การสังเกตอารมณ์ - การปรุงแต่งของจิต


คนมีปฏิกิริยาแตกต่างกันเมื่อรับรู้สิ่งเดียวกัน

หลังจากที่ได้ปฏิบัติธรรม ในระยะหลังก็เริ่มสังเกตเห็นอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อาจเป็นได้ว่าเพิ่งสังเกตเห็น ธรรม(ชาติ) ของจิต

เคยสังเกตไหมว่า คนมีปฏิกิริยาแตกต่างกันเมื่อรับรู้สิ่งเดียวกัน เช่นอ่านสิ่งเดียวกัน ลองอ่านเรื่องที่คุณหมอมาโนชเขียนไว้ใน "กรณีศึกษาเรื่องการแจ้งข่าวมะเร็งให้กับผู้ป่วย"

อ่านจบแล้ว ท่านรู้สึกอย่างไรบ้างคะ เห็นอารมณ์ตนเองไหมคะ

  • บางท่านอาจรู้สึกโกรธ

  • บางท่านอาจรู้สึกไม่ยุติธรรม

  • บางท่านอาจรู้สึกว่าถูกต้องแล้ว

ขณะที่ดิฉันอ่านเรื่องนี้ ดิฉันรู้สึกเห็นใจ ค่ะ

หรือถ้ายังไม่เข้าใจสิ่งที่ดิฉันพยายามสื่อข้างต้น ลองนึกถึงเรื่องตัวอย่างต่อไปนี้นะคะ

สมมติว่าท่านเห็นตำรวจเรียกรถคันหนึ่งที่เพิ่งฝ่าไฟเหลืองแก่เกือบแดงที่สี่แยกนะคะ (ท่านขับตามมาแต่ท่านหยุดรถที่สัญญาณไฟค่ะ) ท่านรู้สึกอย่างไรคะ

    • ตำรวจทำดีแล้ว เป็นเรื่องปรกติ ไม่เกี่ยวกับเรา

    • สมน้ำหน้าพวกชอบทำผิดกฎจราจร ดีที่ตำรวจจับ คราวหน้าจะได้เข็ด

    • ตำรวจหากินกับผู้บริสุทธิ์อีกแล้ว สงสัยเรียกเงินแน่ๆ ตำรวจนี่แย่จริงๆ

    • ตื่นเต้น ตกใจ เพราะเกือบไปกับเขาเหมือนกัน เกือบไปแล้ว...

ลองคิดดูนะคะ ว่ามีอารมณ์อะไรบ้าง.....

เห็นไหมคะ สถานการณ์เดียวกัน แต่อารมณ์ต่างกัน ดิฉันว่าการที่เรารู้เท่าทันอารมณ์ของเราเป็นสิ่งสำคัญ การที่แยกแยะอารมณ์ได้เป็นสิ่งที่ดิฉันเห็นว่าเป็นประโยชน์มาก เพราะทำให้เห็นเลยว่ามีการปรุงแต่งของจิต (ที่ไม่จริง) เกิดขึ้น เพราะแท้จริงแล้วเราไม่ทราบหรอกค่ะว่าเกิดอะไรขึ้นที่สี่แยก หรือเกิดอะไรขึ้นกับคนไข้ในกรณีศึกษาของหมอมาโนช เพราะท่านกำลังคิดไปเองและยึดอารมณ์หรือสิ่งที่ท่านคิดเป็นเรื่องจริง

สุดท้าย ดิฉันคิดว่า   ไม่ว่าเราจะเห็นหรือสัมผัสอะไร ถ้าเราเจริญสติมากพอ ก็จะเห็นว่า....

ทุกอย่างเป็นเพียงสภาวธรรม

หมายเลขบันทึก: 88914เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2007 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 08:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • เข้ามาอ่าน อิ่มธรรมะดีค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณ P Bright Lily

ยินดีมากเลยค่ะ

     อืม ดิฉันเพิ่มอีกอารมณ์นึงด้วยว่าเห็นใจคนนั้นเหมือนกัน อาจจะรีบจริงๆ เห็นใจตำรวจด้วยค่ะ

     ขอบคุณมากค่ะที่เขียนเรื่องดีๆให้อ่านค่ะ ขออนุญาตนำไปใส่ในแพลนเน็ตด้วยนะคะ

ยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะคุณอนิศรา

จะพยายามเขียนอยู่เป็นประจำ ตามเวลาและโอกาสที่มีค่ะ

สวัสดีครับผมก็สนใจธรรมะเหมือนก้น ที่อาจารย์พูดเรื่องของสภาวะธรรมน่าสนใจมากครับ ในเรื่องการตามอารมณ์ให้ทันนั้นผมว่าคนส่วนใหญ่ทำได้มีปัญหาอยู่สองประเด็นครับ หนึ่งตามรู้แล้วแต่ดับได้ยากเช่นไม่ใช่เราไม่รู้ว่าเราโกรธ แต่ต้องดูนานมากกว่าจะดับ

สองการตามทั้งวันก็เป็นเรื่องลำบากมาก รู้สึกฟุ้งซ่านไม่สงบครับ

ขออนุญาตอาจารย์

P
ตอบคำถามของคุณ
P

นะครับ

ผมขอตอบตามที่ได้อ่านมา แล้วอาจารย์ค่อยช่วยเสริม นะครับ

  • การดูสภาวะธรรมนั้น เราไม่ได้ดูให้เขาดับครับ
  • แค่เป็นผู้ดูอย่างเดียว จะเร็วจะช้าก็ช่างเขาครับ
  • การดูนั้น ไม่ต้องดูทั้งวันครับ นึกออกเมื่อไหร่ก็ดูเมื่อนั้น
  • แน่นอนครับ หากดูทั้งวันอาจทำให้เครียด หรือฟุ้งซ่าน ท่านไม่แนะนำให้ดูทั้งวันครับ
  • แต่ถ้าฟุ้งซ่าน เราก็เอาตัวฟุ้งซ่านนั่นแหละมาดูซะเลยครับ
  • ยิ่งถ้าเวลาที่เราต้องอ่านหนังสือ หรือต้องการรู้อะไร ไม่ต้องดูนะครับ ไม่งั้นไม่รู้เรื่อง
  • ฝึกบ่อยๆ นานๆ เข้าก็จะเก่งไปเอง
  • แล้วสุดท้ายดูเพื่ออะไรล่ะ
  • ขอตอบว่า ดูให้เห็น ไตรลักษณ์ ครับ

ที่เหลือรอให้อาจารย์มาช่วยเสริมนะครับ ผมยังทำไม่เป็นหรอก อาศัยที่อ่านมา ฟังมา และลองดูบ้างเท่านั้นครับ ผิดถูกยังไงช่วยกันศึกษา ตรวจสอบกันนะครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

สวัสดีครับอาจารย์

  • เข้ามาแบ่งปันเรื่องราวดีๆครับ
  • เป็นเรื่องที่ช่วงนี้ผมก็กำลังฝึกๆและฝึกๆอยู่พอดีเลยครับ
  • จริงๆก็เคยทำ  เคยฝึก  แต่ก็เป็นช่วงๆครับบางครั้งตั้งใจมาก  หนักแน่น  บางครั้งก็ใช้ชีวิตไป แบบไม่รู้ตัวว่าต้องฝึก(อาจจะมุ่งอยู่กับสิ่งที่เรากำลังทำ)
  • เรื่องของการฝึกสติสำคัญมากกับชีวิตผมครับอาจารย์  เพราะทำให้ผมก้าวมาถึงทุกวันนี้ได้ครับ
  • ช่วงนี้ก็ทันมากขึ้นคือกำลังจับอารมณ์  ความรู้สึกเมื่อเรากระทบกับสิ่งที่เราไม่ปราถนา  เราจะดูความรู้สึกตรงนี้ครับ เช่น เมื่อบางครั้งคนไกล้ตัวเราอารมณ์ไม่ดี  ดูหงุดหงิด  บางครั้งแต่ก่อนเราอาจจะเกิดความคิดที่ไม่ดี  หรืออารมณ์ความรู้สึกในทางลบ ในทางที่ทำให้เรารู้สึกร้อน  แต่เมื่อเริ่มสังเกตุและรู้ทันบ่อยๆว่า  เราต้องนิ่งๆและเย็นไว้  บ่อยๆก็กลายเป็นความรู้สึกใหม่  ไม่ใช่การเก็บกดไว้นะครับ  แต่เหมือนว่าเราก็รับรู้ในสิ่งที่เราเห็น  เราได้ยิน  และพิจารณาสภาวะต่างๆที่เกี่ยวข้อง ตามจริง ตามบริบทที่มีอยู่  เท่าที่เราจะทำได้
  • ยกตัวอย่าวันนี้ครับอาจารย์  คนไข้เป็นโรควิตกกังวล  ใจสั่นมา  มาบ่อยๆ  ครั้งนี้ต้องการมาตรวจและบอกหมอว่าอยากเติมน้ำเกลือและขอนอนโรงพบาล2-3 วัน ความรู้สึกแรกๆ  ก็ยึดตนเองคือ คิดและรู้สึกในใจว่า อือ..ก็ตรวจแล้วปกติดี  ทำใมจะต้องนอนนะ เป็นความรู้สึกที่ขุ่นมัว  ที่มาพร้อมกับความรู้ที่เป็นหลักการ  แต่พอจับความรู้สึกได้ว่า  เราไม่ควรรู้สึกขุ่นเคือง  ที่ผู้ป่วยบอกเช่นนั้น  และก็คิดอย่างทันควันว่า คุณป้าคนนี้มารอบที่ 3 แล้วในรอบสัปดาห์  ท่านคงจะไม่สบายใจจริงๆ  แล้วก็คงจะทานได้น้อย  และอ่อนเพลีย  ที่บ้านอาจจะมีสภาพปัญหาหลายอย่าง  การนอนเพื่อเปลี่ยนที่  ให้นำเกลือเพื่อแก้ไขอาการอ่อนเพลีย  หรือว่ารักษาความรู้สึกทางใจที่มีอยู่  อาจจะทำให้เขาดีขึ้น  ในช่วงขณะนั้นเราอาจจะนิ่งคิดเล็กน้อย  แล้วก็ตัดสินใจทำในแบบหลังครับ แล้วก็รู้สึกดีกว่า  ถ้าสมมุติว่าเราให้ยาแล้วก็ให้ป้ากลับไปบ้านอีก
  • เป็นตัวอย่างที่แบ่งปัน  ไม่แน่ใจว่าจะเข้าประเด็นของอาจารย์หรือเปล่านะครับ
  •   สุพัฒน์  Pai......

สวัสดีค่ะคุณ P ฉัตรชัย

ก่อนอื่นขอขอบคุณที่แวะมาอ่านนะคะ และให้ข้อคิดเห็นดีๆ นะคะ ทำให้ดิฉันมีประเด็นที่จะเขียนบันทึกต่อเลยค่ะ

ต้องขอแสดงความชื่นชมค่ะว่าคุณฉัตรชัยไม่มีปัญหาในการตามทันอารมณ์ เพราะว่าสำหรับดิฉันเองแล้ว แต่ก่อนนี้ไม่ทันเลยค่ะ ประมาณว่าวันทั้งวัน ส่งจิตออกนอก (ตามที่หลวงปู่ดูลย์ว่าไว้ว่าเป็นสาเหตุของทุกข์) ตลอดเลยค่ะ มองเห็นแต่สิ่งที่ตามองเห็นแต่ไม่เคยเห็นความรู้สึกหรืออารมณ์ตัวเองได้ทันเลยค่ะ (แต่ก่อนไม่เข้าใจเรื่อง รูป-นาม) ดังนั้นจึงโดนอารมณ์ที่เกิดขึ้นเข้าสิงหรือมาเป็นตัวตนของเราแบบไม่รู้ตัว เช่นบางทีแสดงอาการหน้างอ หรือแสดงอาการโกรธชัดเจน เป็นต้น

เรื่องการตามรู้แล้วดับได้ยาก สำหรับดิฉันแล้ว การรู้และดู และเข้าใจ จะทำให้เราตั้งตัวได้ค่ะ มองเห็นสภาวธรรม สังเกตเห็นความไม่เที่ยง ความไม่เป็นตัวตนที่แท้จริง และไม่เอาเรื่องที่เห็นหรือได้ยินมายึดเป็นตัวตน (หรือโดนอารมณ์เข้าสิง) ไม่เกิดอารมณ์มากขึ้น หรือเกิดอาการต่อเนื่องจากการมีอารมณ์ ทำให้สุดท้ายดูจนดับไปเอง  และไม่น่าจะเกิดอาการฟุ้งซ่าน เพราะเราเห็นธรรม(ชาติ) ของอาการ ของอารมณ์ที่เราไม่ยึด ไม่ถือเป็นตัวเป็นตนค่ะ เช่น สมมติว่าเราเห็นสร้อยทองคำตกอยู่นะคะ เราก็เข้าใจว่าทองคำเป็นธาตุเหมือนดินชนิดหนึ่ง และเข้าใจว่าทองคำมีค่าตามสมมติบัญญัติของมนุษย์ มีความทนทานใช้งานได้ดี แต่เราไม่เกิดความโลภอยากได้ เพราะเรารู้ว่าสร้อยทองคำเป็นของมีค่าชิ้นนี้มีค่าเพราะอะไร เราไม่หลงไปกับสิ่งที่เห็น เห็นแล้วก็เฉยๆ ค่ะ ประมาณนี้

ที่คุณ P ธรรมาวุธ ช่วยตอบนั้นดิฉันเห็นด้วยค่ะ ขอบคุณมากนะคะ ที่ช่วยกันตอบ เรื่องนี้บางทีตอบยากมากเลยค่ะ ; ) เพราะอธิบายได้ยาก แต่ละคนอาจมีจริตต่างกัน เพราะฉะนั้นเรื่องบางเรื่องที่บางคนปฏิบัติได้ง่าย แต่บางคนอาจไม่เข้าใจและปฏิบัติยากมาก แต่ดีใจที่มาเปิด blog นี้และมีผู้สนใจมาก แสดงว่ามีผู้ปฏิบัติอยู่มากทีเดียว ได้สหายธรรมเพิ่มมากเลยค่ะ

สวัสดีค่ะคุณหมอ สุพัฒน์ P kmsabai

จากตัวอย่างที่คุณหมอยกมานั้น ดิฉันคิดว่าเรากำลังปฏิบัติในแนวทางเดียวกันเลยค่ะ 

คุณหมอยกตัวอย่างการปฏิบัติที่ดีมากๆ เลยค่ะ คุณหมอเห็นอาการขุ่นมัวที่เกิดขึ้น เหมือนกับที่ดิฉันเห็นเวลานักศึกษาถามคำถามที่เราคิดว่าเขาควรเข้าใจแล้ว  พอดิฉันก็เห็นความขุ่นมัว ก็รู้เลยว่า มาแล้ว มาแล้ว ; )  แล้วจะหยุดนิ่งไปนิดนึง  แล้วก็อธิบายต่อกับนักศึกษา (บางทีก็อธิบายต่อ บางที่ก็สั่งสอนให้เขารู้ว่าเขาไม่ได้ฟังที่เราพูด)

ดิฉันว่าคุณหมออยู่ในวิชาชีพที่ต้องพบผู้คนหลากหลาย ยิ่งกว่าดิฉันหลายเท่าตัว แถมผู้คนที่มาพบมักต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนบ้าง ไม่เร่งด่วนบ้าง วิชาชีพนี้เหนื่อยกาย แต่เป็นวิชาชีพที่ใช้ฝึกใจได้ดีมากๆ เลยค่ะ เห็นการเกิดดับ เห็นสังขารที่ไม่เที่ยง ชัดมาก ดิฉันว่าคุณหมอคงรู้สึกสุขใจที่ได้ช่วยคนเป็นงานประจำ (อย่าลืมดูอารมณ์ความสุขด้วยนะคะ)

จากตัวอย่างที่คุณหมอยกไว้ ดิฉันเชื่อว่าคุณฉัตรชัยก็คงเห็นว่าการเจริญสตินี้ เมื่อปฏิบัติแล้วจะทำได้เชี่ยวชาญทันที และก็ไม่ได้เป็นการเก็บกดความรู้สึก เพียงแต่เห็น และเข้าใจว่าทุกอย่างอยู่ภายใต้ธรรม(ชาติ) เป็นเพียงสภาวธรรมเช่นนั้นเอง

 

ผมจะเล่าเรื่องของผมแล้วกัน คือผมไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรมากนักครับ วันหนึ่งผมแปลงานส่งไม่ทันเครียดมากๆ ผมก็เลยไปทีนั่งวิปัสสนาที่มหาจุฬาจัด นั่งไปนั่งมาเขาให้เดินจงกรมด้วย กลับมาผมก็เป็นอย่างนี้ล่ะ ครับ ใจก็ตามดูจิตทั้งวัน จนตอนแรกๆผมทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่ได้นั่งมันฟุ้งซ่านมากๆ คือความคิดวิ่งไปวิ่งมา ไม่รู้จะตามดูอะไรกันนักกันหนา แต่มันก็ทำให้ผมเห็นความโกรธของตัวเอง ขนาดกินข้าวไม่อร่อย ยังรู้สึกถึงความไม่พอใจของตัวเอง ผมแทบดูทีวีไม่ได้เลยครับเพราะผมจะแน่นน่าอกเวลามีฉากตัวร้ายใส่ร้ายคนดี แล้วบางทีก็นั่งน้ำตาไหลเวลาเห็นคนที่เขาลำบาก   ผมงงตัวเองมากๆ ผมเลยทำใจแบบช่างมัน จะดูก็ดูไม่ดูก็ไม่ดู ไม่บังคับอะไรทั้งสิ้น หลังๆมาผมก็เป็นปกติแล้วครับ ผมไม่กล้าบอกใคร พออ่านที่อาจารย์เขียน  ก็เลยพูดเหมือนที่ผมรู้สึกออกมา

สวัสดีค่ะคุณฉัตรชัย

คุณฉัตรชัยคะ ดิฉันก็ไม่ได้เก่งมากมายหรอกค่ะ ; )   ตอนดิฉันเริ่มฝึกแรกๆ ดิฉันไม่ได้จงใจตามดูตลอดค่ะ นึกได้ก็ดู ใช้ชีวิตตามปกติค่ะ ปัจจุบันดูภาพหนังโฆษณาดีๆ ก็ยังร้องไห้ได้อยู่ค่ะ แต่พอผ่านไป  ความรู้สึกนั้นๆ ก็จะหมดลงตามธรรมชาติ เพียงแต่มันเป็นช่วงสั้นๆ มันไม่ได้ตามดิฉันอยู่ทั้งวันค่ะ

ขอบคุณคุณฉัตรชัยที่แลกเปลี่ยนนะคะ อย่างที่คุณฉัตรชัยว่านะคะ จะดูก็ดู ไม่ต้องไปบังคับอะไรมัน ดูแล้วก็ให้เข้าใจ ว่ามันเป็นเพียงสภาวธรรม มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็จะดับไปค่ะ

พยายามดูใจตัวเองอยู่ค่ะ (ขอใช้คำว่าพยายามเพราะบางทีก็จับอารมณ์ตัวเองทัน บางทีก็ไม่ทัน  และหลาย ๆ ครั้งก็จับทันแต่ควบคุมไม่ทัน)  ยังคงฝึกอยู่ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ P ทีน่า

ดูไปเรื่อยๆ เท่าที่นึกได้ค่ะ ดิฉันก็เป็นอย่างนี้แหละค่ะ หลุดค่ะ ดิฉันก็ยังทำไม่ได้ทั้งวัน ตลอดเวลาหรอกค่ะ แล้วไม่ต้องพยายามไปควบคุมอารมณ์นะคะ ให้รู้ทันเฉยๆ ค่ะ อารมณ์จะเบาลงค่ะ ให้รู้ไว้เรื่อยๆ ค่ะว่าอารมณ์ที่เกิดนั้นเกิดกับจิตเราเท่านั้น  เมื่อรู้ว่าเห็นแล้ว ดูไว้เฉยๆ ดูจนดับ หรือถ้าไม่เห็นตอนดับ สักพักให้ทบทวนดู จะรู้ว่าอารมณ์นั้นดับไปแล้ว

การเห็นดับจะช่วยให้เราเข้าใจสภาวธรรมที่เป็นอนัตตาค่ะ จะได้ไม่ยึดมั่น ถือมั่นกับอารมณ์ค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท