Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เครือข่ายการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในสังคมไทย : ก้าวที่สามของประชาคมวิจัยและพัฒนา


ภายใต้โครงการนี้ ผู้วิจัยเลือกรูปแบบที่จะสร้างและพัฒนาเครือข่ายใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) โดยใช้วิธีการเข้าเยี่ยมเยียนเชิงกัลยาณมิตรเพื่อทำความรู้จักกับเครือข่ายการทำงาน และหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะทำงานร่วมกัน (๒) โดยการเข้าทำความรู้จักและความเข้าใจกับเครือข่ายที่พบในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย และ (๓) โดยการสร้างห้องทดลองทางสังคมร่วมกับเครือข่ายเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ : ซึ่งกิจกรรมการสร้างและขยายเครือข่ายนั้นเกิดขึ้นทั้งใน กทม. และในต่างจังหวัด

          เราเริ่มต้นทำงานถักทอและพัฒนาเครือข่ายอย่างไร  ?

         มีคนมากมายที่ก้าวเข้ามาทำงานกับเราภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ เนื่องจากการทำงานครั้งนี้ มิใช่งานแรกของผู้วิจัยในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย เครือข่ายการทำงานโดยส่วนใหญ่จึงเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่รู้จักและทำงานร่วมกันอยู่แล้ว งานเครือข่ายในช่วงที่ทำงานภายใต้โครงการนี้จึงเป็นงานขยายและเชื่อมเครือข่าย ตลอดจนสร้างเสริมประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกัน

       จะสังเกตว่า ในวันนี้ สำหรับเรา งานเครือข่ายคนทำงานเพื่อคนไร้รัฐมิใช่งานยากสำหรับเรา แต่ในอดีตเมื่อกว่า ๑๐ ปีก่อน งานเครือข่ายก็เป็นเรื่องยากมากสำหรับเรา แต่อย่างไรก็ตาม ในแต่ละครั้งที่เราจะเริ่มต้นทำงานแต่ละชิ้น เราก็จะต้องเริ่มต้นด้วยกิจกรรมการจัดการเครือข่าย (Network Management) อยู่ดี แม้เราจะมีมวลมิตรมากมายที่เคยร่วมงานกันอยู่แล้ว

         โดยหลักการ การจัดการเครือข่ายเพื่อทำงานใดก็ตาม ย่อมจะต้องเริ่มต้นจาก (๑) การสำรวจเครือข่ายการทำงาน และ (๒) การเจรจากับเครือข่ายเพื่อกำหนดเป้าหมายและวิธีการทำงาน

          ในขั้นตอนของการสำรวจเครือข่ายนั้น เรายังพบ เครือข่ายเก่า ที่ยังคงทำงานเกี่ยวกับคนไร้รัฐ และยังอยากทำงานกับเรา นอกจากนั้น เราย่อมพบ เครือข่ายใหม่ ซึ่งน่าสนใจและอยากทำงานกับเรา ในขณะเดียวกัน เราก็พบทั้งเครือข่ายเก่าและองค์กรใหม่ที่ไม่อยากทำงานกับเรา แต่เราจะต้องพยายามทำงานด้วย โดยเนื้อหาของงาน เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

          การเจรจาทั้งภายในเครือข่ายด้วยกันหรือข้ามเครือข่ายได้เกิดขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า การเจรจาก็นำไปสู่การทำงานร่วมกันได้ในบางเรื่อง กล่าวคือ เป็นความสำเร็จ และก็มีบางเรื่องที่ไม่สำเร็จที่จะทำงานร่วมกัน แต่เรื่องที่ล้มเหลวนี้ก็ได้กลายเป็นเรื่องที่เราได้เรียนรู้ กลายเป็นเรื่องสำเร็จได้เช่นกัน เป็นความสำเร็จที่เราได้พบปัจจัยที่ก่ออุปสรรคสำหรับการสร้างและพัฒนาเครือข่าย

          ภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐนี้ ซึ่งพื้นที่ทำงานครอบคลุมแทบจะทั่วประเทศไทยทั้งภาคกลาง เหนือ ใต้ ตะวันตก และตะวันออก การประชุมเพื่อทักทอเครือข่ายจึงต้องทำทั้งโดยผ่านเทคโนโลยี กล่าวคือ โดยโทรศัพท์และอีเมลล์  หรืออาจทำโดยการประชุมในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งการทักทอเครือข่ายสำคัญๆ ที่ควรบันทึกถึง ก็คือ

          กิจกรรมที่ ๑ : ชวนสภาทนายความมาร่วมกิจกรรม

            เราได้ประชุมเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๗ กับผู้แทนของคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ และผู้พลัดถิ่น ตามคำสั่งสภาทนายความ เพื่อแสวงหาแนวคิดและวิธีการจัดการเครือข่ายนักกฎหมายที่เป็นทนายความ

          กิจกรรมที่ ๒ : ชวนเครือข่ายประชาสังคมภาคเหนือมาร่วมกิจกรรม

            เครือข่ายภาคเหนือของเราเป็นเครือข่ายใหญ่ของเรา ซึ่งหลายองค์กรในเครือข่ายภาคเหนือเป็นเครือข่ายดั่งเดิมที่ร่วมงานกับเรามาตั้งแต่เราเริ่มงานเกี่ยวกับคนไร้รัฐฯ มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๙ เมื่อเรายอมทำที่จะทำงานภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ เครือข่ายดั่งเดิมของเราในภาคเหนือก็เข้าสนับสนุนเราโดยทันที และโดยไม่มีเงื่อนไขใด การประชุมเครือข่ายก็ขึ้นทั้งโดยเทคโนโลยี และในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งการประชุมในลักษณะหลังที่สำคัญและควรบันทึกเอาไว้ มีดังนี้ (๑) การประชุมเครือข่ายดั่งเดิมในภาคเหนือ ณ มหาวิทยาลัยพายัพ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๗ (๒) การประชุมเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๗ กับประชาคมเมืองน่านเรื่องการอบรมกฎหมายเพื่อการขจัดปัญหาความไร้สัญชาติ (๓) งานวันเด็กไร้สัญชาติเมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ ที่โรงเรียนสหศาสตร์ที่เชียงราย เพื่อรวบรวมรายชื่อเด็กไร้รัฐเด็กไร้สัญชาติในสถาบันการศึกษาในระบบ (๔) การประชุมเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ที่เข้ามาทำงานรับคำร้องของเด็กไร้สัญชาติที่โรงเรียนสหศาสตร์

         กิจกรรมที่ ๓ : ชวนสื่อมวลชนมาร่วมกิจกรรม

            เราเริ่มต้นทำงานเกี่ยวกับคนไร้รัฐเมื่อ ๑๐ ปีก่อน โดยไม่มีแนวคิดเกี่ยวกับการสื่อสารงานวิจัยของเราสู่สาธารณะ แต่ภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐครั้งนี้ เราให้ความสำคัญกับงานสื่อสารผลการวิจัยสู่สาธารณะอย่างมาก ตัวอย่างของกิจกรรมเพื่อเชิญชวนเครือข่ายมวลมิตรด้านสื่อเข้าร่วมงานกับเรา ก็คือ (๑) การเยี่ยมกองบรรณาธิการมติชนเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๗ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของเด็กและครอบครัวในสังคมไทย และเชิญชวนให้กองบรรณาธิการนี้เข้าร่วมทำงานกับเราในโครงการเด็กไร้รัฐ และ (๒) การพาเด็ก เยาวชน และครอบครัวไร้สัญชาติไปร่วมเวทีพลเมืองไท บ้านเมืองเรื่องของเรา ตอน อนาคตลูกหลานไทย เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ ณ ลานแพร่งภูธร ถ.แพร่งภูธร ซึ่งจัดภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และ Nation Channel ซึ่งทำให้เรามีโอกาสส่งคำเชิญชวนทีมนักข่าวเนชั่นเพื่อเข้าร่วมงานกับเรา

        กิจกรรมที่ ๔ : ชวนเจ้าของปัญหามาร่วมกิจกรรม

           ภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ เราได้ทำกิจกรรมเพื่อสร้างเครือข่ายกับเจ้าของปัญหาหลายครั้ง ซึ่งครั้งที่สำคัญ ก็คือ  (๑) การนัดกลุ่มเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและเครือข่ายไปดูภาพยนตร์เรื่อง Nobody Knows ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวเด็กไร้รัฐในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๗ ณ โรงภาพยนตร์ลิโด กทม.และ (๒) การพูดคุยกับ กลุ่มฮักเชียงของ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๗ เกี่ยวกับแนวคิดและแนวทางในการขจัดปัญหาความไร้สัญชาติให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยตามริมฝั่งแม่น้ำโขงในอำเภอเชียงของ

         กิจกรรมย่อยที่ ๕ : ชวนองค์การพัฒนาเอกชนไทยมาร่วมกิจกรรม

           โครงการเด็กไร้รัฐได้มีโอกาสร่วมงานเสวนาเสียงจากยอดดอยของคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งนำเสนอปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๗ ซึ่งองค์กรนี้เป็นมวลมิตรเก่าของเราที่เราปรารถนาที่จะให้เข้าร่วมงานกับเราภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ

         กิจกรรมย่อยที่ ๖ : ชวนองค์กรพัฒนาเอกชนต่างประเทศมาร่วมกิจกรรม

            ภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ เราได้เริ่มต้นทักทอเครือข่ายการทำงานกับ Plan International ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมการจดทะเบียนการเกิดให้แก่เด็ก ด้วยองค์กรดังกล่าวตระหนักว่า การไม่ได้รับการแจ้งเกิดของเด็กก็คือสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กนั้นตกเป็นคนไร้รัฐหรือคนไร้สัญชาติ ซึ่งการเจรจาเพื่อทักทอเครือข่ายกับองค์กรนี้ เริ่มต้นโดยการหารือเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๗

        กิจกรรมย่อยที่ ๗ : ชวนภาคการเมืองมาร่วมกิจกรรม

        ภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ เราได้ทักทอเครือข่ายกับภาคการเมืองหลายครั้ง ซึ่งครั้งที่สำคัญก็คือ (๑) การพาทูตเด็กไร้สัญชาติไปขอบคุณ ฯพณฯ จาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ เพื่อเชิญชวนให้เขาร่วมกิจกรรมกับเรา ซึ่งการทักทอเครือข่ายครั้งนี้ ทำให้นักการเมืองท่านดังกล่าวเห็นความสำคัญอย่างมากในการผลักดันยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติ และ (๒) การพาทูตเด็กไร้สัญชาติไปขอบคุณครูหยุย ประธานคณะกรรมาธิการด้านเด็กฯ วุฒิสภา เมื่อวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ เพื่อเชิญชวนให้เขาร่วมกิจกรรมกับเรา ซึ่งการทักทอเครือข่ายครั้งนี้ ทำให้นักการเมืองท่านดังกล่าวเห็นความสำคัญอย่างมากในการผลักดันการแก้ไขปัญหาให้แก่เด็กไร้รัฐในสถาบันการศึกษาไทย

            กิจกรรมย่อยที่ ๘ : ชวนองค์กรอิสระตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาร่วมกิจกรรม

             ในลักษณะเดียวกัน เราใช้กิจกรรม ทูตเด็กไร้สัญชาติ เป็นตัวสร้างกิจกรรมกระตุ้นความสนใจขององค์กรอิสระตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมีความสนใจในปัญหาของเด็กและครอบครัวไร้สัญชาติ ซึ่งที่สำคัญ ก็คือ (๑) การพาทูตเด็กไร้สัญชาติไปยื่นขอศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ เพื่อให้องค์กรนี้ทราบว่า มีเด็กจำนวนมากตกในความไร้สัญชาติโดยผลของมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ และ (๒) การพาทูตเด็กไร้สัญชาติไปร้องขอจัดเสวนาเมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ ในสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อเชิญชวนเครือข่ายใน กทม.ให้เข้าใจปัญหาความไร้สัญชาติของเด็กที่เกิดในประเทศไทย โดยผลของมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ (๗/๑/๒๕๔๘)

          เราตกลงเรื่องวิธีการทำงานและเป้าหมายร่วมกับเครือข่ายอย่างไร ?

          เครือข่ายที่ตกลงร่วมงานกับเราต่างก็ยอมรับในหลักการทำงานของเรา และในขณะเดียวกัน เราก็ได้ร่วมแบ่งปันหลักการทำงานของมวลมิตร โดยสรุป วิธีการทำงานเครือข่ายของเราภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐจึงเกิดจากการหลอมละลายระหว่างเรานักวิจัยและเครือข่ายของเรา กล่าวคือ

        ในประการแรก เพื่อทำให้งานวิจัยของเราเป็นงานที่สังคมมีส่วนร่วม และเป็นงานที่สังคมยอมรับได้ เราจึงต้องมีการแสวงหาแนวคิดที่เหมาะสมในการสร้าง ประชาคมวิจัยและพัฒนา ที่มาจากคนในสังคมที่เกี่ยวข้องกับปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในประเทศไทย และกำหนด กระบวนการวิจัยและพัฒนา ที่เอื้อต่อการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ดังที่ได้กล่าวแล้ว กระบวนการศึกษาของเรา (Research Methodology) จึงมุ่งจะกระบวนการศึกษาร่วมกับสังคมและให้การศึกษาแก่สังคมและผลักดันให้สังคมสามารถใช้ประโยชน์จากงานวิจัยได้เอง โดยไม่ต้องกระบวนการของรัฐ เราเชื่อในศักยภาพของภาคประชาชน เราเชื่อในหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน (People Participation) และหลักการรับฟังสาธารณะ (Public Hearing) อันเป็นผลให้เราให้ความสนใจมากขึ้นในกระบวนการทำงานวิชาการที่ไม่รอให้ผู้ใช้ประโยชน์ (User) คิดถึงเรา และตัดสินใจมาใช้งานของเรา เราทำงานแนวรุก เราเป็นนักวิชาการที่เชื่อใน "หน้าที่ที่จะต้องรุกออกจากมหาวิทยาลัยไปสู่สังคม" โดยเฉพาะ "สังคมรากหญ้า"

           ในประการที่สอง เราและเครือข่ายเห็นพ้องต้องว่า งานจัดการเครือข่าย (network  management)  ภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐนั้น ก็คือ การสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในกิจกรรมที่สำคัญดังต่อไปนี้  (๑) การศึกษาเรียนรู้ร่วมกันในกระบวนการจัดการปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในประเทศไทย (๒) การทำงานจัดการร่วมกันเพื่อรวบรวมจัดทำฐานข้อมูลเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และ (๓) การสำรวจ วิเคราะห์ประเมินผลการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหา เพื่อเป็นข้อเสนอแนะในการปฏิรูปองค์กรและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ

         ในที่สุด วงจรเครือข่ายภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐประกอบด้วยใครบ้าง ?

            ในวันนี้ ผู้วิจัยจำแนกเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับงานขจัดปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในสังคมไทยออกเป็น ๑๐ วงจร กล่าวคือ (๑) เจ้าของปัญหา กล่าวคือ กลุ่มเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ (๒) องค์กรชุมชนที่แวดล้อมเจ้าของปัญหา (๓) องค์กรพัฒนาเอกชนที่ลงมาทำงานด้านนี้ (๔) ภาคราชการที่เกี่ยวข้อง (๕) ภาคการเมืองที่เกี่ยวข้อง (๖) ภาคสาธารณะที่เกี่ยวข้อง (๗) สื่อมวลชน (๘) สังคมไทย (๙) ประชาคมระหว่างประเทศ และ (๑๐) ภาควิชาการที่เกี่ยวข้อง

          ภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐครั้งนี้ ผู้วิจัยจึงได้ทำฐานข้อมูลเครือข่ายในรูปของ ข้อมูลอิเล็คทรอนิกส์ ซึ่งบุคคลอื่นอาจเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ แม้จะอยู่ในที่ห่างไกลจากผู้วิจัย ทั้งนี้ โดยอาศัยการเข้าสู่ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ฐานข้อมูลดังกล่าวเป็นผลมาจาก (๑) การรวบรวมจัดทำฐานข้อมูลเครือข่าย และ (๒) การสำรวจ วิเคราะห์-ประเมินผลการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหา เพื่อเป็นข้อเสนอแนะในการปฏิรูปองค์กรและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ

         ในวันนี้ อาจเข้าใช้ประโยชน์ฐานข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์นี้ได้แล้ว[1]  อย่างไรก็ดี ผู้วิจัยยังจะขยายฐานข้อมูลต่อไป และพัฒนารายละเอียดของแต่ละเครือข่ายต่อไป ผู้วิจัยยังไม่เห็นประโยชน์ที่จะจัดพิมพ์รายชื่อเครือข่ายในวันนี้ แต่อาจเข้าใช้ประโยชน์ได้โดยทางอินเทอร์เน็ต ทาง URL

          ภายใต้โครงการนี้ ผู้วิจัยเลือกรูปแบบที่จะสร้างและพัฒนาเครือข่ายใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) โดยใช้วิธีการเข้าเยี่ยมเยียนเชิงกัลยาณมิตรเพื่อทำความรู้จักกับเครือข่ายการทำงาน และหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะทำงานร่วมกัน (๒) โดยการเข้าทำความรู้จักและความเข้าใจกับเครือข่ายที่พบในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย และ (๓) โดยการสร้างห้องทดลองทางสังคมร่วมกับเครือข่ายเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ : ซึ่งกิจกรรมการสร้างและขยายเครือข่ายนั้นเกิดขึ้นทั้งใน กทม. และในต่างจังหวัด 



หมายเลขบันทึก: 51062เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2006 04:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

วงจรเครือข่าย อาจจะเพิ่ม ภาคกระบวนการยุติธรรมก็จะดีนะคะ

เพื่อให้เจ้าของปัญหารู้วิธีที่แก้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างถูกต้อง

ในงานวิจัยอันดามันของ อ.มิว ก็จัดระบบใหม่ซิคะ

สรุปมาอ่านกันได้แล้วล่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท