KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 165. เบื้องลึกของโจทย์ AAR ข้อที่ ๑


        โจทย์ในการทำ AAR เป็นศิลปะ  และเป็นจิตวิทยาเปลี่ยนวิธีคิดของคน   

         ในบันทึกนี้ขออธิบาย หรือตีความเฉพาะโจทย์ข้อแรก     ซึ่งมีประเด็นลึกๆ เชิงจิตวิทยา เชิงความเชื่อ ๒ ข้อ     โจทย์ข้อแรกของ AAR คือ  "ที่ตนเองมาร่วมกิจกรรม หรือการประชุมครั้งนี้ ตนเองมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายอะไรบ้าง"

        ขีดเส้นใต้คำว่า "ตนเอง" ครับ     และขีดเส้นใต้คำสุดท้าย "บ้าง" ครับ    นั่นคือประเด็นที่ผมจะย้ำในบันทึกนี้

        คนที่ทำ AAR ต้องพูดแทนตัวเอง  พูดออกมาจากใจของตัวเอง     จึงต้องมีความรู้สึกที่เป็นอิสระ  เป็นตัวของตัวเอง    ไม่ใช่พูดแทนหน่วยงาน/องค์กร     ไม่ใช่พูดเพื่อเอาใจนายหรือหัวหน้า     ไม่ใช่พูดให้ถูกตามตำราหรือทฤษฎี     ไม่ใช่พูดเพื่ออวดว่าตนเองเป็นคนฉลาด      การพูดแบบนั้นเป็นการพูดภายใต้พันธนาการ     คำพูดที่พูดออกมาไม่ใช่ของจริง  ไม่จริงใจ  ไม่ใช่ความรู้   แต่เป็นมายา

       ดังนั้นเวลาผมเป็นวิทยากรในช่วงนี้ผมจะย้ำเสมอให้พูดจากใจของตัวเอง     บอกความประสงค์ของตัวเอง  ไม่ใช่ของหน่วยงาน  ไม่ใช่ของหัวหน้า      และให้พูดออกมาอย่างอิสระ  อย่าไปกังวลว่าจะผิด จะไม่ตรงกับของผู้อื่น    การได้มีโอกาสพูดจากใจ อย่างจริงใจ จะทำให้คนเราเกิดความสุข    เกิดความมั่นใจตนเอง     ยิ่งมีเพื่อนร่วมวง AAR ฟังอยู่อย่างชื่นชม  ฟังอย่างตั้งใจ (deep listening)     ก็จะยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี

        คำว่า "บ้าง" ในโจทย์    เป็นตัวบอกว่า วัตถุประสงค์ของแต่ละคนในการมาร่วมกิจกรรมมีหลายข้อ     เป็นการคาดหวัง และเชื่อ ในความหลากหลายของชีวิตทุกๆ ด้าน     รวมทั้งในการมาร่วมกิจกรรมครั้งนั้นด้วย     และจะนำไปสู่คำถามข้อที่ ๒ และข้อที่ ๓     ให้เห็นว่าในชีวิตจริง ไม่ว่าทำอะไร เราจะได้ผลสำเร็จเกินคาด  และผลสำเร็จที่ยังน้อยกว่าที่คาด  อยู่ในขณะเดียวกันเสมอ    

       ย้ำว่า คำถามข้อที่ ๑ ต้องเป็นคำถามเชิงพหูพจน์     และถามผู้ตอบ  ถามใจผู้ตอบ     คาดหวังว่าผู้ตอบไม่ตอบแทนคนอื่น    แต่ตอบออกมาจากใจตนเอง

         คำถามเช่นนี้ เมื่อใช้ในชีวิตประจำวันซ้ำๆ  จะก่อบุคลิกภาพของคน    และก่อวัฒนธรรมองค์กร     ที่เชื่อมั่นในตนเอง เชื่อมั่นพอที่จะบอกใจของตัวเอง     และในขณะเดียวกัน รับฟังผู้อื่น เคารพความเห็นของผู้อื่นที่แตกต่างจากตน     จะเกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความเป็นอิสระในความคิดของคน

        ..... ซึ่งเป็นวัฒนธรรมพื้นฐานสำหรับองค์กรเรียนรู้

วิจารณ์ พานิช
๕ กย. ๔๙
บางแสน   ระหว่างนั่งร่วมการสัมมนาทางวิชาการ ของ ปอมท.

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 51089เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2006 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ  กับเทคนิคการเปิดใจ ที่นำไปสู่การพัฒนาตนเอง

ขอบคุณที่อาจารย์เน้นให้ทราบค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท