BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

R2R ในวัด


R2R ในวัด

คืนนี้เอง หลังจากตีหนึ่งล่วงแล้ว กัลยาณมิตรท่านหนึ่งก็ส่งโครงสร้างหนังสือ คู่มือ R2R  มาให้ผู้เขียนพิจารณาดูว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ? ... ท่านคงจะคิดว่า ผู้เขียนจะพอมีความรู้เรื่องนี้อยู่บ้าง... หลังจากอ่านหยาบๆ จบสองเที่ยวแล้วก็บอกว่า ผ่าน .... สาเหตุก็คือ ผู้เขียนไม่มีความเห็นที่จะำนำเสนอ...

หลังจากนั้นก็เริ่มคุยกัน ตั้งต้นแต่ ผู้เขียนบอกว่า R2R ย่อมาจากอะไร ? นั่นคือ ผู้เขียนไม่เคยรู้เรื่องนี้เลย (จริงๆ)

เมื่อกัลยาณมิตรผิดหวังโดยการออฟไลน์ไปนอน ผู้เขียนก็เริ่มค้นหาอ่านในเน็ต จึงได้รู้ว่า เจ้าอาทูอาที่ว่านั้นก็คือ การทำวิจัยในงานประจำ ซึ่งโดยมากอยู่ในแวดวงทางการแพทย์ พยาบาลหรือสาธารณสุข แต่อาจารย์หมอวิจารณ์มีความเห็นว่า อยากจะเห็นเป็นที่สุดก็คือในวงการครู (ดู ชุมชน R2R ในฝันของผม)

หลังจากอ่านเชิงสำรวจทั่วๆ ไป ผู้เขียนก็มีความเห็นว่าอาทูอา ก็คือ การค้นหาแนวทางบางอย่างในขณะที่ทำงานเพื่อนำมาปรับปรุงงานเดิมๆ ให้ดีขึ้น หรือเพื่อให้เกิดองค์ความรู้บางอย่างแล้วสร้างสิ่งใหม่มาใช้ในงานที่กำลังทำ โดยแนวทางหรือสิ่งใหม่ที่ได้มาจากการค้นหานี้จะถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานแล้วก็เผยแพร่ต่อไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม.... น่าจะทำนองนี้

เมื่อมาถึงตอนนี้ ผู้เขียนก็คิดว่า

  • อาทูอาในวัดมีกะเค้าบ้างหรือไม่ ?  

........... 

ผู้เขียนคิดว่า ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในวัด น่าจะจัดเป็น อาทูอา ได้ เช่น

การทอดกฐิน ในสมัยก่อน ไม่ได้กำหนดว่า ตรงกับวันเสาร์อาทิตย์ (หรือวันหยุดอื่นๆ) แต่ต่อมาระบบสังคมเริ่มมีวันหยุดเป็นระเบียบยิ่งขึ้น บางวัดจึงเริ่มมีการกำหนดวันทอดกฐินให้ตรงกับวันเสาร์อาทิตย์โดยมุ่งหวังว่า จะมีคนมาร่วมงานมากขึ้น จะทำให้วัดได้รับบริวารกฐิน (คือเงินหรือปัจจัย) มากยิ่งขึ้น... ต่อมาเมื่อวิธีการนี้ได้ผล วัดอื่นๆ จึงนำไปใช้ กลายเป็นว่า ปัจจุบันนี้ วัดทอดกฐินเกือบทั้งหมดจะตรงกับวันเสาร์อาทิตย์...

ในเทศกาลเข้าพรรษา วัดทั่วๆ ไปจะมีการแสดงธรรมในเวลาหัวค่ำตอนกลางคืนตลอดพรรษา แต่เมื่อมาถึงยุคมีโทรทัศน์เป็นสิ่งสามัญประจำบ้าน (เดียวนี้มีประจำวัดด้วย) ญาติโยมก็มาวัดฟังธรรมน้อยลง หลังจากการทำวิจัยก็พบว่า โยมติดละครหลังข่าว ดังนั้น วัดจึงต้องเลื่อนเวลามา และประกาศว่า จะให้เสร็จพิธีไม่เกินสองทุ่มครึ่ง เพื่อญาติโยมจะได้กลับไปดูละครหลังข่าวทันตามเวลา...

จำได้ว่า เมื่อผู้เขียนแรกบวช ก็เริ่มมีข่าวว่า บริษัทประกันฯ มีปัญหากับบางวัดในการจ่ายกรมธรรม์ เพราะอดีตเจ้าอาวาสได้ทำประกันฯ ไว้ แต่เมื่อท่านมรณภาพไปแล้ว ทางวัดยังไม่ได้เบี้ยประกันฯ ทำนองนี้.... ตอนนั้นมีค่านิยมว่า พระ-เณรไม่ควรทำประกันฯ

แต่ปัจจุบัน ในกลุ่มพระเถระเริ่มมีค่านิยมในการทำประกันฯ เพิ่มมากขึ้น... สาเหตุเพราะ พระเถระบางรูปมรณภาพแล้ว ไม่มีปัจจัยติดก้นย่ามเลย ทำให้เป็นภาระต่อวัดนั้นๆ หรือบางรูปอาพาธก็ไม่มีใครช่วยรักษาพยาบาล... ส่วนพระเถระที่ทำประกันฯ ไว้ เมื่อคราวมรณภาพลงทางวัดก็รู้สึกยินดีในการจัดงานศพ และส่วนบางรูปที่อาพาูธก็จะได้รับการรักษาพยาบาลตามสัญญากรมธรรม์....

ยังมีประเด็นอื่นอีกเยอะ แต่ผู้เขียนยกตัวอย่าง ๒-๓ กรณีนี้ เพราะเข้าใจกันได้ง่าย

...........

ผู้เขียนไม่รู้เรื่องอาทูอา เพิ่งรู้จักก็คืนนี้แหละ จึงใคร่ถามผู้ที่พอจะรู้บ้างว่า เรื่องที่ผู้เขียนเล่ามา พอจะจัดเป็นอาทูอาหรือไม่ ?

และในวัดนั้น  ถ้าจะมีอาทูอาก็เค้าบ้าง ควรจะเป็นไปอย่างไร ?

คำสำคัญ (Tags): #r2r ในวัด
หมายเลขบันทึก: 165833เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2008 05:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

กราบนมัสการ พระคุณเจ้า

  • มาอ่านข้อคิดดี ๆ จากพระคุณเจ้าค่ะ
  • สังเกตเพิ่มเติม เกี่ยวกับ อาทูอา เกี่ยวกับ เช่น การบวชอุปสมบทหมู่ ในอดีต ไม่เคยเห็นเป็นรูปธรรม ปัจจุบัน ถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกัน อย่างน้อย ได้มีเจ้าภาพร่วม ได้มีพระภิกษุที่มากมายในวันเดียวกัน เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและปลื้มปิติแก่ญาติโยมที่ศรัทธา เลื่อมใส ยิ่งนัก
  • ไม่ทราบว่า น่าจะเป็น อาทูอา หรือเปล่าคะ
  • ขอบพระคุณค่ะ

P

บัวปริ่มน้ำ

 

คุณโยมว่ามา อาตมาก็ห็นด้วย... แต่ไม่ยืนยันว่าจะเกี่ยวกันหรือไม่ เพราะเพิ่งอ่านเรื่องอาทูอามาไม่เกินสามชั่วโมงนี้เอง....

อีกอย่างหนึ่ง เฉพาะของใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในวัด เช่น การบวชเณรภาคฤดูร้อน  หรือโครงการอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อนในวัด ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานเพื่อแก้ช่วยแก้ปัญหาสังคมบางประการนั้น ก็่น่าจะใกล้เคียงกับความเห็นที่คุณโยมว่ามา....

เจริญพร 

  • ภาวะโลกเปลี่ยนแปลงไป ในอดีต พระภิกษุ ต้องเดินเท้าเปล่าๆ (ไม่ใส่รองเท้า)
  • การปฏิบัติธรรม เคร่งครัดมาก
  • เมื่อยุคสมัย บริโภคนิยม นอกจากคนธรรมดาที่มีกิเลส พระภิกษุก็สามารถบริโภคนิยมได้เช่นกัน ยกตัวอย่าง โทรศัพท์มือถือ หากมองว่า พระภิกษุจำเป็นต้องใช้ไหม ในสังคมปัจจุบัน จำเป็น นี่ก็คืออีกตัวอย่างที่ภาวะโลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ในขณะที่บางอย่างต้องปรับเปลี่ยนตามเพื่อความเหมาะสมและเอื้อ ซึ่งไม่ทำให้เสียหาย

P

บัวปริ่มน้ำ

 

เข้าไปดูประวัติบัวปริ่มน้ำ จึงรู้ว่า นี้แหละ นักวิจัยตัวจริง...

ตามความเห็นส่วนตัว ประเด็นพระไม่ใส่รองเท้านั้น มิใช่อยู่กับการเคร่งครัด  เพราะพระสามารถใส่รองเท้าได้ ๒ ชนิดคือ ปาทุกา กับ อุปาหนา แต่ก็ก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยไปอีก (ดู คำศัพท์ เฉพาะคำว่า รองเท้า

ตามความเห็นส่วนตัว (อีกอย่าง) ในความเป็นคน (หรือเป็นพระก็ตาม) ไม่ได้แตกต่างไปจากยุคสมัยก่อนเลย เพียงแต่สังคมเท่านั้นเปลี่ยนไป...

แต่เรามักจะมองคุณค่าบางอย่างในอดีตเป็นอุดมคติเท่านั้น... ซึ่งถ้าศึกษาลงลึกยิ่งขึ้น คนในอดีตบางยุคสมัย บางกลุ่มคน หรือบางท้องถิ่น ก็มิได้ดีไปกว่าคนยุคนี้ทั้งหมด....  

เจริญพร 

  • ขอบพระคุณค่ะ พระคุณเจ้า
  • ชอบตื่นแต่เช้า ปกติจะเปิดทีวี ฟังพระธรรมเทศนา รู้สึกสบายใจค่ะ
  • จริง ๆ ไม่ได้เป็นนักวิจัยโดยแท้ แต่บังเอิญ ชีวิตการงาน วังวนอยู่กะการวิจัยมาเกือบ 20 ปี จึงพอฟังเรื่องวิจัย...วิจัย..และวิจัย กะเขาได้บ้างค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ ความรู้เกี่ยวกับธรรมะ ชอบมาก ๆ มีอะไรให้แง่คิดที่ดีเสมอค่ะ

นมัสการพระอาจารย์

  • พลันที่เห็น ชื่อบันทึก ก็นึกชอบ
  • ตามระบอบ พัฒนา พาสมัย
  • R2R ในวัด ประทับใจ
  • สร้างมิติ ใหม่ๆ ให้พุทธชน

กราบนมัสการ

นมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

- เห็นชื่อบันทึกแปลก...จึงตามเข้ามาดูค่ะ

- เพิ่งทราบว่า R2R คือวิจัยชั้นเรียน

- ปกติครูก็R2R กันอยุ่นะคะ

- แต่ถ้าต้องเก็บข้อมูลมาก ๆ เหมือนแพทย์ ก็ค่อนข้างยาก

- ไม่มีหน่วยกรองงาน

-แพทย์ เริ่มบันทึกตั้งแต่ใช้บริการ.........แล้วเก็บข้อมูลได้เป็นเรื่อง

- แต่ครูไม่สามารถ.......น่าจะเป็นตัวดิฉันเอง

- นมัสการลาค่ะ

 

นมัสการครับ    อาทูอาในวัดตอนนี้ที่คิดออก  คือ เรื่องของสังฆทาน  เป็นไปได้ใหมครับว่าเราน่าจะมีการสำรวจกันว่าพระต้องการปัจจัยจำเป็นอะไรบ้าง  เพื่อที่จะถวายของได้ตรงตามความต้องการ  ในเรื่องนี้  อาจจะโยงมาถึงการนำอาหารไปทำบุญที่วัดตอนเช้า  ในวันสำคัญอาหารสดจะเหลือมาก  เหลืออย่างน่าเสียดายครับ  น่าจะมีการปรับรูปแบบว่าทำบุญอย่างไรให้พอดีๆ ของไม่เหลือ  (ก็ยากเหมือนกันนะครับ  เพราะจะไปจำกัดญาติโยมก็คงไม่ได้)

นมัสการค่ะ

ได้เข้าไปอ่านในบันทึกของคณหมอวิจารณ์ฯ ท่านบอกว่า....

 จุดสำคัญก็คือผลงานที่จะเข้าสู่เวทีนวัตกรรม r2r ได้ต้องเลยจากกิจกรรมพัฒนา ไปสู่กิจกรรมวิจัย มีผลสรุปที่มีลักษณะ evidence-based

ดิฉันทำธุรกิจ  มีเรื่องการเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัยทางธุรกิจบ่อยๆค่ะ

นั้นเราจำเป็นต้องแยกให้ออกว่าข้อมูลส่วนใดได้มาจากตัวอย่าง Sample ข้อมูลใดเราได้มาเป็นเพียงจาก Sign หรือจากเรื่องราวที่เล่ากันต่อๆ

 ถ้าข้อมูลการสำรวจมีพื้นฐานมาจาก sign เป็นส่วนใหญ่แล้ว

ก็มักจะมีความคาดเคลื่อนอยู่เหมือนกันค่ะ

เราเลยมักใช้  เทคนิคการใช้ลูกค้าด้วยกันเอง(Mystery Customer) เพื่อเก็บข้อมูลแท้จริงเป็นการเก็บข้อมูลจาก "Sample" ดังกล่าวข้างต้นไม่ใช่เพียงเก็บจาก Sign

โดยเฉพาะในวงการธุรกิจบริการเช่นสายการบิน โรงแรม ร้านค้าปลีกใหญ่ๆ และการสื่อสาร

นิยมใช้เทคนิคนี้กันอย่างกว้างขวางทำให้บริษัทเหล่านั้น สามารถทราบพฤติกรรมของลูกค้าที่มีต่อบริการของตนได้อย่างถูกต้องชัดเจนจริงๆ

สำหรับในวัด ก็มีตัวอย่างๆที่ท่านยกมาค่ะ แต่ท่านเองจะทราบดีที่สุดนะคะ ดิฉันว่า การR 2 R เป็นเรื่องจำเป็นค่ะ ทุกวงการ ถ้าเป็นไปได้

กราบ 3 หนค่ะ

P

กิตติพงศ์ พลเสน

 

อันที่จริงก็ไม่มีอะไรมาก คล้ายๆ กับเราสนใจซื้อหนังสือใหม่สักเล่มหนึ่ง หน้าปกและชื่อหนังสือ อาจเรียกร้องความสนใจได้เยอะ ฉันใด

ชื่อบันทึก ก็ฉันนั้น ตั้งให้หวือหวา น่าสนใจก็อาจเรียกร้องผู้เปิดมาอ่านได้มากขึ้น....

สำหรับ R2R ความเห็นส่วนตัว อาตมาว่า มิใช่อะไรอื่นเป็นพวกแนวคิดคิด ปฎิฐานนิยม และ ปฏิับัตินิยม นั่นเอง

ปฎิฐานนิยม ก็คือแนวคิดที่เชื่อ ความรู้แบบวิทยาศาสตร์

ปฏิบัตินิยม ก็คือแนวคิดที่เชื่อ ความรู้อันเกิดจากการลองผิดลองถูก 

เจริญพร 

P

นาง พรรณา ผิวเผือก (ไม่มีชื่อกลาง)

 

คุณโยมว่ามา ทำให้อาตมาเห็นแจ่มแจ้งขึ้น...

โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย มีระบบการจัดเก็บข้อมูลเป็นเยี่ยม...

โรงเรียน ก็มีหน่วยงานนี้อยู่บ้าง เช่น สถิติเก่าๆ สื่อการสอน ข้อสอบ ฯลฯ...

ส่วนวัด แม้ไม่มีการจัดเก็บข้อมูลเป็นกิจลักษณะ แต่การพูดคุย (อย่างไม่เป็นทางการ) การสะท้อนจากสังคม จะเป็นตัวบ่งชี้อันสำคัญที่สุดของ R2R...

เมื่อมองแต่ละส่วน อาจเห็นได้ว่า วัด อาจมีจุดเด่นในด้านนี้ กว่าโรงพยาบาลหรือโรงเรียน.....

เจริญพร 

 

P

small man

 

ประเด็นที่ท่านผอ. ว่ามานั้น เรื่องใหญ่มาก คล้ายๆ จะรื้อโครงสร้างบางอย่างของวัดเลย ซึ่งอาตมาเคยมองประเด็นนี้และครอบคลุมไปถึงอาหารบิณฑบาตด้วย....

ในตัวเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ อาหารจากบิณฑบาต เคยเห็นที่นำไปเททิ้งถังขยะเป็นถังๆ (ทุกวัน)... ซึ่งอาตมาเคยคิดว่า น่าจะเลี้ยงหมู (ครอบครัวของอาตมาเคยเลี้ยงหมู จึงมองเห็นประโยชน์ด้านนี้ )... แต่กรุงเทพฯ ในส่วนกลาง ไม่มีคอกหมู ถ้าจะนำไปเลี้ยงหมูชานเมือง ก็คงจะไม่คุ้มการเดินทาง (รถติดสุดๆ).... นี้เพียงประเด็นเดียวที่เคยคิด

เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเลิกบิณฑบาตแล้วจัดระบบครัววัด เพื่อการประหยัด ก่อเกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นระเบียบ... นี้คืออีกประเด็นที่เคยตั้งคำถามในฐานะอยู่วัดมานาน...  

พูดไปอีกยาว... อาจทำให้แตกหน่อใหม่ แล้วยอดเดิมตายไป...

เฉพาะประเด็นที่ยกมา คัมภีร์ เต๋าเตกเกง ของเล่าจื้อ อาจสะท้อนมุมมองได้อีกนัยหนึ่ง ท่านว่า...

  • สิ่งที่สมบูรณ์ คือ สิ่งไม่สมบูรณ์ ดูเหมือนว่าสมบูรณ์ นั่นคือ สิ่งไม่สมบูรณ์ 

ตามนัยนี้ ความขาดๆ เกินๆ ของสังคมนั่นแหละ คือความสมบูรณ์ของสังคม... 

หรือ ท่านพุทธทาส ชอบใช้คำง่ายๆ ว่า...

  • ตถตา เช่นนั้นเอง 

.............

ประเด็น สังฆทาน ที่ท่าน ผอ. ว่ามา... จากสื่อที่นำเสนอเรื่องนี้ การที่ท่าน ผอ. ยกเรื่องนี้ขึ้นมา... หรือการที่อาตมาเคยเขียนบันทึกเรื่องนี้ (ดู สมบัติบ้าในวัด : ชุดเครื่องสังฆทาน ) เป็นต้น ก็อาจเป็น R2R ของระบบสังคมได้เช่นเดียวกัน....

จากประสบการณ์การอยูวัดเกินยี่สิบปี อาตมายืนยันได้ว่า สังฆทาน ก็มีวิวัฒนาการของมัน ซึ่งอาจเกิดจาก R2R ของระบบสังคมข้างต้น...

เจริญพร  

กราบนมัสการหลวงพ่อชัยวุธครับ

มุมมองของกระผมคิดว่าวัดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของภิกษุ สามเณร แม่ชี และอุบาสกอุบาสิกา การวิจัยก็น่าจะเน้นส่วนที่จะนำมาซึ่งการโน้มนำสู่การปฏิบัติธรรมมากกว่าการวิจัยด้านอื่นๆซึ่งเป็นปัจจัยรองของการส่งเสริมพระพุทธศาสนา  ซึ่งปัจจุบันมีการใช้สื่อที่ทันสมัยในการสอนหรือเผยแผ่หลักคำสอนซึ่งน่าจะมีการทำวิจัยว่าผลของสื่อหรือรูปแบบการเผยแผ่ในแต่ละยุคสมัยมีความเหมาะสมหรือทำให้คนซึมซับหลักคำสอนและนำไปปฏิบัติแตกต่างกันอย่างไร  หรือแนวทางในการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชาวบ้านที่จะทำให้คนพึ่งวัดและวัดพึ่งคน หรืออื่นๆที่นำไปสู่การพัฒนาจิตใจคนพร้อมทั้งทำให้วัดเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สงบสุขแก่ทุกคน อันนี้เป็นเพียงมุมมองอีกด้านของกระผมครับ

P

Sasinanda

 

คุณโยมเล่ามาย่อๆ... ชัดเจนแล้ว สำหรับในโลกแห่งธุรกิจ...

เมื่อนำโลกธุรกิจมาเปรียบเทียบกับวัด (หรือโลกแห่งศาสนา)... องค์กรทางธุรกิจที่ต้องล้มหายตายจากไปก็มีเยอะ... เช่นเดียวกับศาสนาที่มีทั้งศาสนาที่ ตายแล้ว และ เป็นอยู่ ...

เฉพาะศาสนาที่อยู่ได้เป็นพันๆ ปีขึ้นไป อาตมาคิดว่าต้องผ่าน R2R มาตลอด เพราะมิอย่างนั้น ก็คงจะสูญหายไปแล้ว...

เจริญพร 

P

ว่าที่ ร.ต. วุฒิชัย สังข์พงษ์

 

ตามที่คุณโยมว่ามานั้น อาตมาเห็นด้วยเกินร้อยเปอร์เซ็นต์...

แต่โลกของความเป็นจริง โลกของความน่าจะเป็น บางครั้งก็ไม่สอดคล้องกัน...

เมื่อเทียบแวดวงทางศาสนากับแวดวงการเมือง (ตอนนี้ฟังอภิปรายการแถลงนโยบายรัฐบาลอยู่ด้วย)... จำได้ว่า มีนักการเมืองท่านหนึ่งเคยใช้คำว่า...

  • เก็บอุดมการณ์ใส่ลิ้นชัก

นั่นคือ บางอย่างที่สะท้อนมาได้จากผู้ที่เล่นการเมืองมานาน... ทำนองเดียวกับอาตมา (ซึ่งอยู่วัดมานาน) มีบางอย่างที่ยืนยันได้ว่า วัดตามความเป็นจริง กับวัดที่ควรจะเป็น บางครั้งก็ห่างไกลกันเหลือเกิน...

เจริญพร 

     นมัสการหลวงพี่ ด้วยความเคารพยิ่ง 

    ตามมาเก็บประเด็นครับ นับว่าหลวงพี่ได้ร่วมสร้างคุณูปการ เมื่อสำเร็จเสร็จผลตามมุ่งหมายแล้ว สังคมจะได้ร่วมด้วยช่วยใช้ประโยชน์กันต่อไปนะครับ

อาทูอาใช่แล้ว                เป็นไฉน

พระอยู่วัดเช่นไร             ไป่รู้

เส้นทางทวนทบให้         ตามติด ตรึงแฮ

ปลายทางล้วนมุ่งแท้      สติ ปัญญา

 

กราบ 3 หน

P

นายขำ

 

  • R 2 R เล่าไว้                       เล่นเล่น
  • หาใช่ผู้รู้เช่น                        เห็นแท้
  • ใช้สูตรมั่วตามเกณฑ์           ตามว่า นั่นแล
  • ปรับเปลี่ยนแปลงแล้วแก้     จริงแท้ ไป่รู้

 

เจริญพร 

นมัสการครับ  ขอเข้ามาต่ออีกนิดครับ เกี่ยวกับประเด็น

  • สิ่งที่สมบูรณ์ คือ สิ่งไม่สมบูรณ์ ดูเหมือนว่าสมบูรณ์ นั่นคือ สิ่งไม่สมบูรณ์ 

ตามนัยนี้ ความขาดๆ เกินๆ ของสังคมนั่นแหละ คือความสมบูรณ์ของสังคม... 

หรือ ท่านพุทธทาส ชอบใช้คำง่ายๆ ว่า...

  • ตถตา เช่นนั้นเอง 

         จากประเด็นดังกล่าว คงจะคล้ายๆ กับว่าเราก็ต้องทำใจ เพราะบางครั้งสิ่งที่เราเห็นว่าไม่ถูกไม่ต้อง (เช่น สังฆทาน หรือ นำอาหารสดมาทำบุญกันมากๆจนเหลือ)  มันอาจจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับคนทำ

         คงจะต้องวางใจแบบ "อุเบกขา" ใช่ใหมครับ

          "ช่างเขาเถิด ปล่อยเขาไป"

           ตถตา   เช่นนั้นเอง 

P

small man

 

ตามที่ท่าน ผอ. ว่ามา ก็คงทำนอง...

  • เอาหูไปนา เอาตาไปไร่

ถ้าเราคิดว่า สิ่งที่เราสังเกตได้ เฉพาะกรณีนี้ ก็คือ เรื่องสังฆทาน และเรื่องอาหารสด

สาเหตุที่เป็นตัวแปร ก่อให้เกิด สิ่งที่เราสังเกตได้ ทำนองนี้ มีหลากหลาย ซึ่งตามแนวคิดปฏิบัตินิยม บอกว่าให้เราควบคุมตัวแปร เปลี่ยนแปลงสาเหตุที่เป็นตัวแปรเหล่านั้น เพื่อให้ สิ่งที่เราสังเกตได้ มีสภาพ พึงปรารถนา ยิ่งขึ้น...

แต่ในความเป็นจริง ยังมีตัวแปรที่เราควบคุมไม่ได้ หรือตัวแปรที่เราสังเกตไม่ได้อีกเยอะ ซึ่งถ้าเราต้องการให้ บางสิ่งบางอย่าง ที่ว่านี้ มีสภาพ พึงปรารถนา เราก็อาจต้องดำเนินการซ้ำต่อไป ไม่สิ่งสุด...

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อบางอย่างได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้มี สภาพพึงปรารถนา แล้ว... ผลกระทบข้างเคียงอื่นๆ ที่ไม่พึงปรารถนาก็อาจเกิดขึ้นได้... ซึ่ง ผลกระทบข้างเคียงอื่นๆ ตามที่ว่านี้ ก็อาจเป็นสภาพไม่พึงปรารถนา และทำให้เราต้องเข้าไปค้นหา และหรือควบคุมตัวแปรอื่นๆ อีกต่อไป ไม่สิ้นสุด....

แต่ถ้า มองเป็น ธรรมดา อาจทำให้การประเมินค่าบางสิ่งบางอย่างว่าเป็นสภาพที่ พึงปรารถนา หรือ ไม่พึงปรารถนา ไม่บังเกิดขึ้น มีแต่สภาพ เฉยๆ เท่านั้น (ซึ่งท่านผอ. อาจใช้คำว่า อุเบกขา)...

แต่ก็มิใช่ว่า แนะนำไม่ให้จัดการอะไรเลย ตามหลักพุทธศาสนามีหลักอปัสเสนธรรม ในการดำเนินการพอเหมาะสมเพื่อความมั่นคง (ดู พนักพิงแห่งชีวิต)

เจริญพร 

 

นมัสการครับ  

                 บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ยากเหมือนกันนะครับ กับบางสถานการณ์ว่า  เราควรจะ  "วางเฉย"  หรือ "เข้าไปเกี่ยวข้อง" ด้วยดี

                   คือ ถ้าวางเฉย ก็ดูเหมือนว่า จะเป็นคนไม่ช่วยเหลือสังคม เป็นคนดูดาย   เอาตัวรอดคนเดียว

                   ครั้นจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวจัดการ  ก็มีเรื่องให้คิดมากอีกว่า  มันใช่เรื่องที่เราควรเข้าไปจัดการหรือไม่  เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเราใหม  และ อีกเหตุผล ถ้าจัดการไปแล้ว การจัดการของเรา อาจทำให้เกิดผลกระทบข้างเคียงอื่นๆที่ไม่พึงปรารถนาตามมาอีก

                  ส่วนคำว่า "อุเบกขา" ของผม  ผมมีความหมายตามที่ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ท่านให้ความหมายเอาไว้ว่า "เฉยมอง"   นั่นคือ การปฏิบัติเราวางเฉย   แต่เรามองอยู่ห่างๆ  ดูว่า เราควรจะเข้าไปจัดการ หรือ เราควรปล่อยให้ธรรมจัดการ

                 ในส่วนของ "อุเบกขา"  ผมมีหลักการของผมเอง(ซึ่งอาจจะผิดก็ได้)   ดังนี้ครับ

                  ดูว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นหน้าที่ของเราไหม  นั่นคือ เราต้องหันกลับมามองตัวเราเองครับ ว่าเราคือใคร  มีหน้าที่อะไร ถ้าเป็นหน้าที่ของเราโดยตรง เราต้องเข้าไปจัดการครับ  ถ้าเป็นเรื่องของคนอื่น เราก็คงต้องวางเฉยครับ

                  แต่ในความเป็นจริงก็แยกลำบากครับ ว่าควรจะทำอย่างไร ระหว่างการวางเฉย กับ การเข้าไปเกี่ยวข้อง

        

P

small man

 

เห็นด้วยกับท่าน ผอ....

หลักการ นั้นเป็นสิ่งที่ง่าย เพราะเรียนมา ท่องจำ ก็สามารถบอกเล่าได้ เช่น ท่านว่า การที่จะทำให้งานนั้นๆ เกิดผลสูงสุดได้ จะต้องถึงพร้อมด้วย สมบัติ ๔ กล่าวคือ

  • คติสมบัติ ถึงพร้อมด้วยสถานที่
  • อุปธิสมบัติ ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยของคน
  • กาลสมบัติ ถึงพร้อมด้วยเวลา
  • ปโยคสมบัติ ถึงพร้อมด้วยวิธีการ

แต่ในการดำเนินการจริงๆ นั้น ความถึงพร้อมครบถ้วนเหล่านี้อาจหาได้ยาก ซึ่งบางครั้งเราก็ตัดสินใจผิดพลาด เพราะมีบางเรื่องที่คาดไม่ถึง... แต่ถ้าไม่ตัดสินใจทำอะไรเลยก็อาจมีข้อผิดพลาดบางอย่างเกิดขึ้นอีก...

เมื่อโยงมาถึง R2R ก็อาจเป็นการแสวงหาองค์ความรู้บางอย่างเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจให้มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด... ทำนองนั้น 

ท่านผอ. เป็นผู้บริหาร คงจะมีประสบการณ์เรื่องทำนองนี้ 

เจริญพร 

กราบนมัสการหลวงพ่อชัยวุธครับ

ขอบพระคุณครับสำหรับเรื่องของความเป็นจริงกับอุดมการณ์ครับ

กระผมคิดว่าการเก็บใส่ลิ้นชักก็ยังดีกว่าทิ้งไปเลยครับ  บางทีวันข้างหน้าอาจจะมีคนเห็นและนำมาดูหรือใช้ให้เกิดประโยชน์หนะครับ แต่ถ้าลิ้นชักถูกล็อคแล้วกุญแจหาย ก็เป็นไปได้ที่อาจถูกลืมไปเลยกระมังครับ แต่ยังมีโอกาสเพราะคนชอบพูดกันว่าวันพระไม่ได้มีหนเดียว เดี๋ยวก็คงถึงวันพระอีกใช่หรือเปล่าครับ  คงจะมีสักวันที่สิ่งดีๆที่อยู่ในลิ้นชักจะถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ครับ

ความหวังนำมาซึ่งความจริงใช่หรือเปล่าครับ

กราบนมัสการครับ

P

ว่าที่ ร.ต. วุฒิชัย สังข์พงษ์

 

เห็นด้วยเลย (สุดยอด....)

  • อุดมการณ์ใส่ลิ้นชักไว้  ดีกว่าทิ้งไป หรือทำหาย
  • ลิ้นชักต้องล็อคกุญแจไว้ด้วย เผื่อใครมาขโมย
  • แม้กุญแจหายก็ไม่เป็นไร ดีกว่าของในลิ้นชักหาย

อาตมาชอบการตีความและขบคิดทำนองนี้แหละ (....)

เจริญพร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท