BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

สืบ นาคะเสถียร กับการกระทำเหนือหน้าที่ ๒


สืบ นาคะเสถียร กับการกระทำเหนือหน้าที่ ๒

ตามที่เล่ามาในครั้งก่อน (ดู สืบ ...หน้าที่ ๑ ) จะเห็นได้ว่า การกระทำของสืบ เป็นการกระทำแบบวีรบุรุษ ซึ่งไม่สามารถจะจัดเป็นการกระทำตามหน้าที่หรือข้อผูกพันในฐานะข้าราชการกรมป่าไม้ได้ แต่ควรจะเรียกว่า การกระทำเหนือหน้าที่ ...

ในบทความ Saints and Heroes ของเอิร์มสัน (ดู การจัดฯ ๑ ) ซึ่งจุดประการแนวคิดเรื่องนี้ ได้ให้เหตุผลว่า สังคมควรมีการกระทำแบบวีรบุรุษที่เรียกว่าการกระทำเหนือหน้าที่ ทำนองนี้ไว้ ๕ ประการ... ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าอีกครั้ง โดยนำมาวิเคราะห์การกระทำของสืบควบคู่กันไป....

๑. เอิร์มสันได้ยกตัวอย่างว่า กองทัพต้องการความเป็นระเบียบวินัยเพื่อความสงบเรียบร้อย มิอย่างนั้นก็จะเป็นเพียงฝูงชนที่สับสนวุ่นวายเท่านั้น... นอกจากกองทัพจะประกอบด้วยทหารที่ทำตามหน้าที่อย่างเคร่งครัดแล้ว กองทัพก็ยั็งต้องการทหารแบบวีรบุรุษด้วย เพื่อความมีประสิทธิภาพของกองทัพมากยิ่งขึ้นไป...

เมื่อเทียบกองทัพกับกรมป่าไม้ของไทยก็เช่นเดียวกัน กรมป่าไม้ต้องการเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งไม่ทอดทิ้งธุระ และกรมป่าไม้ก็ควรจะมีผู้ยึดถืออุดมคติสูงสุดในการทำหน้าที่อย่างสืบ เพื่ออนุรักษ์ไว้ซึ่งป่าไม้... ประมาณนี้

เมื่อขยายกองทัพหรือกรมป่าไม้ออกไปเป็นประเทศชาติหรือมวลมนุษยชาติแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า ควรจะมีผู้คนแบบนักบุญและวีรบุรุษเพื่อจรรโลงไว้ซึ่งความสุขสงบของสังคม และเพื่อไม่ทำให้สังคมเลวร้ายลงยิ่งไปกว่านี้....

.........

๒. หน้าที่คล้ายกับหนี้สินที่จะต้องชดใช้ และควรตำหนิในกรณีไม่ดำเนินการตามความเหมาะสม... ส่วนการกระทำเหนือหน้าที่ มีเพียงใครบางคนเท่านั้นที่สามารถทำได้ และไม่ควรตำหนิเมื่อเขาไม่สามารถกระทำเหนือหน้าที่ได้....

สืบ นาคะเสถียร ก็เช่นเดียวกัน เขาได้กระทำเหนือหน้าที่... ส่วนคนอื่นๆ ที่ทำตามหน้าที่อย่างเคร่งครัด แม้ไม่อาจกระทำได้อย่างสืบ ก็ไม่ควรตำหนิ (ส่วนผู้ที่ละเลยหน้าที่หรือผิดพลาดในหน้าที่นั้น จัดเป็นการกระทำที่ผิด และควรแก่การตำหนิโดยแท้)

..........

๓. รูปแบบในการดำเนินชีวิตทางศีลธรรมมีความซับซ้อน ทั้งกฎระเบียบที่ซับซ้อนก็ยากที่จะตัดสินใจทันที... แต่การดำเนินชีวิตจริงๆ คนจะประยุกต์ใช้ทันที ดังนั้น ควรจะมีการกระทำเหนือหน้าที่เพื่อเปิดช่องทางนี้้ไว้ด้วย...

เมื่อคำนึงถึงการกระทำของสืบ เขาคงจะเล็งเห็นได้โดยตัวเองว่า การกระทำของเขาจะต้องมีผลตามมาในการรักษาป่าอย่างแน่นอน จึงได้ตัดสินใจกระทำอย่างนั้น....

.........

๔. หน้าที่พื้นฐาน เราหรือใครก็ตามมีสิทธิ์เรียกร้องได้ตามแต่กรณี แต่บางอย่างก็ไม่อาจมีใครร้องขอให้กระทำได้  และการกระทำที่ไม่สามารถเรียกร้องได้บางอย่างนี้เอง จัดเป็นการกระทำเหนือหน้าที่...

การกระทำของสืบก็เช่นเดียวกัน ใครๆ ไม่สามารถร้องขอให้เขากระทำอย่างนั้นได้ แต่เขาได้กระทำขึ้นเองโดยสมัครใจหรือไม่มีใครบังคับ ดังนั้น จึงจัดการกระทำของเขาว่าเหนือหน้าที่ ....

.........

๕. หน้าที่พื้นฐาน เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดหรือบังคับไว้ให้เราหรือใครๆ กระทำอย่างนั้นๆ... แต่การกระทำที่ไม่ได้กำหนดหรือบังคับไว้ว่าจะต้องกระทำ ซึ่งมีเสรีภาพในการเลือกกระทำได้อย่างเต็มที่ทำนองนี้ จัดเป็นการกระทำเหนือหน้าที่ ...

ซึ่งนั่นก็คือ การกระทำของสืบตามที่ขยายความไว้ในข้อก่อนแล้วนั่นเอง

........

เอิร์มสันเขียนบทความนี้ในปี ค.ศ.1958 แต่อีก ๓ ปีต่อมา ไฟน์เบอร์กได้เขียนบทความวิจารณ์เรื่องนี้ ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าในตอนต่อไป.....   

หมายเลขบันทึก: 123063เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2007 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท