การลดทอนตรรกะ.... คำตอบที่ยังค้าง และการเปลี่ยนความตั้งใจ


การมองข้ามความสำคัญของปัจจัยบางตัวย่อมทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการวิเคราะห์ได้ ตรงนี้ ต้องอาศัยประสบการณ์และการรู้จักสังคมที่เป็นจริง

1 มิถุนายน  ต้องกลับเข้าสำนักท่าพระจันทร์  คิดว่าจะปิดบล็อก econ4life ชั่วคราว เพราะสองเหตุผล  ประการแรก  อยากให้เวลากับ  blog / road2se   เกี่ยวกับเรื่อง การสร้างแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียงและเครือข่ายระหว่างประเทศ   ประการที่สอง  เมื่อไม่ค่อยได้ลงพื้นที่  งานเขียนใน econ4life ก็อาจจะเป็นวิชาการลอยๆ  อย่างมากก็เป็นเกร็ดจากเวทีประชุม  ไม่ค่อยสนุก 

แต่ก็ต้องล้มเลิกความตั้งใจ เพราะมีน้องชาวบล็อกคนหนึ่งเขียนอีเมล์มาถิงตั้งแต่เช้า  บอกว่า

อาจารย์ครับ ผมอาจจะไม่ได้เข้ามาอ่านงานในบล็อกประมาณ
-๔ วันนะครับ เพราะผมจะไปพานักศึกษาร่วมกิจกรรมโต้วาทีสิ่งแวดล้อม..... ครับ   แล้วผมจะมาอ่านงานย้อนหลังนะครับ เขียนเยอะๆนะคร๊าบผม

 

อ่านแล้วก็เลยรู้สึกว่า  จะ ทรยศ ต่อน้องไม่ได้  จึงต้องมานั่งคิดใหม่ แล้วก็ตั้งอกตั้งใจเขียนบล็อก econ4life ต่อไป  (แอบดีใจที่มีคนคอยติดตามอ่าน...  ขอบคุณน้องมาก)

ว่าแล้วก็เลยต้องเริ่มจากทบทวนเรื่องที่ตั้งใจจะ แลกเปลี่ยน กับอดีตวิศวกร ที่เขียนความเห็นเข้ามาในบล็อก  เรื่อง  การลดทอนตรรกะทางคณิตศาสตร์  

การหาความจริงด้วยแคลคูลัสคือการลดทอนวัตถุศึกษาให้เป็นส่วนเสี้ยวเล็กๆในรูปความสัมพันธ์(สมการ)ทางคณิตศาสตร์ เมื่อทราบความสัมพันธ์ของส่วนเสี้ยวเล็กๆทั้งหมดแล้วก็ผสานรวมกันเป็นความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุศึกษานั้น ซึ่งใช้ได้ผลดีมากในกรณีวัตถุสิ่งของที่เป็นสสารในระดับความเร็วต่ำ

 

แต่ถ้าเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จะมีความเป็นอัตวิสัยมาก มีมูลเหตุจูงใจ จากความเชื่อ/วัฒนธรรมเข้ามามีบทบาทมาก

 

ในการวิเคราะห์เพื่อหาคำอธิบายผมไม่แน่ใจว่าสิ่งเหล่านี้สามารถลดทอนด้วยคณิตศาสตร์ได้หรือไม่

 

แถมยังเปรียบเทียบไว้คมๆอีกว่า   เหมือนฉีกผีเสื้อให้เป็นชิ้นเล็กแล้วนำมาประกอบใหม่  จะกลับเป็นผีเสื้อดังเดิมได้อย่างไร

ไม่มีข้อโต้แย้งสำหรับความเห็นและคำถามดีๆ นี้ค่ะ  ....  เศรษฐศาสตร์ใช้เครื่องมือทำนองนี้มาก (เช่นทฤษฎีอุปสงค์ที่ลดทอนมาจากพฤติกรรมผู้บริโภค  แล้วเราก็รวมผลใต้เส้นอุปสงค์เพื่อตีความเป็นสวัสดิการผู้บริโภค) 

แต่อยากเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า 

มีตำราบางเล่มบอกว่า   การสร้างทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์  ก็เหมือนการสร้างแผนที่เพื่ออธิบายความสัมพันธ์อะไรบางอย่าง ... ถ้าจะสร้างแผนที่เพื่อบอกความสัมพันธ์และเส้นเดินทางจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่    สิ่งที่ดีที่สุด  คือ บอกเพียงจุดสังเกตสำคัญ  หากเราใส่รายละเอียดทุกอย่างในแผนที่ อธิบายทุกความสัมพันธ์ตลอดเส้นทางนั้น ตึกทุกตึก ถนนทุกเส้น    ถึงที่สุดก็จะสับสนและอาจคลำเส้นทางจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ไม่ได้ 

ในทำนองเดียวกับข้อสมมติบนแผนที่ที่อาจไม่เป็นจริงว่า 1 ซม. = 1 กม.   ข้อสมมติทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์บางข้ออาจไม่เป็นจริง  สมมติว่าปัจจัยบางตัวคงที่ หรือไม่มี  แต่ตราบใดที่ทฤษฎีอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้ใกล้เคียงข้อเท็จจริง  ก็ถือว่า ทฤษฎีนั้นใช้ได้   เหมือนแผนที่ทำนำเราไปสู่เป้าหมายได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเขียนความจริงทุกอย่างลงในแผนที่ 

แต่ความผิดพลาดที่รุนแรงอาจเกิดได้  หากเราลืมใส่ทางแยกสำคัญลงไปในแผนที่แล้วพาลทำให้หลงทาง   ฉะนั้น.. การมองข้ามความสำคัญของปัจจัยบางตัวย่อมทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการวิเคราะห์ได้  ตรงนี้ ต้องอาศัยประสบการณ์และการรู้จักสังคมที่เป็นจริง

มีนักเรียนไทยไปเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ต่างประเทศ  ทำงานวิจัยกับศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียง  แต่นักเรียนท่านนี้ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่า  ภาคกลางของไทยนั้นมีการใช้เครื่องจักรทางการเกษตรมาก   การพยายามสร้างโมเดลอธิบายผลิตภาพ (productivity) ภาคเกษตรโดยละเลยตัวแปรเรื่องเครื่องจักร  ทำให้วิเคราะห์พฤติกรรมการใช้แรงงานของเกษตรกรผิดพลาดไปหมด

ตรงนี้ไม่ใช่ผิดที่การลดทอนตรรกะ  แต่ผิดตั้งแต่การเริ่มต้นวางกรอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ ก่อนลดทอนตรรกะด้วยซ้ำ

   
หมายเลขบันทึก: 100072เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2007 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 16:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มาลงชื่อครับ ว่าติดตามอ่านบล็อกนี้ของอาจารย์เช่นกันครับ

ที่จริงแล้วผมสนใจเศรษฐศาสตร์มากเลยครับ บอกใครต่อใครเสมอว่าถ้ากลับไปเรียนหนังสือได้อีกรอบจะเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ครับ

ที่อาจารย์สรุป ภาษวิจัย(เข้าใจว่า)เรียกว่าวิธีวิทยา

คือความเข้าใจเกี่ยวกับโลก(สสาร พลังงาน ชีวิต สังคม ธรรมชาติ)ว่าเป็นอย่างไร? ถ้าเข้าใจผิด ก็จะได้ทฤษฎีหรือคำอธิบาย(จากกระบวนการหาข้อมูลและการวิเคราะห์)ที่ไม่ครอบคลุม เช่นข้อเท็จจริงเรื่องผลผลิตต่อไร่ที่ไม่คำนึงถึงต้นทุนการผลิตทั้งที่หาค่าได้และที่หาค่าไม่ได้ วงวิชาการ/ส่งเสริมการเกษตรก็เอาตัวเลขนี้ไปเปรียบเทียบให้คุณค่าอย่างงมงาย        เป็นวาทกรรมที่ครอบงำสังคมเกษตรกรรมซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงอย่างประเมินค่ามิได้
ตรรกะลดทอนอาจใช้ได้ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับวัตถุ สิ่งของที่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไม่ซับซ้อน ภาษาทางการคือตัวที่ไม่มีนัยะสำคัญ ซึ่งเป็นที่มาของยุคอุตสาหกรรมหนักและองค์กรที่เป็นทางการ  แต่ธรรมชาติของวัตถุสิ่งของในทางควอนตัมเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับจิตด้วย(นี่ก็เป็นความเชื่อหนึ่ง)การลดทอนตัวที่คิดว่าไม่มีนัยะสำคัญจึงอาจมีผลต่อผลรวมทั้งหมด เช่นทฤษฎีchaos เรื่องผีเสื้อกระพือปีก

ทางพุทธเชื่อว่าเพราะสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆจึงเกิดขึ้น ธรรมชาติของสรรพสิ่งไม่เที่ยง(อนิจจัง) ไม่ทนอยู่ได้(ทุกขัง)และไม่ใช่ตัวตน(อนัตตา) อาจเรียกว่าเป็นวิธีวิทยาแบบพุทธ ผมไม่แน่ใจว่าไฮเซนเบอร์กกับ นีลบอร์ใช้วิธีวิทยาแบบพุทธไปอธิบายธรรมชาติทางควอนตัมหรือเปล่า? ไอสไตน์มีวิธีวิทยาแบบคริสต์คือเชื่อว่ามีกฏเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัวในรูปความสัมพันธ์ที่บรรณสานสอดคล้องเรียบง่ายของธรรมชาติที่เรียกว่าพระเจ้าหรือกฏธรรมชาติ จึงพยายามหากฏเกณฑ์ดังกล่าวโดยรวมสนามหรือแรงพื้นฐานทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็นทฤษฎีสนามรวม แต่ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตามไอสไตน์เห็นว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอดคล้องกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากที่สุด

กรอบในการมองโลกและชีวิตคือวิธีวิทยาของแต่ละคน ข้อมูลข่าวสารที่เข้ามาจะแปรความ/วิเคราะห์ผ่านกรอบแนวคิดนี้ แล้วสะท้อนเป็นการกระทำกลับออกไป ความสุขความทุกข์สำคัญก็ตั้งต้นจากกรอบแนวคิดของคนเรานี้เอง

  • ได้อ่านเนื้อๆ อย่างนี้มันส์สะใจดีครับ :-)
ขอแจมด้วยคนครับ...เรื่องบ้า ๆ บอ ที่ชาวบ้านฟังไม่รู้เรื่องเนี่ย...เป็นสารเสพติดชั้นดีของผมเลยทีเดียว...

เศรษฐศาสตร์โบราณ (ไม่อยากเรียกว่าคลากสิก) มีพื้นฐานจาก social physics ที่ใช้ของแข็งเป็น metaphor ของสังคมมนุษย์  เพราะง่ายต่อการทำความเข้าใจดี...ผมไม่แน่ใจว่า...อิทธิพลนี้จะส่งไปถึงยี่ปุ่นหรือเปล่า...ข้อสันนิษฐานของผมคือ...น่าจะส่งไปถึง...เพราะตามการวิเคราะห์ของศิษย์สำนักอาทิตย์อุทัยรุ่นก่อนที่ตั้งสำนักอยู่แถวซีคอน...ก็ใช้การวิเคราะห์แบบสมการเชิงเส้นอยู่...ตามวิถีแบบ econometric model ที่นิยมกันมาตั้งกะโบราณ...

...ที่ว่าโบราณนั่นเพราะเขาสมมติให้ปฏิกิริยาที่มีระหว่างกันของมนุษย์นั้นเป็นแบบโรงโน้มถ่วงที่กระทำต่อกันระหว่างวัตถุ...โดยให้ข้อสมมติอีกชุดหนึ่งของอุดมการณ์แบบ mercantilism เป็นแรงที่อยู่ในตัวมนุษย์  แรงที่ว่านี้คือ..."เห็นแก่ตัว"...ใน ฟังชั่นของ econometric model ก็ยังสมมติให้สองฝั่งของสมการเท่ากันเลย...ซึ่งเป็นข้อสมมติที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงของธรรมชาติอย่างสมบูรณ์...เขาไม่รู้หรือแกล้งไม่รู้ว่า...ถ้ามันสมดุลขนาดนั้น...จักรวาลสลายไปแล้ว...เพราะมันไม่สมดุล...มันจึงเกาะเกี่ยวเป็นโลก...เป็นตัวคน...ที่มีความคิด...

...การใช้คณิตศาสตร์ชั้นสูงแบบแคลคูลัส...ก็ยังไม่พ้นวังวนของสมการเส้นตรง...อย่างไรก็ตามการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ภายใต้กระบวนทัศน์แบบควอนตัม...ก็เริ่มนำมาใช้บ้างแล้วที่ standford โดยศาสตราจารย์ Arthur ซึ่งทำใหการพยากรณ์เข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น...

โม้มาเสียยาว...ใครเชื่อก็บ้าแล้ว...เด็ก ๆ ที่ใฝ่เรียนใฝ่รู้ทั้งหลาย...อย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ เป็นอันขาดจนกว่าจะได้ไปตรวจสอบให้ดีเสียก่อน...ทีนี้จะเข้าประเด็นที่ผมจะเสนอในการอธิบายทางสังคม...ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์หรือการเมือง...ผมตั้งชื่อว่า The Unifided Theory on Political Science ภาษาไทยคือ ทฤษฎีบ้า ๆ บอ ๆ ทางรัฐศาสตร์ 

ทฤษฎีนี้บอกว่า...พลังขับเคลื่อนในทางสังคมนั้นหนะ...จะเรียกว่าเป็นสสารก็ได้...แต่เป็นสสารที่ไม่มีตัวตน...มันคืออะไร...คือข้อมูลข่าวสาร...ที่ส่งพลังของมันออกมาในรูปของ "ความหมาย"  ตัวความหมายจะเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจเพื่อการลงมือทำ...ในขณะที่มีการลงมือทำ...ก็เป็นการผลิตซ้ำความหมายให้ทวีพลังการหมุนวนขึ้นไปอีก...ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ...กรณีโรตีบอย...ไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากลิ้งที่ผมได้คุยกับคุณสามชายไว้ได้ครับ...

...อย่างไรก็ตาม  ทฤษฎีนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนา...ข้อเสนอเบื้องต้นคงจะได้รับการพิสูจน์ในทางคณิตศาสตร์ต่อไปโดยนักคณิตศาสตร์ที่สนใจงานของ Henri Poincare' ส่วนตัวผม...แค่อ่านยังอ่านไม่ออกเลยครับ...

เห็นไหมหละครับ ดร.ธวัชชัย...เศรษฐศาสตร์ถ้ารักจะเรียน...ไม่ต้องกลับไปเข้ามหาวิทยาลัยครับ...แค่ไม่กลัวโดนโห่...ก็คิดออกมาดัง ๆ ได้เลย...จะได้ช่วยกระตุ้นจินตนาการของนักเศรษฐศาสตร์ตัวจริง...ให้ท่านเห็นความเรียบง่ายในความซับซ้อนของเศรษฐศาสตร์ครับ...สวัสดี...ยาวไปนิสส์...คงไม่ว่านะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท