเงินจากสุเทพแล้วจริง จะกล้ากลับคำให้การ

 นอกจากนี้ทั้งพล.ท.ผดุงศักดิ์ และพล.อ.ไตรรงค์ เป็นนายทหารนอกราชการ จึงไม่ผลประโยชน์ ในทางการเมือง จึงเชื่อได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งของ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเห็นว่า การที่พรรคไทยรักไทยสนับสนุนให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้งย่อมฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และการที่พรรคไทยรักไทยจ้างบุคคลอื่นลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคการเมืองอื่น ถือได้ว่าเป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีของประชาชน

 นอกจากนี้การกระทำของ พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ เนื่องจากมีตำแหน่งใหญ่โตในพรรค จึงมีผลผูกพันกับพรรคไทยรักไทย การกระทำดังกล่าวเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และเป็นปกรักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย

 ส่วนพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทยนั้น การที่รับเงินจากพรรคไทยรักไทยเพื่อจัดหาผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และการเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลสมาชิกพรรคในฐานข้อมูลของกกต. จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งยังเป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย

 ดังนั้น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่า มีเหตุอันควร.....
 “ยุบพรรคไทยรักไทย”
 พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย

 ส่วนประเด็นการตัดสิทธิ์การเลือกตั้งนั้น ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ว่ากรรมการบริหารพรรคลาออกไปแล้วก็ไม่มีผลหลีกเลี่ยงความผิด หรือเลี่ยงการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง และเนื่องจากพฤติกรรมความผิดร้ายแรง จึง “เพิกถอนสิทธิ์” การเมืองของ “กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย” ผู้ถูกร้องที่ 1 จำนวน 111 คน ส่วนพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 19 คน ผู้ถูกร้องที่ 3 ตัดสิทธิ์การเมือง 3 คน

อ้างอิงจาก

หนังสือพิมพ์แนวหน้า

http://www.naewna.com/news.asp?ID=61921

แต่สิ่งที่ปรากฎขึ้นในวันนี้

 

ไม่มีน้ำเสียงจาก พลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

ไม่มีน้ำเสียงจาก นาย พงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล

ไม่มีน้ำเสียงจาก พลเอก ไตรรงค์ อินทรฑัต 

 

ถึงพฤติกรรม - พฤติการ แห่งการกระทำดังกล่าว ว่าได้ดำเนินการจริงเท็จเพียงใด เรื่องราวของการกล่าวหา ที่คำวินิจฉัยระบุว่า "มีเหตุผลฟังได้ว่า" กับท่าทีทางการเมือง ที่ขณะนี้มีการสรุปประเด็น โดยไม่มีการพูดถึงการกระทำเหล่านั้น ระหว่างความชอบธรรม กับ สิ่งที่เราควรจะถาม

 

คำถามวันนี้ในสังคมไทย จึงต้องเดินให้ไกลจากความจริง ในเชิงความรู้สึก รัก เกลียด ผูกพัน ชอบ ไม่ชอบ มาสู่คำถามตัวโตๆ ถึงความจริงเหล่านั้น

แต่วันนี้ คำวินิจฉัยดังกล่าว ในเชิงนัยยะทางกฎหมาย ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้เช่นกัน ไม่มีข้อยุติทางสังคม ไม่มีน้ำเสียงที่พยายามค้นหาความจริง จากพฤติกรรม และการกระทำ ที่ส่อให้เห็นว่า กระทำโดยขัดต่อการก่อร่างสร้างประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น วันนี้ เราจึงยังมีเพียงคำกล่าวต่อเนื่อง ถึงการนิรโทษกรรม ยกเว้นความผิด ขอพระราชกรุณาจากฏีกา ที่จะยื่นถวายของอภัยโทษ

 

วันนี้ สังคมไทย พยายามวิ่งหนีจากความจริงมากขึ้นทุกขณะ

 

ความดื้อดึงหลายประการ คือคำถามตัวโต จากกลุ่มไทยรักไทย

ซึ่งยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับความชอบธรรม ในการพิจารณาคดี ในการสรุปคำวินิจฉัย และในบทบาทอันชอบธรรมทางกฎหมายของ ตุลาการรัฐธรรมนูญ

 

คำถามวันนี้ จึงมีเพียงว่า

ภายใต้สังคมการเมือง ของรัฐบาลชั่วคราว ของนายกรัฐมนตรี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ไม่มีความชอบธรรม ในสายตาของนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง ในสายตาของกลุ่มการเมือง อีกหลายกลุ่ม ที่คัดค้านต่อโครงสร้าง ของอำนาจการเมืองไทย ที่มีทหาร ประกาศวาระเพียงรอการเลือกตั้ง ภายหลังสรุปการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช 2550

 

คำถามแห่งความชอบธรรมทางการเมือง

คำถามต่อความไม่ชอบธรรมทางการเมือง คือเงื่อนปัจจัยตัวโตในวันนี้ ที่ยังคงจะต้องการคำตอบต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง

 

วันนี้ เราอยู่ในสังคม ที่แทบจะไม่มีความชอบธรรมทางการเมือง

วันนี้ เราอยู่ท่ามกลางอำนาจ ที่ว่างเปล่า เปราะบางจนน่าหวาดกลัว

ภาพแห่งอนาคต เรากำลังจะเดินทางไปสู่สังคมเช่นไร

ในเมื่อไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในประเทศไทย ให้เราได้หยิบจับยึดโยงไปได้มากกว่านี้

หมายเลขบันทึก: 100357เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2007 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท