BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

หมูจี้


หมูจี้

หมูจี้ คำนี้หายไปจากสภาพสังคมที่ผู้เขียนเป็นอยู่นานแล้ว... เคยสำรวจโดยการลองถามรุ่นน้องอายุสามสิบลงไป ก็ไม่มีใครรู้ความหมาย จึงคาดเดาว่า คงจะไม่มีใช้แล้ว หรือกัลยาณมิตรชาวปักษ์ใต้บ้านเราท่านใด ทราบข่าวว่า ที่ใดยังคงใช้อยู่ก็เล่าสู่กันอ่านได้....

เพื่อจะรำลึกถึงความหมายของคำนี้ ก็ต้องย้อนหลังกลับไปประมาณสามสี่สิบปีก่อนตอนที่ผู้เขียนยังเด็ก... ผู้เขียนอยู่ตำบลคูขุด อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งทุกคนในยุคสมัยนั้นจะรู้ว่า หมูจี้ คืออะไร ?

เมื่อพิจารณาตามศัพท์ คำว่า หมูจี้ มาจาก หมู + จี้

หมู ก็คือ เนื้อหมูที่ขายอยู่ตามตลาดซึ่งพวกเรานำมาประกอบอาหารนั่นเอง

จี้ ก็คือ การทำให้ผู้อื่นยินยอมตามความประสงค์ของตน

ดังนั้น หมูจี้ ก็คือ เนื้อหมูที่เจ้าของบังคับ ขอร้อง หรืออ้อนวอนให้เราช่วยซื้อไว้โดยมิอาจบิดพริ้วได้... ทำนองนี้

..........

เล่าเรื่องว่า สมัยนั้น เกือบทุกเรือนมักจะนิยมเลี้ยงหมูประมาณ ๑-๕ ตัว เพื่อไว้ขายเป็นเงินสะสม... ถ้าหมูตัวโตๆ ขนาดเกือบร้อยกิโล เกิดตายลง เจ้าของหมูก็จะชำแหละ ทำเป็นกิโลๆ ผูกเชือก  แล้วนำไป จี้ ยังบ้านใกล้เรือนเคียงให้ช่วยซื้อ และนี้เองก็คือที่มาของคำว่า หมูจี้

นอกจากจะ จี้ บ้านใกล้เรือนเคียงแล้ว ถ้าจำนวนหมูยังมีเยอะ ก็อาจนำไป จี้ ยังหมู่บ้านหรือตำบลใกล้เคียง โดยอาศัยความสัมพันธ์เชิงเครือญาติเป็นสำคัญ เช่น น้าชายของผู้เ้ขียนไปแต่งภรรยาอยู่หมู่บ้านหรือตำบลที่ห่างออกไป ก็อาจเป็นธุระนำหมูมา จี้ ที่หมูบ้านของผู้เขียนเพราะทุกครัวเรือนถือว่าเป็นญาติของน้าชายทั้งนั้น... ทำนองนี้

การนำหมูมาจี้ทำนองนี้ ถ้าเจ้าของเรือนไม่อยู่ก็อาจแขวนไว้ที่รั้วบ้าน ประตูบ้าน หรือจุดใดก็ได้ที่สูงๆ ซึ่งสังเกตเห็นได้ง่าย... ถ้าเจ้าของเรือนกลับมาเห็นหมูแขวนอยู่ก็รู้ทันทีว่า หมูจี้ แล้วก็นำไปปรุงอาหารตามความประสงค์... ส่วนใครที่เดินไปเดินมา ถ้าเห็นว่าบ้านใดมีหมูแขวนอยู่ก็จะรู้ว่า นั่น คือ หมูจี้ ....

การมาเก็บเงินค่าหมูจี้นี้ มักจะไม่เก็บวันนั้น โดยบอกไว้ว่าจะมาเก็บวันโน้นหรือวันนี้... ซึ่งปกติก็ ๒-๓วันข้างหน้า ส่วนราคานั้นก็ตามที่กำหนดในช่วงนั้นๆ... และก็มีเหมือนกันที่ ไม่รู้ว่าใครเอาหมูมาจี้ ทำกินหมดไปหลายวันก็ไม่เจอเจ้าของ.. สองเดือนผ่านมา เจอเจ้าของหมู จะให้ค่าหมู แต่เค้าไม่เอาโดยอ้างว่า เลยเวลาแล้ว .... อย่างนี้ก็มี

...........

ประเด็นที่ว่า หมูเกิดตายไป ข้างต้นนั้น ผู้เขียนยกตัวอย่างเท่านั้น... หมูจี้ อาจเกิดขึ้นได้อีกหลายกรณี เช่น บางครอบครัวต้องการเงินด่วน แต่ไม่มีเงินสด มีแต่หมูอยู่ ๔-๕ ตัวในเล้า จึงจัดการช่วยกันชำแหละหมูทั้งหมด แล้วช่วยกันนำไปจี้... คนนี้มีภรรยามาจากตำบลโน้น ก็อาจรับไปสัก ๓๐-๕๐ ก.ก. ...คนโน้นมีไอ้เกลออยู่ตำบลนั้น ก็อาจรับไปสัก ๒๐ ก. ก. เป็นต้น ตามกำลัง... แล้วก็นำไปจี้ญาติของภรรยา หรือขอช่วยไอ้เกลอจี้้ญาติของมัน... ทำนองนี้

บางคนอยู่ว่างๆ  ก็คิดหาเงิน โดยการซื้อหมูในหมู่บ้านแล้วก็นำมาชำแหละ จัดแบ่งเป็นกิโล แล้วผูกเชือกนำไปจี้ตามหมู่บ้านใกล้เคียง ก็ได้กำไรอยู่บ้างเป็นค่าเหนื่อย... ทำนองว่า ดีกว่าอยู่เปล่าๆ

หรือเพื่อนบ้าน ๓-๕ ครัวเรือน ว่างๆ อยากจะกินเลือดหมูต้ม จึงลงหุ้นซื้อหมูของใครคนหนึ่งแล้วก็นำมาชำแหละแบ่งกันไป... จากนั้น แต่ละคนก็นำส่วนของตนบางส่วนไปแบ่งเป็นกิโลแล้วนำไปจี้ครอบครัวอืี่นๆ ที่ห่างออกไป....

มิใช่เฉพาะหมูเท่านั้นที่นำมาจี้ได้ วัวหรือควายก็สามารถนำมาจี้ได้ วิธีการและความเป็นมาก็เหมือนกัน เพียงแต่เปลี่ยนชื่อจาก หมูจี้ เป็น วัวจี้หรือ ควายจี้ เท่านั้น.... ส่วน เป็ดจี้  ไก่จี้ หรือปลาจี้ ผู้เขียนไม่เคยเห็นคงจะเป็นสัตว์เล็ก และมีความยุ่งยาก จึงไม่ค่อยมีใครนิยม  

...........

หมูจี้ นี้ ใช่ว่าทุกคนสามารถจี้ได้ทุกบ้าน เพราะบางบ้านที่ตระหนี่ถี่เหนียว หรือใจคอคับแคบก็อาจไม่เอา... ดังนั้น ผู้ที่นำหมูมาจี้ จะต้องรู้ว่า บ้านไหนสามารถจี้คือแขวนไว้ที่หน้าประตูได้เลย (ถ้าเจ้าของบ้านไม่อยู่)... บางบ้านก็อาจต้องสอบถามก่อนว่าเขาจะเอาหรือไม่... ทำนองนี้

ดังนั้น คนที่เอาหมูไปจี้ จึงต้องมีบารมีในท้องถิ่นนั้นพอสมควร หรือสำหรับผู้มีบารมีสูงขึ้นไป เพียงแค่สั่งให้ใครเอามาจี้ ก็สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องนำไปจี้เอง... 

การที่จะนำหมูไปจี้ยังหมูบ้านใด ก็ต้องสืบข่าวก่อนด้วย เช่น หมู่บ้านพังจาก เมื่อวานพวกแหลมวังมาจี้แล้ว ก็อาจเว้นเพราะเกรงใจญาติพี่น้องเพื่อนฝูง เป็นต้น... หรือเมื่อสองวันก่อนมีหมูมาจี้บ้านหนองเม่าแล้ว แต่วันนี้ ของเราเป็น วัว  ใครจะเอาก็ได้ ไม่บังคับ มีการป่าวประกาศทำนองนี้ก็มีเหมือนกัน...

............

สำหรับครอบครัวของผู้เขียนนั้น เป็นครอบครัวใหญ่ ญาติพี่น้องเยอะ และตั้งแต่จำความได้ เมื่อมีหมู วัว หรือควายมาจี้ ไม่เคยได้ยินญาติผู้ใหญ่คนใดปฏิเสธเลย...

บางครั้ง วันเดียวมีมา ๒-๓ เจ้าี ทั้งๆ ที่บ้านก็มีอาหารเหลือเฟือแล้ว (ผู้เขียนอยู่บ้านคูขุด ติดทะเลสาบสงขลา สมัยก่อนอุดมสมบูรณ์มาก)... ถามว่า จะทำอย่างไรกับหมูจี้ ๒-๓ กิโลเหล่านั้น (สมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้า ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงตู้เย็น) ...

ตอบว่า ก็ต้อง ค้อง ไว้ก่อน นั่นก็คือทีมาของอีกศัพท์ คือ หมูค้อง ซึ่งผู้เขียนค่อยนำมาเล่าต่อไป....  

คำสำคัญ (Tags): #หมูจี้
หมายเลขบันทึก: 141947เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2007 23:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการครับ

กระผมคิดว่าหมูจี้  ได้หายไปจากชีวิตความเป็นอยู่ของคนรุ่นหลังเนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากวิถีชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยเป็นแบบต่างคนต่างหาเงินเพื่อให้เพียงพอกับสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ  และมีอย่างอื่นมาจี้แทนโดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบครับ มีทั้งอาหารเสริม  เครื่องใช้อำนวยความสะดวกต่างๆ และอื่นๆอีกมากมาย  ฯลฯ  ที่จะทำให้คนนำเงินในอนาคตมาใช้จนกลายเป็นปัญหาต่อไป  น่าเป็นห่วงครับ

ไม่มีรูปไม่แสดงตน

นั่นคือ สิ่งที่อาตมาถวิลหา.........

สังคมรอบทะเลสาบสงขลาสมัยเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อน สงบสุขและมีความอุดมสมบูรณ์มาก ทั้งหมดเป็นเครือญาติ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน.......

พอถึงฤดูน้ำหลาก ถนนภายในหมู่บ้านก็จะเปลี่ยนเป็นคลอง ทุกบ้านมีเรือลำเล็กๆ ใช้สัญจร.......

เบื่อๆ เซ็งๆ ก็เทหวากหรือต้มเหล้าเถื่อนดื่มกินกันตามประสา.......

และหน้าแล้ง ไม่มีอะไรทำ ก็ชวนเพื่อนไป ลักวัว (ขโมยวัว) หมู่บ้านอื่นๆ ทำให้เกิดความตื่นเต้นและท้าทายชีวิตแห่งลูกผู้ชาย.......

เจริญพร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท