กับบางสิ่งบางอย่าง...ที่ตกค้างในสมุดบันทึก (2)


วันที่ไม่มีรายได้ ก็คือ วันที่ไม่ได้ลงไปในบ่

วิถีประมงอินทรีย์ที่คลองยายหลี
                     วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม 2550 เวลา 09.30 น. ผมมีนัดกับพี่แจ่มจันทร์ ทองภิรมย์ และน้องสุดารัตน์ ผิวเผื่อน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรของสำนักงานเกษตรอำเภอพระสมุทรเจดีย์ ที่ท่าเรือปากคลองยายหลี (วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ต้องนั่งเรือเข้าไปครับ)

การเดินทางทริปนี้ผมต้องนั่งเรือ 2 ต่อ คือ นั่งเรือข้ามฟากจากตลาดปากน้ำ มาฝั่งพระสมุทรเจดีย์แล้วนั่งเรือเข้าคลองยายหลี อีกต่อ 
               วันนี้วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงสัตว์น้ำและแปรรูปบ้านคลองยายหลี มีนัดกับสภาวิจัยแห่งชาติ เพื่อจะพูดคุยกันในโครงการผลิตอาหารกุ้งอัดเม็ดซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องที่เกิดจากการทำแผนพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ในปี 2549 ซึ่งเกิดจากชุมชน ที่ต้องการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบอินทรีย์ (โดยได้รับการสนับสนุนพันธุ์กุ้งอินทรีย์จากสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรปราการแล้ว)
            ก็คงต้องเล่าความเป็นมากันสักเล็กน้อยครับ ขอเรียกแบบย่อ ๆ ว่า วิสาหกิจชุมชนคลองยายหลี  เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันของเกษตรกร หมู่ 12 ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ โดยเริ่มจากการเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ทำการผลิตขนมเกสรดอกลำเจียกลูกจาก ดอกไม้เกล็ดปลา และอาหารแปรรูปจากสัตว์น้ำ เช่น ปลาหมอเทศแดดเดียว น้ำพริกเผากุ้ง กุ้งแห้ง และทำการเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น ปูทะเล กุ้งกุลาดำ หอยแครง ปลากะพง ปลาหมอเทศ

ปลานิล+ปลาหมอเทศ
ปลาหมอเทศผสมปลานิล

นอกจากนั้นก็มีการดำเนินงานกองทุนเพื่อการเกษตร และกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร ในปัจจุบันเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการประมงของชุมชนมีโอกาสให้การต้อนรับผู้เข้ามาศึกษาดูงาน จากหลายประเทศ
             ประธานกลุ่ม คือ พี่จรูญ ไกรเนตร เล่าให้ฟังว่า วิถีชีวิตที่คลองยายหลี เมื่อก่อนก็เลี้ยงสัตว์น้ำในแบบดั้งเดิม แล้วก็เข้ามาสู่การเลี้ยงในเชิงธุรกิจมากขึ้น ทำให้ต้องประสบปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะต้องเผชิญกับปัญหาด้านสภาพแวดล้อม ที่ทำให้การเลี้ยงแต่ละรอบได้ผลไม่แน่นอนส่งผลให้ต้องปรับวิธีคิดใหม่ และเมื่อได้มีการทำแผนพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ก็เกิดโครงการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบอินทรีย์ขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรปราการให้เข้าร่วมโครงการเลี้ยงกุ้งอินทรีย์ และทางกลุ่มก็มีแนวคิดที่จะทำอาหารกุ้งอัดเม็ดใช้เองเพื่อเป็นการลดรายจ่าย

บรรยากาศการพูดคุยโครงการ

  <p> จนได้มีโอกาสเสนอโครงการนี้กับสภาวิจัยแห่งชาติ จากการพูดคุยถึงรายละเอียดของโครงการ ซึ่งทางสภาวิจัยเองก็ตกลงที่จะให้การสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อทำโครงการนี้ โดยมีแผนการดำเนินงานในช่วงเดือนกันยายน      </p><p>               หลังจากการพูดคุยเรื่องโครงการแล้ว ผมก็มีโอกาสได้คุยกับพี่สนอง ไกรเนตร (แฟนพี่จรูญ)เกี่ยวกับวิธีการทำประมงแบบอินทรีย์ ซึ่งหลักการก็คล้ายกับการผลิตพืชอินทรีย์ ก็คือ การเลี้ยงแบบไม่ใช้สารเคมี แต่ประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจ ก็คือ การจัดการระบบน้ำของพี่สนอง
              พี่สนองเล่าให้ฟังว่า แนวคิดการจัดการระบบน้ำ มาจากการได้เห็นข่าวพระราชกรณียกิจของในหลวง ด้านการจัดการน้ำ และนำมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตน โดยใช้แนวคิดกาลักน้ำ คือ จะมีการแบ่งพื้นที่บ่อเลี้ยง จากบ่อเดียวขนาดใหญ่เป็นบ่อขนาดเล็กหลาย ๆ บ่อ เพื่อที่จะสามารถบำบัดน้ำได้เริ่มจาก การระบายน้ำจากคลองยายหลี (น้ำดิบ)เข้ามาพักไว้ในบ่อพัก ประมาณ 15 วันหรืออาจมากกว่านั้น (ขึ้นอยู่กับคุณภาพน้ำ) โดยระหว่างการพักน้ำจะมีการใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพเพื่อปรับปรุงน้ำ (ในบ่อนี้จะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสม ซึ่งไม่ต้องการคุณภาพน้ำที่ดีนัก)หลังจากที่น้ำมีคุณภาพดีตามที่กำหนดไว้แล้ว ก็จะระบายน้ำเข้าบ่อที่จะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ซึ่งต้องการน้ำคุณภาพดี การระบายน้ำก็จะถ่ายน้ำจากบ่อที่จะเลี้ยงกุ้ง ไปอีกบ่อ แล้วระบายน้ำจาก
บ่อพักเข้าบ่อ (เป็นการถ่ายน้ำโดยไม่ใช้เครื่องสูบน้ำแม้แต่เครื่องเดียว)แล้วจึงปล่อยลูกกุ้ง แล้วก็เลี้ยงในแบบอินทรีย์ โดยเน้นที่การใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพปรับปรุงคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง  ส่วนน้ำเก่าที่ระบายจากบ่อนี้ ก็จะใช้เลี้ยงปลากะพงในอีกบ่อ พี่สนองบอกว่าปลากะพงก็จะช่วยปรับคุณภาพน้ำ ให้ดีขึ้นด้วย
</p><p>                สรุปแล้วก็คือ การหมุนเวียนน้ำที่มีประสิทธิภาพ มีการปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยวิธีธรรมชาติ วิธีการเลี้ยงโดยมีการจัดการน้ำวิธีนี้ จะมีข้อดี คือ ลดความเสี่ยงในการเลี้ยง จากเดิมที่เลี้ยงบ่อใหญ่บ่อเดียว ถ้าได้ก็ได้เยอะ แต่ถ้ากุ้งตายยกบ่อก็เจ๊ง นอกจากนั้นการเลี้ยงแบบบ่อเล็กหลายบ่อ ก็สามารถจับได้ตลอดปี ตามช่วงเวลาการเลี้ยงที่ต่างกัน และเลี้ยงได้หลายอย่าง ทั้งปลากะพง กุ้ง และปู
 และพี่สนองยังบอกอีกว่า วันที่ไม่มีรายได้ ก็คือ วันที่ไม่ได้ลงไปในบ่อ
               ก็เป็นอีกหนึ่งวิถีที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติ และยังมีหลายเรื่องราวดีดีจากคลองยายหลี แล้วผมจะบันทึกมาเล่าให้ฟังครับ</p><p> </p>

หมายเลขบันทึก: 124649เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2007 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

          ขอบพระคุณมากครับที่นำมาแลกเปลี่ยน และแบ่งปัน

  • ที่นี่ยังมีเรื่องราวดีดี อีกหลายอย่าง จะนำมาบันทึกแลกเปลี่ยนต่อไปครับ
  • ขอบพระคุณมากครับ
กันตพล วิเศษสังคม

ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสผู้คนที่คลองยายหลี...มาหลายครั้ง..แต่วันนี้เปลี่ยนไปในทางที่ดี มีการระดมความคิด และถ่ายทอดความรู้ แม้แต่คนเมืองอย่างผมยังสนใจในเนื่อหา ภูมิปัญญาเกษตรกร คลองยายหลี และเครือข่าย..กลับมาบ้านจึงเริ่มเตรียมภาชนะ เพื่อ เลี้ยงใส้เดือน...เพาะถั่วงอก...ซึ่งมันเป็นงานที่เหมาะแก่ผมในวัยเกษียน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท