ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

ชาอร่อยด้วยถ้วยหยินหยาง


เรื่อง..ดมแล้วจิบ ในนิตยสาร Gourmet&Cuisine

     ความที่ชมชอบชามา..ก..   จึงมักได้ของขวัญของฝากจากเพื่อนเป็นชา  หรืออุปกรณ์เกี่ยวกับชาดื่มโดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นชาตระกูลหลัก 4 ประเภทคือชาขาว (White tea) ชาดำ (Black tea) ชาเขียว (Green tea) ชาอูล่ง (Oolong tea)  หรือชาประเภทพันธุ์ทาง  พันธุ์ผสม  ชาดอกไม้  ผลไม้  สมุนไพร

    ชาที่จัดจำหน่ายโดยฝรั่งนั้นบรรจุภัณฑ์มักจะเก๋  โดยเฉพาะกระป๋องสวยๆ  สีสันหวานแหวว  ลวดลายน่าเอ็นดู  หรือสีเข้มขรึมคลาสสิค   

    ในบรรดาชาทั้งหมดที่เคยดื่มนั้น   มีอยู่รายหนึ่งติดใจนักหนา  เป็นชาของจีนทำจากแอปเปิ้ล   อยู่ในรูปลักษณ์ของถุงเล็กๆ สำหรับชงเป็นถ้วยๆ    รู้จักกันที่บ้านเพื่อนซึ่งไปขออาศัยอยู่ตอนไปประชุมที่ฮ่องกง    เจอในตู้    หยิบมาชงดู   เห็นน้ำชาออกมาเป็นสีแดง  จะทิ้งซะแล้ว แต่กลิ่นมันหอมสดชื่นจนอดใจไม่ได้   ก็เลยพบรักแรกจิบเข้าให้    พอหมดแล้วก็หาซื้อใหม่ไม่ได้   จึงยังอกหักอยู่จนทุกวันนี้   ต้องอาศัยชาอื่นไปพลางๆ

     วันก่อนไปพบชาถูกใจในเมืองไทยนี่เอง   แถมได้รู้ธรรมเนียมชงชาจีนมาอีกแบบ  รวมทั้งวิธีดื่มที่เพิ่มอารมณ์สุนทรีย์ลงไปในรสที่ผ่านลิ้นและกลิ่นที่ผ่านจมูก เหตุเนื่องมาจากไปศึกษาดูงานที่จังหวัดเชียงราย  พรรคพวกก็เลยถือโอกาสพาไปเยี่ยมเยือนถิ่นเก่าที่ฉันเคยทำงานมาก่อนเมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้วคือ ดอยแม่สลอง

     จากถนนลูกรังที่เคยนั่งกระเด็นกระดอนกระเด้งจนเข้าไปถึงที่แล้วไม่อยากออกมาอีก   ก็กลับกลายเป็นถนนลาดยางเรียบ  มีรีสอร์ทสวยๆ สองข้างทาง นั่งสบายไปจนถึงยอดดอยแม่สลอง  ไร่ชาเป็นทิวแถวอยู่ข้างทางและลาดยาวไปตามหุบเขา  เห็นแล้วตื่นตา   พอรถจอดเรียบร้อย  ก็ได้ยินเสียงชวนเชิญชิมชา  ของชอบอยู่แล้วมีหรือจะหนี  เดินรี่เข้าหา  จนทำให้เพื่อนๆ ต้องตามกันไปเป็นพรวน บรรยากาศชิมชาแบบมีกองเชียร์เลยออกจากครึกครึ้นเกินเหตุ

     เจ้าของร้านชาวจีนสัญชาติไทยแล้วตอนนี้   ช่างเจรจานัก   จัดแจงตั้งกาต้มน้ำชนิดทำด้วยแก้วใส   เวลาเดือดเห็นน้ำวิ่งพล่านชุลมุนไปหมด   ถ้วยชาที่นี่   ไม่เหมือนที่เคยมี   เพราะมาเป็นคู่  อันหนึ่งเป็นถ้วยกระเบื้องทรงชามเตี้ยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 เซนติเมตร   อีกอันเป็นถ้วยกระเบื้องทรงกระบอก  สูง 8 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร   อันหลังนี่คว่ำอยู่ในอันแรก      

     เจ้าของร้านหยิบถ้วยทรงกระบอกทุกอันที่อยู่ในถาดหงายขึ้น    พอน้ำเดือดพล่านก็ยกราดบนถ้วยทั้งหมด  แล้วเทน้ำทิ้ง   ฆ่าเชื้อตามหลักสุขอนามัย จากนั้นก็หยิบกาน้ำชากระเบื้องขึ้นมาวาง   ด้านบนมีภาชนะรูปร่างคล้ายกระชอนขนาดเล็กทำด้วยสเตนเลสวางไว้    เธอหยิบใบชาใส่ลงไปในกระชอนประมาณกำมือหนึ่ง   กำมือจริงๆ ค่ะ ไม่ใช่หยิบมือ   ดูจากสายตาคาดว่าน้ำหนักไม่น้อยกว่า 50 กรัม   เห็นแล้วตกใจ   เพราะเวลาชงเองไม่เคยใส่มากขนาดนั้นสักที

     เธอรินน้ำเดือดผ่านใบชาที่อยู่ในกระชอน  แล้วเทน้ำในกาทิ้ง  เรียกว่าล้างใบชาซะก่อน   ขั้นตอนนี้ตรงกับที่เพื่อนคนจีนเคยทำให้ดู   แต่ลำดับต่อไปแตกต่างกัน  ของเพื่อนเราเล่นขยุ้มใบชาใส่ลงในกาทั้งกำ   พอเทน้ำลงไปถ้าไม่รีบริน  ใบชาจะแช่อยู่นานจนขมเข้ม  จิบแล้วไม่ติดใจ แต่รายนี้รินน้ำเดือดผ่านชาในกระชอน  พอน้ำขึ้นมาท่วมใบชาก็ปิดฝากระชอน    นับในใจ  ไม่ทันถึงสิบ  เธอก็ยกกระชอนออก จัดแจงรินน้ำชาลงในถ้วยทรงกระบอกเท่านั้น   แล้วเอาถ้วยใบเตี้ยครอบ   จากนั้นก็จับพลิกตีลังกากลับไปอยู่ในลักษณะเดิมแต่แรกเริ่ม   น้ำชายังคงขังอยู่ในถ้วยทรงกระบอก ไม่ไหลออกมาให้เห็นเลยสักนิด

     สมาชิกทุกคนไม่มีใครเคลื่อนไหว  ตาจ้องเป๋ง   ไม่มีใครหยิบ

     เธอเห็นแต่ละคนนั่งนิ่ง  ก็เลยหยิบถ้วยทรงกระบอกของชุดหนึ่งขึ้นมา  ปล่อยให้น้ำชาในนั้นไหลออกมาสู่ถ้วยใบเตี้ยที่คู่กัน    ยื่นถ้วยทรงกระบอกให้ดมกลิ่น   แล้วส่งถ้วยน้ำชาให้จิบ สีของน้ำชาจะเหลืองอ่อนใสตามลักษณะของชาอูล่ง   ไม่เข้มเหมือนชาดำ  พอเห็นตัวอย่างเท่านั้น   มือทั้งหลายก็เอื้อมไปหยิบถ้วยทรงกระบอกมาดม  และยกถ้วยทรงเตี๊ยขึ้นมาจิบ กลิ่นชาที่อบอวลอยู่ในถ้วยทรงกระบอก  หอมสดชื่น  เป็นกลิ่นชาแท้บริสุทธิ์ไม่ผสมหรือเจือปนสิ่งอื่นใด จิบน้ำชาตามไป  มีรสขมนิดๆ เวลาผ่านลิ้น  แล้วก็หวานที่คอ  

     เธอใช้ใบชาเดิมในกระชอนชงแจกอีก  ปากก็บรรยายว่าชงได้ถึง 20 ครั้ง   ก็น่าหรอก  ใส่ไปเยอะขนาดนั้น ชาที่ให้ชิมมีชื่อว่า อูล่งก้านอ่อน  ราคาขายปลีกในเมืองไทยกิโลกรัมละประมาณสองพันห้าร้อยบาท  แต่เมื่อส่งไปขายยังตลาดยุโรปจะได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละหกพันบาท  นี่เป็นข้อมูลจากประธานชมรมผู้ค้าใบชาของดอยแม่สลอง

     เจ้าของร้านชงอูล่งแบบอื่นๆให้ชิมด้วย   แต่ติดใจอยู่สองอย่างคืออูล่งก้านอ่อนกับอูล่งผสมโสม  ซึ่งชนิดหลังจะแซมรสหวานนิดๆ  ชิมฟรีเสร็จ  ก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายอยู่ดี  เพราะติดใจซะแล้ว  แถมวิธีชงก็ทำตามได้ไม่ยาก   เพื่อนบางคนลงทุนซื้อถ้วยชาที่มาเป็นคู่และกระชอนกลับไปด้วย  นัยว่าต้องการทำให้ถูกวิธี  เป็นอันว่าสมาคมชมชอบชาได้สมาชิกเพิ่มขึ้นหลายคน

     ระหว่างนั่งรถกลับ ฉันถามเพื่อนว่าสังเกตถ้วยชาหรือเปล่า นั่นเป็นถ้วยชา 'หยินหยาง' เชียวนะ ตรงตามหลักสมดุลของจีนเป๊ะเลย ชาถึงอร่อยนัก ทุกคนมีสีหน้างุนงง  เสียงหนึ่งถามกลับมาว่ารู้ได้ยังไง ก็อยู่ด้วยกันตลอด ไม่เห็นได้ยินข้อมูลนี่เลย 

     ฉันหยิบถ้วยชาที่เพื่อนซื้อขึ้นมาถือ ชูถ้วยทรงเตี้ยขึ้นมาแล้วบอกว่า "ถ้วยหยิน" แล้วชูถ้วยทรงกระบอกขึ้นมาบอกว่า "ถ้วยหยาง" เพื่อนนิ่งไปชั่วครู่ ตามด้วยเสียงหัวเราะ ก่อนจะงึมงำว่า "คิดได้ยังไง"


 

หมายเลขบันทึก: 15463เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ป้าเจี๊ยบคะ

หนูเคยได้ยินมาว่าดื่มชาเขียวร้อนมีประโยชน์กว่าชาเขียวเย็น จริงรึเปล่าคะ เห็นว่ามีงานวิจัยเรื่องนี้ออกมาด้วย

 

ป้าเจี๊ยบคะ

หนูอยากขายน้ำชาสมุนไพรค่ะช่วยแนะนำด้วยนะค่ะว่าคนส่วนใหม่ชอบชาอารายบ้าง

หนูมายค่อยรู่เรื่องอะค่ะ อยากทำชาให้อร่อยมายเหมือนใครหากินยากหรืออารายก้ได้ค่ะช่วยแน่นำด้วยนะค่ะ ขอบคุนมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท