002 : ป้องกันตัวเองจาก พายุฤดูร้อน ที่กำลังจะมาเยือน!


เมฆฝนฟ้าคะนองเปรียบเสมือนม็อบขนาดใหญ่ซึ่งมีพลังกดดันรัฐบาลอย่างมหาศาล เพราะถ้าเกิดที่ไหน ก็มั่นใจได้เลยว่าทั้งพายุ + ฝนตกหนัก + ฟ้าร้อง + ฟ้าผ่า จะกระหน่ำบริเวณนั้นแบบรวมมิตร

ในช่วงฤดูร้อน (ราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือนพฤษภาคม) หลายท่านอาจจะดีใจที่จะได้ไปตากอากาศตามสถานที่สุดโปรด ส่วนเด็ก ๆ ก็คงจะชอบใจเพราะปิดเทอมยาว 

แต่ในดีก็ย่อมจะมีเสีย เพราะในช่วงหน้าร้อนอย่างนี้ ต้องคอยฟังคำเตือนของกรมอุตุฯ เกี่ยวกับ 'พายุฤดูร้อน' ทำนองนี้เอาไว้ให้ดี

"ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบนแล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในวันนี้ ซึ่งจะทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้ ..."

ความหมายง่าย ๆ ก็คือ ในระหว่างที่อากาศบ้านเรากำลังร้อนอบอ้าวอยู่นั้น ถ้าบังเอิญอากาศเย็น (ที่กรมอุตุฯ เรียกว่า ความกดอากาศสูง หรือ มวลอากาศเย็น) จากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ก็จะมีลมซึ่งแห้งและเย็นพัดจากจีนเข้าสู่ไทย และเนื่องจากภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนอยู่ใกล้กับจีนมากกว่าภาคอื่น ๆ ก็จะรับเอาลมแห้งและเย็นนี้ไปก่อนใคร ๆ

แต่เนื่องจาก 'อากาศผู้รุกราน' (ซึ่งแห้ง + เย็น) มีลักษณะต่างจาก 'อากาศเจ้าบ้าน' (ซึ่งร้อน + ชื้น) อย่างมาก จึงทำให้อากาศในบริเวณที่ปะทะกันแปรปรวนอย่างรุนแรงและฉับพลัน

อากาศเย็น (ผู้รุกราน) ซึ่งหนักกว่าอากาศร้อนและชื้น (เจ้าบ้าน) จะพยายามจมลงต่ำ แต่ไม่อาจทำได้อย่างทั่วถึง ผลก็คือ อากาศเย็นนี้กดทับอยู่เหนืออากาศร้อนซึ่งจะยกตัวหนีสูงขึ้นในบางบริเวณ เกิดเป็นเมฆฝนฟ้าคะนอง (thundercloud) หรือ เมฆคิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus) และพายุฤดูร้อนในบริเวณนั้นๆ

 

 พายุฤดูร้อน

เมฆฝนฟ้าคะนองเปรียบเสมือนม็อบขนาดใหญ่ซึ่งมีพลังกดดันรัฐบาลอย่างมหาศาล เพราะถ้าเกิดที่ไหน ก็มั่นใจได้เลยว่าทั้งพายุ + ฝนตกหนัก + ฟ้าร้อง + ฟ้าผ่า จะกระหน่ำบริเวณนั้นแบบรวมมิตร เผลอ ๆ อาจมีลูกเห็บแถมมาด้วย เพราะเจ้าเมฆนี้ผูกขาดสัมปทานผู้ผลิตและจำหน่ายลูกเห็บแต่เพียงผู้เดียว

ส่วนใกล้ ๆ พื้นดินนั้น เนื่องจากอากาศยกตัวขึ้นอย่างรุนแรง จึงมีอากาศไหลเข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็วเกิดเป็นพายุ (ซึ่งเร็วถึง 149 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็เคยมีมาแล้ว) สภาพลมฟ้าอากาศทั้งหมดที่โม้มานี้คืออาการของ พายุฤดูร้อน นั่นเอง

ก่อนเกิดพายุฤดูร้อนจะมีลางบอกเหตุอยู่บ้าง คืออากาศจะร้อนอบอ้าวขึ้นเรื่อย ๆ โดยลมค่อนข้างสงบ (ใบไม้ไม่ค่อยกระดิก) แต่ถ้าแหงนดูท้องฟ้าจะมืดมัว ทัศนวิสัยไม่ดี และมีเมฆทวีขึ้น ต่อมาจะเริ่มโหมโรงคือ ลมจะเริ่มพัดแรงในทิศใดทิศหนึ่ง และมีลมกระโชกเป็นครั้งคราว

พอท้องฟ้ามีเมฆเต็ม ก็จะตามด้วยฟ้าแลบและฟ้าคะนองในระยะไกล ช่วงรุนแรงสุดก็จะกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์แบบรวมมิตร (อย่างที่เล่าให้ฟังไปแล้ว) แต่โดยปกติจะกินเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และถล่มในพื้นที่แคบ ๆ ราว 10-20 ตารางกิโลเมตร และเมื่อพายุพัดผ่านไปแล้ว อากาศจะเย็นลงเพราะฝนตก และท้องฟ้าจะสุดแสนสดใส

ดู ๆ ไป พายุฤดูร้อนนี่ก็มีนิสัยคล้าย ๆ กับคนโกรธง่าย-หายเร็วนั่นล่ะครับ ;-)

 

 


บทความที่เกี่ยวข้อง

 


ประวัติของบทความ 

  • ตีพิมพ์ครั้งแรกและครั้งที่สองในวารสาร Science Magazine และหนังสือพิมพ์ Post Today
  • ดัดแปลงเพื่อบันทึกลงใน GotoKnow.org เพื่อประโยชน์สาธารณะ

 

 

หมายเลขบันทึก: 75113เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2007 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณอาจารย์สำหรับความรู้ดีๆ ครับ

สวัสดีครับ คุณเจษฎา

          ด้วยความยินดีครับ เดี๋ยวตั้งแต่ราวต้นเดือนมีนานี้ไปจนหมดฤดูร้อน ก็จะได้ยินข่าวเกี่ยวกับ พายุฤดูร้อน นี่เป็นระยะครับ (โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน)

 

สวัสดีครับพี่ชิว

แวะมาอ่านพายุโกรธง่ายหายเร็วครับ 555 เหมือนจริงๆ

ขอบพระคุณมากครับพี่ ข้อมูลอ่านเข้าใจง่ายมาก ;)

สวัสดีครับ เดย์

          เรียกว่า พายุขี้ยัวะ ก็คงจะได้มั้งครับ เจ้าพายุฤดูร้อนนี่

  • ธุ  อาจารย์ชิวค่ะ..

มาอ่านเอาความรู้ค่ะ  ^^  ขอบคุณนะคะ    ต้อมไม่ชอบพายุฝนฟ้าคะนองเลย   น่ากลัวชะมัด  

อาจารย์สบายดีนะคะ ^^

สวัสดีครับ ต้อม

        ช่วงนี้มีฝนฟ้าคะนองเยอะจริงๆ ครับ

        พี่กำลังเก็บงานหลายอย่างพร้อมๆ กันอยู่ เลยไม่ค่อยได้มาเขียนใน G2K เท่าไรแล้ว (อ่านก็ไม่ค่อยได้อ่าน...)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท