การจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการในระดับอุดมศึกษา


สิทธิเสรีภาพของบุคคลที่พึงได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

วันนี้ 14 กันยายน 2549 ช่วงเช้า ได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาเรื่อง การจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการในระดับอุดมศึกษา จัดโดย โครงการศูนย์วิจัยและบริการการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ...... เล่าสู่กันฟัง แก่ผู้สนใจทุกท่าน ดังนี้

ในการสัมมนาครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยการบรรยายนำ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เบญจา ชลธาร์นนท์ ผู้ตรวจการกระทรวงศึกษาธิการ ท่านได้กล่าวนำด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 รวมทั้งพ.ร.บ. การศึกษา พ.ศ. 2542 ซึ่งได้ระบุชัดเจน ถึงสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่จะได้พึงได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ท่านยังได้กล่าวถึง การจัดการศึกษา ตามแนวทางของ UNESCO (4A) ดังนี้

การจัดการศึกษาให้ทั่วถึงและให้เปล่า (Availability)
การจัดการศึกษาที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Accessability)
การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับ (Acceptability)

การจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับผู้เรียน (Adeptability) ถึงตรงนี้ทำให้ฉุกคิดในใจ ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งที่อยู่ในสถาบันการศึกษา ซึ่งจะต้องมีหน้าที่ช่วยกันบริหารจัดการศึกษา เพื่อให้ผู้ด้อยโอกาส ไม่ว่าจะทางร่างกาย ความคิด สติปัญญา ได้รับโอกาสในเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ในส่วนของสถาบันการศึกษาทุกระดับ ท่านได้แนะนำให้แต่ละสถาบันบริหารจัดการในส่วนนี้ โดยเริ่มจากนโยบาย วิสัยทัศน์ที่ชัดเจน รวมทั้งการกำหนดบทบาทหน้าที่สำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในส่วนที่รับทราบจากการสัมมนาครั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กำหนดนโยบายและมีการดำเนินการแล้วบางส่วน เช่น การจัดตั้งโครงการศูนย์วิจัยและการบริการการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการเปิดหลักสูตร สาขาวิชากายภาพบำบัด/กิจกรรมบำบัด ระดับบัณฑิตศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ โดยได้รับงบประมาณทุนสนับสนุนการศึกษา จากกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับผู้พิการจากจังหวัดในภาคเหนือตอนบน สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไป คงเป็นการจัดระบบบริหารจัดการเพื่อดูแลนักศึกษาพิเศษ (Disability Support Service Center, DSSC) โดยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ห้องสมุด IT สภาพทางกายภาพของที่เรียน ทั้งสถานที่/โสตทัศนูปกรณื สื่อการเรียนการสอน รวมทั้งรูปแบบและวิธีการสอนที่จะเอื้อต่อนักศึกษากลุ่มนี้ ซึ่งขณะนี้ยังมีไม่มากในมหาวิทยาลัย แต่ต่อไปจะมีมากขึ้น ในการสัมมนาครั้งนี้ ได้รับฟัง ความคิดเห็นของนักศึกษาพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่ศึกษาอยู่ในกลุ่มคณะสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ รวมทั้งคณะวิจิตรศิลป์ ส่วนใหญ่คณะจะจัดให้มี Buddy ช่วยดูแลช่วยเหลือทั้งด้านการเรียน ความเป็นอยู่ ตลอดจนเป็นล่ามไปในตัว ที่สำคัญนักศึกษากลุ่มนี้ต้องเรียนหมวดศึกษาทั่วไปในส่วนของวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่คณะวิทยาศาสตร์ (SC 100 Math 100 ฯลฯ) ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องการเรียน รวมถึงวิธีการสอนของอาจารย์ ความพร้อมของสื่อการสอน หนังสือ ตำรา ฯลฯ ทั้งนี้จะได้นำหารือในกรรมการประจำคณะฯต่อไป

หมายเลขบันทึก: 50705เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2006 17:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท