BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

สืบ นาคะเสถียร กับการกระทำเหนือหน้าที่ ๓


สืบ นาคะเสถียร กับการกระทำเหนือหน้าที่ ๓

จาก ( สืบ ...หน้าที่ ๒ )  ผู้เขียนได้อ้างถึงความเห็นของเอิร์มสันว่า สังคมควรจะมีการกระทำเหนือหน้าที่ โดยเขาได้อ้างเหตุผลไว้ ๕ ประการ... อนึ่ง เอิร์มสันได้เขียนวิจารณ์ไว้ในปีค.ศ. 1958 และอีกสามปีต่อมาคือ ค.ศ. 1961 ไฟน์เบอร์ก (Feinberg, Joel) ได้นำเสนอบทความชื่อ Supererogation and Rules เพื่อวิจารณ์แนวคิดของเอิร์มสัน ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าประกอบการกระทำของสืบ นาคะเสถียร ต่อไป...

ในเบื้องต้น ไฟน์เบอร์กอ้างว่าค่าของมนุษย์จะมีกฎหมาย หรือกฎระเบียบของสถาบันและองค์การนั้นๆ กำหนดไว้แล้วในการเพิ่มพูนรางวัลบางอย่างสำหรับผู้ที่ทำหน้าที่เกินเลยไปจากระเบียบทั่วไป ซึ่งอาจเป็นเงิน เช่น ค่าล่วงเวลา หรือเบี้ยขยันประจำปี และบางครั้งก็อาจเป็นกล่อง เช่น ใบประกาศเกียรติคุณ หรือการเลื่อนชั้นตำแหน่ง เป็นต้น

เมื่อมองตามนัยนี้ อนุสาวรีย์ของสืบ และเกียรติประวัติอันดีงาม อาจเป็นรางวัลสำหรับเขา (แต่เขาก็จากไปแล้ว)... ประมาณนี้

.......

ไฟน์เบอร์กได้เสนอเงื่อนไขของความเป็นการกระทำเหนือหน้าที่ ๓ ประการ กล่าวคือ

  • มิใช่หน้าที่โดยตัวมันเอง นั่นคือมิใช่หน้าที่ทั่วไปที่จะพึงดำเนินการตามปกติ
  • เกินเลยสิ่งซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับการดำเนินการตามหน้าที่ทั่วไป
  • ประกอบด้วยคุณความดี ควรแก่การยกย่อง นั่นคือมีคุณค่าทางศีลธรรม หรือมีความเสี่ยงมากกว่าปกติ

เมื่อนำมาพิจารณาการกระทำของสืบ จะเห็นได้ว่ามีครบสมบูรณ์ทั้งสามประการนี้

........

ไฟน์เบอร์กได้นำเงื่อนไขข้างต้นมาจำแนกการกระทำเหนือหน้าที่ไว้ ๒ ประการ กล่าวคือ

  •  เกินข้อตกลง (oversubseription) หรือ เกินหน้าที่ (duty plus)
  • มิใช่หน้าที่ (แต่) มีคุณความดี (meritorious non-duty)

ในประการแรกนั้น เขาอธิบายว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับศีลธรรม เป็นเพียงเกินข้อตกลงตามระเบียบพื้นฐานเท่านั้น เช่น เลิกงานแล้วภารโรงอาสาไปส่งครูบางคนซึ่งพักอยู่ในสถานที่เปลี่ยว หรือเราเอารถไปล้างที่อู่แล้วเด็กอู่ได้ตรวจดูลมยางให้ด้วย... ถ้าเป็นอย่างนี้ก็มิได้เกี่ยวข้องกับหน้าที่ทางศีลธรรม

ในประการหลังนั้น เขาอธิบายว่า เป็นการวิเคราะห์และตัดสินใจครั้งสุดท้ายของคนว่า สิ่งนี้ควรกระทำทางศีลธรรม ... เช่น เราเห็นคนชราจะข้ามถนนก็ช่วยพยุงท่านแล้วพาข้ามถนน หรือตำรวจช่วยออกค่าปรับให้ผู้ต้องหา เป็นต้น

มื่อนำแนวคิดทั้งสองนี้มาวิเคราะห์การกระทำของสืบ จะเห็นได้ว่าหน้าที่ในการรักษาป่า จัดเป็นหน้าที่ตามข้อตกลงในฐานะเจ้าพนักงาน ไม่เกี่ยวกับศีลธรรม... สืบทำหน้าที่อย่างขยันหมั่นเพียรและเอาใจใส่ ทำให้ได้รับการส่งเสริมไปดูงานและเรียนต่อ เป็นต้น... เหล่านี้จัดเป็นรางวัลพิเศษสำหรับผู้ทำงานเกินข้อตกลงหรือเกินหน้าที่ ซึ่งใครปฏิบัติตามระเบียบเหล่านี้ก็มักจะได้รางวัลพิเศษทำนองนี้ นั่นคือ ไม่เกี่ยวกับศีลธรรม...

ส่วนการที่สืบปลิดชีวิตของตัวเอง เราไม่ทราบว่า เขาต้องการอนุสาวรีย์หรือเกียรติประวัติต่อวงศ์ตระกูลหรือไม่ ... และถ้าเขาทำไปเพื่อหวังสิ่งเหล่านี้ ก็อาจกล่าวได้ว่า ม่เกี่ยวกับศีลธรรม เช่นเดียวกัน...

แต่ถ้าสืบคิดว่า การรักษาป่าเป็นสิ่งควรกระทำ และเราจะต้องกระทำให้ได้สุดความสามารถ แม้จะต้องสละชีวิตก็ตาม... ก็อาจจัดการกระทำของเขาว่ามีคุณความดีส่วนตัว เพราะในฐานะเจ้าพนักงานป่าไม้ ไม่มีกฎระเบียบข้อใดว่าจะต้องเสียสละชีวิตทำนองนี้ ดังนั้น การกระทำของเขาจึงเป็นเรื่องส่วนตัว มีค่าทางศีลธรรม แต่ไม่เกี่ยวกับหน้าที่....

................

ตามที่นำเสนอมา จะเห็นได้ว่า ประเด็นปัญหาเรื่องการกระทำเหนือหน้าที่ค่อยๆ ขยายตัวออกไป และอีก ๒ ปีต่อมา ชิสโฮลม์ได้นำเสนอบทความต่อเนื่องจากบทความนี้ ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าในตอนต่อไป... 

หมายเลขบันทึก: 123582เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2007 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท