“ครู” และ “ระบบการศึกษา” น่าจะเป็นอย่างไร??? จึงจะดี


ทำไมเรายังมีวันไหว้ “ครู” ในสถาบันการศึกษาเหล่านี้ ผู้เรียนเขาจะไหว้ครูคนไหน ในเมื่อสถาบันเหล่านั้นไม่มี “ครู” ให้ไหว้ มีแต่ “อาจารย์”
  

ผมรู้จักคำว่า ครู ตั้งแต่ก่อนผมเข้าโรงเรียน ป. ๑ แต่ก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ ว่าทำไมเราจึงเรียกคนเหล่านั้นว่า ครู

  

รู้แต่ว่า ท่านเป็นคนที่ทำหน้าที่ในการสอนให้เด็กอ่านหนังสิอออก เขียนหนังสือได้ คิดเลขเป็น

  

เพราะ ครู ที่สอนนักเรียนนั้น ทุกท่านทำตัวเป็น ตัวอย่าง เป็น ครู ได้ทุกอย่าง ตามที่กำหนดไว้ในภาระหน้าที่ โดยไม่ต้องมีตำราให้ท่องจำ ไม่ต้องเปิดตำราสอนก็ทำได้ เพราะท่านเป็น ครู ให้เราเรียน และ เมื่อเราทำผิดพลาด เราก็เข้าหลักการของ ผิดเป็นครู ได้อีก

  

นักเรียน จึงมีโอกาสที่จะเรียนจาก ครู ได้ทั้งสองทาง แต่ก็อาจมีตำราเสริมให้เราเข้าใจมากขึ้นได้อีก

  

ดังนั้น ท่านเป็น ครู เพราะ ท่านเรียนมา ท่านเขียน ท่านอ่าน ท่านปฏิบัติมาจนคล่อง จึงมาสอนแบบเป็น ครู ในเรื่องที่ท่านถนัด ที่เป็นต้นแบบให้ดู ทำให้ดู สอนให้ทำตาม

  

จึงเป็น ครู จริงๆ และคนที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าของ ครู เราเรียกกันว่า ครูใหญ่ ไม่ว่าจะมีนักเรียนกี่ร้อยคน โดยไม่ต้องมี อาจารย์ใหญ่ หรือ ผู้อำนวยการ มาควบคุมหรืออำนวยการสอน ครูทุกท่านก็ทำหน้าที่เป็น ครู ได้ดี และสมบูรณ์แบบ

  

แต่พอเลยชั้นประถมขึ้นมา ผมเริ่มรู้สึกแปลกๆ

  

ผมพบว่า คนที่ทำหน้าที่ ครู เริ่มไม่เป็นตัวอย่าง (ครู) ให้เราปฏิบัติตาม

  

แต่กลับบอกกล่าวให้นักเรียน ท่องจำ ตามหนังสือ ตำรา แทนการเรียนรู้จากปฏิบัติของ ครู

  

และ ท่านเหล่านั้นไม่ค่อยอยากให้นักเรียนเรียกว่า ครู ซะด้วย แต่ชอบให้คนอื่นเรียกว่า อาจารย์  นักเรียนก็เรียกไปตามที่ท่านอยากให้เรียก โดยที่ส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบเลยว่า อาจารย์ แปลว่าอะไร ให้เรียกก็เรียก แต่ก็เข้าใจตามที่ประสพมาและตีความเอาเองว่า

อาจารย์ น่าจะหมายถึง ผู้สอน ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวอย่าง หรือเป็นแนวทาง หรือทำให้ดูเหมือนการเป็น ครู   

 

ผมก็เลยคิดต่อไป ตามความรู้สึกเอาเองว่า

ท่านเหล่านั้นคงอยากให้คนทั่วไปเรียกท่านให้ถูกต้อง ตามบทบาทของท่าน ว่า.....

ท่านไม่ได้เป็น ครู ให้ใครทำตาม หรือเอาเยี่ยงอย่าง ตาม ครู แต่ท่านเป็น อาจารย์ มีหน้าที่สอนอย่างเดียว และไม่สามารถเป็น ครู ให้กับใครได้ 

จีงขอร้องว่าอย่าเรียกท่านว่า "ครู" แต่ขอให้เรียกว่า "อาจารย์"

  

ฉะนั้น อาจารย์ จึงสามารถ “คิดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง  สอนอีกอย่างหนึ่งก็ได้

และไม่จำเป็นต้องทำในสิ่งตัวเองสอน หรือสอนในสิ่งที่ตัวเองทำ

เพราะ ท่านไม่ได้เป็น ครู ให้ใครทำตาม อยู่แล้ว 

แต่ก็แปลกมากๆ เลยครับ

ทำไมเรายังมีวันไหว้ ครู ในสถาบันการศึกษาที่มีแต่"อาจารย์"เหล่านี้

ผู้เรียนเขาจะไหว้ครูคนไหนกัน

ในเมื่อสถาบันเหล่านั้นไม่มี ครู ให้ไหว้ มีแต่ อาจารย์ ที่ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องต่างๆ ตามหัวข้อที่กำหนดไว้

ที่ "อาจารย์" ส่วนใหญ่ก็จำขี้ปากคนอื่นมาเล่า แบบความรู้มือสอง มือสาม มือสี่ มือห้า....หรืออ่านมาจากหนังสือ หรือแปลมาจากตำราต่างประเทศ ที่ตัวเองก็ไม่เคยทำเหมือนกัน

ความรู้ที่นำมาให้ผู้เรียนท่องไปสอบนั้น เป็นมือที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้ เพราะลอกต่อๆกันมาไม่รู้กี่ทอด แบบบางทีก็อาจไม่เคยนำไปใช้จริงๆสักที

  

ท่านเหล่านั้น จึงไม่สามารถเป็น ครู ให้ใคร

เพียงแต่บอกเล่าให้ผู้เรียนไปท่องจำตำรา หรือเอกสารที่ถ่ายสำเนาแจก แล้วให้มาเขียนตอบในกระดาษแข่งกัน ว่าใครจำได้มากกว่ากัน

ใครจำได้ดีก็ได้เกียรตินิยม ใครจำไม่ได้ก็สอบตก โดยแทบไม่ได้วัด การเรียนรู้ แต่อย่างใด

  

บางทียิ่งแย่ไปกว่านั้น (หรือสบายกว่านั้น) คือ

แม้ผู้เข้าสอบอยากจะตอบข้อสอบตามที่ท่องมา ก็ไม่ได้ตอบ หรือ ไม่ต้องตอบ 

แต่เขาบังคับให้เป็น "นักเสี่ยงทาย" ในการสอบ

กาถูกกาผิด เลือกข้อที่น่าจะถูก เสี่ยงดวงเอา

 กาส่งเดชไปบ้างก็ได้ ผู้ตรวจไม่มีเวลาดูอยู่แล้ว ไม่ต้องจำอะไรหรือรู้อะไรมากนัก ก็ผ่านการสอบ  วัดความรู้ ได้เหมือนกัน

ขอแค่รู้วิธีการ "กากะบาด" บนกระดาษคำตอบ ก็ถือว่าเพียงพอที่จะสอบผ่าน และเป็น "บัณฑิต" ได้แล้ว

ที่สมควรขนานนามว่า "กากะบาดบัณฑิต" แทน "วิทยาศาสตร์บัณฑิต" หรือ "ศิลปศาสตร์บัณฑิต" หรือ "....บัณฑิต" ฯลฯ

  

พอเป็นเช่นนี้ ผู้ที่ควรจะเรียน ก็ไม่ได้เรียน

  • เพราะไม่มี ครูเป็นแนวทางให้เห็นเป็นตัวอย่าง
  • ไม่มี บทเรียน ที่เป็นประสบการณ์ตรงต่างๆให้เรียน
  • ไม่มีความผิดพลาด เป็นครู ให้ฝังใจ
  • มีแต่ตัวหนังสือให้ท่องจำมาสอบ   
  • ไม่มีการวัดการเรียนรู้ พอออกจากห้องสอบก็ลืม
  • พอเรียนครบทุกวิชา ก็ ส่งคืนอาจารย์ หมด
  • จำอะไรแทบไม่ได้ พอถาม ก็จะตอบว่า เรียนมาตั้งแต่เทอมที่แล้ว ตอนนี้ลืมหมดแล้ว 
  • พอเรียนวิชาใหม่ก็เริ่มต้นใหม่ ของเก่าทิ้งไป อย่างมากก็จำได้เป็นเลาๆ เอาสาระอะไรไม่ค่อยได้
  

เมื่อการดำเนินการเป็นเช่นนี้ จึงมีคำถามสำคัญที่ว่า

ผู้ที่เรียกตัวเองว่า "นักเรียน นักศึกษา" ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ในปัจจุบันนั้น เขาเรียนกันจริงไหม????

(ถ้าจริงก็ขอชื่นชมจริงๆ ครับ)

หรือ

แค่ท่องจำไปสอบให้ผ่านๆไป เป็นส่วนๆ หรือเป็นวิชาๆ แล้วก็ลืมกันไป

  ถ้าเกิดเป็นเช่นประการหลังนี้จริงๆ 

 ก็มีคำถามว่า

สถาบันการศึกษาเหล่านี้มีไว้หรือลงทุนไปทำไม  

มีไว้แค่แจกกระดาษเปื้อนหมึกเท่านั้นหรือ (ที่พนักงานธุรการเพียงคนเดียวก็ทำได้ ประหยัดกว่ากันเยอะเลย)

อาจารย์ มีไว้ทำไม  

มีไว้แค่คอยให้คะแนนว่าใครท่องมาสอบได้มากกว่ากัน หลังจากนั้นใครจะเป็นอย่างไรก็ไม่สำคัญ กระนั้นหรือ 

และ เรามีระบบการศึกษา ไว้ทำอะไร ถ้าไม่มีไว้เพื่อพัฒนาคนของชาติ

 

ใครทราบบอกหน่อยครับ

เรื่องนี้ ผม ปึก จริงๆครับ ยิ่งคิดยิ่งสับสนครับ และนับวันจะงงมากขึ้นทุกวันครับ 
หมายเลขบันทึก: 162791เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2008 03:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012 19:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยครับ

        ในอดีต ครู มี  "ความเป็นครู" สูงมากครับทั้งประถมและมัธยม 

        ในระดับประถม ครูต้องคอยจ้ำจี้จ้ำไชให้นักเรียน อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น  ก็ใช้วิธีการสารพัดละครับ ทั้ง สระน้ำ ใบยอ กอไผ่

        ในระดับมัธยม ครูก็มีวิธีการในการสอนอย่างเอาจริงเอาจัง ให้นักเรียนเข้าใจในบทเรียน เพื่อให้ได้มีความรู้ในการเรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้น

        สรุปแล้ว คือ "ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ" อย่างแท้จริง  นั่นคือ ยึดประโยชน์ที่ผู้เรียนจะได้รับ

        แต่ในปัจจุบัน  โลกเปลี่ยน  สถานการณ์เปลี่ยน ครับ

        กระแสความทันสมัยจากโลกยุค "ข่าวสารข้อมูล"  มันเร็วมาก เร็วเสียจนการศึกษาพัฒนาตามไปไม่ทัน

        การศึกษาจึงมีสภาพ "ทันสมัย  แต่ไม่พัฒนา"   ครับ   ตัวอย่างเช่น

       1. เรายกเลิกการตี  ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่ยังคงใช้ได้อยู่

       2. เรามีนวัตกรรมนำเข้าหลายอย่าง ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของระบบการศึกษา เหมือนเอาขนมปังมากินกับปลาร้า

      3. นโยบายทางการศึกษาไม่นิ่งครับ ผู้ปฏิบัติต้องคอยมอง "ข้างบน" ว่าจะเอาอย่างไร มากกว่า "มองเด็ก"  ว่าจะสอนอย่างไร

      4  บางครั้ง  ครูที่มี "ความเป็นครู" สูง ก็ต้องปรับตัวทำตามกระแสของการเปลี่ยนแปลงครับ  เพื่อความอยู่รอด

      5. เราขาดการหา "รากแก้ว" ของความเป็นไทยครับ ว่าจะนำมาใช้จัดการศึกษาได้อย่างไร  เราคิดว่าความทันสมัย จะต้องจัดการศึกษาได้อย่างฝรั่งเขา  ต้องทำตามฝรั่งเขา   การศึกษาจึงขาดความเป็นไทยไปมากครับ  เหมือนกับที่ท่านพุทธทาสพูดไว้ว่า การศึกษาหมาหางด้วน ครับ

                                           ขอบคุณครับ

ได้ข้อคิดมากจริงๆครับ กำลังปรึกษากับพี่ที่เป็นครูที่บ่นว่ามีแต่งานเอกสารแทบจะไม่มีเวลาสอนนักเรียน พอพี่ผมผ่านเกนฑ์ครูคนอื่นก็มาให้ช่วยอีก ไม่เว้นครูใหญ่ ฟังดูจะคล้านที่อาจารย์ว่า สำหรับผมไม่ใขครู ต่อไปที่ศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงสัตว์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของลุงขวน มะลัยโย ที่อำเภอเวียงเชียงรุ้งที่ทำงานต้องให้ปฏิบัติมากๆ เดี๋ยวลุงชวนจะกลายเป็นอาจารย์อย่างที่ว่า ขอบคุณครับ

กราบสวัสดีคะอาจารย์ P

สถาบันที่ผลิตคนเป็นครู ก็ต้องให้ความสำคัญกับบริบทที่แท้จริงตัวเองให้มาก ๆ

 
  • อาจารย์สะท้อนบทบาทครูได้อร่อยเด็ด
  • บรรทัดสุดท้ายอ่านแล้งงงๆครับอาจารย์ เรื่องนี้ ผม ปึก จริงๆครับ ยิ่งคิดยิ่งไม่งงครับ และนับวันจะงงมากขึ้นทุกวันครับ  หมายความว่าอย่างไร

ผมอยากได้ท่านอาจารย์ครู  ดร.แสวง  เป็น รมต ศึกษาจริง ๆครับ

สวัสดีครับท่านคุณครู ดร.แสวง

  • ผมคงต้องขออนุญาตเปลี่ยนชื่อสถานะของท่านเป็นคุณครู  เพื่อให้ตรงและเหมาะสมกับสภาพจริงนะครับ
  • ท่านคุณครูอธิบายความทั้งหมดได้ตรงและชัดเจนที่สุดครับ ซึ่งความหมายที่ตรงที่สุดของคำว่า "ครู" ในความรู้สึกลึกๆของผมที่มีอยู่ตลอดมาก็คือ "แบบอย่างที่ส่งผลในทางดี"
  • เสียดายงานเกษตรอีสาน ภารกิจรัดตัวมาก จึงไม่ได้ไปเยี่ยมท่านคุณครูและคุณครูอัมพรเลย ทั้งๆที่เล็งไว้ในใจมานาน (ท่านทั้งสองคงยุ่งไม่น้อยเหมือนกัน) ไว้โอกาสต่อๆไปจะไปรบกวนอีก
  • อ๊อ... ไม่ทราบว่าการนำเสนองานของคุณครูอัมพร  เป็นไงบ้าง  ทางโคกเพชรแอบเอาใจช่วยอยู่ห่างๆ(มาก)อยู่ คงโอเคนะครับ
  • ขอบพระคุณท่านมากๆสำหรับคำอธิบายที่ชัดเจนของคำว่า"ครู"และ"อาจารย์" ในบันทึกนี้
  • สวัสดีครับ

ครับ ขอบคุณครับ ที่เข้ามาสนับสนุน

 ผมคิดว่าเรากำลังหลงทางไปไกลทีเดียว แล้วเราก็กลัวที่จะบอกกันเองว่ากำลังหลงทาง

นี่คือสิ่งที่ผมไม่เข้าใจครับ

เราจะรอไปถึงเมื่อไหร่ครับ

เรื่องการศึกษาและอนาคตของชาติ สำคัญมาก ใช้เวลามากในการแก้ไข ถ้าไม่เริ่ม ยิ่งแก้ยากหนักข้อขึ้นทุกวัน

ท่านผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาช่วยชี้แนะคน "ปึกๆ" อย่างผมห่อยได้ไหมครับ ว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ ขีดจำกัดที่ผมพูดมาจะได้รับแก้ไขไหม หรือ ผมเข้าใจผิดทั้งหมด

ที่จริงไม่ได้เป็นอย่างที่ผมคิด

ผมอยากได้ยินเช่นนั้น เราจะได้ไม่ต้องมาเหนื่อยกันในเรื่องนี้ครับ

ไปทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้ น่าจะดีกว่านะครับ

ขอบคุณล่วงหน้าครับ

กราบสวัสดีอาจารย์ ดร.แสวง ครับ

(ผมก็เรียกดร.แสวงว่า อาจารย์มาตั้งแต่เริ่มตามอ่านบล็อกของท่านนะครับ)

ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย ส่วนตัวผมคิดอย่างนี้ครับ

ผมว่าการ "สอนอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง" นั้นไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ใช่เรื่องผิด ถ้ามันไม่ได้ผิดศีลธรรม บางครั้งผมว่าเราพยายามจะหามุมมองในแง่ลบกันมากไป เช่นอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง เป็นที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาครอบครัว คอยให้คำปรึกษาทางรายการวิทยุกับคนทั่วไปที่มีปัญหาครอบครัวแตกแยก ลูกไม่รักแม่ พ่อเมาทำร้ายลูก แม่เล่นพนัน หย่าร้าง หรืออะไรต่างๆ นานา แต่ชีวิตท่านเอง ไม่ประสบความสำเร็จด้านครอบครัว แบบนี้ เราจะบอกว่าท่านไม่ควรมาพูดปาวๆ สอนชาวบ้าน ถูกไหมครับ? ผมเชื่อว่าหลายคนมีปัญหากับบทบาทของอาจารย์ท่านนี้แน่ๆ

ผมว่าความสำคัญของอาจารย์ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยคือการมีความรู้จริงในสาขาวิชานั้นๆ และทุ่มเทให้กับการสอนและการหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งหลักๆ แล้วน่าจะได้จากการทำวิจัย เพราะผมเชื่อว่าเด็กมหาวิทยาลัยนั้นโตพอที่จะแยกแยะบทบาทและคิดเป็น ไม่ต้องมีใครมาทำตัวเป็นตัวอย่าง เพราะรู้แล้วว่าอะไรดี ไม่ดี ถ้าอาจารย์ไม่ดี ก็ไม่ต้องทำตามหรือรายงานไปตามสายงานบังคับบัญชาได้เลย เช่นอาจารย์ไปเที่ยวดื่มเหล้ากับนักเรียนแบบนี้ไม่ดีแน่ หรืออาจารย์เปิดโรงเรียนสอนพิเศษ เพื่อเอาเงินนักเรียนเพิ่ม แบบนี้ก็ผิด แต่ถ้าอาจารย์เขาชอบขับรถแพงๆ ใช้เงินฟุ่มเฟือย อันนี้ผมว่าเป็นเรื่องส่วนตัวนะครับ ผมว่ามันมีเส้นบางๆ และเราเอาความหมายของ "อาจารย์" ไปปะปนกับคำว่า "ครู" ซึ่งต้องเป็นแม่พิมพ์พ่อพิมพ์ของนักเรียน

เรื่องอาจารย์ กับการจัดวันไหว้ครูนี่ผมเห็นด้วยกับอาจารย์นะครับ ว่ามันแปลกๆ!

ส่วนคำว่าครูในความเห็นผม ก็เหมือนความเห็นของคนไทยทั่วๆ ไปนั่นละครับ คือเป็นทุกอย่างในชุมชน ตัวผมเอง ถ้ามีโอกาสได้สอนในระดับประถม ก็ต้องระวังเนื้อระวังตัวให้มากขึ้น จะพูดจาก็ต้องระวัง จะแสดงกริยาอะไรก็ต้องคิดให้ดี เพราะเด็กเรียนรู้จากผู้ใหญ่ อันนี้จริงครับ

ผมว่าสิ่งที่ครูและอาจารย์น่าจะมีเหมือนกันคือการทุ่มเทให้กับการสอนและผู้เรียนครับ

อาจารย์วสะครับ

อาจารย์พูดมา เหมือนนั่งอยู่ในใจผมเลยครับ

ประเด็นที่ผมชูวันนี้คือ การไม่บรรลุเป้าหมายของ "ระบบการศึกษาไทย" ที่ไม่สามารถพัฒนาคนได้

 

ผมรู้สึก(อยากให้เป็นแค่นั้นจริงๆ ครับ) ว่า คนที่จบไปแล้วไม่ค่อยได้อะไร ตามที่เขียนไว้ในเป้าประสงค์ ทั้งของวิชา และของหลักสูตร และเป้าหมายการเข้ามาเรียนแต่แรก

 

  • ผู้จบหลักสูตรส่วนใหญ่ก็ "ผิดหวัง" กับ หลักสูตร

"จบมาได้อย่างไร ยังไม่เห็นจะรู้อะไรเลย"

นี่คือ ความเห็นของคนที่จบการศึกษาจำนวนหนึ่ง ที่ผมสัมผัสมาจริงๆ

  • คนที่จะรับผู้จบการศึกษาเข้าทำงานก็ผิดหวัง

"จบอะไรมา ก็ไม่เห็นทำอะไรเป็น" 

ดังนั้น 

 

  • เขาจึงมักไม่ดูวุฒิ
  • รับแล้ว ไปฝึกเอาทีหลัง
  • ดีกว่าการเสียเวลาวัดความรู้ ความสามารถตอนรับเข้าทำงาน
  • แค่ดูแววว่าพัฒนาได้ ก็พอแล้ว

 

  • และสถาบันที่ตั้งเป้าไว้อย่างสวยงาม ก็มักไม่บรรลุ บรรลุ

แต่ก็ชัดๆเรื่องเดียวคือ "จำนวนผู้ผ่านการสอบ"

 

แต่ ผ่านไปแล้ว มีคุณภาพตามที่เขียนอ้างไว้ไหม สักกี่ส่วน ทั้งใน

  • ภาพรวม
  • จำนวนคน และ
  • ภายในตัวบุคคลเอง

 

นี่คือตำถามที่ใหญ่ที่สุดที่ผมมี และดูเหมือนว่าเราจะทำเป็นไม่รู้ ไม่รับรู้ และ ไม่สนใจ (ขอให้ผมเข้าใจผิดเถอะครับ ผมจะดีใจมากที่สุดในชีวิต)

 

ทีนี้ ผมจึงพยายามดึงประเด็นมาที่ตัวคนสอน ที่อ้างตัวว่าเป็น "ครู" แต่ชอบให้คนอื่นเรียก "อาจารย์" ว่า

น่าจะเป็นส่วนสำคัญในการเกิดข้อผิดพลาดในประเด็นนี้

นอกเหนือไปจาก "ระบบราชการ"  และระบบ "การกำกับดูแล" ที่ยังมีข้อจำกัดพอสมควร

ถ้าจะหาข้อจำกัดที่ระบบ มันกว้างและหาจุดเริ่มไม่ได้

 

ผมว่า ถ้าเรามาเริ่มที่ "ตัวบุคลากร" นี่แหละ น่าจะง่ายที่สุด

 

ตามหลักการที่ว่า "จะแก้ไขใคร ต้องแก้ที่ตัวเองก่อน"

 

ภายใต้ความคิดที่ว่า

 "ระบบจะดีแค่ไหนก็ไปไม่ได้ ถ้าคนไม่พร้อม"

 

และบทกลับ

"ถ้าคนพร้อม ระบบอย่างไรก็พอเริ่มต้นไปได้ และสามารถไปพัฒนาทีหลังก็ยังได้"

 

นี่คือแนวคิดตั้งต้นในการเขียนเรื่อง "ครู" กับ "ระบบการศึกษาครับ

 

ขอบพระคุณอีกครั้งงที่มาช่วยขยายความครับ

แปลว่า .....

กระจายอยู่ทั่วไปใช่ไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท