KM กฟผ. แม่เมาะ


         วันที่ 20 มี.ค.50 คุณน้ำ, ธวัช และผมไป "จับภาพ" KM ของ กฟผ. แม่เมาะ   โดยที่ช่วงวันที่ 19 - 20 มี.ค.50 กฟผ.แม่เมาะจัด KM Workshop แก่พนักงานด้านซ่อมบำรุง 51 คนที่ทำงาน 5 กลุ่มคือ  (1) กลุ่มดูแลซ่อมบำรุง boiler  (2) กลุ่มซ่อมบำรุง turbine  (3) กลุ่มซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้า  (4) ระบบซ่อมบำรุงเครื่องมือ  (5) ระบบซ่อมบำรุงระบบดักจับมลพิษ   นับเป็น KM Workshop ครั้งที่ 3 ของแม่เมาะ

         ที่เรียกว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะนั้น  ที่จริงมี 10 โรงอยู่ในที่เดียวกัน  ผมไปเดินมาแล้วจากหัวโรงงานที่ 1 ถึงท้ายโรงงานที่ 10 ยาว 900 เมตร

         เจ้าหน้าที่สังกัดโรงใครโรงมัน  ความรู้จากประสบการณ์ที่มีอยู่มากมายก็ไม่ไหลเวียนไปสู่โรงอื่น   การเริ่มต้น KM โดยเอาความรู้ที่ตนสั่งสมไว้จากการทำงานออกมาแลกเปลี่ยนกันจึงให้ผลทรงพลังอย่างยิ่ง   คงเป็นเพราะอั้นกันมานาน

         ผมกระโดดไปชื่นชมวิธี "จัดการ" "ป่าความรู้" ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะดีกว่า   เพราะคุณน้ำและคุณธวัชคงจะเล่าความประทับใจเชิงรายละเอียดได้ดีกว่าผม

    - จุดแข็งที่สุดของ KM การไฟฟ้าแม่เมาะคือทีมแกนนำ   ที่นำโดยคุณชรินทร์และคุณพินิจที่ได้อดทนต่อสู้ฟันฝ่าทำความเข้าใจเครื่องมือ KM ที่เหมาะสมต่อบริบทของการไฟฟ้าแม่เมาะ   จนเวลานี้ผมเชื่อว่าทีมแกนนำนี้เป็นทีมที่เข้าใจ KM ดีที่สุดทีมหนึ่งของประเทศไทย
    - KM การไฟฟ้าแม่เมาะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น   ยังจะต้องฝึกทักษะในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และวัฒนธรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกมาก   แต่ก็จัดได้ว่าได้เดินมาถูกทางแล้ว
    - แม้จะเพิ่งเริ่มต้น  แต่ KM การไฟฟ้าแม่เมาะก็ได้ดำเนินการระบบนิเวศความรู้ครบทั้ง 4 องค์ประกอบหลัก  คือ people, process, technology และ content   รายละเอียดของการดำเนินการแต่ละองค์ประกอบผมขอเชิญชวนให้ทีม กฟผ.แม่เมาะเข้ามาเขียนบันทึกในบล็อกชี้แจงเอง
    - องค์ประกอบ technology และ content ในรูปของเว็บ "ภูมิปัญญา การไฟฟ้าแม่เมาะ" (http://phumpanya.egat.co.th) ซึ่งอยู่ภายใน intranet ของบริษัท   เป็นเทคโนโลยีเก็บ "คลังความรู้" ที่ไม่มีในตำราที่น่าชื่นชมมาก   ใช้เทคโนโลยี ICT ในการเก็บความรู้ฝังลึกได้เก่ง
    - องค์ประกอบ people และ process ที่จัดในรูป CFT (Cross Function Team) หรือ "คณะทำงานวิชาชีพ"  ซึ่งก็คือ CoP แบบจัดตั้งเป็นการใช้ "ตัวช่วย" ตามบริบทแวดล้อมของการจัดรูปแบบองค์กรที่ผมชื่นชมมาก
    - CEO คือ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้า 2  มีประกาศนโยบายการจัดการความรู้เป็นลายลักษณ์อักษรและชัดเจน  อ่านได้ที่นี่ (click)
    - ทีมแกนนำจัดทำแนวทางปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวเผยแพร่ทั่วองค์กร  อ่านได้ที่นี่ (click)
    - ผมชื่นชมที่ทีมแกนนำมีกลยุทธ์นำเอา IC (Intellectual Capital) ที่สำคัญที่สุดขององค์กร   คือการที่พนักงานรักองค์กร  มีความรู้สึกขอบคุณองค์กรว่าองค์กรมีบุญคุณต่อตนเองและครอบครัว    เอาความรู้สึกนี้มาเป็น IC ต่อยอดความรู้สึก   เอามาเป็นทุนในการสร้างกลุ่มสร้างทีมสร้างการ ลปรร.   ด้วยคำขวัญ "ตอบแทนบุญคุณหน่วยงาน  ด้วยประสบการณ์ที่ท่านมี"

 ประเด็นที่ควรพัฒนาต่อเนื่องได้แก่
    - การจัดกิจกรรมกระตุ้น CQI ที่ได้จากกระบวนการ Knowledge Sharing ใน CFT จนเกิดนวัตกรรมภายในหน่วยงาน   รูปแบบหนึ่งของกิจกรรมนี้คือ "ตลาดนัดนวัตกรรม"
    - การทำให้คลังภูมิปัญญาการไฟฟ้าแม่เมาะเป็นคลังที่มีคนเข้าไปใช้ในสถานการณ์จริงของการทำงาน   เป็นพื้นที่ของการ ลปรร. อย่างสนุกสนาน   เป็นคลัง "เพลินปัญญา"  ไม่ใช่คลังภูมิปัญญาแบบเคร่งขรึมขาดชีวิตชีวา

                     

ทีมแกนนำ KM โรงไฟฟ้าแม่เมาะ (๔ คนทางซ้ายมือ)  ส่วน ๒ ท่านทางขวาเป็นทีมแกนนำของ กฟผ. ส่วนกลาง

                     

           หนึ่งปล่องที่เห็นอยู่ไกลๆ คือหนึ่งโรงไฟฟ้าย่อย

                      

บรรยากาศในห้องของศูนย์ฝึกอบรม ช่วงที่ผมกล่าวกับผู้เข้าร่วม KM Workshop ก่อนปิดการประชุม

                      

บรรยากาศการประชุมกลุ่ม CFT เพื่อฝึกเล่าเรื่อง ลปรร. และเก็บขุมความรู้  ทำกันอย่าง มืออาชีพ

                      

คุณทองดี สุมงคลเจริญ คุณกิจของ C&I CFT ที่ผมชื่นชอบ กำลังวาดแผนผังประกอบเรื่องเล่า

                      

              คุณน้ำและคุณธวัช กำลังสัมภาษณ์ คุณอำนวย

                     

                                          วง AAR

วิจารณ์  พานิช
 22 มี.ค.50

 

หมายเลขบันทึก: 85538เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2007 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คุณธวัชได้เล่าเรื่องนี้อีกแนวหนึ่ง ที่นี่ http://gotoknow.org/blog/learn-together/85959 ได้ความเข้าใจ KM กฟผ. แม่เมาะลึกยิ่งขึ้นครับ

วิจารณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท