บูรณาการไม่ใช่แฟรงเกนสไตน์


บูรณาการที่แท้จริง ต้องไม่มีเส้นแบ่งเดิมเหลืออยู่อีก

ผมเห็นใคร ๆ ก็พูดถึงบูรณาการ

แต่สิ่งที่เขาพูดและทำ เน้นแฟชั่น ไม่เน้นเนื้อหา

หรือเราเข้าใจผิดเกี่ยวกับบูรณาการ ?

คือเราไปมองว่า เหมือนนำผ้าสวย ๆ หลาย ๆ ผืน มาตัดต่อกันใหม่

แต่เราแกล้งลืมว่า ถ้าทำไม่เนียน สิ่งที่ได้ คือผ้าขี้ริ้วสีฉูดฉาด ไม่ใช่แฟชันใหม่ล้ำยุค

ผลคือ บูรณาการที่เรียก ๆ กัน มักหมายถึงการสร้างแฟรงเกนสไตน์ขึ้นมาใหม่เสียมากกว่า

คือเป็น "ผี" ที่ "ดิบ"

แม้ "ใจดี" แต่ก็น่าสยดสยอง

อย่างเช่น สอนบูรณาการ มีคนตีความว่า เป็นการเอาวิชาต่าง ๆ มาสอนรวม ๆ กันแบบปรุงต้มยำ หรือจับฉ่าย

แต่หากทำแบบฝืนธรรมชาติ ก็จะเป็นต้มยำหรือจับฉ่ายที่แม้ถึงเครื่อง แต่ไม่ถึงไฟ

ไม่ผ่านการเคี่ยวจนเข้าเนื้อ

ไม่เปื่อย

ไม่สุก

คือ  ดิบ

กินแล้วท้องเสีย 

...ไม่กิน จะยังดีกว่า...

 

แต่ถ้าทำได้ดี ลงตัวล่ะ ? 

ผมเคยฟังที่ รศ.ดร.ไกรสีห์ อัมพรายน์ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ มาสอนหัวข้อพิเศษให้นักศึกษาที่ มอ. ผมจึงได้ตาสว่างว่า อ้อ สอนแบบนี้นี่เอง ที่เรียกว่าบูรณาการ ได้เปิดหูเปิดตา

คือ ใช้ความรู้ข้ามสาขาที่ "ธรรมดา ๆ" มาอธิบาย "เรื่องเดิม ๆ" แต่ด้วยมุมมองที่สด ใหม่ ทำให้ฟังแล้ว สาสมใจนัก

เช่น แม้หัวข้อจะเกี่ยวกับเรื่องการผลิต แต่เวลาสอน กลับเริ่มจากโครงสร้างเคมี

แล้วชี้ให้เห็นจุดเน้นว่าตรงไหนในโครงสร้าง นำไปสู่ปัญหา และโอกาสอะไรบ้าง ในร่างกาย เมื่อออกฤทธิ์ เมื่อทำให้เกิดพิษ หรือการแพ้ หรือจะทำให้มีปัญหาอะไรในกระบวนการผลิต ทำให้เลี่ยงปัญหาได้อย่างเป็นระบบ

 

อีกตัวอย่างหนึ่ง คุณเม้ง (สมพร) พูดถึงเรื่อง การบูรณาการในธรรมชาติเกิดมานานแล้ว เมื่อไหร่ถึงเวลาบูรณาการนโยบาย คือนโยบายมีหลายเรื่อง และขัดแย้งกันเองอย่างไม่น่าเชื่อ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการไม่บูรณาการของการคิดและการกระทำ

คือพูดอย่าง และทำอีกอย่าง

บูรณาการ ไม่จำเป็นต้องซับซ้อนจนมนุษย์เดินดินเข้าใจไม่ได้อย่างที่เป็นอยู่

แต่ต้องเป็นการนำสิ่งละพันอันละน้อยมาใช้อย่างต่อเนื่อง กลมกลืน 

เน้นความพอดี เน้่นความสมดุล

ถึงที่สุด คือความกลมกลืน

เหมือนปรุงอาหารให้อร่อย ไม่ใช่ใส่เครื่องชนิดใดชนิดหนึ่งหนักมือไป

เป็นการรู้จักคำว่า พอดี ๆ

มากไปก็ไม่ใช่ น้อยไปก็ไม่ใช่

เหมือนเราเรียนคณิตศาสตร์ เรียนให้บูรณาการ ไม่ได้หมายความว่าสามารถทำโจทย์ยาก ๆ ได้แต่ถ่ายเดียว

แต่หมายความว่า โจทย์ง่าย ๆ ในชีวิตจริง ที่ใช้เลขธรรมดา ๆ นี่แหละ ทำได้ลุล่วง

ไม่งั้น จะเป็นว่า ได้ดีกรีวิชาการสูงปรี๊ด ดีกรีชีวิต จมน้ำปริ่ม ๆ ไม่เคยพ้นน้ำ

เช่น คนเรียนสูง ๆ อินทิเกรตเป็น แก้พาร์เชียลดิฟก็ได้ แต่เลขง่าย ๆ เกี่ยวกับการบวกลบเรื่องค่าใช้จ่ายในชีวิตจริง ดันทำไม่เป็นแฮะ

เหลือเชื่อ ?

แต่มีเยอะ !

เป็นหนี้บัตรเครดิตท่วมหัว

ทั้งที่ การแก้ปัญหา อาจเป็นเพียงการบวกลบคูณหารธรรมดา

แถมเป็นการบวกลบคูณหารที่ใช้เครื่องคิดเลขได้ ทำตรงไหนไม่ออก แอบถามคนโน้นคนนี้ได้ ไม่ต้องกลัวโดนหาว่าลอก

แต่ก็ยังไม่วาย...สอบตกอยู่ดี

 

หมายเลขบันทึก: 131015เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2007 21:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียน Pที่นับถือ

ผมว่าเราต้องคุยกันอีกนาน

ในเรื่องการบูรณาการ

และจะนานมากจนไม่มีจุดจบ ถ้าเรายังคุยโดยไม่ลองทำจริงๆสักที

ของอย่างนี้มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ ในทุกขั้นตอน

การท่องจำไม่มีทางเข้าใจ

และคนที่ไม่เคยทำ จะไม่มีฐานคิดรองรับข้อมูลให้เขาเข้าใจ

และคนที่ไม่เข้าใจก็จะไม่มีฐานคิดของวิธีการ

มันวนแบบงูกินหางพอสมควรทีเดียว

เมื่อวานที่งานศพพ่อมหาอยู่ ผมได้คุยกับคุณหมอเอกชัยที่ทำงานกับชุมชนมานาน

ท่านเคยเรียนกับหมอประเวศในเรื่องนี้ตอนอยู่ปี ๒

ท่านบอกว่า ท่านฟังไม่รู้เรื่องเลย และคิดว่าหมอประเวศเพี้ยน รับไม่ได้

แต่พอมาทำงานกับชุมชนจึงเริ่มรู้ความหมายมาเรื่อยๆ

และยอมรับว่า จำเป็นต้องรู้

และกลับไปอ่านอีกหลายรอบจึงเข้าใจ

นี่แหละครับปัญหาการทำงาน และความรู้ ความเข้าใจ

มันไม่ง่ายอย่างที่นักการศึกษา "หอคอยงาช้าง" คิดกันจนพังไม่ณุ้กี่เรื่อง

และเป็นผีดิบ อย่างที่อาจารย์ว่ามาแหละครับ

ผมทำงานในชุมชนมากว่า ๒๐ ปี ผมก็มองเห็นอย่างหนึ่ง

คนที่ทำงานในห้องปฏิบัติการ มาตลอดชีวิตก็เห็นอย่างหนึ่ง

มันสื่อกันยากครับ

ต้องทำงานด้วยกันสักพัก (ต้ม เคี่ยว อย่างที่อาจารย์ว่ามานั่นแหละ) แล้วเราจะเริ่มเข้าใจกัน และค่อยๆบูรณาการได้ โดยลำดับครับ

อยู่เฉยๆให้มาบูรณาการ ไม่ work ครับ

  • ขอบคุณครับอาจารย์
  • เห็นด้วยครับ ว่า "คนที่ไม่เคยทำ จะไม่มีฐานคิดรองรับข้อมูลให้เขาเข้าใจ"
  • เราอาจขาดตัวอย่างดี ๆ ในเรื่องเหล่านี้
  • เรื่องเล่าดี ๆ น่าจะช่วยเยียวยาตรงนี้ได้บ้างกระมังครับ...

สวัสดีค่ะ

อะไรๆทุกอย่าง จะให้รู้จริง ต้องลงมือทำจริงๆค่ะ แค่อ่านๆ ท่องๆ ไม่พอจริงๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท