เตรียมการประชุมเครือข่ายฯประจำเดือนธันวาคม (ต่อ)


ถ่ายทอดด้วยวิธีการที่เข้าใจง่าย

   ขณะนี้เวลา 08.05น.  อากาศที่ลำปางกำลังดี  หนาวเป็นปกติ  วันนี้ที่มหาวิทยาลัยคึกคักเป็นพิเศษ  เพราะเป็นวันสอบคัดเลือกตรงของวิทยาลัยสหวิทยาการ  รุ่นพี่เตรียมตัวมารับ (ว่าที่) น้องใหม่กันอย่างถ้วนหน้า  นักวิจัยอยู่ในฐานะของอาจารย์ประจำวิทยาลัยจึงต้องมาในวันนี้ด้วย  เพราะได้รับมอบหมายให้อยู่ประจำกองอำนวยการสอบ  แต่อย่างที่บอกไปแล้วว่าวันนี้จะมีการประชุมเครือข่ายประจำเดือน  ผู้วิจัยจึงขออนุญาตผู้บังคับบัญชาว่าจะอยู่ช่วงเช้า  พอสายๆจะขอตัวออกไปทำภารกิจเพื่อชุมชน  ผู้บังคับบัญชาท่านก็เข้าใจ  อนุญาตเป็นอย่างดี  วันนี้จึงมาถึงมหาวิทยาลัยแต่เช้า  พอมาถึงยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องเข้าประชุมเพื่อเตรียมการสอบ  ยังมีเวลาเหลืออีกประมาณ 10 นาที  จึงได้เปิดคอมพิวเตอร์เพื่อเข้ามาเขียนเรื่องราวเล่าสู่กันฟัง 

   การเตรียมการประชุมในวันนี้ของผู้วิจัยนั้น  ไม่มีอะไรมาก  เพียงแต่บอกตัวเองว่าจะทำอย่างไรจึงจะถ่ายทอดเนื้อหาออกไปแล้วทำให้คณะกรรมการเข้าใจ  เพราะที่ผ่านมาความจริงก็เข้าร่วมการประชุมเกือบทุกครั้ง  หลายๆครั้งได้เป็นผู้ถ่ายทอดเนื้อหาในเรื่องต่างๆให้คณะกรรมการได้ทราบ  แต่ดูเหมือนว่าคณะกรรมการจะไม่ค่อยเข้าใจ  ซึ่งจากการประเมินของผู้วิจัยเห็นว่าน่าจะมาจากปัจจัยหลายอย่าง  เช่น 

   1.การใช้ภาษา  ผู้วิจัยใช้ภาษาไทยกลาง  และมักจะพูดในเชิงวิชาการ  (โดยไม่ได้ตั้งใจ  อาจเป็นเพราะติดจากการสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย)  ในขณะที่คณะกรรมการเป็นคนเมือง (เหนือ)ซึ่งไม่ค่อยจะไปด้วยกันสักเท่าไหร่  ดังนั้น  ผู้วิจัยจึงต้องพยายามปรับปรุงในเรื่องภาษให้มาก  ถ้าเป็นไปได้ควรพูดภาษาเหนือให้ได้  เพราะ  นอกจากจะช่วยให้การสื่อสารเข้าใจง่ายขึ้นแล้ว  ผู้วิจัยเห็นว่าจะได้ใจชาวบ้านด้วย  (เพราะพูดภาษาเดียวกัน)

   2.การใช้สื่อต่างๆ  ที่ผ่านมายังไม่หลากหลาย  ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เอกสารสรุปมากกว่า  (ตามความถนัดของนักวิจัย)  แต่ในความเป็นจริงแล้วการใช้สื่อที่หลากหลายเป็นเรื่องสำคัญมาก  เพราะ  จะทำให้ไม่เบื่อ  และช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย  ในส่วนนี้ผู้วิจัยกำลังพยายามปรับปรุงอยู่  เช่น  พยายามวาดภาพประกอบเพื่อให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น , พยายามสรุปออกมาเป็นประโยคหรือวลีัสั้นๆ  เป็นต้น

   จะเห็นได้ว่า  บทบาทของการเป็นนักวิจัยและคุณอำนวยในเวลาพร้อมๆกันไม่ใช่เรื่องง่าย  แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก  อยู่ที่ความตั้งใจจริง และการฝึกฝน  ที่สำคัญต้องฟังคนอื่นด้วย  ต้องกล้ารับความจริง  ไม่ใช่เห็นว่าตัวเองทำดีตลอด  ทำถูกตลอด  ถ้าคิดอย่างนี้การพัฒนาตัวเองตามแนวทางการจัดการความรู้คงทำได้ยาก  (ตามทัศนะของนักวิจัยนะคะ) 

   ดังนั้น  ในการประชุมวันนี้ผู้วิจัยคงจะใช้เวทีการประชุมเป็นสนามในการฝึกบทบาทของคุณอำนวยต่อไป  โดยจะพยายามใช้สื่อต่่างๆให้มากขึ้น  รวมทั้งพยายามปรับภาษาที่ใช้ให้เข้าใจง่ายมากขึ้นด้วย  เพราะ  การถ่ายทอดให้ประสบความสำเร็จ  ผู้ถ่ายทอดต้องถ่ายทอดด้วยวิธีการที่เข้าใจง่าย

   ขอจบแค่นี้ก่อนนะคะ  ถ้าประชุมเสร็จเร็วและมีเวลาจะเข้ามาบอกเล่าถึงเนื้อหาและบทสรุปของการประชุมต่อในช่วงเย็นนะคะ 

 

  

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 10014เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2005 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อย่างนี้ศัพท์ของพี่ทรงพลคือเตรียมก่อนเข้าห้องเรียน พวกเราล้วนเป็นนักเรียนจัดการความรู้ตามบทบาทของเรา บางคนมี2-3บทบาท บางบทบาทถนัดอยู่แล้ว แต่บางบทบาทก็เป็นมือใหม่

การฝึกเป็นวิทยากรกระบวนการของอ.อ้อมคือนักเรียนจัดการความรู้ในบทบาทคุณอำนวย อ.อ้อมก็ต้องเตรียมก่อนลงปฏิบัติ ฝึกตอนปฏิบัติและสรุปบทเรียนตัวเองหลังจากจบเวทีแล้ว ทำทุกครั้ง นานๆเข้าก็เก่งเองแหละครับ

ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยจัดการความรู้ อ.อ้อมย่อมมีวัตถุประสงค์ในการจัดประชุมเครือข่าย(ซึ่งมีอยู่แล้วตามปกติของเครือข่าย -การจัดการความรู้ต้องเข้าไปเพิ่มมูลค่าของการประชุม ถ้าเหมือนๆเดิมหรือไม่ดีเท่าเดิมแสดงว่าจัดการความรู้ล้มเหลว จึงต้องเตรียมทำการบ้านไปก่อน และที่จริงแล้ว ผู้เข้าประชุมทุกคนต้องทำการบ้านมาด้วย ตามบทบาทหน้าที่ของตนเองจากข้อสรุปของการประชุมในคราวที่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำงานกลุ่ม การจัดการความรู้นอกจากให้เกิดการปฏิบัติอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ยังต้องทำให้การปฏิบัติอิงกับฐานความรู้ที่มีประสิทธิผลสูงสุดด้วย เพื่อให้การทำงานของกลุ่มเกิดผลเลิศ) กิจกรรมการประชุมจะขับเคลื่อนเครือข่ายตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เพื่อบรรลุผลในเรื่องใด ระดับใดต้องทำการบ้านมาก่อนทั้งนั้นทั้งเนื้อหาและกระบวนการ ส่วนที่เป็นเนื้อหาอาจมองว่าเป็นบทบาทหลักของนักวิจัยก็ต้องเตรียมไป เพื่อช่วยตั้งประเด็นหรือโยนคำถามกับที่ประชุมอย่างที่อ.อ้อมทำนั่นแหละครับ ตอนประชุมจริงก็ฝึกบทบาทนี้ และบันทึกผลที่เกิดขึ้น ประเมินบทบาทของตนเอง ทำบ่อยๆก็ได้ทั้งเนื้อหาความรู้และทักษะของนักวิจัยในการเตรียมประเด็น จับประเด็น ตั้งคำถาม การบันทึกความรู้ที่ได้จากการประชุม รวมทั้งบันทึกบทเรียนจากการประชุม ทำบ่อยๆก็เก่งขึ้นเองแหละครับ

นอกจากเรียนรู้ ก่อน ระหว่างและหลังทำ จากพื้นที่เราเองแล้ว (เรียนรู้เพื่อไปสู่เป้าหมายอย่างลัดสั้นนะครับ ไม่ใช่เรียนรู้เรื่อยเปื่อย) ก็มีการเรียนรู้ระหว่างนักวิจัย 5 พื้นที่โดยการพบปะกันF2Fทุก3เดือนและการแลกเปลี่ยนผ่านBlog ถ้าทำกันอย่างขมักเขม้นก็จะช่วยซึ่งกันและกันยกระดับความสามารถและความรู้ให้งานของเราในพื้นที่บรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ บรรลุผลในเป้าหมายร่วมของชุดโครงการ เป็นความปลื้มใจของพวกเราทุกคน เป็นความปลื้มใจของสกว.และศตจ.(เจ้าของผ่านทุน)และความปลื้มใจของพี่น้องประชาชน(เจ้าของทุนตัวจริง)

อ.อ้อมเขียนเล่ากิจกรรมการจัดการความรู้ของลำปางอย่างต่อเนื่องจะช่วยตนเองและเพื่อนๆได้มากเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท